Tablets 2017 – CBIZ Reviews – MGR Online https://cyberbiz.mgronline.com เว็บไซต์รีวิวอุปกรณ์ ไอที ไฮเทค เป็นส่วนหนึ่งของผู้จัดการออนไลน์ Mon, 16 Oct 2017 08:57:44 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.0 Review : Microsoft Surface Pro 2017 สเปกใหม่ ลงตัวมากขึ้น https://cyberbiz.mgronline.com/review-surface-pro2017/ Mon, 16 Oct 2017 07:18:05 +0000 https://cyberbiz.mgronline.com/?p=27436

วันนี้ไมโครซอฟท์เปิดตัว New Surface Pro หรือแท็บเล็ตสายพันธุ์วินโดวส์รุ่นใหม่จากไมโครซอฟท์ (หลายคนเรียกว่าเป็น Surface Pro รุ่นที่ 5) ประจำปี 2017 ที่ทีมงานไซเบอร์บิซมองว่าเป็นรุ่นพัฒนาต่อยอด อัปสเปกเพิ่มจาก Surface Pro 4 โดยเฉพาะในส่วนอุปกรณ์เสริมอย่างปากกา Surface Pen ที่ถูกปรับปรุงใหม่ให้แม่นยำมากขึ้น รวมถึงตัวเครื่อง Surface เองที่ออกแบบมาได้ลงตัวพร้อมสเปกซีพียูเปลี่ยนไปใช้ตระกูล Kaby Lake (รุ่นที่ 7)

การออกแบบ

สำหรับการออกแบบ Surface Pro ยังคงเป็นวินโดวส์แท็บเล็ตที่สามารถใช้งานแบบโน้ตบุ๊กได้อย่างสมบูรณ์แบบเช่นเดิม โดยตัวเครื่องมาพร้อมหน้าจอแสดงผล PixelSense แบบสัมผัส 10 จุด ขนาด 12.3 นิ้ว ความละเอียด 2,736×1,824 พิกเซล ขนาดตัวเครื่องหนา 8.5 มิลลิเมตร พร้อมน้ำหนักประมาณ 770 กรัม

เหนือหน้าจอแสดงผลขึ้นไป ยังคงเป็นที่อยู่ของกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล รองรับวิดีโอคอลล์ที่ความละเอียดสูงสุด FullHD 1080p พร้อมไมโครโฟนแบบคู่ในตัวรวมถึงมีเซ็นเซอร์ตรวจจับใบหน้าเพื่อใช้ปลดล็อกตัวเครื่องผ่านฟีเจอร์ Windows Hello ใน Windows 10 และเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสง รวมถึงภายในยังมีไจโรสโคปด้วย

นอกจากนั้นบริเวณขอบจอทั้งสองด้าน ไมโครซอฟท์เลือกติดตั้งลำโพงสเตอริโอ (ใช้เทคโนโลยี Dolby Audio Premium) ไว้ด้วย

ด้านหลัง วัสดุเป็นอะลูมิเนียมมาพร้อมขาตั้ง Kickstand อันเป็นเอกลักษณ์เด่นของไมโครซอฟท์ Surface โดยในรุ่นปี 2017 ขาตั้งจะกางออกได้ถึง 165 องศา ส่วนการปรับเปลี่ยนขาตั้งสามารถทำได้ 3 โหมดหลักได้แก่ 1.แล็ปท็อป เมื่อเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ดจะใช้งานได้แบบโน้ตบุ๊ก 2.Studio ปรับ Kickstand ลงให้สุด 165 องศาสำหรับใช้งานวาดเขียน 3.แท็บเล็ต สามารถใช้งานเป็นแท็บเล็ตพกพาได้ปกติ

มาดูกล้องหลังจะมีความละเอียดอยู่ที่ 8 ล้านพิกเซลพร้อมออโต้โฟกัสและรองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียด FullHD 1080p พร้อมไมโครโฟนรับเสียงสเตอริโอติดตั้งอยู่ด้วย

ส่วนช่องใส่การ์ด MicroSD (จะใช้เพื่อเพิ่มความจุตัวเครื่องหรือใช้อ่านการ์ด MicroSD ปกติก็ได้) จะถูกติดตั้งอยู่ใต้ Kickstand

มาถึงพอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มกดรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านซ้ายมือจะเป็นช่องหูฟัง/Headset 3.5 มิลลิเมตร ถัดไปจะเป็นส่วนแม่เหล็กที่สามารถดูดปากกา Surface Pen ให้ติดกับตัวเครื่องได้ (หรือจะเรียกว่าที่เก็บปากกาก็ไม่ผิด)

ขวา เริ่มจาก Surface Connect สำหรับใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมและอะแดปเตอร์ชาร์จไฟบ้านของ Surface พอร์ต USB 3.0 จำนวน 1 ช่องและ Mini Display Port (ไม่รองรับการเชื่อมต่อ USB-C)

ด้านล่าง ตรงกลางจะเป็นช่องเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ดเพื่อใช้งานในรูปแบบโน้ตบุ๊ก

ด้านบน เป็นปุ่มเพิ่มลดเสียงและปุ่มเปิดปิดเครื่อง

อุปกรณ์เสริม (จำหน่ายแยก)

มาดูอุปกรณ์เสริมของ Surface Pro 2017 กันบ้าง เริ่มจากคีย์บอร์ดจะเพิ่มรุ่น “Surface Pro Signature Type Cover” (ราคา 6,390 บาท) หุ้มด้วยผ้าวัสดุ Alcantara ตามภาพประกอบด้านบน

Surface Arc Mouse ใหม่ เมาส์ดีไซน์ล้ำจากไมโครซอฟท์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานกับ Surface Pro และสามารถนำไปใช้งานกับโน้ตบุ๊กทั่วไปหรือพีซีที่ติดตั้ง Windows 10/8.1/8 ผ่านการเชื่อมต่อบลูทูธ โดยส่วนแบตเตอรีอัลคาไลน์ขนาด AAA สองก้อน

Surface Pen รุ่นใหม่ปี 2017 (ต้องซื้อแยกต่างหากในราคา 3,900 บาท) จะถูกอัปเกรดเรื่องการรองรับแรงกดได้มากถึง 4,096 จุดพร้อมปรับปรุงเรื่องการตอบสนองให้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้า หัวปากกาขนาด HB ส่วนการเชื่อมต่อทำผ่านบลูทูธ แบตเตอรีใช้ถ่าน AAAA 1 ก้อน รองรับ Surface Pro ตั้งแต่รุ่น 3 ขึ้นไป

