Review : Nikon D500 : King of DX Format กลับมาแล้ว

26353

IMG_5223

เป็นเวลากว่า 7 ปีที่ Nikon D300s ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มกล้องท็อปฟอร์มของเซ็นเซอร์รับภาพ APS-C (DX Format) จะต้องถูกปลดระวางและแทนที่ด้วยน้องใหม่ไฟแรงล่าสุด Nikon D500 พร้อมการชุบชีวิตกลุ่มกล้อง DX Format ไฮเอนด์ที่นิคอนทิ้งตลาดไปหลายปีให้กลับมาโลดแล่นเคียงข้างรุ่นใหญ่ในตระกูล D5

และนอกจากนั้น นิคอนยังเพิ่มความชัดเจนของความเป็นไฮเอนด์ DX Format ด้วยการดึงสเปกฮาร์ดแวร์หลายส่วนของ Nikon D5 มาใช้ และตั้งจุดขายให้ D500 ใหม่ กลายเป็นกล้องระดับมืออาชีพสำหรับคนที่ต้องการความรวดเร็วในการถ่ายภาพและความคล่องตัวที่สูงในระดับรองจาก D5 รวมถึงความสามารถในการถ่ายวิดีโอที่ปรับปรุงเพิ่มขึ้นด้วย

การออกแบบและสเปก

IMG_5181

IMG_5190

Nikon D500 ใช้เซ็นเซอร์รับภาพ CMOS DX (APS-C) ขนาด 23.5 x 15.7 มิลลิเมตร ประกบหน่วยประมวลผลภาพ EXPEED 5 รองรับความละเอียดภาพสูงสุด 20.9 ล้านพิกเซล (5,568 x 3,712 พิกเซล)

ตัวกล้องมีขนาดกว้าง x สูง x ลึก อยู่ที่ 147 x 115 x 81 มิลลิเมตร น้ำหนักรวมประมาณ 860 กรัม บอดี้กล้องทั้งหมดเป็นแมกนีเซียมอัลลอยและคาร์บอนไฟเบอร์ สามารถป้องกันหยดน้ำและฝุ่นละอองระดับเดียวกับ D5

นอกจากนั้นนิคอนยังติดตั้งช่องเชื่อมต่อรีโมท 10 พิน อยู่บริเวณใต้โลโก้ D500 เหมือนกล้องไฮเอนด์นิคอนทุกรุ่น เพื่อใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์เสริม เช่น GPS, รีโมตคอนโทรลไร้สาย เป็นต้น

IMG_5169

ด้านกริปจับถือ ได้รับการออกแบบใหม่ให้จับกระชับมือมากกว่าเดิม ยางหุ้มห่อเต็มพื้นด้านขวาของกล้องตั้งแต่จุดวางนิ้วโป้งไปถึงฝ่ามือและนิ้วมือบริเวณกริปทั้งหมด ทำให้การจับถือทำได้ถนัดมากขึ้น (ถือตัวกล้องนานๆแล้วเมื่อยมือสามารถนำนิ้วทั้งสี่สอดเข้าไปต้องกริปแล้วถือหลวมๆได้โดยกล้องไม่ตกหล่นลงมา)

IMG_5172

flipscreen-d500

ด้านหลังกล้อง – ส่วนหลักเป็นหน้าจอแสดงผล Live View (RGBW) แบบสัมผัส (Touch Screen) ขนาด 3.2 นิ้ว ความละเอียด 2,359,000 จุด ครอบคลุมการมองเห็นภาพ 100% พร้อมหน้าจอปรับเงยก้มได้ 170 องศา

ช่องมองภาพสะท้อนเลนส์มีขนาดใหญ่ สามารถปรับระยะห่างระหว่างสายตากับช่องมองภาพได้ ส่วนระยะครอบคลุมพื้นที่การมองเห็นในโหมด DX 100% และโหมดครอป 1.3x ที่ 98% พร้อมกรอบกะระยะภาพแสดงที่ช่องมองภาพ

function-d500

function-d500-2

ในส่วนปุ่มคำสั่งต่างๆ จะไม่แตกต่างจากกล้องนิคอนไฮเอนด์รุ่นอื่นๆ พร้อมปุ่ม Function 2 ปุ่ม Jog 1 ปุ่ม และปุ่ม Pv 1 ปุ่ม โดยปุ่มพิเศษเหล่านี้สามารถปรับแต่งได้อิสระผ่านหน้าจอ Custom control assignment

