การออกแบบ
เริ่มจากการออกแบบ Acer Predator 17 รุ่นท็อปสุดในบ้านเราจะเป็นโมเดล G9-791-72Q4 โดยตัวเครื่องมาพร้อมหน้าจอ LED ขนาด 17.3 นิ้ว พาเนลจอเป็น IPS ความละเอียดจอ 1,920×1,080 พิกเซล (รองรับ Output 4K) และมีกล้องเว็บแคมพร้อมไมโครโฟนติดตั้งเหนือจอภาพขึ้นไป
ขนาดตัวเครื่องถือว่าใหญ่และหนักถึง 3.95 กิโลกรัมเมื่อรวมอะแดปเตอร์จ่ายไฟแล้วน้ำหนักจะเขยิบไปที่ประมาณเกือบ 5 กิโลกรัมเลยทีเดียว
มาดูส่วนคีย์บอร์ด Predator ProZone จะเป็นแป้นแบบ Full Keyboard พร้อมแป้นตัวเลขครบถ้วน นอกจากนั้นเพื่อความเป็นเกมเมอร์เอเซอร์ยังได้เพิ่มสีแดงเข้าไปที่คีย์ WASD และปุ่มทิศทางเพื่อให้ผู้ใช้ เวลาเล่นเกมจะสามารถสังเกตเห็นปุ่มเหล่านี้ได้ง่าย
ถัดมาซ้ายมือสุดจะเป็นปุ่มโปรไฟล์พิเศษที่ผู้ใช้สามารถตั้งเป็นคีย์ลัดหรือมาโครปุ่มร่วมกับเกมที่เล่นได้ตามต้องการ
ด้านล่างสุด – จะเป็นทัชแพดขนาดใหญ่พร้อมปุ่มแทนการคลิกเมาส์ซ้ายและขวาและปุ่มเปิดปิดใช้งานทัชแพด
นอกจากนั้นใต้แป้นพิมพ์ทางเอเซอร์ยังได้ติดตั้งไฟ LED ส่องสว่างไว้ด้วย โดยรุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบไฟจะเปลี่ยนสีไม่ได้ (ยกเว้นบริเวณปุ่มโปรไฟล์พิเศษ)
ถัดขึ้นมาบนขวามือจะเป็นไฟแสดงสถานะเปิดเครื่อง ไฟแสดงสถานะการทำงานของฮาร์ดไดร์ฟและไฟแสดงการชาร์จไฟ (ถ้าเป็นสีส้มแสดงว่ากำลังชาร์จไฟเข้าอยู่ ถ้าเป็นสีแดงแสดงว่าใช้ไฟตรงจากอะแดปเตอร์ไฟบ้าน)
สำหรับด้านหลังเครื่อง เริ่มจากบริเวณหน้าจอ (ฝาปิด) จะมีโลโก้ Predator อยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยเส้นสีแดงสองเส้น (เมื่อเปิดเครื่องจะมีไฟสีแดงเรืองแสงดูน่าเกรงขามดี)
ส่วนด้านหลังเครื่องตรงที่ล้อมด้วยกรอบสีแดง บริเวณนั้นจะเป็นช่องระบายความร้อน โดยภายในจะมีพัดลม 2 ตัวช่วยกันระบายความร้อนบนเทคโนโลยี Predator FrostCore ซึ่งทางเอเซอร์ได้เขียนคำเตือนไว้ในคู่มือว่า ระหว่างเล่นเกมบริเวณด้านหลังนี้จะมีความร้อนสูง (สูงกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไปหลายเท่าตัว) เพราะฉะนั้นการวาง Acer Predator 17 ระหว่างเล่นเกม ควรวางให้ด้านหลังตัวเครื่องออกห่างจากกำแพงหรือสิ่งของที่ไม่สามารถทนความร้อนได้
แต่ทั้งนี้สำหรับการใช้งานทั่วไปที่ไม่ต้องมีการประมวลผลกราฟิกหรือใช้ซีพียูสูง บริเวณด้านหลังจะมีความร้อนออกมาเหมือนโน้ตบุ๊กทั่วไป
มาถึงเรื่องพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆรอบตัวเครื่อง เริ่มจากขวามือ ช่องสีแดงเป็นช่องเชื่อมต่ออะแดปเตอร์ไฟบ้าน ถัดมาเป็น USB 3.0 จำนวน 2 พอร์ต ช่องเชื่อมต่อไมโครโฟนและหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร (ออกแบบมาให้รองรับหูฟังเกมเมอร์) ถัดมาเป็นช่องอ่าน SD Card