สเปก

สำหรับ Surface Pro รุ่นใหม่นี้จะวางตลาดด้วยสเปกซีพียูใหม่ 3 รุ่นย่อยได้แก่ Intel Core m3, i5 และ i7 (เจนเนอเรชั่น 7 ทั้งหมด) โดยรุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบวันนี้จะเป็นตัวกลางขับเคลื่อนด้วยซีพียู Intel Core i5 7300U ความเร็ว 2.60GHz กราฟิกการ์ดเป็นออนบอร์ด Intel HD Graphics 620 (ท็อปสุดสำหรับรุ่นซีพียู i7 จะเป็นการ์ดจอ Intel Iris Plus 640) พร้อมแรม DDR3 (Dual Channel) 8GB หน่วยเก็บข้อมูลเป็น SSD ความจุ 256GB (เหลือให้ใช้จริงประมาณ 190-200GB) มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Windows 10 Pro ตัวเต็ม พร้อมแถม Office ให้ใช้งานฟรี 30 วันด้วย

ด้านการเชื่อมต่อจะรองรับ WiFi มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac บลูทูธ 4.1 ไม่รองรับการใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์ และไม่มี GPS นำทางในตัว

ฟีเจอร์เด่นและทดสอบประสิทธิภาพ

Surface Pro 2017 จะติดตั้ง Windows 10 Pro มาให้ ทำให้ผู้ใช้สามารถติดตั้งซอฟต์แวร์ที่รองรับ Windows ได้ปกติเช่น ชุดซอฟต์แวร์ Adobe, Office ได้แบบเดียวกับการใช้บนพีซีหรือโน้ตบุ๊กทั่วไป ส่วนซอฟต์แวร์พิเศษ เนื่องจาก Surface Pro เป็นของไมโครซอฟท์เพราะฉะนั้นการปรับตั้งค่าระบบต่างๆจะสามารถทำผ่านหน้า Settings ได้ทั้งหมด รวมถึงการกำหนดรูปแบบการใช้พลังงานเพื่อประหยัดแบตเตอรีก็สามารถทำผ่านส่วนไอคอนแบตเตอรีได้ทันที

ทดสอบประสิทธิภาพ : PCMark 10 = 2,894 คะแนน

ทดสอบประสิทธิภาพ : Geekbench 4 / Single Core = 4,071 คะแนน / Multi Core = 8,415 คะแนน

ทดสอบประสิทธิภาพ : Cinebench R15 / OpenGL = 43.02 เฟรมต่อวินาที / CPU = 343cb

มาดูด้านการทดสอบประสิทธิภาพ โดยรุ่นที่เราได้รับมาเป็น Core i5 7300U ประกบกราฟิก Intel HD Graphics 620 ซึ่งถือเป็นสเปกระดับกลาง ภาพรวมถือว่าสามารถตอบโจทย์การทำงานได้หลากหลายตั้งแต่ใช้พิมพ์งาน ตกแต่งภาพจากไฟล์ RAW ของกล้อง DSLR ไปถึงตัดวิดีโอ 1080p ทุกอย่างทำงานได้ลื่นไหล หน่วยเก็บข้อมูล SSD ทำงานได้รวดเร็วดี และสามารถเพิ่มความจุด้วย MicroSD เพื่อใช้สำหรับเก็บไฟล์งานได้ (แต่ไม่แนะนำให้ใช้เก็บโปรแกรมเพราะอ่านเขียนช้า)

ส่วนข้อสังเกตจะเป็นเรื่องของพอร์ตเชื่อมต่อที่มีให้เพียง USB 3.0 จำนวน 1 พอร์ตเท่านั้น (ถ้ามีอุปกรณ์ต่อพ่วงเยอะอาจต้องหาอุปกรณ์เสริมอย่าง Surface Dock มาใช้งาน) อีกทั้งตัวเครื่องยังไม่มี USB-C ที่เป็นมาตรฐานใหม่ของปีนี้ติดตั้งมาให้ด้วย

ด้านการใช้งานคีย์บอร์ดและปากกา เริ่มจากคีย์บอร์ด ทีมงานรู้สึกว่านอกจากพื้นผิว Alcantara ในคีย์บอร์ดเวอร์ชัน Signature Type Cover ที่สัมผัสแล้วรู้สึกกระชับมือ วางพิมพ์งานบนตักแล้วตัว Cover เกาะกับขาและกางเกงไม่ลื่นหล่นได้ดีมาก ส่วนแป้นพิมพ์ให้ความรู้สึกกดง่ายและแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะส่วนทัชแพดที่ตอบสนองได้ดีมาก

ด้านปากกา Surface Pen นอกจากดีไซน์ที่ปรับเหมือนดินสอมากขึ้นแล้ว เรื่องสเปกฮาร์ดแวร์ภายยังถูกปรับปรุงให้ตอบสนองได้ดีขึ้นแถมรับแรงกดได้ละเอียดขึ้นจากรุ่นก่อนหน้า ประสิทธิภาพถือว่าเทียบเท่าคู่แข่งแล้ว แถมตัวปากกายังมีฟีเจอร์เด่นอย่างท้ายปากกาเป็นยางสามารถใช้แทนยางลบดิจิตอลหรือแม้แต่หัวปากกาก็สามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ทั้งเป็นแบบดินสอ HB/B หรือหัวปากกาลูกลื่น

สุดท้ายในส่วนของแบตเตอรีโดยทดสอบใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กส่วนตัวเน้นพิมพ์งาน ต่อ WiFi เข้าเว็บไซต์ แชทและเล่นเกมฆ่าเวลาบ้างสลับตลอดทั้งวัน พบว่าเรื่องของแบตเตอรีทำได้น่าพอใจกว่ารุ่นก่อน โดยทีมงานทดสอบสามารถทำเวลาใช้งานได้มากถึง 9-11 ชั่วโมงเลยทีเดียว และอีกหนึ่งข้อดีของ Surface Pro ที่ถูกปรับระบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ Windows 10 มาให้เข้ากันมากขึ้นก็คือ เวลาเราเลิกใช้งานเครื่องเราสามารถกดปุ่มปิดเครื่องครั้งเดียวเพื่อสั่งให้หน้าจอดับแล้วเข้าโหมดสแตนบายได้ทันทีแบบเดียวกับแท็บเล็ตแอนดรอยด์หรือ iOS และสามารถปลุกเครื่องให้ตื่นได้ตลอดเวลาโดยไม่พบอาการเครื่องค้างให้เห็น อีกทั้งถ้าเรากดสแตนบายเครื่องเป็นเวลานานเกินไป ระบบจะพาตัวเองเข้าสู่ Hibernate อัตโนมัติ เวลาเปิดเครื่องใหม่ระบบบู๊ตค่อนข้างเร็วกว่ารุ่นที่แล้ว ทำให้การใช้งาน Surface Pro 2017 ไม่พบอาการสะดุดให้เห็นตลอดการทดสอบร่วม 2 อาทิตย์ (ทีมงานไม่เคยสั่งชัทดาวน์เครื่องเลย ส่วนใหญ่ใช้วิธีกดปุ่มปิด 1 ครั้งให้หน้าจอดับแล้วก็ใส่กระเป๋าทันที)

กล้องหน้า

กล้องหลัง

สุดท้ายในส่วนการทดสอบกล้องถ่ายภาพ เริ่มจากด้านหน้า คุณภาพถือว่าอยู่ในระดับพอใช้ไม่ค่อยคมชัดเมื่ออยู่ในที่แสงน้อย แต่เรื่องความลื่นไหลของภาพถือว่าทำได้ดี ส่วนกล้องหลังถือว่าคุณภาพกลางๆ ใช้แก้ขัดได้