IMG_5179

IMG_5206

มาดูส่วนบนและกะโหลก D500 ด้านซ้ายเป็นปุ่มปรับโหมดถ่ายภาพ ปรับตัววัดแสง ปรับคุณภาพไฟล์ และวงแหวนเปลี่ยนระบบถ่ายภาพตั้งแต่ Single ถ่ายภาพเดียว, CL ถ่ายภาพต่อเนื่องแบบช้า (สามารถตั้งความเร็วได้ 1-9 เฟรมต่อวินาที), CH ถ่ายภาพต่อเนื่องแบบเร็ว, Q ชัตเตอร์เงียบ, Qc ชัตเตอร์เงียบในโหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง, ตั้งเวลาถ่าย, ใช้รีโมทชัตเตอร์ เป็นต้น

ตรงกลาง เป็นช่องใส่ไฟแฟลชและอุปกรณ์เสริม (D500 ไม่มีแฟลชหัวกล้องติดตั้งมาให้)

ด้านขวา เป็นส่วนของจอแสดงการตั้งค่ากล้องต่างๆ จำนวนภาพที่จะถ่ายได้และไฟสถานะแบตเตอรี ถัดขึ้นไปเป็นปุ่มปรับความไวแสง (ISO) ไฟช่วยวัดระยะโฟกัส ปุ่มบันทึกวิดีโอ ปุ่มชดเชยแสง ชัตเตอร์ และสวิตซ์เปิดปิดกล้อง พร้อมวงล้อหน้าหลังปรับค่ากล้องและปรับรูรับแสง

IMG_5185

ด้านขวาของตัวกล้อง เป็นที่อยู่ของ NFC และฝาสามารถดันเพื่อเปิดออกได้ โดยภายในจะเป็นช่องใส่การ์ดความจำ 2 รูปแบบได้แก่ ช่องบนใส่ XQD ช่องล่างใส่ SD Card รองรับมาตรฐานอ่านเขียนข้อมูลสูงสุด UHS-II

ส่วนถ้าใส่การ์ดความจำทั้งสองรูปแบบพร้อมกันจะสามารถตั้งค่าให้การ์ด XQD เป็นการ์ดบันทึกข้อมูลหลัก และตั้งให้ SD Card เป็นการ์ดสำรองข้อมูล หรือจะตั้งให้ SD Card เก็บเฉพาะไฟล์วิดีโอก็สามารถทำได้เช่นกัน

IMG_5183

IMG_5214

ด้านซ้ายของตัวกล้อง สังเกตด้านบนจะมีโลโก้ Bluetooth และ WiFi (เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสังเกตทุกครั้งที่ซื้อกล้องนิคอน เพราะถ้ามีโลโก้ทั้งสองแสดงว่ากล้องนิคอนรุ่นนี้รองรับ SnapBridge)

ถัดลงมาเป็นที่อยู่ของพอร์ตเชื่อมต่อ (มีฝายางปิดไว้กันน้ำเข้า) เริ่มตั้งแต่พอร์ตบนสุด USB 3.0 ถัดลงมาเป็นช่องเชื่อมต่อไมโครโฟนและหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรสำหรับงานวิดีโอ และสุดท้ายพอร์ต HDMI type C (รองรับ Clean HDMI)

IMG_5216

IMG_5218

ด้านใต้กล้อง – รองรับการเชื่อมต่อกริปเสริม Nikon MB-D17 Multi Power Battery Pack โดยแบตเตอรีกล้องจะใช้รหัส EN-EL15 ขนาด 1,900mAh

ฮาร์ดแวร์และฟีเจอร์เด่นที่น่าสนใจ

IMG_5165

contn-d500

เริ่มจากระบบโฟกัสอัตโนมัติที่นิคอนเลือกใช้ Multi-CAM 20K พร้อมฟังก์ชั่นตรวจวัดระยะห่างแบบ TTL ซึ่งยกมาจาก D5 ทำให้ D500 จะมีจุดโฟกัสรวม 153 จุด โฟกัสสามารถเลือกได้หลากหลายตั้งแต่ โฟกัสใบหน้า พื้นที่กว้าง พื้นที่ปกติและโฟกัสติดตามวัตถุ

