Review : AirPods หูฟังไร้สายอัจฉริยะเพื่อผู้ใช้แอปเปิล

34526

airpods-head

Apple “AirPods (แอร์พอดส์)” เป็นหูฟังไร้สายจากแอปเปิลที่มาพร้อมกระแสร้อนแรงตั้งแต่ช่วงเปิดตัว ตั้งแต่เรื่องดีไซน์ ไปถึงราคาที่สูง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา แต่สิบปากว่าจะเท่าตาเห็นและสัมผัสด้วยตัวเราเอง เพราะฉะนั้นในวันนี้เพื่อตอบข้อสังสัยที่หลายคนมีกับ AirPods ทีมงานไซเบอร์บิซจึงได้จัดหาหูฟังกระแสร้อนมาทดสอบกันอย่างละเอียดตั้งแต่การใช้งานไปถึงการทดสอบประสิทธิภาพเสียงว่าจะคุ้มค่าค่าตัวแสนแพงหรือไม่

ความต้องการระบบของ AirPods

iPhone (5 เป็นต้นไป iOS10)
iPad (mini 2 เป็นต้นไป iOS10)
iPod touch รุ่นที่ 6 (iOS10)
Apple Watch รุ่นที่ใช้ watchOS 3 หรือใหม่กว่า
Mac รุ่นที่ใช้ macOS Sierra หรือใหม่กว่า

การออกแบบและใช้งาน

IMG_0451

IMG_0453

แรกแกะกล่อง ตัวหูฟัง AirPods จะถูกบรรจุอยู่ในกล่องพลาสติกสีขาว ซึ่งกล่องนี้จะเปรียบเป็นที่ชาร์จไฟให้กับหูฟัง ทำให้เราสามารถใช้หูฟังได้ยาวนาน 24 ชั่วโมง

โดยด้านหลังจะมีปุ่มวงกลมเล็กๆ ไว้กดเพื่อกระตุ้นสัญญาณบลูทูธเมื่อต้องการใช้ AirPods ร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆที่ไม่ใช่ของแอปเปิล เช่น สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ พีซี โน้ตบุ๊ก เป็นต้น

IMG_0455

ส่วนด้านล่างจะเป็นพอร์ต Lightning สำหรับเชื่อมต่อกับอะแดปเตอร์ไอโฟน พาวเวอร์แบงค์หรือพอร์ต USB เพื่อชาร์จไฟเข้าตัวกล่อง

IMG_0457

จากนั้นเมื่อเราเปิดฝากล่องขึ้นมา เราจะพบตัวหูฟัง AirPods ซ้ายและขวาเก็บอยู่ในกล่อง และตรงกลางเป็นไฟแสดงสถานะ สีเขียว (ไฟเต็ม) สีส้ม (ชาร์จไฟ) สีขาว (กำลังตรวจจับสัญญาณบลูทูธ)

airpods-setup

โดยการเชื่อมต่อครั้งแรก วิธีง่ายสุดแค่นำกล่องไปอยู่ใกล้ iPhone (รองรับ iPhone 5 เป็นต้นไปและต้องติดตั้ง iOS 10) หรือ iPad จากนั้นเปิดบลูทูธที่ตัวเครื่องก่อน และเมื่อเปิดฝาขึ้นระบบจะค้นหากันและกันอัตโนมัติพร้อมปรากฏ Pop up “AirPods” และมีสถานะแบตเตอรีแสดงให้ผู้ใช้ทราบทั้งในส่วนของหูฟังสองข้างและกล่องเก็บหูฟัง เพียงเท่านี้ AirPods ก็พร้อมใช้งานแล้ว