สรุป

สำหรับราคา Surface Pro 2017 จะเริ่มต้นที่ 30,900 บาทไปจนถึงรุ่นท็อปสุด Intel Core i7/1TB SSD/16GB RAM/Iris Plus Graphics 640 อยู่ที่ราคา 101,900 บาท

Surface Pro 2017 ถือว่าเป็นแท็บเล็ตลูกผสมโน้ตบุ๊กสายพันธุ์ Windows 10 จากไมโครซอฟท์ที่เน้นการปรับปรุงด้านสเปกภายในที่มีให้เลือกหลากหลายระดับตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปถึงเน้นประสิทธิภาพสูง เน้นงานตัดต่อวิดีโอ 4K รวมถึงการปรับปรุงเรื่องฟีเจอร์ในแบบแท็บเล็ต เช่น การปิดเปิดเครื่องที่รวดเร็วกว่าโน้ตบุ๊กปกติและสามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวันแบบไร้รอยต่อ สิ่งเหล่านี้ไมโครซอฟท์ปรับปรุงมาได้ดีมากขึ้น ผู้อ่านที่กำลังมองหาโน้ตบุ๊ก-แท็บเล็ตวินโดวส์เน้นน้ำหนักเบา พกพาง่ายแบบแท็บเล็ตแต่ประสิทธิภาพสูงสามารถใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์รองรับ Windows ได้แบบเดียวกับพีซี Surface Pro 2017 เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ

ส่วนผู้ใช้ที่เป็นแฟน Surface Pro อยู่แล้ว ต้องเรียนตามตรงเลยว่ารุ่นปี 2017 ถูกปรับปรุงเน้นความลงตัวและพยายามเป็นแท็บเล็ตไฮบริดที่สมบูรณ์มากกว่าเก่า จุดที่แตกต่างจากรุ่นเดิมจริงๆจะอยู่ที่ตัว m3 กับ i5 ที่ไม่มีพัดลมระบายความร้อนแล้วทำให้เครื่องทำงานเงียบมาก รวมถึงแบตเตอรีที่อึดขึ้น มองแล้วมีความเป็นแท็บเล็ตสูงกว่ารุ่นก่อน นอกนั้นจะแตกต่างจากเดิมไม่มากนัก ใครกำลังสนใจต้องลองช่างใจดูเองครับ

ข้อดี

– ปรับแต่งได้ลงตัวไม่ว่าจะใช้ในโหมดไหนก็ตาม
– ได้ Windows 10 Pro มาจากโรงงาน
– รุ่น m3 และ i5 ทำงานเงียบเพราะใช้ระบบระบายความร้อนแบบใหม่ ไร้พัดลม
– แบตเตอรีอึดกว่ารุ่นเดิมเกือบเท่าตัว
– ปากกา Surface Pen ใหม่ เขียนได้แม่นยำ ลื่นไหลขึ้นมาก

ข้อสังเกต

– กล้องหน้าและหลังคุณภาพแค่พอใช้
– ช่องเชื่อมต่อ USB ให้มาน้อย ไม่มี USB-C

Gallery

]]>
Review : HUAWEI MediaPad T3 10 ใส่ซิมได้ จอใหญ่ ในราคาไม่ถึงหมื่น https://cyberbiz.mgronline.com/review-huawei-t310/ Wed, 20 Sep 2017 04:47:46 +0000 http://www.cyberbiz.in.th/?p=27212

MediaPad T3 10 ถือเป็นอีกหนึ่งแท็บเล็ตจากหัวเว่ยที่มีราคาไม่แพง พร้อมเน้นความคุ้มค่าเท่าที่แท็บเล็ตจะให้ได้ทั้งหน้าจอขนาดใหญ่ 9.6 นิ้ว ใส่ซิมใช้งาน 4G โทรออก รับสาย รับข้อความได้ ไปถึงรองรับการเพิ่มการ์ดความจำ MicroSD ได้ตามต้องการ ทั้งหมดนี้  HUAWEI MediaPad T3 10 จัดให้ในราคาไม่ถึงหมื่นบาท

การออกแบบ

HUAWEI MediaPad T3 10 ใช้หน้าจอ IPS ขนาด 9.6 นิ้วความละเอียด HD 1,280×800 พิกเซล ความสว่างหน้าจออยู่ที่ 300 นิต ความหนาตัวเครื่องอยู่ที่ 7.95 มิลลิเมตร มาพร้อมกล้องหน้า 2 ล้านพิกเซล

ด้านหลังใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียม พร้อมกล้องหลังความละเอียด 5 ล้านพิกเซลแบบออโต้โฟกัส

ในส่วนปุ่มกดและช่องเชื่อมต่อรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านล่างจะเป็นที่อยู่ของลำโพง 1 ตัวให้เสียงแบบโมโน

ด้านซ้ายเป็นช่องเชื่อมต่อหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร ช่องใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์แบบ Nano Sim (รองรับซิมเดียว) พร้อมช่องใส่ MicroSD Card ถัดมาเป็นช่อง MicroUSB สำหรับเชื่อมต่อสายชาร์จไฟหรือเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์

ด้านขวา เป็นปุ่มเพิ่มลดระดับเสียงและปุ่มเปิดปิดเครื่อง

ในส่วนอุปกรณ์เสริมนอกจากอะแดปเตอร์ชาร์จไฟแล้ว ทางหัวเว่ยยังให้ฟิล์มกันรอยและเคสแถมมากับ MediaPad T3 10 (แต่เมื่อใส่เคสแล้วจะไม่สามารถถ่ายรูปและเสียบหูฟังได้)

สเปก

MediaPad T3 10 ขับเคลื่อนด้วยซีพียู Qualcomm Snapdragon 425 Quad Core 1.4 GHz พร้อมแรม 2GB (เหลือให้ใช้งานจริงประมาณ 900MB-1GB) รอมให้มา 16GB (เหลือใช้งานจริงประมาณ 7-8GB) ขับเคลื่อนด้วย Android 7.0 Nougat ครอบทับด้วย EMUI 5 แบตเตอรี 4,800 mAh

ด้านการเชื่อมต่อเครือข่าย รองรับ 4G ในบ้านเรา สามารถใช้งานส่วนโทรศัพท์ รับข้อความได้ แต่ต้องเปิดลำโพงเครื่องเพื่อฟังเสียงหรือถ้าอยากได้ความเป็นส่วนตัวก็ต้องพึ่งพา Smalltalk

ส่วน WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n แบบ Dual Band บลูทูธรองรับเวอร์ชัน 4.1 มี GPS/AGPS/GLONASS และ BDS จับสัญญาณไวพอสมควร สามารถใช้นำทางได้

ฟีเจอร์เด่น

หน้าตาของยูสเซอร์อินเตอร์เฟส MediaPad T3 10 จะเหมือนกับสมาร์ทโฟนหัวเว่ยรุ่นใหม่ๆ แอปฯเสริมมีมาให้กำลังพอดี เช่น Microsoft Office ส่วนแอปฯโทรศัพท์ รับข้อความจะถูกซ่อนอยู่ในโฟลเดอร์เครื่องมือ