อีกทั้งในครั้งนี้ นิคอนยังได้ปรับปรุงระบบโฟกัสติดตามวัตถุด้วย Lock-on ให้ผู้ใช้สามารถตั้งค่าการตอบสนองของโฟกัสได้ตามต้องการด้วย

คลิปวิดีโอทดสอบ Buffer ถ่ายภาพต่อเนื่องจาก Nikon D500

มาถึงเรื่องความเร็วชัตเตอร์ D500 สามารถตั้งความเร็วชัตเตอร์สูงสุดที่ 1/8,000 วินาที ช้าสุด 30 วินาที ส่วนความสามารถในการถ่ายภาพต่อเนื่อง ความเร็วสูงสุดทำได้ 10 ภาพต่อวินาที (ลดสเปกจาก D5 ลงมา) พร้อม RAW บัฟเฟอร์ถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุดได้มากถึง 200 ภาพเมื่อใช้ร่วมกับการ์ด XQD ที่มีความเร็วในการเขียนมากกว่า 400MB/s

settings-d500

file-size-d500

ด้านคุณภาพไฟล์ภาพ รองรับการบันทึกไฟล์ในรูปแบบ JPEG, RAW และ TIFF โดย RAW ผู้ใช้สามารถเลือกรูปแบบการบันทึกไฟล์ได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ Uncompressed ไม่บีบอัด ขนาดไฟล์ใหญ่สุดตกไฟล์ละประมาณ 40 MB > Compressed บีบอัดไฟล์ และ Lossless compressed บีบอัดไฟล์แบบไม่สูญเสียรายละเอียด

ส่วนวิดีโอในครั้งนี้นิคอนอัปเกรดให้รองรับความละเอียดสูงถึง 4K ที่ความเร็ว 30 เฟรมต่อวินาที และ 1080p ที่ความเร็ว 60/30 เฟรมต่อวินาที พร้อมเปิดใช้ฟีเจอร์ Electronic VR (ไม่สามารถเปิดใช้งานได้เมื่อถ่าย 4K) ช่วยลดการสั่นไหวของวิดีโอได้

นอกจากนั้นระหว่างถ่ายวิดีโอคุณสามารถถ่ายภาพนิ่งพร้อมกันได้ที่ความละเอียด 5,568 x 3,128 พิกเซล และที่วิดีโอความละเอียด 4K จะถ่ายภาพนิ่งพร้อมบันทึกวิดีโอได้ที่ความละเอียด 3,840 x 2,160 พิกเซล

flicker-reduct-d500

flicker-reduct-001

Flicker reduction – Nikon D500 มาพร้อมระบบป้องกันภาพกระพริบเมื่อต้องถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงในสภาพที่แหล่งกำเนิดแสงมาจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ โดยเมื่อกล้องตรวจจับได้ว่าจะเกิดภาพกระพริบขึ้น หลังจากกดชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งเพื่อโฟกัสภาพ ที่ช่องมองภาพจะมีตัวอักษร Flicker ปรากฏให้ผู้ใช้ทราบทันที

ISO-D500

สุดท้ายเรื่องค่าความไวแสง (ISO) ในครั้งนี้ทีมงานต้องขอยกมาพูดถึงในหัวข้อฟีเจอร์-ฮาร์ดแวร์เด่นแทน เนื่องจากนิคอนเน้นเป็นจุดขายหลัก หลังจาก EXPEED 5 ได้สําแดงฤทธิ์เรื่องการจัดการสัญญาณรบกวนในช่วง ISO สูงๆมาแล้ว ตั้งแต่ Nikon 1 J5 (EXPEED 5A) มาใน D500 รวมถึง D5 นิคอนได้นำ EXPEED 5 เข้าใช้งานเช่นเดียวกัน รวมถึงการปรับปรุงฮาร์ดแวร์เซ็นเซอร์รับภาพใหม่หมดทำให้ D500 สามารถตั้งความไวแสง (ISO) ได้เริ่มต้นตั้งแต่ 100-51,200 และสามารถลด ISO ได้ต่ำสุด 50 สูงสุดได้ถึง 1,638,400

