ห่างหายจากการรีวิวโน้ตบุ๊กในกลุ่ม Convertible ไปเสียนาน มาวันนี้ HP (เอชพี) นำ Pavilion x360 มาอัปเกรดสเปกปี 2017 พร้อมความสามารถใหม่กับการรองรับปากกา Digital Pen ที่รองรับ Windows Ink บน Windows 10 อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมหน้าจอพับเปลี่ยนมุมมองได้แบบ 360 องศา สามารถใช้เป็นโน้ตบุ๊กพิมพ์งานหรือพับจอเป็นแท็บเล็ตก็สามารถทำได้อย่างไร้รอยต่อ
การออกแบบ
ขึ้นชื่อว่าเป็นโน้ตบุ๊กประเภท “Convertible PC” เพราะฉะนั้นความสามารถหลักของ x360 จะอยู่ในเรื่องของหน้าจอสามารถพับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ถึง 4 รูปแบบหลักได้แก่ Stand, Tent, Laptop และ Tablet (ตามภาพประกอบด้านบน) พร้อมหน้าจอสัมผัสและรองรับ Digital Pen ขนาด 14 นิ้วแบบ IPS LED ความละเอียด 1,920×1,080 พิกเซล
ด้านวัสดุรอบตัวเครื่องจะเป็นอะลูมิเนียมพร้อมบานพับจอภาพผลิตจากเหล็กสามารถป้องกันฝุ่นละอองและทนทานต่อการสึกหรอ ส่วนน้ำหนักจะอยู่ประมาณ 1.4 กิโลกรัม
อีกจุดที่น่าสนใจ x360 ปี 2017 ยังมาพร้อมกล้อง Web Cam พร้อมเลนส์มุมกว้าง 88 องศา รองรับการใช้งานในลักษณะประชุมเป็นหมู่คณะ อีกทั้งตัวกล้องยังมาพร้อมเซ็นเซอร์อินฟราเรดเพื่อใช้ร่วมกับ Windows Hello ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ด้านล่างตัวเครื่อง HP เพิ่มความแข็งแรงด้วยการเลือกใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียมแบบชิ้นเดียว ส่วนภายในมาพร้อม HP 3D DriveGuard ซึ่งช่วยให้ระหว่างใช้งานถ้าเกิดอุบัติเหตุโน้ตบุ๊กตกกระแทกกับพื้น ระบบดังกล่าวจะสั่งให้ฮาร์ดดิสก์หยุดทำงานเพื่อป้องกันความเสียหาย
ในส่วนแป้นพิมพ์จะเป็นคีย์แบบ Full Size รุ่นขายบ้านเรามีสกรีนไทยพร้อมไฟส่องสว่างใต้คีย์สำหรับใช้งานในที่มืด ด้านล่างเป็น TrackPad ส่วนบนสุดเป็นลำโพงสเตอริโอจาก B&O (Bang & Olufsen) เสียดายไม่มีซัฟวูฟเฟอร์ติดตั้งมาให้
มาดูรอบตัวเครื่องกันบ้าง เริ่มจากด้านซ้ายมือ จะเป็นที่อยู่ของปุ่มเปิดปิดเครื่องพร้อมไฟแสดงสถานะการทำงาน ถัดมาเป็นช่องระบายความร้อน ช่องหูฟัง/Headset ขนาด 3.5 มิลลิเมตร ปุ่มปรับระดับเสียงและไฟแสดงการทำงานของฮาร์ดดิสก์
อีกด้านจะเป็นที่อยู่ของช่องอ่านการ์ด SD Card, USB-C (เพิ่มเข้ามาจากรุ่น 2016), USB, HDMI และช่องเชื่อมต่ออะแดปเตอร์ชาร์จไฟบ้านพร้อมไฟแสดงสถานะการชาร์จ (สีส้มกำลังชาร์จแบตเตอรี – สีขาวแบตเตอรีเต็ม)
มาถึงไฮไลท์เด็ดของ Pavilion x360 (2017) ก็คือปากกา “Digital Pen” ที่ออกแบบมารองรับแรงกดหลายระดับ เน้นการใช้งานทั้งเขียนข้อความและวาดภาพได้ พร้อมรองรับฟีเจอร์ Windows Ink ใน Windows 10 อย่างเต็มรูปแบบ โดยตัวปากกาถูกออกแบบการจับถือให้เหมือนปากกาจริงพร้อมปุ่มคำสั่ง 2 ปุ่ม (ค่ามาตรฐานกดค้างไว้จะเป็นยางลบ) สามารถตั้งค่าเพิ่มเติมได้ผ่าน Settings ใน Windows 10
นอกจากนั้นตัวปากกายังจำเป็นต้องใส่ถ่านขนาด AAA จำนวน 1 ก้อนด้วย
สเปก
นอกจากตัวโน้ตบุ๊กจะให้วินโดวส์ 10 ลิขสิทธิ์แท้มาแล้ว ในส่วนซอฟต์แวร์ภายในที่โดดเด่นได้แก่ B&O PLAY ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ X360 สามารถปรับแต่งเสียงลำโพงได้ตามต้องการ นอกจากนั้นในส่วนไมโครโฟนยังรอบรับระบบตัดเสียงรบกวนรอบข้างด้วย