นอกจากนั้นหัวเว่ยยังได้ติดตั้งแอปฯสำหรับให้เด็กใช้งานไว้ด้วย โดยผู้ปกครองสามารถควบคุมและกรองการใช้งานแอปฯในตัวเครื่องให้เหมาะสำหรับลูกของคุณได้

ส่วนฟีเจอร์อย่าง Multitasking เปิด 2 แอปฯในหน้าจอเดียวก็มีให้เลือกใช้ใน MediaPad T3 10 เช่นกัน (แต่ทดลองเปิดบางแอปฯการใช้งานจะค่อนข้างหน่วง เนื่องมาจากแรมในตัวเครื่องมีเพียง 2 GB เท่านั้น)

สุดท้ายในส่วนกล้องถ่ายภาพ นอกจากโหมดอัตโนมัติปกติแล้วยังมี HDR และสามารถสแกนเอกสารได้

โดยในส่วนคุณภาพของกล้องหน้าและหลังถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้แก้ขัดได้ ส่วนกล้องหน้ามี Beauty Mode ทำหน้าใสมาให้ด้วย

ทดสอบประสิทธิภาพ

PC Mark Work 2.0 = 3,568 คะแนน
AnTuTu Benchmark = 38,004 คะแนน

3D Mark
Sling Shot = 55 คะแนน
Ice Storm Extreme = 3,695 คะแนน
Ice Storm = 7,267 คะแนน

AndroBench
Seq. Read = 157.84MB/s
Seq. Write = 62.79MB/s

PassMark PerformanceTest
System = 2,343 คะแนน
CPU Tests = 54,826 คะแนน
Memory Tests = 5,961 คะแนน
Disk Tests = 2,663 คะแนน
2D Graphics Tests = 2,911 คะแนน
3D Graphics Tests = 523 คะแนน

ด้วยซีพียูที่จับกลุ่มระดับเริ่มต้นและแรมที่ให้มาเพียง 2GB แต่เหลือใช้จริงระดับ 900MB-1GB เท่านั้น แน่นอนว่าการใช้งานจริงทีมงานต้องเรียนตามตรงว่า “ตัวเครื่องทำงานได้หน่วงพอตัว แถมถ้าเปิดแอปฯเป็นจำนวนมาก อาจพบเจออาการแอปฯปิดตัวเองได้ด้วย” ความจริงหัวเว่ยน่าจะให้แรมมาอย่างน้อย 4GB น่าจะทำให้การทำงานดีขึ้นกว่านี้

ด้านรอมที่ให้มา 16GB พร้อมรองรับการใส่การ์ดความจำ MicroSD เพิ่มได้ เอาเข้าจริงแล้วถ้าเป็นคนไม่ได้ใช้งานแท็บเล็ตหนักหน่วงมากก็อาจจะเพียงพอในวันนี้ แต่วันข้างหน้าเมื่อแอปฯมีขนาดใหญ่ขึ้นก็อาจสร้างความวุ่นวายให้ผู้ใช้ต้องมาคอยตามลบหรือย้ายไฟล์ไปฝากไว้ที่ MicroSD Card (ความจริงความจุรอมในตัวเครื่องที่เหมาะสมกับปัจจุบัน ควรเริ่มต้นที่ 32GB เป็นอย่างต่ำ)

ส่วนการใช้เล่นเกมถามว่าทำได้หรือไม่ ทีมงานได้ทดสอบกับเกมหลากหลายรูปแบบก็ถือว่าพอใช้ได้ อย่าง ROV ปรับได้สูงสุดลื่นไหลกำลังดีแต่เกมบางเกมก็แนะนำให้ปรับไปที่ระดับกลาง-ต่ำสุดจะทำให้การเล่นลื่นไหลขึ้น

ด้านการทดสอบแบตเตอรีด้วย PC Mark เปิดหน้าจอทิ้งไว้ตลอดการทดสอบ ทำเวลาได้ 7 ชั่วโมง 5 นาทีเทียบกับแบตเตอรี 4,800 mAh และหน้าจอความละเอียดเพียง HD ถือว่ายังทำเวลาไม่ค่อยน่าประทับใจ

สรุป

สำหรับราคาขาย HUAWEI MediaPad T3 10 อยู่ที่ 8,900 บาท ถ้ามองถึงฟีเจอร์ ลูกเล่นที่ให้มาก็ถือว่าคุ้มค่าคุ้มราคาพอสมควร แต่ถ้ามองเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพ MediaPad T3 10 ยังทำได้ไม่น่าประทับใจนัก โดยเฉพาะแรมและรอมในตัวเครื่องที่ให้มาน้อยไปเสียหน่อย และไม่น่าเพียงพอต่อการใช้งานในอนาคต

แต่ถ้ามองในแง่ซื้อเป็นแท็บเล็ตเสริม เช่น ไว้ใช้งาน GPS หรือใช้เปิดเพลงผ่านแอปฯสตรีมมิ่งต่างๆในรถยนต์ หรือหาซื้อเป็นแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาสำหรับลูกหลาน HUAWEI MediaPad T3 10 ก็ถือว่าตอบโจทย์ได้ดี เพราะตัวเครื่องมีขนาดใหญ่แถมใส่ซิมรับ 4G ได้ด้วย

ข้อดี

– ฟีเจอร์ครบครันทั้งใส่ซิม รับ 4G ถ่ายภาพ โทรออก รับสายและรับข้อความได้
– แถมเคสและฟิล์มกันรอยมาให้ในแพกเกจ
– มีกล้องหน้าหลัง คุณภาพพอใช้
– มี GPS นำทางได้

ข้อสังเกต

– รอม 16GB แรม 2GB ไม่เพียงพอใช้งานในอนาคต
– หน้าจอ HD ภาพไม่คมชัด
– มีอาการหน่วงให้เห็นเวลาเปิดแอปฯเป็นจำนวนมาก

Gallery

]]>
Review : iPad Pro 10.5 WiFi (2017) ทรงพลังใกล้เคียงแล็ปท็อปพีซี https://cyberbiz.mgronline.com/review-ipadpro-2017/ Tue, 25 Jul 2017 03:11:49 +0000 http://www.cyberbiz.in.th/?p=26714

หลังจากแอปเปิลเลือกปรับไลน์กลุ่มแท็บเล็ต iPad ใหม่ โดยให้ iPad mini 4 และ iPad (2017 แทนที่ iPad Air) เป็นคู่ยึดตลาดราคาประหยัดเน้นความคุ้มค่า ในส่วนระดับบนเน้นประสิทธิภาพ ราคาสูง แอปเปิลได้เลือกเปิดตัว iPad Pro ใหม่ 2 ขนาดหน้าจอ คือรุ่น 12.9 นิ้วและ 10.5 นิ้ว พร้อมเลือกปรับสเปกให้กลุ่ม iPad Pro มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากรุ่นเดิมตั้งแต่การประมวลผลไปถึงจอภาพใหม่ ProMotion 120Hz ครั้งแรกของตลาดแท็บเล็ต

