Review : AMD Radeon RX 470 อีกหนึ่งความคุ้มค่ากับราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง

16918

IMG_0371

ครั้งที่แล้วทีมงานไซเบอร์บิซพาทุกท่านไปรีวิวกราฟิกการ์ดพี่ใหญ่ AMD Radeon RX 480 พร้อมแรม 8GB ไปแล้ว มาวันนี้ถึงคิวน้องคนกลางกับ “Radeon RX 470” ที่เอเอ็มดียังคงประสิทธิภาพ เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคาเงินไม่ถึงหมื่นบาทอีกเช่นเดิม

การออกแบบ

IMG_0378

IMG_0366

สำหรับตัวกราฟิกการ์ด AMD Radeon RX 470 รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะเป็น Reference Card ส่งตรงจากโรงงานของเอเอ็มดี เพราะฉะนั้นหน้าตาและขนาดจะเหมือนกับ RX 480 ทุกสัดส่วน (กินพื้นที่ติดตั้ง PCIE 2 ช่องตามมาตรฐาน)

IMG_0368

ในส่วนสเปกการ์ดยังคงใช้สถาปัตยกรรมรุ่นที่ 4 (GCN 4.0) “Polaris” เช่นเดียวกับการ์ดทุกรุ่นในตระกูล RX ด้านพอร์ตเชื่อมต่อการ์ดใช้ PCI Express 3.0 x16 และช่องไฟเลี้ยงใช้แบบ 6 พิน (บริโภคไฟสูงสุดไม่เกิน 120 วัตต์)

IMG_0373

มาดูพอร์ตเชื่อมต่อ เอเอ็มดีให้ Display Port (รองรับ HDR) มาจุใจถึง 3 พอร์ต รองรับ MST ฮับเพื่อเชื่อมต่อจอภาพได้สูงสุด 6 จอ (AMD Eyefinity Technology)

ส่วนพอร์ต HDMI ให้เป็นเวอร์ชัน 2.0 จำนวน 1 พอร์ต

สเปก

gpuz-rx470

AMD Radeon RX 470 มาพร้อมชิปประมวลผลกราฟิก (GPU) โค้ดเนม “Ellesmere” ขนาด 14 นาโนเมตร พร้อมแรม GDDR5 256-bit ขนาด 4GB ความเร็วสัญญาณนาฬิกาสูงสุด 1,206MHz รองรับ Compute Units 32 ยูนิต

ในส่วนฟีเจอร์ชุดคำสั่งกราฟิกที่รองรับ ได้แก่ DirectX 12, HDR Game, Vulkan, OpenCL 2.0, OpenGL 4.5 รวมถึงรองรับ Virtual Reality ในชื่อ “AMD LiquidVR”

ด้านซอฟต์แวร์ควบคุมใช้ “Crimson” รองรับฟีเจอร์ AMD FreeSync, Frame Rate Target Control, Virtual Super Resolution, WattMan และล่าสุดมาพร้อมฟีเจอร์ ReLive ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถบันทึกหน้าจอเกมในรูปแบบวิดีโอหรือแคสเกมผ่านบริการ Twitch ได้ทันที

ส่วนอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจและเพิ่งเปิดให้ใช้งานผ่านซอฟต์แวร์ Crimson รุ่นล่าสุดก็คือ “Radeon Chill” ที่ออกแบบมาเพื่อกราฟิกการ์ดตะกูล RX โดยเฉพาะ โดยฟีเจอร์ดังกล่าวจะทำให้การจัดสรรพลังงานทำได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การ์ดบริโภคพลังงานน้อยลง ประหยัดไฟและความร้อนลดลง

