Review : Acer Aspire VX 15 โน้ตบุ๊กเกมมิ่งราคาประหยัด

26958

นอกจากเอเซอร์จะมีกลุ่มโน้ตบุ๊กเกมมิ่งสายฮาร์ดคอร์ในชื่อ Predator (พรีเดเตอร์) ทำตลาดระดับไฮเอนด์ (ราคาเกิน 5 หมื่นบาทขึ้นไป) อยู่แล้ว วันนี้เอเซอร์ก็พร้อมขยายฐานโน้ตบุ๊กเกมมิ่งลงมายังกลุ่มโน้ตบุ๊กยอดนิยมอย่าง Aspire กับซีรีย์ใหม่ Aspire VX จับตลาดเกมเมอร์เน้นความคุ้มค่าและราคาประหยัดไม่เกิน 4 หมื่นบาท โดย Aspire VX รุ่นทำตลาดในประเทศไทยจะยืนพื้นด้วยกราฟิกการ์ด NVIDIA GeForce 1050/1050Ti พร้อมซีพียู Intel Core i7 รุ่นที่ 7 “Kaby Lake”

การออกแบบ

สำหรับดีไซน์ Acer Aspire VX 15 ทุกรุ่นย่อย จะมาพร้อมหน้าจอ Full HD 1,920×1,080 พิกเซล ขนาด 15.6 นิ้ว พร้อมกล้องเว็บแคมความละเอียด HD 720p โดยในส่วนขนาดตัวเครื่องจะมีความหนา 28.90 มิลลิเมตรและน้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มโน้ตบุ๊ก Predator รุ่นล่างสุดที่มีน้ำหนักระดับ 3-4 กิโลกรัมแล้ว Aspire VX 15 จะเคลื่อนย้ายหรือพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวกสบายกว่า

ด้านคีย์บอร์ด จะมาพร้อมแป้นตัวเลขและปุ่มฟังก์ชันครบครัน อีกทั้งยังมาพร้อมไฟส่องด้านหลังสีแดงและคีย์ WASD ยังถูกไฮไลท์ด้วยตัวอักษรขอบสีแดง มองเห็นได้ชัดเจน

ส่วน TrackPad มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ล้อมกรอบด้วยเส้นสายสีแดง ด้านคุณภาพจัดอยู่ในระดับกลางๆแบบเดียวกับโน้ตบุ๊ก Aspire ทั่วไป

ด้านล่างตัวเครื่อง จะเป็นช่องระบายความร้อนทั้งหมด (ไม่มีช่องให้อัปเกรมแรมหรือเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ด้วยตัวเองได้) โดยเอเซอร์ได้ติดตั้งพัดลมระบายความร้อน 2 ตัวครอบทับส่วนซีพียูและกราฟิกการ์ด สำหรับวิธีระบายความร้อนจะใช้การดึงลมจากด้านล่างตัวเครื่องออกไปยังด้านหลัง (ตามภาพ : ช่องให้ลมร้อนออกคือบริเวณกรอบสีแดง)

ส่วนแบตเตอรีบรรจุอยู่ภายในตัวเครื่อง (ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง) มีความจุ 4,605mAh (3 เซลล์) เป็นแบตเตอรีลิเธียมไอออน

มาดูเรื่องพอร์ตเชื่อมต่อรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านขวาจะเป็นช่อง USB-C (Version 3.1 Gen 1) พอร์ต USB 3.0 2 พอร์ต HDMI 1 พอร์ต และพอร์ตแลน RJ-45 อีก 1 พอร์ต

ซ้าย เริ่มจากช่องใส่สายล็อกกันขโมย, ช่องเสียบอะแดปเตอร์ชาร์จไฟบ้าน, พอร์ต USB 2.0 1 พอร์ต ช่องอ่านการ์ดความจำ SD และช่องเสียบ Headset/Headphone 3.5 มิลลิเมตร