โดยจากภาพตัวอย่างความไวแสงในช่วงต่างๆ (JPEG) จะเห็นว่า D500 ให้ภาพที่ดีตั้งแต่ช่วงความไวแสง ISO 100 ถึงช่วงประมาณ 32,000-51,200 ได้อย่างสบายๆ หลังจากนั้นเราจะเริ่มเห็นสัญญาณรบกวนเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ ISO 64,000-80,000 ซึ่งถ้าอยู่ในสถานการณ์บีบบังคับต้องใช้ ก็ถือว่าให้คุณภาพไม่น่าเกลียดนัก ส่วนช่วงความไวแสงตั้งแต่ ISO 204,800 เป็นต้นไป ถ้าไม่จำเป็นควนหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขด้วยวิธีอื่น เช่น จัดหาแสง เปลี่ยนมุมถ่ายใหม่ จะดีที่สุด

ส่วนคนถ่าย RAW หน่วยประมวลผลภาพจะไม่เข้ามาช่วยเรื่องการจัดการสัญญาณรบกวนเลย เพราะฉะนั้นค่าความไวแสงที่ให้คุณภาพไฟล์ภาพที่ดีที่สุดจะอยู่ตั้งแต่ ISO 100 ถึงหลักพันปลายๆ พอเข้าสู่หลักหมื่น ก็ต้องวัดกันที่ซอฟต์แวร์โปรเซสภาพแล้วว่าตัวใดจะจัดการได้ดีที่สุด

Nikon SnapBridge

ก่อนอ่านบทความด้านล่างนี้ แนะนำให้กดรับชมวิดีโอสาธิตการใช้งาน SnapBridge ก่อนเพื่อความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น

Nikon SnapBridge ถือเป็นการต่อยอดระบบแชร์ภาพผ่าน WiFi ให้มีความเสถียร ประสิทธิภาพสูงขึ้นและทำให้สมาร์ทดีไวซ์และกล้องที่ติดตั้งระบบ SnapBridge เป็นหนึ่งเดียวและใช้งานได้อย่างไร้รอยต่อมากขึ้น

IMG_5219

snapb-1

snapb-sync

โดยระบบ SnapBridge จะใช้การเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth 4.1 Low Energy (ใช้พลังงานต่ำ) กับสมาร์ทดีไวซ์ (ปัจจุบันรองรับแค่แอนดรอยด์ ส่วน iOS รอช่วงเดือนสิงหาคม) ซึ่งใช้หลักการเดียวกับอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable) หลังจากติดตั้งระบบครั้งแรกเสร็จ กล้องและสมาร์ทดีไวซ์จะเชื่อมต่อกันตลอดเวลา และเมื่อกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ กล้องจะส่งภาพถ่ายเหล่านั้นผ่าน Bluetooth ไปที่สมาร์ทดีไวซ์ทุกครั้ง (แม้เราจะปิดกล้องไปแล้วก็ตาม) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถนำภาพจากกล้องไปแชร์เข้าสู่สังคมออนไลน์ต่างๆอย่างไร้รอยต่อทันที ซึ่งต่างจากระบบเชื่อมต่อผ่าน WiFi แบบดั้งเดิม ที่เวลาผู้ใช้ต้องการจะส่งภาพไปที่สมาร์ทดีไวซ์จะต้องทำการเชื่อมต่อกันก่อนทุกครั้ง

snapb-app1

snapb-app2

ในส่วนแอปพลิเคชันที่ใช้ควบคุมการทำงานจะมีชื่อว่าเดียวกับระบบคือ “SnapBridge” โดยในแอปฯคุณสามารถตั้งค่าการเลือกความละเอียดภาพที่ต้องการซิงค์ได้ (ระบบแนะนำความละเอียดที่ 2 ล้านพิกเซล แต่เราก็สามารถเลือกให้ซิงค์แต่ขนาดภาพตามต้นฉบับได้)

snapb-app3

นอกจากนั้นแอปฯ SnapBridge ยังสามารถแจ้งเตือนเฟริมแวร์กล้องใหม่ๆ รวมถึงใส่ลายน้ำ เช่น วันที่ถ่าย ข้อมูลการถ่ายภาพเบื้องต้น ติดลงไปที่ภาพถ่ายของเราได้ด้วย

