Alienware (เอเลี่ยนแวร์) เป็นแบรนด์สายเกมมิ่งประสิทธิภาพสูงจากเดลล์ที่เคยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง วันนี้ Alienware พร้อมกลับมาทำตลาดเกมมิ่งพร้อมกับการเปิดตัว Alienware Experience Store ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อตอบรับกับโลกเกมเมอร์ที่เติบโตสูงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
โดยในส่วน Alienware ที่เดลล์นำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยในปีนี้จะมีทั้งเดสก์ท็อป Aurora และโน้ตบุ๊ก 2 รุ่นได้แก่ Alienware 17 และรุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบกับ Alienware 15 ที่เดลล์เน้นสเปกกราฟิกการ์ดเป็นพิเศษ
การออกแบบ
Alienware 15 รุ่นนี้เป็นรหัส R3 โดยการออกแบบเครื่องจะเน้นความเรียบง่าย มีเหลี่ยมมุมได้อารมณ์ยานอวกาศของเอเลี่ยนในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ฝาปิดเครื่องผลิตจากอะลูมิเนียม มีโลโก้ Alienware พร้อมไฟส่องสว่างติดตั้งอยู่
หน้าจอ เป็นจอด้าน IPS ขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด 1,920×1,080 พิกเซล เหนือหน้าจอเป็นไมโครโฟน 2 ตัวพร้อมกล้องเว็บแคมความละเอียด HD และอินฟาเรดรองรับฟีเจอร์ Windows Hello ใน Windows 10
ในส่วนน้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ประมาณ 3.49 กิโลกรัม หนา 12 นิ้ว แบตเตอรี 8 เซลล์พร้อมอะแดปเตอร์ไฟบ้าน 240W ขนาดใหญ่
คีย์บอร์ด ถูกเรียกในชื่อ Alienware TactX Keyboard มีปุ่มคำสั่ง 108 ปุ่ม สามารถปรับแต่งตามการใช้งานได้พร้อมไฟ RGB-LED ส่องใต้แป้นคีย์บอร์ด สามารถปรับแต่งสีได้อิสระ
ส่วน Track Pad (แยกปุ่มคลิกซ้าย-ขวาออกมา) เป็นมัลติทัชได้รับการออกแบบพิเศษ โดยฝังไฟ Backlit ส่องสว่างด้านใต้แบบ RGB-LED สามารถปรับสีได้ 16.7 ล้านสีผ่านซอฟต์แวร์ภายในตัวเครื่อง
ด้านพอร์ตเชื่อมต่อรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านหลัง ซ้ายมือเป็นพอร์ตแลน RJ-45, Mini-Display Port 1.2, HDMI 2.0, Thunderbolt 3, Alienware Graphics Amplifier (พอร์ตเชื่อมต่อกับ Docking เพื่ออัปเกรดไปใช้กราฟิกการ์ดของพีซีได้) และ DC-In
ด้านซ้าย เริ่มจากพอร์ต USB-C, USB 3.0, ช่องเชื่อมต่อไมโครโฟน 3.5 มิลลิเมตรและช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร
ด้านขวา เป็นที่อยู่ของ USB 3.0 จำนวน 1 ช่อง
ด้านหน้า เป็นลำโพงสเตอริโอ
ด้านล่าง จะเป็นที่อยู่ของช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่ ส่วนการอัปเกรดสเปกเครื่อง เช่น แรม คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเดลล์ไม่ได้ทำช่องอัปเกรดมาให้เหมือนหลายแบรนด์ การพยายามถอดฝาหลังด้วยตัวเองอาจทำให้ตัวเครื่องประกันขาดได้