ส่วนบริเวณขวาสุด ปกติแกะเครื่องออกจากกล่องครั้งแรกจะเป็นไดร์ฟ Blu ray + DVD แต่ในแพกเกจจะมีการแถมพัดลมช่วยระบายความร้อนตัวที่สองมาให้จาก Cooler Master โดยผู้ใช้สามารถถอดเปลี่ยนได้ด้วยการพลิกใต้เครื่องขึ้นแล้วดันสวิตซ์ตามรูปประกอบ
อีกด้าน เริ่มจากขวามือสุดจะเป็นช่องใส่สายล็อกกันขโมยเครื่อง ถัดมาเป็นพอร์ตแลน RJ45, Display Port, HDMI, USB 3.0 จำนวน 2 พอร์ต โดยพอร์ตที่สองสามารถใช้ชาร์จสมาร์ทดีไวซ์ได้ และสุดท้าย USB-C/Thunderbolt 3
ด้านหน้าและใต้เครื่อง – เริ่มจากด้านหน้าจะเป็นช่องลำโพงซ้ายขวาแบ่งเป็นด้านละ 2 ตัวรวม 4 ตัวเพื่อช่วยกระจายเสียงรอบทิศทางตามหลัก Dolby Audio โดยเมื่อผู้ใช้พลิกดูใต้เครื่องจะเห็นว่าลำโพงถูกติดตั้งให้เสียงสามารถยิงสะท้อนกับโต๊ะเพื่อสร้างเสียงรอบทิศทางได้ ในขณะเดียวกันเสียงก็ถูกยิงออกจากช่องลำโพงที่ติดตั้งไว้บริเวณด้านหน้าเครื่องด้วย
แต่แค่เสียงรอบทิศทางอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อเกมเมอร์ ใต้เครื่องบริเวณแผ่นเหล็กสีแดง เอเซอร์ยังได้ติดตั้ง Subwoofer ช่วยกระจายเสียงเบสออกมาด้วย ซึ่งเมื่อรวมการทำงานของลำโพงทั้งหมดก็เท่ากับว่า Predator 17 เป็นระบบ 4.2 Channel หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการคือ Predator SoundPound 4.2
สเปก
สเปกซีพียู Acer Predator 17 ใช้ Intel Core i7 6700HQ 4-cores 8-Threads ความเร็ว 2.6GHz สามารถ Turbo Boost ได้สูงสุดถึง 3.5GHz แรม DDR4 32GB กราฟิก NVIDIA GeForce GTX 980M พร้อมแรม 4GB ส่วนระบบปฏิบัติการติดตั้งมากับตัวเครื่องเป็น Windows 10 Home
ในส่วนฮาร์ดไดร์ฟเก็บข้อมูลมี 2 ชุดรวม 2TB กว่าๆ แบ่งเป็นชุดแรกไดร์ฟ C เป็น Intel SSD 2 ตัว ความจุตัวละประมาณ 238GB เชื่อมต่อการทำงานกันบน RAID 0 ส่วนชุดที่ 2 เป็นฮาร์ดดิสก์จานหมุนจาก Seagate ขนาดประมาณ 2TB เชื่อมต่อผ่านพอร์ต SATA600
ด้านการเชื่อมต่อเครือข่าย แลนรองรับความเร็วสูงสุดระดับกิกะบิต ส่วน Wireless LAN รองรับมาตรฐานสูงสุด 802.11ac
แบตเตอรีภายในเป็น Lithium Ion ขนาด 6,000mAh (8 เซลล์) และตัวเครื่องบริโภคพลังงานประมาณ 180W
ฟีเจอร์เด่น
ขอกล่าวถึงตัว Windows 10 ที่ติดตั้งมากับ Predator 17 ก่อน ก็คือตัววินโดวส์ที่ให้มาในครั้งนี้ทางเอเซอร์จะเน้นความเพียวของระบบปฏิบัติการให้มากที่สุด เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการประมวลผล เพราะฉะนั้นพวกซอฟต์แวร์ช่วยเหลือต่างๆ เอเซอร์จะเลือกติดตั้งมาให้เฉพาะที่จำเป็นต่อการควบคุมระบบเท่านั้น