การออกแบบ

iPad Pro ขึ้นชื่อว่าเป็นแท็บเล็ตที่มีราคาแพงที่สุดในตลาด เพราะฉะนั้นเรื่องงานออกแบบ แอปเปิลจึงค่อนข้างพิถีพิถัน โดยเฉพาะรุ่นไฮไลท์ 10.5 นิ้วที่ทีมงานไซเบอร์บิซนำมารีวิวในวันนี้ จะเป็นรุ่นที่ได้รับการออกแบบใหม่หมดทุกสัดส่วน ตั้งแต่ขนาดหน้าจอ 10.5 นิ้ว ความละเอียด 2,224 x 1,668 พิกเซล (ความหนาแน่นพิกเซล 264 พิกเซลต่อตารางนิ้ว) มาพร้อมกล้องหน้าความละเอียด 7 ล้านพิกเซล รูรับแสง f2.2 รองรับ Retina Flash, TouchID อัปเกรดไปใช้รุ่น 2 และมีเซ็นเซอร์ตรวจวัด Ambient light sensor เพื่อใช้ร่วมกับฟีเจอร์ True Tone Display

ในส่วนขนาดตัวเครื่อง ถึงแม้หน้าจอจะมีขนาดใหญ่จากรุ่นเดิมถึง 20% (ใช้วิธีขยายขอบจอภาพแทน) แต่ในส่วนขนาดตัวเครื่องแอปเปิลจะพยายามคงรูปร่างของ iPad Pro 9.7 นิ้วไว้ ตั้งแต่ความหนาตัวเครื่องเท่ากันที่ 6.1 มิลลิเมตร ในขณะที่ด้านยาวจะต่างกันประมาณ 10 มิลลิเมตรและน้ำหนักต่างกันในหลัก 10-20 กรัมเท่านั้น (iPad Pro 10.5 นิ้วมีน้ำหนัก 469 กรัมในรุ่น WiFi และ 477 กรัมในรุ่น WiFi+Cellular) เรียกได้ว่าคนที่ยังชื่นชอบดีไซน์ iPad Pro 9.7 นิ้วจะรู้สึกแตกต่างจากเดิมเล็กน้อยเมื่อเปลี่ยนมาใช้ iPad Pro 10.5 นิ้ว

ด้านหลัง ใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียมขึ้นรูปแผ่นเดียว เป็นที่อยู่ของกล้องถ่ายภาพหลัก (Main Camera) ที่ถูกอัปเกรดไปใช้สเปกเดียวกับ iPhone 7 ตั้งแต่ความละเอียดภาพ 12 ล้านพิกเซล มาพร้อมเลนส์กล้องรูรับแสง f1.8 มีระบบป้องกันภาพสั่นไหว ไฟแฟลชแบบ LED TrueTone 4 ดวงและออโต้โฟกัสแบบ Focus Pixels รองรับการถ่ายวิดีโอ 4K 30 เฟรมต่อวินาทีและวิดีโอสโลโมชั่น 720p 240 เฟรมต่อวินาที

มาถึงพอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มกดรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านขวาจะเป็นที่อยู่ของปุ่มเพิ่มลดเสียง (สังเกตกล้องหลักจะยื่นออกมาจากตัวเครื่องด้านหลังค่อนข้างมาก เวลาวางบนโต๊ะต้องใช้ความระมัดระวัง)

ซ้าย ตรงกลางเป็นพอร์ต Smart Connector สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมจากแอปเปิล เช่น คีย์บอร์ด

บน ซ้ายสุดจะเป็นปุ่มเปิดปิดเครื่อง/หน้าจอ > ลำโพงตัวที่ 1 > ไมโครโฟน > ลำโพงตัวที่ 2 > ช่องเชื่อมต่อหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร

ล่าง ลำโพงตัวที่ 3 > พอร์ต Lightning > ลำโพงตัวที่ 4

*ลำโพงใน iPad Pro 10.5 นิ้วจะเป็นสเตอริโอ 4 ตัว แบ่งการทำงานเป็นคู่ โดยคู่แรกจะให้เสียงแหลมแยกลำโพงซ้ายขวา คู่ที่สองเป็นเสียงกลางและเบสแยกลำโพงซ้ายขวา อีกทั้งเมื่อผู้ใช้ตะแคงเครื่องจากแนวตั้งมาแนวนอนหรือกลับเครื่องจากบนลงล่าง ล่างขึ้นบน ไม่ว่าหมุนเครื่องไปมุมไหนก็ตาม ระบบภายในจะบาลานซ์ปรับเสียงแหลม กลาง เบส แยกลำโพงซ้ายขวาให้อย่างถูกต้องทุกองศาการรับฟัง เพราะภายในมีเซ็นเซอร์ตรวจจับอยู่

ในส่วนการรองรับ Apple Pencil สำหรับ iPad Pro 10.5 นิ้ว (รวมถึงรุ่น 12.9 นิ้วใหม่) ยังคงรองรับ Apple Pencil เช่นเดิม แต่ประสิทธิภาพจะดีขึ้น

สเปกและฟีเจอร์เด่น

iPad Pro 10.5 นิ้ว และ 12.9 นิ้ว (2017) ขับเคลื่อนด้วยซีพียู Apple A10X Fusion 64-bit แบบ 6-core CPU 12-core GPU ทำงานร่วมกับชิป M10 พร้อมแรม 4GB รอมมีให้เลือก 64/256/512GB โดยรุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบเป็นความจุ 512GB WiFi

ด้านการเชื่อมต่อเครือข่าย WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac (2.4GHz และ 5GHz) พร้อม MIMO นอกจากนั้นยังรองรับเทคโนโลยีเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth 4.2 พร้อมเข็มทิศดิจิตอลในตัวและรองรับเทคโนโลยีเฉพาะ iBeacon หรือเทคโนโลยีระบุตำแหน่งในอาคาร

ส่วนรุ่น WiFi+Cellular จะเพิ่มเติมความสามารถในการรองรับเครือข่ายโทรศัพท์ผ่าน Nano Sim รองรับการเชื่อมต่อ 3G/4G LTE ทุกเครือข่ายในประเทศไทย นอกจากนั้นยังรองรับ GPS/GLONASS เพื่อใช้งานแผนที่นำทางได้ด้วย

ด้านแบตเตอรี ในรุ่นหน้าจอ 10.5 นิ้วที่ทีมงานนำมาทดสอบจะถูกขยายความจุเป็น 30.4 Wh จากเดิมในรุ่น 9.7 นิ้วอยู่ที่ 27.9 Wh สามารถใช้งานต่อเนื่องยาวนาน 10 ชั่วโมง และ iPad Pro 2017 ยังรองรับการชาร์จไฟแบบเร็วผ่านอะแดปเตอร์ USB-C ของแอปเปิลอีกด้วย