HP CoolSense เป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับการควบคุมระบบระบายความร้อนของ HP เมื่อระบบตรวจจับได้ว่าโน้ตบุ๊กไม่ได้วางไว้บนโต๊ะ (อาจถือใช้งาน หรือวางบนตัก) ระบบจะปรับรอบพัดลมพร้อมควบคุมอุณหภูมิพื้นผิวทั้งส่วนบนและใต้โน้ตบุ๊กให้อยู่ในระดับพอดี ไม่ร้อนเกินไปแม้ระบบจะกำลังทำงานเต็มประสิทธิภาพอยู่ก็ตาม
HP Orbit! เป็นฟีเจอร์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถจับคู่สมาร์ทโฟน (iOS และ Android) กับโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์ของ HP เพื่อให้ผู้ใช้สามารถโยนไฟล์รูป เอกสารหรือจะสั่งให้กล้องบนสมาร์ทโฟนถ่ายภาพและส่งภาพจากสมาร์ทโฟนเข้ามาสู่คอมพิวเตอร์ของ HP ได้อย่างง่ายผ่านฟีเจอร์ดังกล่าว
รองรับ Windows Ink อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า X360 ปี 2017 จะมาพร้อมปากกา Digital Pen รองรับ Windows Ink เต็มรูปแบบ ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกดาวน์โหลดแอปฯวาดเขียนจาก Windows Store มาใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงการปรับรูปแบบและตั้งค่าปากกาสามารถทำผ่านระบบของ Windows 10 ได้ทันที
สุดท้ายเป็นดีลฟรีสำหรับลูกค้า HP กับบริการคลาวด์สตอเรจรับฝากไฟล์อย่าง Dropbox ที่ให้พื้นที่ฟรีถึง 25GB เป็นเวลา 1 ปี ใครเป็นลูกค้า HP อย่าลืมไปรับดีลนี้กันด้วย
ทดสอบประสิทธิภาพและสรุป
PCMark 10 = 2,212 คะแนน
Cinebench R15 / OpenGL = 59.86fps, CPU = 352cb
Geekbench 4 / Single-core = 4,000 คะแนน, Multi-core = 7,140 คะแนน
เริ่มจากการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานภาพรวมของตัวเครื่อง ไม่ได้มีความแตกต่างจากอัลตร้าบุ๊ก รุ่นอื่นนักเพราะสเปกซีพียูเหมือนกันหมดทั้งตลาด แต่ X360 ปี 2017 จะมีจุดแตกต่างในเรื่องของแรมที่ HP ใส่มาให้เพียง 4GB ซึ่งถ้าผู้ใช้เน้นพิมพ์งาน ท่องเว็บไซต์ต่างๆหรือจะใช้ตกแต่งรูปเล็กๆน้อยยังถือว่าสามารถใช้งานได้ลื่นไหลดี แต่ถ้าผู้ใช้เป็นคนชอบใช้งานโน้ตบุ๊กแบบหนักหน่วง เช่น ตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงหรือตกแต่งภาพไฟล์ภาพขนาดใหญ่ X360 จะเริ่มแสดงอาการแรมไม่พอให้เห็นบ้าง (ที่ทีมงานพบเจอก็คือตัดวิดีโอ 4K ด้วย Adobe Premiere เปิดพรีวิวไฟล์แล้วเครื่องทำงานช้ามากเมื่อเทียบกับอัลตร้าบุ๊กสเปกเดียวกันแต่มีแรมให้ 8GB DDR4)
ส่วนปากกา Digital Pen ถือว่าตอบสนองดีใช้ได้ ตัวปากการองรับแรงกดหลายระดับ ความลื่นไหลถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับปากกา Digital Pen ที่ออกแบบมาเพื่อโน้ตบุ๊กประเภท Convertible หลายรุ่น แต่จะมีข้อสังเกตเล็กน้อยตรงที่ปากกาต้องใส่ถ่าน และไม่มีที่เก็บมาให้
ในส่วนแบตเตอรีใช้งานได้ต่อเนื่องได้ประมาณ 6-8 ชั่วโมงสำหรับการใช้งานทั่วไปและตัวเครื่องมาพร้อมฟังก์ชันชาร์จไฟแบบเร็ว (ชาร์จ 90 นาทีได้ 90%) และจุดเด่นในเรื่อง HP CoolSense ยังถือเป็นจุดขายที่ดีของ HP เช่นเดิม
สุดท้ายในส่วนราคาเริ่มต้นที่ 22,990 บาท ถือเป็นโน้ตบุ๊กลูกผสมแท็บเล็ตที่โดดเด่นในเรื่องการใช้งานที่ทำได้หลากหลาย โดยเฉพาะหน้าจอแบบสัมผัสพับได้ 360 องศาและปากกา Digital Pen ทำงานได้แม่นยำ ถือว่าตอบโจทย์ได้ทั้งคนทำงาน (รองรับ e-sign สำหรับนักธุรกิจที่ต้องเซ็นเอกสารดิจิตอลบ่อยครั้ง) ไปถึงนักศึกษาก็สามารถใช้งาน Pavilion x360 ได้เช่นกัน