สุดท้ายมาดูระบบระบายความร้อนซึ่งเป็นหัวใจหลักของเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก โดย Alienware 15 จะใช้ฮีทซิงค์ขนาดใหญ่แยกติดตั้งอยู่ซ้ายและขวาของตัวเครื่อง (ทำหน้าที่ดึงความร้อนจากซีพียูและกราฟิกชิป) พร้อมพัดลมระบายความร้อนรอบสูง โดยหลักการทำงานพัดลมจะดึงอากาศจากด้านข้างและด้านล่างเข้ามา จากนั้นลมจะเป่าไปที่ฮีทซิงค์และพุ่งออกด้านหลังเครื่อง โดยรอบความเร็วพัดลมจะทำงานแปรผันตามการใช้งานและความร้อนที่ระบบตรวจจับได้
เพราะฉะนั้นทีมงานขอแนะนำให้ตั้ง Alienware 15 บนโต๊ะพื้นเรียบและเว้นช่องว่างด้านหลังไว้สักเล็กน้อยเพื่อให้ระบบไหลเวียนอากาศทำงานได้อย่างถูกต้องครบกระบวนการ โดยเฉพาะช่วงเล่นเกมควรตรวจสอบช่องระบายความร้อนทั้ง 4 ด้านว่าไม่มีสิ่งใดไปปิดกั้นทิศทางลมเข้าและออกก่อนทุกครั้ง
สเปก
Alienware 15 รหัส R3 รุ่นทำตลาดในบ้านเราจะคล้ายกับรุ่นทำตลาดมาเลเซีย ซีพียูขับเคลื่อนด้วย Intel Core i7 “6th Generation” 6700HQ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 2.60GHz พร้อม Turbo Boost สูงสุด 3.50GHz พร้อมแรม DDR4-2667 16GB ทำงานแบบ Dual Channel
ในส่วนกราฟิกหลักขับเคลื่อนด้วย NVIDIA GeForce GTX 1070 พร้อมแรม 8GB (GDDR5) รองรับ DirectX 12 บน Windows 10 เต็มรูปแบบ
ด้านสเปกอื่นๆ Alienware จัดเต็มไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่ WiFi ใช้ Killer 1535 802.11ac 2×2 บลูทูธ 4.1 ฮาร์ดดิสก์ 1TB 7200 รอบต่อนาทีพร้อม SSD ขนาด 256GB ส่วนระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home ติดตั้งมาให้กับเครื่อง และสุดท้ายประกัน Onsite Service จากเดลล์ 3 ปีเต็ม
ฟีเจอร์เด่น
AlienFX เป็นซอฟต์แวร์ไว้ปรับแต่งสีของไฟ RGB-LED ตั้งแต่ไฟ Backlit แป้นคีย์บอร์ดแบ่งเป็น 3 โซน ขอบเครื่อง Track Pad ไฟโลโก้ Alienware โดยผู้ใช้สามารถปรับผสมสีได้ตามต้องการ พร้อมบันทึกเป็นธีมส่วนตัวได้ด้วย
AlienFX สามารถปรับได้ตั้งแต่ไฟชื่อแบรนด์ ไฟส่องสว่างใต้แป้นคีย์บอร์ด
ไฟโลโก้ Alienware ก็ปรับสีได้
ขอบด้านข้างเครื่องทั้งสองด้านก็ปรับสีได้แบบ RGB เช่นกัน
AlienFusion เป็นส่วนปรับการตั้งค่าออปชันเกี่ยวกับพลังงาน เช่น เมื่อเสียงอะแดปเตอร์ไฟบ้านจะเปิดใช้งานกราฟิก NVIDIA และเมื่อเปลี่ยนไปใช้ไฟจากแบตเตอรีให้เปลี่ยนเป็นกราฟิกจาก Intel HD เป็นต้น
AlienTactX เป็นส่วนปรับแต่งคีย์บอร์ด โดยผู้ใช้สามารถสร้างโปรไฟล์มาโครปุ่มกดพิเศษ 1-5 (สามารถสร้างโปรไฟล์ได้ 3 ชุด) ปรับได้ตามเกมที่เล่นเหมือนคีย์บอร์ดเกมมิ่ง