snapb-gps-d500

อีกทั้งด้วยการที่กล้องกับสมาร์ทดีไวซ์ของเราเชื่อมต่อกันตลอดเวลา ทำให้เวลาถ่ายภาพ ระบบจะดึงพิกัดสถานที่จากสมาร์ทดีไวซ์ติดลงไปที่โปรไฟล์ภาพอัตโนมัติด้วย

snapb-app4

ส่วนถ้าผู้ใช้ต้องการ WiFi Remote Camera (ใช้จับโฟกัสและลั่นชัตเตอร์) ทางนิคอนก็ยังติดตั้งระบบดังกล่าวมาให้เช่นเดิม รวมถึงยังสามารถดาวน์โหลดภาพจากกล้องผ่าน WiFi เหมือนระบบดั้งเดิมได้อีกด้วย

nikonimage-2

สุดท้ายนอกจากการซิงค์ภาพระหว่างกล้องกับสมาร์ทดีไวซ์แล้ว ระบบ SnapBridge ยังรองรับการสำรองภาพถ่ายไปสู่คลาวด์สตอเรจ “Nikon Image Space” ได้ด้วย โดยลูกค้านิคอนเมื่อสมัครใช้งานครั้งแรกจะได้รับพื้นที่เก็บภาพฟรี 20GB และการสำรองภาพอัตโนมัติผู้ใช้สามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้อัปโหลดภาพเมื่อเชื่อมต่อ WiFi หรือจะเลือกอัปโหลดภาพเองก็ได้

ทดสอบประสิทธิภาพ

DSC_0156

testd500

ระยะ 35mm 1/400sec ISO100 f4.5

ลำดับแรกทีมงานขอทดสอบเรื่องคุณภาพไฟล์ภาพก่อน โดยทีมงานเลือกบันทึกไฟล์ RAW 14-bit Uncompressed ขนาดไฟล์ตก 40 กว่า MB แต่สิ่งที่ได้ถือว่านิคอนก็ยังรักษามาตรฐานกล้องระดับโปรไว้ได้อย่างดี แม้ตัวกล้องจะจัดอยู่ในระดับเซ็นเซอร์ DX แต่ D500 กลับเก็บรายละเอียดภาพได้อย่างน่าพอใจ

โดยเฉพาะ JPEG File ส่วนนี้ถือว่ายอดเยี่ยมสุด และเป็น JPEG File ที่ให้คุณภาพดีมาก (ผมเคยชื่นชม EXPEED 5 จาก Nikon 1 J5 ไปแล้ว) คนทำงานเป็นช่างภาพสื่อสารมวลชนและงาน Event ที่จำเป็นต้องส่งภาพให้สำนักข่าวและลูกค้าด้วยเวลาที่จำกัด ไม่มีเวลามานั่งตกแต่งภาพ อยากจะบอกว่า D500 กับ JPEG เป็นสิ่งที่พึ่งพิงได้จริง ISO ระดับ 100 ถึงหลักหมื่นไว้ใจคุณภาพได้เลย

ส่วนเรื่องการจับถือ ยอมรับว่าแนวทางการผลิต DSLR ยุคใหม่ของนิคอนได้รับการออกแบบมาดีขึ้นมาก อย่างตัว D500 ผม (เป๋า พศวัต ศิริจันทร์) เดินถือถ่ายสตรีทเป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง D500 ไม่ค่อยเป็นอุปสรรคต่อการจับถือเลย กริปของ D500 นี่นับว่าออกแบบมาได้ยอดเยี่ยมมาก โดยเฉพาะความกระชับและยางที่หนึบมือดีมาก จนผมมองว่าถ้า D5 จะเป็นกล้องที่เน้นประสิทธิภาพสูงสุด เน้นการถ่ายกีฬาที่ไม่ต้องเคลื่อนกล้องไปมามากนัก D500 น่าจะนำมาเป็นกล้องเสริมสำหรับการวิ่งถ่ายภาพ ใส่กับขาตั้งกล้อง Monopod น่าจะลงตัวดี อีกทั้งคุณภาพไฟล์ D500 กับ D5 นี่คือพี่กับน้องเลยก็ว่าได้ แม้ D500 จะใช้เซ็นเซอร์ตัวคูณและสเปกเรื่อง ISO และความเร็วชัตเตอร์ถ่ายภาพต่อเนื่องจะด้อยกว่า แต่ลักษณะไฟล์ที่ได้ออกมาถือว่าคล้ายกันพอสมควร (ผมรู้สึกว่าไฟล์ภาพ D500 มันเหนือกว่า D750 แต่ไม่เท่า D800 – ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ)