ด้านระบบปฏิบัติการปัจุบัน iPad Pro ขับเคลื่อนด้วย iOS 10 แต่ในอนาคต iOS 11 จะเป็นระบบปฏิบัติการที่เหมาะสมกับ iPad Pro (2017) มากที่สุด

ทดสอบประสิทธิภาพและสรุป

3DMark (iPad Pro 9.7″ – 2016 Model)

3DMark (iPad Pro 10.5″ – 2017 Model)

AnTuTu Benchmark (iPad Pro 9.7″ – 2016 Model)

AnTuTu Benchmark (iPad Pro 10.5″ – 2017 Model)

เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วว่า iPad Pro 10.5 นิ้วเมื่อเทียบกับ iPad Pro 9.7 นิ้วรุ่นปีที่แล้วต้องดีกว่า รวมถึงการใช้งาน ความลื่นไหล โดยเฉพาะการเปิดใช้ฟีเจอร์ Multitasking 2 จอเพื่อทำงาน iPad Pro 10.5 จะให้ประสิทธิภาพด้านการประมวลผลที่ดีอย่างเห็นได้ชัด แอปฯต่างๆสามารถโหลดข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น

ส่วนคนที่ชอบใช้ iPad Pro สร้างผลงานเพลงทั้งจากแอปฯเฉพาะทาง เช่น NanoStudio, GarageBand ไปถึงการวาดภาพ สร้างภาพ ตัดต่อภาพผ่าน Adobe Photoshop หรือตัดต่อวิดีโอ 4K รวมถึงช่างภาพที่ต้องจัดการรูปภาพความละเอียดสูง iPad Pro รุ่นใหม่นี้สามารถตอบสนองการทำงานเหล่านั้นได้ไม่ต่างจากแล็ปท็อป PC หรือเรียกได้ว่าสเปกเครื่องเหลือๆให้ใช้งานได้ตั้งแต่รับชมภาพยนตร์ ทำงาน เล่นเกม ทุกอย่างสามารถจัดการได้บน iPad Pro ทั้งหมด

ในส่วนจุดเด่นอย่างจอภาพใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยี “ProMotion” พร้อมอัตราการดึงข้อมูลส่วนจอภาพสูงถึง 120Hz ครั้งแรกในกลุ่มแท็บเล็ตระดับยูสเซอร์ ที่นอกจากความลื่นไหล ตอบสนองต่อการกดสั่งงานได้รวดเร็วกว่าเดิมแล้ว เมื่อลองใช้ Apple Pencil เทียบกับ iPad Pro รุ่นก่อนหน้า (หน้าจอ 60Hz) Apple Pencil บน iPad Pro 2017 สามารถลากเส้นได้ต่อเนื่องและลื่นไหล เป็นธรรมชาติกว่าด้วย (พิสูจน์ด้วยตาคุณเองที่คลิปวิดีโอด้านบนสุดช่วงเวลา 1 นาที 29 วินาที)

สรุปภาพรวม iPad Pro 2017 ต้องเรียกได้ว่าเป็นแท็บเล็ตระดับบนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในตลาดในตอนนี้ทั้งเรื่องสเปกและประสิทธิภาพการประมวลผลของซีพียูที่ใกล้เคียงกับอัลตร้าบุ๊ก ไปถึงเรื่องลำโพง 4 ตัวที่ให้เสียงดีสุดในตลาดตอนนี้ คนที่กำลังมองหาแท็บเล็ตเน้นทำงานแบบหนักหน่วง หรือคนชอบเน้นเล่นเกม วาดภาพ ใช้ทำงานศิลปะหรือชอบดูหนัง ฟังเพลง iPad Pro ถือเป็นอีกหนึ่งแท็บเล็ตที่น่าสนใจเช่นกัน

ในส่วนราคาและรุ่นมีดังต่อไปนี้

iPad Pro 10.5 นิ้ว WiFi 64GB เริ่มต้นที่ 24,500 บาท ถึง 34,700 บาทในรุ่น WiFi 512GB
iPad Pro 12.9 นิ้ว WiFi 64GB เริ่มต้นที่ 30,900 บาท ถึง 41,100 บาทในรุ่น WiFi 512GB

iPad Pro 10.5 นิ้ว WiFi+Cellular 64GB เริ่มต้นที่ 29,500 บาท ถึง 39,700 บาทในรุ่น WiFi+Cellular 512GB
iPad Pro 12.9 นิ้ว WiFi+Cellular 64GB เริ่มต้นที่ 35,900 บาท ถึง 46,100 บาทในรุ่น WiFi+Cellular 512GB

มี 4 สีให้เลือก ได้แก่ สีเงิน, เทาสเปซเกรย์, ทองและโรสโกลด์ ส่วนอุปกรณ์เสริมอย่าง Apple Pencil (ซื้อแยก ไม่มีแถม) อยู่ที่ 3,900 บาท ส่วน Smart Keyboard อยู่ที่ 5,900 บาท

ข้อดี

– รุ่น 10.5 นิ้วออกแบบดี เป็นรุ่นเน้นการพกพามากที่สุด ขนาดและน้ำหนักไม่ต่างจาก 9.7 นิ้วเดิมมากนัก
– หน้าจอ 120Hz ลื่นไหลตั้งแต่เปิดเครื่อง สไลด์นิ้วปลดล็อกจอ
– สเปกเครื่องดีมาก ใช้งานได้หลากหลาย
– ลำโพง 4 ตัวให้เสียงดีสุดในตลาดแท็บเล็ตตอนนี้
– กล้องปรับปรุงใหม่สเปกเดียวกับ iPhone 7 (มาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหวด้วย)

ข้อสังเกต

– แอปฯบางตัว เช่น เกม ส่วนใหญ่ยังไม่รองรับจอ 120Hz
– ไม่แถมอะแดปเตอร์ชาร์จไฟแบบเร็วมาให้ ต้องซื้อเพิ่ม

Gallery

]]>
Review : Samsung Galaxy Tab S3 พรีเมียมแท็บเล็ตพร้อมปากกา S Pen และลำโพง 4 ตัว https://cyberbiz.mgronline.com/review-tabs3/ Wed, 12 Jul 2017 01:30:48 +0000 http://www.cyberbiz.in.th/?p=26545

Samsung Galaxy Tab S ถือเป็นกลุ่มแท็บเล็ตพรีเมียมจากซัมซุงที่ได้รับความนิยมสูงมาตั้งแต่รุ่นแรกที่ออกวางจำหน่ายเมื่อปี 2014 จนปัจจุบัน Tab S เดินทางมาถึงรุ่นที่ 3 (Tab S3) กับจุดขายใหม่ “พรีเมียมแท็บเล็ตที่สามารถขีดเขียนได้ด้วยปากกา S Pen” ครั้งแรกของตระกูลพรีเมียม Tab S ที่ในครั้งนี้ ซัมซุงตั้งใจปรับปรุงปากกามาให้โดดเด่นเป็นพิเศษอีกด้วย