AlienAdrenaline เป็นส่วนควบคุมเมื่อผู้ใช้เชื่อมต่อ Graphics Amplifier ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมแยกขายที่ Alienware จะอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถอัปเกรดส่วนกราฟิกการ์ดไปใช้รุ่นใหญ่ของพีซี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเล่นเกมในอนาคตให้ถึงขีดสุดโดยไม่ต้องซื้อโน้ตบุ๊กใหม่ เพราะเดลล์เชื่อว่าปัญหาหลักๆของโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่ทำให้เล่นเกมในอนาคตได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ กว่า 70% อยู่ที่กราฟิกการ์ดตกรุ่น ไม่รองรับชุดคำสั่งกราฟิกตัวใหม่ ซึ่ง Graphics Amplifier จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้
และนอกจากนั้นในส่วน AlienAdrenaline ยังมาพร้อมระบบมอนิเตอร์การทำงานของซีพียู แรม WiFi และกราฟิกการ์ดได้ พร้อมความสามารถในการบันทึกกราฟการทำงานเก็บไว้ดูภายหลังได้ด้วย
Alienware Sound Center เป็นส่วนปรับแต่งเสียงลำโพงและไมโครโฟนซึ่งจะรองรับบรรดาเกมแคสเตอร์ในการจูนเสียงก่อนจะไลฟ์สด พร้อมระบบไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน
ส่วนสาวก FPS อย่างเกม Overwatch, CS Go ทาง Alienware ยังให้ระบบ Audio Recon โดยเมื่อเปิดใช้ระบบดังกล่าว ระหว่างเล่นเกมคุณสามารถดูเรดาห์จับทิศทางเสียงศัตรูที่วิ่งเข้ามารอบทิศได้ เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่ไม่มีหูฟัง 7.1CH ระบบนี้จะช่วยการระบุตำแหน่งของเสียงศัตรูที่เข้ามารอบทิศทางให้ (รองรับเป็นบางเกม เช่น Overwatch)
ทดสอบประสิทธิภาพ
ถึงแม้ Alienware 15 รุ่นทำตลาดในบ้านเราจะขับเคลื่อนด้วยซีพียู Intel Core i7 Gen 6 เท่านั้น แต่เดลล์ได้ใส่กราฟิกการ์ดตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพเกือบบนสุดของตลาด ทำให้คะแนน 3DMark ทำได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะชุดทดสอบใหม่อย่าง Time Spy (DirectX 12) ที่ดึงประสิทธิภาพ GTX 1070 ได้เต็มที่และความลื่นไหลก็ถือว่าดีระดับ 20-30 เฟรมต่อวินาที
ส่วนการทดสอบ PC Mark จะเน้นจำลองการใช้ Alienware 15 ทำงานทั้งพิมพ์งาน กราฟิกและทำงานด้านวิดีโอ เพราะฉะนั้นจะเน้นการประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก ก็ถือว่าใช้ได้เป็นไปตามมาตรฐานชิป Core i7 Gen 6 ไม่ต่างจากโน้ตบุ๊กเกมมิ่งแบรนด์อื่นที่ใช้สเปกซีพียูเท่ากัน
โดยอาจมีจุดสังเกตเล็กน้อยในเรื่องแบนด์วิดท์ SSD จะเห็นว่าทำงานได้เร็ว แต่ถ้าเทียบกับหลายแบรนด์แล้ว คะแนนส่วนนี้ยังถือว่าธรรมดา ไม่หวือหวาเท่าที่ควร ส่วนฮาร์ดดิสก์ตัวจานหมุนความจุ 1TB 7200RPM ถือว่าทำได้ตามมาตรฐาน ไม่เร็วหวือหวาเช่นกัน
ส่วนเรื่องการรองรับ NVIDIA G-Sync เท่าที่ทีมงานพยายามค้นหาข้อมูล หลายแหล่งข่าวบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า จอภาพ Alienware 15 รองรับ NVIDIA G-Sync ด้วยแต่เท่าที่ทีมงานค้นหาออปชันกราฟิกแล้วก็ไม่พบกับเมนูดังกล่าว จะปรับได้สูงสุดก็เพียง V-Sync 60Hz ปกติเท่านั้น