มาถึงเรื่องชัตเตอร์กล้องกันบ้าง ต้องชื่นชมการออกแบบกลไกลชัตเตอร์และกระจกใหม่ เสียงและความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นหลังกดชัตเตอร์มีความนุ่มนวลมาก

การจับโฟกัส – ถ้าใช้ผ่านช่องมองภาพ ถือว่านิคอนปรับปรุงมาได้ยอดเยี่ยมขึ้นมาก โฟกัสจับได้เร็ว แม่นยำ และเด็ดสุดตรงโฟกัสติดตามวัตถุที่ว่องไวใช้ได้เลย

มาถึงเรื่องข้อสังเกตกันบ้าง เริ่มจากจุดขาย SnapBridge ส่วนนี้ข้อดีก็มีมาก แต่ข้อเสียก็คือบริโภคแบตเตอรีอยู่บ้าง แม้เราจะปิดกล้องไปแล้วก็ตาม (จะว่ามีภาพค้างไว้ไม่ได้ซิงค์กับสมาร์ทโฟนก็ไม่ใช่) แต่ก็มีบางครั้ง จู่ๆระบบ SnapBridge ก็ไม่กินแบตเตอรีเลย แปลกดีครับ! อีกทั้งระบบการเชื่อมต่อครั้งแรกยังมีปัญหาสมาร์ทดีไวซ์หากล้องพบบ้างไม่พบบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นปัญหามาจากเฟริมแวร์ที่ต้องรอนิคอนอัปเดตในอนาคต

ส่วนเรื่องที่สองกับวิดีโอและการใช้งานผ่าน Live View ส่วนนี้ถ้าเทียบกับคู่แข่งแล้ว ถือว่านิคอนยังทำได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะระบบโฟกัสที่เมื่อเปลี่ยนไปใช้ Live View แล้วโฟกัสทำงานไม่ค่อยแม่นยำ แต่ความเร็วในการจับโฟกัสถือว่าปรับปรุงดีขึ้น

และเรื่องสุดท้ายงานวิดีโอที่มีทั้งข้อดีคือ รองรับ 4K 30fps ที่ให้คุณภาพดีมาก และ 1080p 30/60fps ที่ปรับปรุงไฟล์ได้ดีขึ้น และสามารถครอปเซ็นเซอร์เพื่อเพิ่มระยะเลนส์ได้รวมถึงถ่ายภาพนิ่งระหว่างบันทึกวิดีโอได้ด้วย แต่ข้อเสียอยู่ที่เรื่องออโต้โฟกัสแบบต่อเนื่องก็ยังทำได้ไม่ดีนัก แม้จะได้ลองใช้ร่วมกับเลนส์ stepping motors AF-P แล้วแต่การจับโฟกัสแบบต่อเนื่องอัตโนมัติก็ยังไม่รวดเร็วและแม่นยำทัดเทียมคู่แข่งอยู่ดี

ตัวอย่างภาพจากกล้อง Nikon D500

Nikon D500
RAW 14-bit Uncompressed
Processed : Capture NX-D และ Lightroom
Lens : Nikon AF-S NIKKOR 24-85mm f/3.5-4.5G ED VR และ Nikon AF-S NIKKOR 35mm 1:1.8G DX