ส่วนด้านหน้า จะเป็นที่อยู่ของลำโพงสเตอริโอ ซ้าย-ขวา บนเทคโนโลยีเสียง Acer TrueHarmony และ Dolby Audio Premium

สุดท้ายด้านอะแดปเตอร์จ่ายไฟและชาร์จไฟ สามารถจ่ายไฟ 135W ขนาด-รูปร่างอะแดปเตอร์ประมาณ iPhone 7 Plus มีน้ำหนักค่อนข้างมาก

สเปก

Acer Aspire VX 15 รุ่นที่ทีมงานได้รับมารีวิวเป็นโมเดล VX5-591G-71W6 ขับเคลื่อนด้วยซีพียู Intel Core i7 7700HQ 4-Cores 8-Threads ความเร็ว 2.80GHz มาพร้อมแรม DDR4 (Single Channel) จำนวน 8GB ส่วนหน่วยเก็บข้อมูลจะแบ่งเป็น SSD ความจุ 128GB และฮาร์ดดิสก์จานหมุน 1TB อีกหนึ่งลูก

ในส่วนกราฟิกการ์ด ออนบอร์ดจะเป็น Intel HD Graphics 630 ส่วนกราฟิกแยกสำหรับบ้านเราจะเป็น NVIDIA GeForce GTX 1050 พร้อมแรม GDDR5 4GB (ไม่รองรับ VR) และตัวท็อปสุดจะเป็น NVIDIA GeForce GTX 1050Ti พร้อมแรม GDDR5 4GB โดยระบบจะเลือกใช้งานอัตโนมัติ (Auto Switch) เพื่อประหยัดพลังงานเวลาไม่ได้เล่นเกม

ด้านการเชื่อมต่อเครือข่าย เอเซอร์ได้ติดตั้ง WiFi มาตรฐาน 802.11ac มาให้ ส่วนแลนรองรับ Gigabit LAN และมาพร้อม Bluetooth

ด้านระบบปฏิบัติการที่ติดตั้งมากับเครื่อง ตามสเปกชีทในเว็บเอเซอร์ประเทศไทยระบุไว้ว่าเป็น Linux แต่เครื่องที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะติดตั้ง Windows 10 Pro ลิขสิทธิ์พร้อมมีสติกเกอร์ติดอยู่ด้านใต้โน้ตบุ๊ก เพราะฉะนั้นคนที่กำลังสนใจก่อนเลือกซื้อเครื่องกรุณาสอบถามพนักขายให้ดีเสียก่อน

ทดสอบประสิทธิภาพ

PC Mark 10 = 3,331 คะแนน

3D Mark – Time Spy (DirectX 12) = 1,826 คะแนน

3D Mark Fire Strike = 5,434 คะแนน

3D Mark Sky Diver = 16,328 คะแนน

3D Mark Cloud Gate = 19,159 คะแนน

GeekBench Single Core = 3,767 คะแนน / Multi Core = 11,613 คะแนน

Cinebench R15 OpenGL = 77.23fps / CPU = 699cb

Catzilla = 10,792 คะแนน

ก่อนไปทดสอบเล่นเกมจริง มาเริ่มชุดทดสอบเฉพาะกันก่อน จะเห็นว่าข้อดีของ Aspire VX 15 นอกจากราคาประหยัดแล้ว เรื่องฮาร์ดแวร์ภายในยังถือสดใหม่ใช้ได้เลยทีเดียว ทำให้คะแนนทดสอบถือว่าทำได้ค่อนข้างดี คนที่ซื้อมาทำงานตัดต่อวิดีโอ 4K หรือใช้งานสร้างเอ็ฟเฟ็กต์ภาพด้วย Adobe After Effect ทีมงานมองว่า VX 15 ตอบโจทย์ได้ดีเช่นเดียวกับการเล่นเกมแน่นอน