มาถึงการทดสอบเล่นเกม เริ่มจากเกม GTA V (DirectX 11) ถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กไม่กี่รุ่นที่สามารถเปิดออปชันกราฟิกสูงสุดทั้งหมด รวมถึง Advanced Graphics สูงสุดได้ โดยเฟรมเรตถือว่าทำได้ดีระดับ 55-60 เฟรมต่อวินาที เล่นได้ลื่นไหลดีมาก อีกทั้งด้วยแรมกราฟิกการ์ดระดับ 8GB ผู้ใช้สามารถนำโน้ตบุ๊กไปเชื่อมต่อกับจอ 4K ภายนอกและใช้งานได้อย่างลื่นไหล (แต่อาจต้องลดออปชัน Advanced Graphics ลงเล็กน้อย)
Rise of The Tomb Raider (DirectX 12) ด้วยแรมกราฟิกการ์ด 8GB ออปชันกราฟิกทุกส่วนสามารถปรับสูงสุดได้ทั้งหมด ยกเว้นส่วนลบรอยหยักภาพที่ปรับได้แค่ SMAA 2x ถึงจะสามารถเล่นที่ความละเอียด 1080p 60 เฟรมต่อวินาทีได้ลื่นไหลตลอดทั้งเกม เพราะถ้าปรับเป็น 4x เฟรมเรตจะตกลงเหลือ 45 เฟรมต่อวินาที อาจรู้สึกหน่วงเล็กน้อย
Overwatch มาถึงเกมดังแห่งยุคและเป็นเกมที่ถูกใช้ทดสอบประสิทธิภาพเครื่องมากที่สุด สำหรับ Alienware 15 รุ่นนี้สามารถเล่นเกมนี้ได้ลื่นไหลสบาย ปรับออปชันกราฟิกสูงสุดพร้อมเปิด Render Scale 150% ก็ยังลื่นไหล หรือจะไปเชื่อมต่อจอ 4K ภายนอกก็เล่นได้ลื่นไหลเช่นกัน
คะแนนจากชุดทดสอบ Catzilla (DirectX 11)
คะแนนจากชุดทดสอบ Final Tantasy XIV Heavensward (DirectX 11)
สรุปภาพรวมด้านการทดสอบประสิทธิภาพ ทีมงานไซเบอร์บิซขอเน้นไปที่การเล่นเกมเป็นหลัก ด้วยกราฟิกการ์ดระดับ GTX 1070 พร้อมแรม 8GB เมื่อประกบบนสเปกเครื่องระดับบนของตลาดโน้ตบุ๊ก ถึงแม้สเปกหลายส่วนจะไม่ใช่รุ่นใหม่ล่าสุดของปี 2017 แต่ก็ยังถือว่าตอบสนองการเล่นเกมทุกเกมในตลาดไปได้อีก 2-3 ปีอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกราฟิกการ์ดตระกูล GTX 10 ให้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับกราฟิกการ์ดของพีซีมากกว่าสมัยตระกูล 9xxM
แต่ถึงอย่างไร Alienware 15 ก็เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถอัปเกรดไปใช้กราฟิกการ์ดของพีซี ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่ากราฟิกการ์ดบนโน้ตบุ๊กผ่าน Graphics Amplifier ที่ต้องซื้อแยกภายหลังได้ ก็เท่ากับว่าการลงทุนซื้อ Alienware 15 + Graphics Amplifier จะทำให้โน้ตบุ๊กรุ่นนี้ตกรุ่นช้าลง เพราะอย่างที่หลายท่านทราบ ประเด็นใหญ่สุดของโน้ตบุ๊กเกมมิ่งราคาสูงก็คือซื้อมาใช้ได้ 2 ปี กราฟิกการ์ดตกรุ่น เล่นเกมใหม่ๆก็ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าเดิม ส่วนซีพียูถึงแม้จะไม่สามารถอัปเกรดได้ แต่ส่วนใหญ่ก็รองรับเกมไปอย่างน้อย 4-5 ปีได้สบายๆ
