เก็บ 5 เรื่องน่าสนใจส่งตรงจากงานเปิดตัว HTC U 11

7967

แม้ว่าในประเทศไทย HTC จะหายจากตลาดไปพักใหญ่ๆ จากการที่ในช่วงหลังโดนทั้งแบรนด์เกาหลี และแบรนด์จีน กดดันอย่างหนัก แต่ล่าสุดก็เริ่มกลับมาโฟกัสในตลาดไทย รวมถึงในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

ดังจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมาในการแนะนำ HTC U Ultra และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆที่เริ่มหลากหลายขึ้น แต่ในตลาดระดับโลก ด้วยชื่อของเอชทีซี ยังถือเป็นแบรนด์ระดับไฮเอนด์ ที่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง

ประกอบกับการที่ในปี 2017 เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี ของเอชทีซี ทำให้เกิดแนวคิดในการสร้างจุดเปลี่ยนให้แก่อุตสาหกรรม ทีมงานไซเบอร์บิส จึงรวบรวม 5 จุดเด่นที่มาพร้อมกับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัว HTC U 11 มาให้ได้รับรู้กัน


1.Edge Sense
ที่มีการนำ Haptic Sensor (เซ็นเซอร์รับการสัมผัสที่จะส่งกระแสไฟฟ้ากลับมาให้นิ้วรู้สึกเหมือนเครื่องถูกกด) มาใส่ไว้ที่บริเวณขอบเครื่อง เพื่อใช้ในการบีบเพื่อสั่งงาน (แม้ขณะเครื่องปิดหน้าจอ) โดยจะมีรูปแบบการบีบ 2 แบบ คือ การบีบแล้วปล่อย (บีบสั้น) กับ บีบจนเครื่องสั่นแล้วปล่อย (บีบยาว) ซึ่งฟังก์ชันที่ตั้งเป็นค่ามาตรฐานคือ การบีบสั้นเพื่อเรียกใช้งานกล้อง และบีบยาวเพื่อเรียกใช้งานผู้ช่วยอัจฉริยะ

นอกจากนี้ ยังประยุกต์ใช้ในโหมดกล้องอย่างการบีบสั้น เพื่อถ่ายภาพ และบีบยาวในการสลับกล้องหน้าหลัง หรือจะเข้าไปเปลี่ยนรูปแบบการสั่งงานอื่นๆ อย่างการสั่งเปิดแอปพลิเคชัน จับภาพหน้าจอ เปิดปิดไฟฉาย เรียกโหมดบันทึกเสียง เปิดใช้งาน Sense Companion หรือเพื่อเปิดปิด Wi-Fi

ทั้งนี้ ในการบีบเครื่อง ผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งค่าแรงบีบได้ตามความต้องการ โดยจะมีระดับให้เลือก 10 ระดับ ไล่จากบีบเบาๆ ไปจนถึงบีบแน่นๆ โดยเมื่อผู้ใช้มีการบีบเครื่อง ที่หน้าจอก็จะมีสัญลักษณ์สีฟ้าขึ้นบอก

ส่วนใครที่สงสัยว่าถ้านำเครื่องไปต่อกับไม้เซลฟี่ หรือขาตั้งที่หนีบตัวเครื่องจะเป็นอย่างไร ทดลองได้จากการบีบเครื่องค้างไว้สักพัก จะมีข้อความขึ้นแจ้งเตือนให้ปล่อย ถ้ายังคงบีบต่อจะตัดฟังก์ชันการทำงานของ Edge Sense ออกไป ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาเมื่อนำไปใช้งานแบบนั้น

กรณีที่ใช้งานร่วมกับเคส ถ้าใส่เคสอ่อนที่ยังส่งแรงบีบไปที่ตัวเครื่องได้ Edge Sense จะยังทำงานอยู่ แต่ถ้าใส่กับเคสเหล็ก หรือกรอบที่เป็นโลหะ ก็จะไม่สามารถใช้งาน Edge Sense ได้ กรณีที่ใส่ถุงมือก็สามารถบีบ สั่งงานตัวเครื่องได้ปกติ

2.ผู้ช่วยอัจฉริยะที่พร้อมรับฟังตลอดเวลา ด้วย Google Assistants x Amazon Alexa โดยทางเอชทีซีมองว่า ปัจจุบันการใช้งานคำสั่งเสียงเริ่มมีความแม่นยำ และฉลาดมากขึ้น AI สามารถเรียนรู้ และพูดคุยกับมนุษย์ได้มากขึ้น เพียงแต่ปัจจุบัน เฉพาะ Google Assistants เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จึงได้นำ Alexa เข้ามาใช้งานร่วมกัน