มาถึงการทดสอบเล่นเกม เริ่มจากเกมปี 2015 กับ Mad Max (DirectX 11) โดยทีมงานตั้งค่ากราฟิก High ผสม Very High พร้อมเปิดลบรอยหยัก (AA) ที่ความละเอียด 1080p เฟรมเรทที่ได้เป็นดังต่อไปนี้

ถ้าตั้งค่ากราฟิกสูงสุด (MAX Settings) จะได้เฟรมเรทประมาณ 45-57 เฟรมต่อวินาที จะพบอาการหน่วงเล็กน้อยเวลาฉากระเบิดจำนวนมากหรือฉากเกิดพายุทะเลทราย ส่วนถ้าลดกราฟิกลงมาเป็น Very High เฟรมเรทจะนิ่งอยู่ที่ 60 เฟรมต่อวินาทีตลอด เกมแรกถือว่าสอบผ่านหายห่วง

เกมที่สอง Project Cars (DirectX11) เป็นเกมที่กินสเปกเครื่องพอสมควร แน่นอนว่า GeForce GTX 1050 4GB ไม่สามารถปรับค่ากราฟิกสูงสุดได้ (ที่ความละเอียด 1080p) เพราะเกมจะกระตุกมาก (เล่นไม่ได้) ต้องลดลงแค่ High และปิดลบรอยหยัก SMAA ออกไป ซึ่งเฟรมเรทที่ได้ ถ้าสนามแข่งมีแดดออก เฟรมเรทจะวิ่งที่ 50-67 เฟรมต่อวินาที แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่มีฝนตก เฟรมเรทจะตกลงเหลือ 25-45 เฟรมต่อวินาทีทันที ถ้าอยากให้เฟรมเรทนิ่งเล่นแล้วไม่สะดุด อาจต้องปรับค่ากราฟิกให้ต่ำกว่านี้

มาถึงเกมอภิมหาโหดแห่งการบริโภคสเปกคอมพิวเตอร์ Tom Clancy’s Ghost Recon Wildlands แน่นอนครับว่า Aspire VX 15 ที่มาพร้อม GTX 1050 สามารถเล่นได้ที่ค่ากราฟิก Low – Medium แต่อาจต้องทนกับอาการหน่วงของภาพเล็กน้อย เพราะเฟรมเรทจะวิ่งแกว่งไปมาที่ 20-38 เฟรมต่อวินาทีตลอดทั้งเกม ถ้าจะให้ลื่นจริงๆอาจต้องลดความละเอียดภาพลงมาเหลือ 720p ที่ค่ากราฟิก Low – Medium

ส่วนเกมสุดท้ายทดสอบเทคโนโลยีกราฟิกล่าสุด Async Compute ใน DirectX 12 บน Windows 10 กับเกม Sniper Elite 4 ถือว่า GTX 1050 สอบผ่านที่ค่ากราฟิก High เฟรมเรทที่ได้อยู่ระหว่าง 45-56 เฟรมต่อวินาที

มาถึงการทดสอบความร้อนของตัวเครื่อง ใช้งานปกติตัวเครื่องแทบไม่มีความร้อนแผ่ออกมาให้ผู้ใช้รู้สึก แม้จะตั้งบนตักก็ตาม โดยอุณหภูมิของซีพียูเมื่อใช้งานทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 45 องศาเซลเซียส อุณหภูมิกราฟิกการ์ดอยู่ที่ 41 องศาเซลเซียส

ส่วนเมื่อใช้งานเต็มประสิทธิภาพ ด้านความร้อนที่แผ่ออกมาจะอยู่บริเวณคีย์บอร์ด ส่วนด้านหลังเครื่องพัดลมทำงานค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ความร้อนระบายออกค่อนข้างเร็วด้วยพัดลม 2 ตัวรอบสูงแต่เสียงรบกวนไม่ดังมาก โดยส่วนอุณหภูมิของซีพียูจะอยู่ที่ประมาณ 77-88 องศาเซลเซียส อุณหภูมิกราฟิกการ์ดอยู่ที่ 69-70 องศาเซลเซียส