การออกแบบ

สำหรับ Samsung Galaxy Tab S3 จะมาพร้อมหน้าจอ Super AMOLED ขนาด 9.7 นิ้ว อัตราส่วนหน้าจอเป็น 4:3 แบบเดียวกับ Tab S2 มาพร้อมความละเอียหน้าจอ 2,048×1,536 พิกเซล รองรับการเล่นวิดีโอ HDR และรองรับปากกา S Pen

ในส่วนขนาดตัวเครื่องจะมีความหนาอยู่ที่ 6 มิลลิเมตร หนัก 434 กรัม

ด้านหน้า เหนือหน้าจอขึ้นำไป ข้างโลโก้ Samsung จะเป็นที่อยู่ของกล้องหน้า ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f2.2

ใต้จอภาพ ตรงกลางจะเป็นปุ่มโฮมพร้อมเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ (Fingerprint) แบบดั้งเดิมของซัมซุง ด้านซ้ายเป็นปุ่มสัมผัสเรียก Recent Apps ขวา ปุ่มย้อนกลับ

ด้านหลังตัวเครื่อง วัสดุจะเป็นกระจก โดยด้านบนจะเป็นที่อยู่ของกล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f1.9 พร้อมไฟแฟลชแบบ LED

มาดูด้านข้างเครื่องกันบ้าง เริ่มจากด้านบนจะเป็นที่อยู่ของลำโพงสเตอริโอ 2 ตัวพร้อมเสารับสัญญาณโทรศัพท์

ด้านล่าง ซ้าย-ขวาจะเป็นที่อยู่ของลำโพงอีก 2 ตัว พร้อมเสารับสัญญาณโทรศัพท์เช่นเดียวกับด้านบน ส่วนตรงกลางจะเป็นที่อยู่ของช่อง USB-C รองรับมาตรฐานเชื่อมต่อสูงสุด USB 3.1 พร้อมช่องต่อหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร

ด้านขวา จะเป็นปุ่มเพิ่มลดระดับเสียง โดยตรงกลางจะเป็นช่องใส่ถาดใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์แบบ Nano Sim (รองรับ ซิมเดียว) และช่องใส่ MicroSD Card รองรับความจุสูงสุด 256GB

ด้านซ้าย จะเป็นส่วนเชื่อมต่อ POGO กับอุปกรณ์เสริม เช่น คีย์บอร์ด

มาถึงส่วนของปากกา S Pen ที่ในครั้งนี้ซัมซุงปรับปรุงใหม่ให้เหมาะกับ Tab S3 มากยิ่งขึ้น (ใช้สเปกเดียวกับ S Pen ใน Galaxy Note 7) ตั้งแต่ขนาดตัวปากกาที่ออกแบบให้เหมือนของจริง จับถนัดมือกว่า Galaxy Note พร้อมหัวปากกาแบบ 0.7 มิลลิเมตร รองรับทั้งเขียนหนังสือและวาดรูป ไปถึงสเปกที่ในครั้งนี้ซัมซุงเพิ่มการรองรับแรงกดมากถึง 4,096 ระดับ มากกว่า Galaxy Tab A และ Note 5 เป็นเท่าตัว

และที่สำคัญปากกาไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี ไม่ต้องใส่ถ่าน

สุดท้าย Galaxy Tab S3 จะรองรับระบบชาร์จไฟแบบเร็ว เช่นเดียวกับ Galaxy S8 และในแพกเกจจะมาพร้อมอะแดปเตอร์ Adaptive Fast Charging ด้วย

สเปก

หน่วยประมวลผลขับเคลื่อน Galaxy Tab S3 ซัมซุงเลือกใช้ซีพียู Qualcomm Snapdragon 820 Quad-core ความเร็ว 2.15GHz แรม 4GB (ประสิทธิภาพแรงกว่ารุ่นก่อนหน้า 18% กราฟิกแรงกว่า 3 เท่า) มาพร้อมรอม 32GB เหลือพื้นที่ให้ใช้งานจริงประมาณ 23.1GB

ในส่วนการรองรับเครือข่ายโทรศัพท์ จะรองรับ 3G/4G LTE ทุกเครือข่ายในบ้านเรา สามารถโทรศัพท์ได้แต่อาจต้องทำผ่านบลูทูธ ส่วน WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac มี GPS/Glonass/Beidou/Galileo ในตัว บลูทูธรองรับรุ่นใหม่ 4.2 มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Android 7.0 ส่วนแบตเตอรีให้ความจุมา 6,000 mAh

ยูสเซอร์อินเตอร์เฟสและฟีเจอร์เด่น

เริ่มจากยูสเซอร์อินเตอร์เฟส (UI) จะเป็นซัมซุงยุคใหม่คือไม่ยัดเยียดแอปฯมาให้เกินความจำเป็น ทำให้ UI ค่อนข้างเบาและรูปแบบการใช้งานจะเหมือนกับ UI ใน Galaxy S8 ผสม Galaxy A7 2017 รวมถึงรอบรับ Multitasking เปิดใช้งาน 2 แอปฯในหนึ่งหน้าจอได้

ในส่วนหน้าจออัตราส่วน 4:3 แม้มองเผินๆจะดูไม่คุ้นตานัก แต่เรื่องของพื้นที่แสดงผล สำหรับการใช้งานเอกสาร เล่นเว็บไซต์ถือว่าให้พื้นที่กว้างขวาง ไม่อึดอัด โดยเฉพาะการเปิด 2 แอปฯในหนึ่งหน้าจอ จะมีพื้นที่ใช้งานค่อนข้างมาก แต่ถ้านำไปเล่นวิดีโออัตราส่วน 16:9 หรือ 21:9 จะเกิดขอบดำบนล่างค่อนข้างมาก มองแล้วไม่เต็มตา

มาถึงฟีเจอร์ S Pen นอกจากตัวปากกามีข้อดีในเรื่องไม่ต้องใช้ถ่านแล้ว ระบบการทำงานยังถือว่าครั้งนี้ซัมซุงได้พอร์ตฟังก์ชันจาก Galaxy Note 7 มาให้ใช้บน Tab S3 แทบทุกฟังก์ชัน เริ่มตั้งแต่ Smart Select ไปถึงสามารถสร้าง GIF Animation จากคลิปวิดีโอได้หรือจะเลือกครอปภาพด้วยปากกา เขียน Screenshot หรือฟังก์ชันเด่นอย่าง ยกปากกาเหนือข้อความก็สามารถเลือกแปลภาษา (รองรับแปล อังกฤษ-ไทย) ได้ด้วย

ลำโพง 4 ตัว – ในครั้งนี้ซัมซุงจับมือพัฒนาลำโพง Tab S3 ร่วมกับ AKG/HARMAN โดยลำโพงทั้ง 4 ตัวจะทำงานสอดประสานกันในรูปแบบสเตอริโอ แยกเสียงเบสและโทนแหลมออกจากกัน ทำให้เสียงมีความคมชัดและความดังที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนกล้องถ่ายภาพ รองรับความละเอียด 13 ล้านพิกเซล วิดีโอรองรับความละเอียดสูงสุด 4K โดยในส่วนคุณภาพภาพนิ่งจะอยู่กลางๆประมาณ Galaxy A-Series ส่วนวิดีโอถือว่าพอใช้ ระบบกันภาพสั่นไหวสามารถเปิดให้ซอฟต์แวร์ช่วยเหลือได้