เริ่มจากซอฟต์แวร์ควบคุมซึ่งเป็นจุดขายหลักก่อนเลยกับ Predator DustDefender ย้อนกลับไปตรงการออกแบบพัดลมระบายความร้อนกันก่อน อย่างที่ทราบดีว่าโน้ตบุ๊กเกมมิ่งจะมีความร้อนระหว่างประมวลผลที่สูงกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไป เพราะฉะนั้นนอกจากการออกแบบพัดลมระบายความให้สามารถดึงอากาศภายนอกมาช่วยถ่ายเทภายในตัวเครื่องได้ดีแล้ว เอเซอร์มองว่าเรื่องของฝุ่นก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาช่วยลดประสิทธิภาพการระบายความร้อนได้ เพราะฉะนั้นเอเซอร์จึงได้คิดค้นชุดพัดลมระบายความให้สามารถหมุนย้อนกลับเพื่อระบายฝุ่นออกจากตัวเครื่องผ่านช่องทางพิเศษที่ติดตั้งไว้ใต้เครื่อง
โดยปกติระบบไล่ฝุ่นจะทำงานอัตโนมัติทุก 3 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถสั่งงานแบบแมนวลได้ผ่านซอฟต์แวร์ Acer DustDefender
Acer Care Center เป็นซอฟต์แวร์ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบแบตเตอรี สำรองข้อมูลระบบ รวมถึงสั่งอัปเดตเฟริมแวร์และซอฟต์แวร์ควบคุมระบบได้
Killer DoubleShot Pro เป็นฟีเจอร์และซอฟต์แวร์ควบคุมระบบเชื่อมต่อเน็ตเวิร์คทั้งหมดที่ออกแบบมาเพื่อเกมเมอร์โดยเฉพาะ โดยระบบจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถจัดการแบนด์วิดธ์แบ่งระหว่างสัญญาณอินเตอร์เน็ตและระบบแลนได้ตามต้องการ เพื่อช่วยลดอัตราการดีเลย์ในการรับส่งข้อมูลระหว่างเล่นเกมออนไลน์ได้
Predator Sense ส่วนนี้คือส่วนควบคุมกลางของตัวเครื่องทั้งหมด ตั้งแต่การปรับตั้งคีย์โปรไฟล์พิเศษที่คีย์บอร์ด สร้างปุ่มมาโคร ปิดเปิดไฟส่องสว่างต่างๆ ไปถึงการตั้งค่าเลือกใช้การฟิก ปรับสีจอภาพ และสามารถเช็คอุณหภูมิเครื่อง เมนบอร์ด และดูรอบพัดลมได้จากส่วนนี้ทั้งหมด
Split Gamecaster (ลูกค้า Predator ใช้งานฟรี 6 เดือน) เป็นซอฟต์แวร์พิเศษสำหรับนักเล่นเกมที่ชอบทำ Gamecast แอปฯตัวนี้จะช่วยในการบันทึกวิดีโอระหว่างเล่นเกมและสามารถถ่ายทอดสดผ่าน twitch.tv ได้ด้วย
Dolby Audio สุดท้ายกับส่วนปรับแต่งระบบเสียงจาก Dolby ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเลือกโปรไฟล์เสียงได้ตามการใช้งานหรือจะปรับแต่งเองก็สามารถทำได้จากแท็บ Personalize
ทดสอบประสิทธิภาพ
เริ่มจากทดสอบกราฟิกสไตล์เกมเมอร์กับ 3D Mark และ PC Mark กันก่อนเลย จะเห็นว่าทำคะแนนทดสอบได้สมกับเป็นโน้ตบุ๊กเกมเมอร์เสียจริงๆ คะแนนอยู่ระดับเดียวกับ PC Gamer ระดับกลางเลย (ยังไม่ถึงระดับ Notebook Gamer 4K เพราะต้องเป็น Predator รุ่นพิเศษที่ใช้การ์ดจอ GTX 980 ตัวใหญ่) ยิ่งได้ฮาร์ดไดร์ฟ SSD ต่อ RAID 0 มาช่วยเรื่องการโหลดระบบต่างๆยิ่งทำให้คะแนนหลายส่วนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ
ทดสอบอ่านเขียนข้อมูลฮาร์ดดิสก์ SSD ต่อ RAID 0 คะแนนพุ่งสูงมาก (เวลาทำงานตัดต่อวิดีโอหรือตกแต่งภาพความละเอียดสูงมากแนะนำให้ทำงานจากไดร์ฟ C เป็นหลัก จะได้ประสิทธิภาพสูงสุด) ส่วนไดร์ฟ D เป็นจานหมุนถือว่าทำคะแนนอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีเลย
มาถึงการใช้งานด้านตัดต่อวิดีโอ ตกแต่งภาพ ส่วนนี้สามารถใช้งานได้ลื่นไหล หายห่วง เพราะทีมงานได้ลองนำไปตัดไฟล์วิดีโอ 4K จากกล้อง Nikon D500 ผ่านซอฟต์แวร์ Adobe Premiere CC 2015 ทุกอย่างทำงานได้ลื่นไหลเนื่องจากระบบสามารถนำ CUDA จากการ์ดจอ NVIDIA มาใช้งานร่วมได้ ทำให้การเรนเดอร์และ Export ไฟล์ทำได้รวดเร็วมากขึ้น
มาดูเรื่องการเล่นเกมกันบ้าง ทีมงานเน้นทดสอบไปที่เกม DOOM 2016 ตั้งค่ากราฟิกสูงสุดทั้งหมด พบว่าทุกอย่างทำงานได้ลื่นไหล เฟรมเรตเฉลี่ยที่ทำได้ (ความละเอียด 1080p) อยู่ที่ประมาณ 50 เฟรมต่อวินาที ส่วนการทดสอบเกมอื่นๆที่ความละเอียด 1080p ส่วนใหญ่จะสามารถเล่นแบบเปิดค่ากราฟิกสูงสุดทั้งหมดได้ไม่มีปัญหา ยกเว้นเมื่อลองทดสอบกับจอภาพ 4K และเปิดเต็มความละเอียดอาจพบอาการกระตุกให้เห็นบ้าง
แต่โดยภาพรวมก็ถือว่า Acer Predator 17 สามารถรันเกมที่วางขายในปัจจุบันได้ทั้งหมด รวมถึงเมื่อใช้งานกราฟิกตัดต่อวิดีโอหรือรูปภาพ ไม่ว่าจะความละเอียดสูงถึง 4K หรือภาพระดับ 40 ไปถึง 100 ล้านพิกเซล Predator 17 จัดการทุกอย่างได้อยู่หมัดแน่นอน
การทดสอบสุดท้ายกับอายุการใช้งานของแบตเตอรี 6,000mAh ถือว่าทำได้ดีเกินคาดหมายพอสมควร เวลาใช้งานต่อเนื่องทำเวลาได้ถึง 4 ชั่วโมง 16 นาที พอๆกับอัลตร้าบุ๊กเลยทีเดียว
สรุป
ราคาค่าตัว Acer Predator 17 รุ่นท็อปสุดในบ้านเราอยู่ที่ 89,900 บาท (ความจริงในต่างประเทศจะมีรุ่นปรับแต่งพิเศษให้เป็น 4K Gaming Notebook กับ Predator 17x แต่บ้านเราไม่แน่ใจว่าเอเซอร์ประเทศไทยจะมีให้สั่งซื้อในอนาคตหรือไม่) ซึ่งถ้ามองว่าราคาสูงเกินไป เอเซอร์มีตัวเลือกเป็นรุ่นสเปกรองลงมา (ลดแรมเหลือ 16GB และฮาร์ดดิสก์เหลือ 1TB) อยู่ที่ 79,900 บาท และรุ่นเล็กสุดหน้าจอ 15 นิ้วเริ่มต้นที่ 59,900-69,900 บาท
ถือเป็นไฮเอนด์โน้ตบุ๊กตั้งแต่ซีพียูไปถึงการ์ดจอในตอนนี้ แน่นอน Predator จากเอเซอร์มีความชัดเจนในแบรนด์อยู่แล้วว่าจับกลุ่มเกมเมอร์และไฮเอนด์ยูสเซอร์ที่ต้องการโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้เล่นเกมหรือทำงานที่ต้องการสเปกประมวลผลระดับสูงโดยเฉพาะ
โดยสำหรับคนที่สนใจสิ่งหนึ่งที่คุณต้องรับให้ได้นอกจากราคาค่าตัวระดับครึ่งแสนบาทเป็นต้นไปแล้วก็คือ น้ำหนักและความใหญ่โต (เป็นโน้ตบุ๊กที่ผมไม่สามารถยกมือเดียวได้ แถมใส่กระเป๋าสะพายหลังน้ำหนักพี่ท่านเหมือนเราแบกอาวุธสงครามมากกว่าแบกโน้ตบุ๊ก) สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่ต้องรับให้ได้ก่อนคิดจะเลือกซื้อโน้ตบุ๊กกลุ่ม Predator