*ผู้ใช้สามารถตรวจสอบสถานะแบตเตอรีได้จากทั้งส่วนแจ้งเตือนบน iOS, ส่วนเมนูบลูทูธใน Mac หรือฟังเสียงเตือนในหูฟังเมื่อแบตเตอรีใกล้หมด*

macbook-con-ap

batt-mac-ap

ส่วนรูปแบบการเชื่อมต่อสัญญาณ สำหรับผู้ใช้ Apple Family จะมีความพิเศษอย่างมาก เช่น ที่บ้านมี iPhone iPad MacBook iMac และใช้บัญชี iCloud เดียวกันทั้งหมด เมื่อเราเชื่อมต่อ AirPods กับอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งใน Apple Family อุปกรณ์อื่นๆจะรู้จักและพร้อมใช้งาน AirPods ด้วยเช่นกัน

โดยเวลาต้องการเลือกใช้งานก็เพียงเปิดอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อกับ AirPods ให้จอติดไว้ (ต้องเปิดบลูทูธทิ้งไว้ด้วย) เมื่อเปิดกล่องเก็บหูฟังขึ้น ระบบจะเชื่อมต่อกันทันที

android-airpods

ด้านการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์มีเดียอื่นที่ไม่ใช่ของแอปเปิล ก็เหมือนการเชื่อมต่อหูฟังบลูทูธทั่วไป (เปิดฝากล่องและกดปุ่มวงกลมสีขาวหลังกล่องข้างไว้จนไฟสีขาวปรากฏ) โดยเมื่อเชื่อมต่อครั้งแรกเสร็จสิ้น ครั้งต่อไปเมื่อเปิดกล่องแล้วดึงหูฟังขึ้นมา ระบบจะเชื่อมต่อกันอัตโนมัติ

IMG_0460

IMG_0462

มาดูตัวหูฟัง AirPods กันบ้าง มาพร้อมน้ำหนักข้างละ 4 กรัม ด้านการออกแบบจะเหมือนกับหูฟัง EarPods ที่แถมมากับ iPhone แต่วัสดุงานประกอบจะพรีเมียมกว่า และที่สำคัญเมื่อสวมใส่แล้วตัดเสียงรบกวนภายนอกได้ดีกว่า

IMG_0464

ส่วนสเปก AirPods ภายในจะมาพร้อมชิปประมวลผล W1 พร้อมเซ็นเซอร์ออปติคอลและอุปกรณ์จับการเคลื่อนไหว ทำให้ตัวหูฟังทั้งสองข้างสามารถรู้ได้ว่าตอนนี้เราถอดหรือใส่หูฟังอยู่ โดยระหว่างฟังเพลงเมื่อคุณถอดหูฟังออก เพลงจะหยุดเล่นทันทีและจะเล่นอีกครั้งเมื่อคุณใส่หูฟัง

นอกจากนั้นชิป W1 ยังรู้ได้ด้วยว่าเมื่อคุณอยากฟังเพลงด้วยลำโพงจากตัวเครื่อง คุณสามารถถอดหูฟังออกแล้วกดเล่นเพลงที่เครื่องต่อ ระบบจะสลับสัญญาณบลูทูธมาเป็นตัว iDevice ของเราอัตโนมัติ และระหว่างนั้นเมื่อเราอยากฟังจาก AirPods ก็เพียงหยิบใส่หูอีกครั้งระบบจะตัดการทำงานมาที่หูฟังโดยที่เราไม่ต้องกดสั่งงานใดๆ หรือแม้แต่การเปลี่ยนอุปกรณ์เชื่อมต่อ เช่น iPhone ไปเป็น MacBook ก็เพียงหยุดเล่นเพลงจาก iPhone จากนั้นก็ไปกดเชื่อมต่อที่ MacBook ระบบจะเชื่อมต่อกันทันทีโดยไม่เกิดปัญหาสัญญาณชนกัน