เพราะ Google Assistants อาจจะเชี่ยวชาญในการทำงานอย่างการกำหนดตารางนัดหมาย การนำทาง ส่วน Alexa ก็จะมีความเป็นมนุษย์มากกว่า สามารถทำงานร่วมกับ Smart Home ได้ จึงนำทั้ง 2 AI มารวมกันไว้ภายใน HTC U 11

เมื่อทั้ง 2 AI มาทำงานร่วมกันภายใน HTC Sense Companion ที่จะคอยเรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้ และคอยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน อย่างการแนะนำให้ตั้งแจ้งเตือน ล่วงหน้าก่อนถึงช่วงเวลานัดหมายในปฏิธิน การแสดงข้อมูลพยากรณอากาศล่วงหน้าเมื่อตื่นนอน และหยิบเครื่องขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ในไทย Alexa ยังไม่รองรับการทำงานแบบเต็มรูปแบบ ดังนั้นก็อาจจะไม่ได้ใช้งานในส่วนนี้แบบเต็มที่ เหมือนใน สหรัฐฯ อังกฤษ หรือเยอรมัน ที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฏาคม

3.กล้อง ถือเป็นอีกจุดที่ HTC พัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยใน HTC U 11 ส่วนของกล้องหลังจะอัปเดตมาใช้เทคโนโลยี Ultra Pixel 3 ที่ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ขนาดพิกเซล 1.4 um f/1.7 ที่มาพร้อมระกับกันสั่น OIS/EIS และระบบโฟกัสแบบ UltraSpeed AF พร้อม HDR Boost

ส่วนของกล้องหน้า ความละเอียดที่ 16 ล้านพิกเซล f/2.0 เป็นเลนส์มุมกว้าง 150 องศา โดยเอชทีซีเคลมว่าทั้งกล้องหน้าหลัง สามารถถ่ายภาพในที่แสงน้อยระดับเดียวกันได้ ซึ่งในจุดนี้อาจจะต้องรอดูภาพจากเครื่องจริงอีกครั้ง เนื่องจากเครื่องที่ได้มาลองในช่วงเวลาสั้นๆ ห้ามไม่ให้นำรูปออกมาใช้

อย่างไรก็ตามเว็บไซต์ที่ทำการทดประสอบประสิทธิภาพเกี่ยวกับกล้อง ที่จากเดิมเคยให้คะแนน Google Pixel เป็นสมาร์ทโฟนที่ถ่ายภาพดีที่สุดในช่วงที่ผ่านมาจาก 89 คะแนน อย่าง DXomark แต่หลังจากนำ U 11 ไปทดสอบ คะแนนที่สูงสุดตกเป็นของ U 11 ที่ 90 คะแนน ขึ้นแท่นเป็นสมาร์ทโฟนที่ถ่ายภาพดีที่สุดในเวลานี้

อีกจุดที่ เอชทีซี ชูขึ้นมาเป็นจุดเด่นคือเรื่องของการถ่ายวิดีโอ ที่สามารถซูมได้ทั้งภาพ และเสียง โดยใช้เทคโนโลยี 3D Audio Microphones ทำให้เวลาซูมภาพไปในจุดใด ไมค์ก็จะรับเสียงจากจุดนั้น และตัดเสียงรบกวนที่เกิดจากบริเวณรอบๆออกไป โดยเอชทีซีเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Acoustic Focus

4.เสียง ที่ผ่านมาเอชทีซีจะมีจุดเด่นในเรื่องของเสียงเสมอมา ตั้งแต่การนำ Boom Sound มาใช้ ทำให้ลำโพงสเตอริโอหันเข้าหาผู้ใช้ พอมาในรุ่น U 11 เอชทีซี ได้มีการออกแบบลำโพงที่อยู่บริเวณส่วนล่างเครื่อง ให้สะท้อนเสียงเข้ากับฝาหลัง และกระจายเสียงออกมาในขอบบน และล่างของเครื่อง

ทำให้ตัวเครื่องทั้งหมดช่วยขยายเสียงออกมา ทำให้เสียงดังขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้เบสที่หนักขึ้น พร้อมไปกับเสียงร้องที่ใสขึ้นด้วย โดยเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า HTC Boomsound Hi-Fi Edition ที่ถูกพัฒนาเพิ่มมาจากรุ่นก่อนหน้านี้อย่าง HTC 10

ในส่วนของระบบเสียงภายใน U 11 จะรองรับไฟล์เสียงแบบ Hi-Res 24bit พร้อมไปกับการออกแบบให้ตัวเครื่อง ปรับแต่งเสียงให้เหมาะกับแต่ละบุคคลได้ ด้วย Personalized Audio ที่จะทำงานร่วมกับหูฟัง U Sonic ที่เป็นหูฟังรุ่นใหม่ มีการฝังไมโครโฟนไว้ในหูฟังเพื่อช่วยรับเสียงสะท้อน