มาถึงเรื่องการระบายความร้อนภายใน เท่าที่ทดสอบเล่นเกมตลอดทั้งวัน Alienware 15 จะมาพร้อมพัดลมระบายความร้อนรอบสูง 2 ตัว ซึ่งให้แรงลมที่ดีและเสียงดังมาก แต่ก็ให้ประสิทธิภาพการระบายความร้อนที่ดีใช้ได้เลย อุณหภูมิกราฟิกการ์ดตลอดการทดสอบเล่นเกมทั้งวันอยู่ที่ประมาณ 60-70 องศาเซลเซียส สูงสุดไม่เกิน 80 องศาเซลเซียส และตลอดการทดสอบไม่พบอาการเฟรมเรตตกจากความร้อนสะสมที่มากเกินไป ซึ่งส่วนนี้น่าจะมาจากวัสดุตัวเครื่องที่ใช้อะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบหลักทำให้การคายความร้อนทำได้เร็วไปพร้อมๆกับพัดลมรอบสูง
ใช้โปรไฟล์พลังงาน High Performance พร้อมเปิด AlienFX
ใช้โปรไฟล์พลังงาน Balance
สุดท้ายเรื่องแบตเตอรี ถึงแม้ Alienware 15 จะมาพร้อมแบตเตอรี 8 เซลล์ก็ตาม แต่ด้วยระบบที่มาพร้อมทั้งไฟ RGB-LED รอบตัวไปถึงพัดลมระบายความร้อนรอบสูง ทำให้ตัวเครื่องบริโภคพลังงานค่อนข้างมาก ถ้าเปิดใช้ระบบทุกส่วนเต็มพิกัด แบตเตอรีจะอยู่ได้ประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนเมื่อปิดไฟ RGB-LED รอบตัวเครื่องพร้อมเปิดโปรไฟล์พลังงาน Balance แบตเตอรีจะอยู่ได้ประมาณ 2-4 ชั่วโมง และสามารถทำได้มากสุดเมื่อเปิด Power Save Mode จะอยู่ได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมง ถือว่าค่อนข้างบริโภคพลังงานมากกว่าโน้ตบุ๊กเกมมิ่งหลายแบรนด์
สรุป
สำหรับราคาเปิดตัว Alienware 15 อยู่ที่ 99,900 บาท โดยจุดเด่นจริงๆของ Alienware 15 ถ้าไม่นับเรื่องกราฟิกการ์ดระดับบน (ที่ปัจจุบันเริ่มมีหลายค่ายนำมาติดตั้งกับโน้ตบุ๊กเกมมิ่งของตนแล้ว) คงอยู่ที่เรื่อง Graphics Amplifier และดีไซน์เฉพาะแบบ Alienware รวมถึงวัสดุงานประกอบที่ทำได้แข็งแรงตามแบบฉบับเดลล์ ไปถึงประกัน onsite service 3 ปีเต็มที่ทำให้ Alienware มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่งอยู่บ้าง
แต่โดยภาพรวมสำหรับตลาดเกมมิ่งโน้ตบุ๊กระดับบน ก็ต้องยอมรับว่าครั้งนี้ Alienware ตั้งใจทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น เพราะนอกจากการเปิด Alienware Experience Store (ตั้งอยู่ที่ Siam Discovery ชั้น 2) แล้ว ในส่วนราคาก็ถือว่าสอดคล้องกับหลายแบรนด์ที่ให้สเปกใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินใจเลือกซื้อควรพิจารณาทดลองเล่นที่สโตร์ต่างๆให้ดีก่อน เพราะในราคาระดับนี้ หลายแบรนด์ก็มีรุ่นย่อยให้เลือกแยกย่อยลงไปอีก และสำคัญสุดสำหรับการเลือกซื้อโน้ตบุ๊กเกมมิ่งก็คือ ควรดูระบบระบายความร้อนเป็นอันดับแรก เพราะต้องไม่ลืมว่าการเล่นเกมบนโน้ตบุ๊กตลอดทั้งวันจะเท่ากับว่าตัวเครื่องต้องมีความร้อนสะสมภายในอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าระบบระบายความร้อนไม่ดี โน้ตบุ๊กจะลากลับบ้านเก่าได้ง่ายกว่ารุ่นที่ใส่ใจเรื่องระบบระบายความร้อนเป็นสำคัญ