IMG_0463

ในส่วนฟีเจอร์อื่นๆ AirPods ยังมาพร้อมไมโครโฟนคู่แบบบีมฟอร์มมิ่งที่สามารถกรองเสียงรบกวนรอบข้างได้ รวมถึงใช้สนทนาโทรศัพท์ได้ โดยเมื่อมีสายโทรเข้าให้เคาะที่หูฟังสองครั้งก็จะเท่ากับรับสาย หรือถ้าใส่หูฟังสองข้างและคุยโทรศัพท์ไม่ถนัดก็สามารถถอดออกเหลือข้างเดียว ระบบจะรู้และสลับไมโครโฟนให้เอง

siri-pods

ด้านการสั่งงาน เพิ่มลดเสียง เปลี่ยนเพลง สามารถทำได้ผ่านสิริเท่านั้น โดยวิธีการเรียกสามารถเคาะที่หูฟัง 2 ครั้งหรือถ้าใช้ iPhone 6s ขึ้นไปสามารถพูด “หวัดดีสิริ” ก็ได้ จากนั้นผู้ใช้สามารถสั่งงานทั้ง ปรับเพิ่ม/ลด ระดับเสียง, เล่นเพลงถัดไป หรือถามสิริว่า “AirPods เหลือแบตเตอรี่เท่าไหร่”

สุดท้ายสำหรับแบตเตอรีส่วนหูฟังจะสามารถใช้งานต่อเนื่อง 5 ชั่วโมงต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง (สนทนาโทรศัพท์ต่อเนื่องได้ 2 ชั่วโมง) และเมื่อไฟหมดสามารถนำมาชาร์จที่กล่องเก็บหูฟัง 15 นาทีจะใช้งานได้ 3 ชั่วโมง เรียกได้ว่าถ้าต้องการใช้งานตลอดทั้งวัน กล่องเก็บหูฟังต้องชาร์จไฟไว้เต็มก็จะสามารถใช้งานหูฟัง AirPods ได้นานกว่า 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว

ทดสอบประสิทธิภาพและสรุป

airpods-play

ด้านการเชื่อมต่อสำหรับคนใช้ Apple Family หูฟัง AirPods ให้การเชื่อมต่อที่ง่ายเหมือนกับการใช้ Apple Watch ระบบเชื่อมต่อของแอปเปิลเรียกได้ว่าอัจฉริยะและไม่พบเจอปัญหาระหว่างใช้งานแต่อย่างใด โดยระยะทำงานของบลูทูธก็เป็นไปตามมาตรฐานประมาณ 10 เมตร

ส่วนการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์มีเดียอื่นๆก็สามารถทำได้เหมือนหูฟังบลูทูธทั่วไป แถมยังสามารถใช้วิธีเคาะที่หูฟัง 2 ครั้งเพื่อหยุดเพลงและเล่นเพลงได้ด้วย แต่การปรับเสียงและสั่งงานอื่นๆจะไม่สามารถใช้งานได้ ต้องปรับจากดีไวซ์เอาเอง

สำหรับการสวมใส่ ส่วนนี้ทำได้ประทับใจ ดีกว่าที่คิดไว้ ด้วยความเบาของ AirPods ทำให้การสวมใส่ทำได้สบายหูมากๆ ความรู้สึกเมื่อเราสวมใส่เป็นเวลานานจะเหมือนเราไม่ได้ใส่หูฟังไว้ แถมการออกแบบที่ใช้ลักษณะเกี่ยวรูหูไว้และดูว่าเหมือนจะหลุดง่าย แต่เมื่อทดลองใช้งานจริงพบว่า ไม่ว่าจะเดินหรือวิ่ง AirPods ทั้งสองข้างหลุดจากหูยากมาก แต่อาจจะมีคลายจากรูหูเล็กน้อยเวลาเราเอี้ยวตัวหรือใส่เป็นเวลานานมาก

Update – เรื่องความทนทาน ส่วนนี้ทำได้ดีเกินคาด ไม่ว่าจะทำตก ใส่ขณะฝนตก ทุกเหตุการณ์ที่ทีมงานได้ทดสอบ ไม่ทำให้หูฟังและกล่องชาร์จไฟมีปัญหาใดๆ คาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากงานประกอบที่แน่นหนาและชิ้นส่วนภายในส่วนใหญ่ถูกยึดติดกับบอร์ดอย่างดีหนา ถึงขนาดตัวหูฟังไม่สามารถแกะซ่อมได้เลย เสียก็คือซื้อใหม่อย่างเดียว