ทำให้เวลาปรับแต่งเสียง เพียงแค่ใส่ U Sonic เข้าไปในหู เข้าไปในหน้าตั้งค่า กดเลือกปรับแต่งเสียง หลังจากนั้นตัวเครื่องจะทำการวัดเสียงสะท้อนจากแก้วหูออกมา และปรับแต่งค่าที่เหมาะสมให้กับแต่ละบุคคล ที่สำคัญหูฟังดังกล่าวเป็นหูฟังที่รองรับระบบตัดเสียงรบกวนด้วย (Active Noise Cancellation)

อีกประเด็นที่ไม่พูดถึงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเสียงคือ U 11 เลือกที่จะตัดพอร์ตหูฟัง 3.5 มม. ออกไป พร้อมแถมหูฟัง U Sonic มาให้ใช้งานคู่กับ USB-C อยู่แต่ แต่ถ้าไม่ชอบทางเอชทีซีก็มีการแถมอะเดปเตอร์แปลง USB-C เป็น 3.5 มม. มาให้ด้วย

โดยทางเอชทีซี ระบุว่า อะเดปเตอร์รุ่นดังกล่าว จะมากำหนดมาตรฐานใหม่ของอะเดปเตอร์หูฟังที่จะออกมาในอนาคต เพราะภายในมีการบรรจุ DAC (Digital to Analog Converter) หรืออุปกรณ์แปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นแอนาล็อกอยู่ภายในด้วย เพื่อให้เสียงมีคุณภาพมากขึ้น

5.สุดท้ายคือในส่วนของฮาร์ดแวร์ ที่ทางเอชทีซีชูในเรื่องของการที่ผู้บริโภคทุกคนอยู่ในระดับเฟิร์สคลาสเหมือนกันทั่วโลก (Everyone is a first class citizen) ที่ทางเอชทีซี เลือกใช้หน่วยประมวลผลที่ดีที่สุดในตลาดตอนนี้จาก Qualcomm พร้อมเป็นการจิกกัดซัมซุงกลายๆ ที่เลือกใช้หน่วยประมวลผล 2 รูปแบบ

สรุปสเปกเบื้องต้นของ HTC U 11 จะมาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 835 ที่มีจุดเด่นในเรื่องของการรองรับ 4G LTE Cat 16 หรือ Gigabit Network (ในไทยตอนนี้จะวิ่งได้สูงสุด 700 Mbps จาก 3CA 4×4 MIMO 256 QAM)

ตัวเครื่องมีให้เลือกด้วยกัน 2 รุ่นคือ RAM 4 GB พร้อมพื้นที่เก็บข้อมูล 64 GB กับอีกรุ่นคือ RAM 6 GB พื้นที่เก็บข้อมูล 128 GB (ไทยขายรุ่น 6 GB) โดยตัวเครื่องรองรับการใช้งาน 2 ซิม (เลือกใส่ 2 นาโนซิมการ์ด หรือ ใส่นาโนซิมการ์ด คู่กับไมโครเอสดีการ์ด)

สำหรับการออกแบบ U 11 จะมากับความสมมาตรของตัวเครื่องทั้งหน้าและหลัง โดยจะมีหน้าจอ Super LCD ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด Quad HD ที่เป็นแบบ 3D Glass ทั้งหน้าและหลัง มาพร้อมกับเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ และปุ่มสัมผัสล่างหน้าจอ

ส่วนรอบๆเครื่องจะมีปุ่มเปิดปิด เครื่อง และปุ่มปรับระดับเสียงทางขวา ส่วนด้านบนจะเป็นถาดใส่ซิมการ์ด และด้านล่าง เป็นพอร์ต USB-C

ในส่วนของสี เอชทีซี ทำแนวคิดของพื้นผิวน้ำมาใช้ในการออกแบบ (Liquid Surface) ซึ่งเป็นคอนเซปต์ตั้งแต่รุ่นก่อนหน้านี้อย่าง HTC U Ultra ที่ใช้การเคลือบวัสดุพิเศษ ทำให้เวลาสะท้อนกับแสงในแต่ละมุมแล้วให้สีที่แตกต่างกัน

มีให้เลือกด้วยกันทั้งหมด 5 สี คือ สีเงิน (Amazing Silver) ดำ (Brilliant Black) นำ้เงิน (Sapphire Blue) ขาว (Ice white) และ สีแดง (Solid Red) เพียงแต่สีแดงจะออกวางจำหน่ายทีหลังในเฟส 2

โดยสีที่น่าสนใจจริงๆ จะเป็น Amazing Silver และ Solid Red ที่ใช้คอนเซปต์การสะท้อนของแสงไฟในมุมมองที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดสีหลากหลายโทน คล้ายกับสีของน้ำทะเล และพระอาทิตย์ ที่ส่องแสงในช่วงเวลาที่ต่างกัน

ภาพตัวเครื่อง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

SHARE