สุดท้ายด้านแบตเตอรีเป็นไปตามมาตรฐานโน้ตบุ๊กเกมมิ่งคือ ใช้งานทั่วไป ระบบจะสลับไปใช้การ์ดจอ Intel ทำให้ใช้งานต่อเนื่องได้ประมาณ 4-5 ชั่วโมง ส่วนเมื่อเล่นเกม ถ้าไม่ต่ออะแดปเตอร์ไฟบ้านระบบจะสลับมาใช้ NVIDIA GeForce GTX 1050 ด้วยโปรไฟล์ประหยัดพลังงาน แบตเตอรีจะใช้ได้ประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ถ้าสั่งให้ระบบวิ่งเต็มประสิทธิภาพพร้อมพัดลมระบายความร้อนทำงาน 100% แบตเตอรีจะใช้ได้ประมาณ 45-50 นาที ไปจนถึง 1 ชั่วโมงกว่าๆเท่านั้น (แล้วแต่เกมที่เล่นด้วย) แนะนำเล่นเกมให้เสียบอะแดปเตอร์ไฟบ้านไว้จะดีที่สุด

สรุป

Acer Aspire VX 15 ในประเทศไทยจะวางขายด้วยกัน 3 รุ่นย่อยได้แก่

VX5-591G-782Z มาพร้อมแรม 4GB ซีพียู i7-7700HQ กราฟิกการ์ด NVIDIA GeForce GTX 1050 ราคาอยู่ที่ 31,990 บาท
VX5-591G-71W6 มาพร้อมแรม 8GB ซีพียู i7-7700HQ กราฟิกการ์ด NVIDIA GeForce GTX 1050 ราคาอยู่ที่ 34,990 บาท
VX5-591G-766Z มาพร้อมแรม 8GB ซีพียู i7-7700HQ กราฟิกการ์ด NVIDIA GeForce GTX 1050Ti ราคาอยู่ที่ 37,990 บาท

โดยทั้ง 3 รุ่นจะมาพร้อมหน้าจอ 1080p 15.6 นิ้วและหน่วยเก็บข้อมูลเป็น SSD 128GB + HDD 1TB

โดยภาพรวมถือว่า Acer Aspire VX 15 เป็นโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่เอเซอร์เลือกสเปกภายในมาได้ลงตัวเหมาะสมกับราคา แม้กราฟิกการ์ดแยกจะมีประสิทธิภาพไม่สูงเหมือนตระกูล Predator แต่ภาพรวมการเล่นเกมก็ถือว่า GTX 1050 และ 1050Ti ก็สามารถเล่นเกมในปัจจุบันด้วยค่ากราฟิกระดับกลางๆค่อนต่ำได้เกือบทั้งหมด อีกทั้งด้วยดีไซน์ที่ดูผสมผสานระหว่างโน้ตบุ๊กเกมมิ่งกับโน้ตบุ๊กตระกูล Aspire ที่เน้นการใช้งานในชีวิตประจำวัน VX 15 สามารถพกพาไปนอกสถานที่ นั่งทำงานที่ร้านกาแฟ หรือพกพา VX 15 ไปพรีเซนต์งาน ก็สามารถทำได้สะดวกสบายกว่าโน้ตบุ๊กเกมมิ่งสายฮาร์ดคอร์ค่อนข้างมาก

ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับเกมเมอร์ที่มีงบประมาณจำกัดและไม่ได้คลั่งไคล้ชอบปรับค่ากราฟิกในเกมสูงๆเพื่อภาพที่สวยงาม

ข้อดี

– ราคาเทียบประสิทธิภาพถือว่าทำได้น่าพอใจ
– ระบบระบายความร้อนดี
– มีพอร์ต USB-C

ข้อสังเกต

– TrackPad ใช้งานไม่ค่อยลื่นไหล

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
9.5
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
8.9
ความสามารถโดยรวม
8.9
ความคุ้มค่า
10
SHARE