ในส่วนคุณภาพเสียง ลักษณะของตัวหูฟังจะอยู่กึ่งกลางระหว่างหูฟังอินเอียร์กับหูฟังปกติ ทำให้เรื่องตัดเสียงรบกวนทำได้ดีพอประมาณ ส่วนเนื้อเสียงก็จะออกโทนกลางๆ ทั้งหมด ไม่เด่นไปทางใดทางหนึ่ง เบสไม่ลึก สัญญาณบลูทูธเชื่อมต่อได้เสถียรไม่แกว่งแม้อุปกรณ์และตัวหูฟังจะอยู่ห่างกันแค่ไหนก็ตาม (อย่างมากก็เสียงสะดุดเมื่อสัญญาณบลูทูธเริ่มอ่อนลง แต่ไม่พบอาการสัญญาณหลุดหาย) โดยรวมด้านคุณภาพเสียงถือว่าใช้ได้ ไม่ถึงกับโดดเด่นเป็นพิเศษ

สุดท้ายเรื่องแบตเตอรี ส่วนนี้ถือว่าทำได้น่าประทับใจเช่นกัน การใช้งานต่อเนื่อง 5 ชั่วโมงแล้วชาร์จครั้งหนึ่งถือว่าเพียงพอต่อการฟังเพลงช่วงเดินทางท่องเที่ยว อีกทั้งการชาร์จไฟทั้งส่วนหูฟังและกล่องเก็บหูฟังเองก็ไม่ได้นานเวอร์

ด้านปัญหาเรื่องแบตเตอรีรั่วที่มีคนพบเจอ สำหรับตัวที่ทีมงานทดสอบไม่พบเจออาการแต่อย่างใด

กับราคาค่าตัว 6,900 บาท เรียกได้ว่าสูงพอตัว แต่เมื่อเทียบกับคุณภาพและถ้าคุณเองเป็นคนใช้ Apple Family ที่ชอบใช้หูฟังฟังเพลงด้วยแล้ว AirPods ถือเป็นอีกหนึ่งหูฟังไร้สายที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากความง่ายในการใช้งานแล้ว เรื่องความเสถียรถือว่าแอปเปิลทำได้ดีอย่างยิ่ง แม้เรื่องคุณภาพเสียงอาจจัดอยู่ในเกณฑ์ธรรมดาเมื่อเทียบกับหูฟังราคาระดับเดียวกัน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า AirPods ถูกออกแบบมาเพื่อ Apple Family โดยเฉพาะ ซึ่งต่างจากหูฟังบลูทูธอื่นๆที่จะใข้งานฟีเจอร์ของแอปเปิลได้ไม่ครบเท่า AirPods

แต่ทั้งนี้สำหรับคนที่เน้นเรื่องคุณภาพเสียงมากกว่าฟังก์ชันใช้งาน AirPods อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะราคา 6,900 บาทก็มีหูฟังที่ให้เสียงคุณภาพดีกว่า AirPods อยู่มากในท้องตลาด ต้องลองเลือกดูด้วยตัวเราเองครับ

ข้อดี

– รูปแบบการใช้งานและเชื่อมต่อทำได้ฉลาด
– ไม่หลุดออกจากหูได้ง่ายๆแม้จะวิ่งเดิน
– ถึงไม่ป้องกันน้ำและฝุ่น แต่สามารถกันเหงื่อจากการออกกำลังกายได้
– สวมใส่บาย เบาจนเหมือนไม่ได้ใส่หูฟัง
– แบตเตอรีทำได้น่าประทับใจ

ข้อสังเกต

– หูฟังคลายตัวจากรูหูเล็กน้อยเมื่อสวมใส่เป็นเวลานานหรือมีการเคลื่อนไหวรุนแรง
– คุณภาพเสียงธรรมดา โทนกลางๆ
– การสั่งงานฟังก์ชันต่างๆ เช่น เพิ่มลดเสียงต้องทำผ่าน Siri หรือปรับจากดีไวซ์เท่านั้น

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
9.5
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
10
ความสามารถโดยรวม
9
ความคุ้มค่า
8
SHARE