ระยะ 52mm 1/640sec ISO100 f6.3
ระยะ 52mm 1/640sec ISO100 f6.3

ระยะ 52mm 1/500sec ISO100 f9
ระยะ 52mm 1/500sec ISO100 f9

ระยะ 52mm 1/1,600sec ISO100 f4.5
ระยะ 52mm 1/1,600sec ISO100 f4.5

ระยะ 52mm 1/400sec ISO100 f11
ระยะ 52mm 1/400sec ISO100 f11

ระยะ 36mm 1/500sec ISO2,800 f3.5
ระยะ 36mm 1/500sec ISO2,800 f3.5

ระยะ 36mm 1/1,250sec ISO640 f3.5
ระยะ 36mm 1/1,250sec ISO640 f3.5

ระยะ 52mm 1/500sec ISO100 f3.2
ระยะ 52mm 1/500sec ISO100 f3.2

ระยะ 36mm 1/400sec ISO100 f5.6
ระยะ 36mm 1/400sec ISO100 f5.6

ระยะ 57mm 1/250sec ISO100 f7.1
ระยะ 57mm 1/250sec ISO100 f7.1

ระยะ 26mm 1/800sec ISO100 f4.5
ระยะ 26mm 1/800sec ISO100 f4.5

ระยะ 127mm 1/250sec ISO100 f6.3
ระยะ 127mm 1/250sec ISO100 f6.3

สรุป

ราคาเปิดตัว Nikon D500 (Body อย่างเดียว ไม่มีเลนส์มาให้) อยู่ที่ 69,900 บาท

เทียบกับประสิทธิภาพ สเปกฮาร์ดแวร์และคุณภาพไฟล์ที่ได้ถือว่านิคอนไม่ทำให้แฟนๆผิดหวัง D500 มีสเปกที่ใช้งานระดับมืออาชีพได้หรือจะใช้เป็นกล้องเสริมกับ D5 เพื่อนำเซ็นเซอร์ตัวคูณมาใช้เพิ่มระยะเลนส์เวลาถ่ายงานกีฬา สารคดี ภาพสัตว์ป่า รวมถึงงานวิดีโอที่ D500 จะใช้งานได้ค่อนข้างคล่องตัวกว่า โดยเฉพาะขาลุยทั้งหลายน่าจะถูกใจ D500 เนื่องจากตัวกล้องทั้งหมดมีความแข็งแรง ลุยฝน ลุยโคลนได้เหมือนกับกล้องไฮเอนด์ของนิคอนทุกรุ่น

ส่วนถ้าใครกำลังลังเลใจหรืองงกับกลุ่มกล้องของนิคอน DSLR ผมจะแนะนำดังนี้ครับ

  • Nikon D5 (FX), D500 (DX) เป็นกล้องที่เน้นประสิทธิภาพสูง ส่วนใหญ่จะถูกเลือกใช้ในงานอาชีพที่ต้องการความรวดเร็วทั้งการประมวลผลและชัตเตอร์
  • Nikon D810A จับกลุ่มคนต้องการกล้องความละเอียดสูง ไม่เน้นความรวดเร็ว เช่น เก็บภาพสถาปัตยกรรม ถ่ายดวงดาว งาน Landscape เป็นต้น
  • Nikon D750, D610 กลุ่มคนทั่วไปที่ต้องการเซ็นเซอร์ฟูลเฟรม
  • และสุดท้าย Nikon Dxxxx (พวกเลขสี่ตัว) จะเน้นกลุ่มคนทั่วไปที่ต้องการเซ็นเซอร์ตัวคูณ DX นำโดย D7200 เน้นความรวดเร็วลงไปถึง D3300 เป็นรุ่นเริ่มต้น น้ำหนักเบา

ข้อดี

– การออกแบบ จับถือกระชับมือและแข็งแรงตามแบบฉบับนิคอน
– SnapBridge แนวคิดดีมาก
– ถ่ายภาพต่อเนื่องเร็ว บัฟเฟอร์ทำได้มากถึง 200 ภาพ
– ค่าความไวแสงในช่วงต่างๆกับ EXPEED 5 ให้ผลลัพท์ภาพที่น่าประทับใจมาก
– วิดีโอทั้ง 4K และ 1080p ให้คุณภาพสูงมาก

ข้อสังเกต

– มีปัญหาเรื่องจัดการพลังงานเมื่อเปิดใช้ Bluetooth LE ร่วมกับ SnapBridge
– ออโต้โฟกัสสำหรับงานวิดีโอ และเมื่อเปิด Live View ยังทำได้ไม่น่าประทับใจ

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
9.5
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
9
ความสามารถโดยรวม
8.5
ความคุ้มค่า
9
SHARE