ทดสอบประสิทธิภาพ

3D Mark
Sling Shot Extreme = 2,478 คะแนน
Sling Shot = 2,913 คะแนน
Ice Storm Unlimited = 24,302 คะแนน
Ice Storm Extreme = 13,995 คะแนน

PC Mark
Work 2.0 = 4,549 คะแนน

AnTuTu Benchamrk = 100,960 คะแนน

Geekbench 4
Single-Core = 1,368 คะแนน
Multi-Core = 3,930 คะแนน

PassMark PerformanceTest
System = 9,689 คะแนน
CPU Tests = 150,911 คะแนน
Memory Tests = 9,465 คะแนน
Disk Tests = 40,764 คะแนน

AndroBench (ทดสอบการอ่านเขียนของรอม)
Seq. Read = 289.65 MB/s
Seq. Write 89.48 MB/s

มาดูเรื่องการทดสอบประสิทธิภาพ ด้านผลคะแนนถือว่ากลางๆ พอใช้ แอบเสียดายที่ซัมซุงเลือกใช้สเปกฮาร์ดแวร์จากตัวท็อปของปีที่แล้ว โดยเฉพาะส่วนของซีพียู Snapdragon 820 ซึ่งการใช้งานจริงถือว่าไม่มีปัญหา สามารถใช้งานได้ปกติ

แต่สำหรับเครื่องเดโมที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะพบอาการเครื่องช้าบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเปิดใช้งาน Multitasking หรือเปิดใช้งานแอปฯจำนวนมากสลับไปมา

ส่วนการใช้งาน S Pen วาดภาพและเขียนหนังสือ เรียกได้ว่าถอดแบบ Galaxy Note 7 มาเลย ประสิทธิภาพปากกาเหมือนกัน โดย S Pen ใน Tab S3 จะจับถนัดกว่า ส่วนความลื่นไหลก็อยู่ในเกณฑ์ดี ผิดจากประสิทธิภาพของตัวเครื่องโดยรวมที่อยากให้ซัมซุงนำสเปกของ Galaxy S8 มาใส่ไว้ใน Tab S3 เสียจริงๆ หรืออย่างน้อยก็พัฒนาซีพียูของพรีเมียมแท็บเล็ตขึ้นมาเฉพาะเลยจะดีกว่า

ส่วนการเล่นเกม อย่างเกม Modern Combat 5 ไม่ทราบเป็นที่ตัวเกมไม่ได้ปรับประสิทธิภาพมาให้เข้ากับ Tab S3 หรืออย่างไร เพราะเกมค่อนข้างหน่วง เล่นแล้วไม่ลื่นไหล ต้องปรับค่ากราฟิกลงมากลางๆ

มาถึงการทดสอบสุดท้าย “แบตเตอรี” สามารถทำเวลาใช้งานแบบต่อเนื่องจากชุดทดสอบ PC Mark (เปิดจอทิ้งไว้และประมวลผลตลอดการทดสอบ) อยู่ที่ 8 ชั่วโมง 6 นาที แบตเตอรีเหลือ 20% สามารถใช้งานต่อเนื่องได้อีกประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง แบตเตอรีจึงใกล้หมด

ส่วนใช้งานจริงถ้าเป็นการใช้งานปกติ เน้นงานเอกสาร ท่องเว็บไซต์ผ่าน WiFi/4G จะอยู่ที่ประมาณ 10-12 ชั่วโมง สามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวัน ส่วนถ้านำมาเล่นเกมหรือใช้งานตกแต่งภาพที่ต้องใช้ซีพียูหนักหน่วง แบตเตอรีสามารถหมดได้เพียง 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น

ภาพรวมถือว่า Samsung Galaxy Tab S3 ในส่วนประสิทธิภาพประมวลผลถือว่าอยู่ระดับกลางๆ ไม่โดดเด่นหวือหวาเหมือนแฟลกชิปอย่าง Galaxy S8

สรุป

สำหรับราคาขาย Galaxy Tab S3 (32GB WiFi/รองรับ 3G/4G LTE) พร้อม S Pen จะอยู่ที่ 24,500 บาท

เรียกได้ว่าเป็นราคาที่สูงมากเมื่อเทียบกับสเปกเครื่องที่ไม่สดใหม่นัก แต่ Tab S3 มีดีที่ปากกา S Pen ที่ถูกปรับปรุงใหม่ใช้งานได้ดี โดยเฉพาะคนชอบจดโน้ต S Pen รุ่นนี้ทำงานได้ค่อนข้างแม่นยำ ฟีเจอร์ปากกาดี คนที่สนใจหาซื้อมาทำงานเอกสาร พิมพ์งานน่าจะถูกใจ แต่สำหรับคนที่ต้องการซื้อมาเพื่อเล่นเกม เน้นเอนเตอร์เทนเมนต์เป็นหลัก อยากให้ลองไปทดสอบที่ Samsung Shop ก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะในส่วนที่ปรับปรุงใหม่อย่างลำโพง 4 ตัวไปถึงหน้าจอและสเปกเครื่องก็ถือว่ายังมีประสิทธิภาพแค่ระดับกลางๆ จะเป็นพรีเมียมก็ไม่สมบูรณ์ 100% ดูครึ่งๆกลางๆไม่สุดสักทาง แถมราคาก็ยังไปชนกับ iPad Pro 10.5 นิ้ว (64GB WiFi) รุ่นล่างสุดอีก

ใครกำลังมองหาแท็บเล็ตพรีเมียมราคาระดับ 2 หมื่นบาทคงต้องตัดสินใจกันให้ดีๆ (Tab S3 ซื้อแล้วจบเลย อุปกรณ์ S Pen ได้ครบ ส่วน iPad Pro คงต้องกำเงินถึง 3 หมื่นกว่าบาทถึงจะได้ฟังก์ชันแบบ Tab S3 แต่ iPad Pro ก็ได้ในเรื่องสเปกสุดแรง สดใหม่สุดในตลาดตอนนี้)

ข้อดี

– หน้าจอ Super AMOLED ตัวใหม่ให้สีสดใส รองรับ HDR
– S Pen ทำงานได้ดี ยอดเยี่ยมเหมือนตอนทดสอบกับ Galaxy Note 7
– ลำโพง 4 ตัวให้เสียงที่ดีมากขึ้นเมื่อเทียบกับ Tab S ทุกรุ่นที่ผ่านมา

ข้อสังเกต

– สเปกส่วนประมวลผลไม่สดใหม่สมเป็นพรีเมียมแท็บเล็ต
– ราคาสูง
– แบตเตอรี ใช้งานต่อเนื่องยังไม่น่าประทับใจ
– ปัจจุบันความจุมีให้เลือกเพียง 32GB (ไม่แน่ใจจะมีรุ่น 64GB ออกมาภายหลังหรือไม่)

Gallery

]]>