ทดสอบประสิทธิภาพ

อย่างที่ทราบว่าตัวการ์ด RX 470 จะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพต้องรันบนอินเตอร์เฟส PCI Express 3.0 แต่เพราะเมนบอร์ดของทีมงานรองรับแค่ PCI Express 2.0 เท่านั้น คะแนนที่ได้อาจคาดเคลื่อนไม่เป็นตามมาตรฐาน

amdsetrx470

ชุดคอมพิวเตอร์ที่ทีมงานใช้ร่วมกับการทดสอบกราฟิกการ์ด AMD Radeon RX 470 – 4GB GDDR 5 เป็นเช็ทระดับกลางที่ทีมงานหวังว่าด้วยสเปกที่ไม่สูงมาก ผู้อ่านสามารถจับต้องได้ทุกคน น่าจะช่วยให้การทดสอบทำได้น่าตื่นเต้น มองแล้วไม่ไกลตัวเกินไป เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจในยุคนี้

3dmark-rx470

เริ่มการทดสอบกับ 3DMark เรื่องคะแนนผมขอไม่ยกเป็นประเด็นสำคัญ เพราะผลคะแนนเป็นไปตามราคาการ์ดระดับกลาง แต่ผมจะขอเน้นการใช้งานจริงร่วมกับการเล่นเกมตามคลิปวิดีโอด้านล่าง (ทดสอบที่ความละเอียด 1080p ทุกเกม)

iw7_ship-2016-11-30-19-46-04-70

จากคลิปวิดีโอทดสอบเล่นเกม Call of Duty Infinite Warfare (DirectX 11) เกมนี้สามารถปรับค่ากราฟิกสูงสุดทั้งหมดได้ ยกเว้นส่วน Texture ต้องปรับประมาณ High และลบรอยหยักที่เปิดได้ไม่สูงสุด เฟรมเรตที่ได้จะอยู่ประมาณ 30-50 เฟรมต่อวินาที เล่นได้ลื่นไหลสบายๆ

GTA5-2016-12-03-16-38-29-38

GTA V (DirectX 11) สามรถปรับสุดและเล่นได้ลื่นไหลระดับ 40-60 เฟรมต่อวินาที แต่ต้องปิดลบรอยหยัก MSAA และปิดออปชันส่วน Advanced Graphics ทั้งหมด

catzilla-rx470

Catzilla 720p (DirectX 11) ทำคะแนนได้ 15,606 คะแนน น้อยกว่า RX 480 ประมาณ 2 พันคะแนน โดยการทดสอบทำได้ลื่นไหลไม่มีปัญหาใดๆให้พบเจอ

ffxiv-rx470

Final Fantasy XIV HEAVENSWARD (DirectX 11) ทำคะแนนทดสอบได้ 8,133 คะแนน ปรับค่ากราฟิกสูงสุดทั้งหมด ความลื่นไหลไม่พบอาการสะดุดระหว่างทดสอบ

Rise-of-the-Tomb-Raider-v1.0-build-668.1_64-3_12_2559-14_35_46

Rise of the Tomb Raider (DirectX 12) ปรับสุดทั้งหมด ยกเว้น Texture จะปรับได้แค่ High เนื่องจากการปรับสูงสุดต้องใช้แรมกราฟิกการ์ดประมาณ 6GB และลบรอยหยักภาพต้องปรับให้ต่ำสุดถึงจะเล่นได้ลื่นไหล (เฟรมเรตประมาณ 47-50 เฟรมต่อวินาที) แต่ถ้าเปิดลบรอยหยักสูงสุด เฟรมเรตจะตกลงเหลือประมาณ 27-38 เฟรมต่อวินาทีเท่านั้น (มีอาการภาพหน่วงๆให้เห็นเป็นระยะ)

อาจเพราะการปรับภาพสูงสุด เกมบริโภคแรมกราฟิกการ์ดจำนวนมากจึงทำให้เห็นความแตกต่างจากการรันบนการ์ด RX 480 ที่มีแรมมากถึง 8GB ชัดเจนอย่างมาก (RX 480 ปรับค่ากราฟิกสูงสุดได้ทั้งหมดโดยไม่พบอาการกระตุกหรือภาพหน่วงแต่อย่างใด)

สุดท้ายขยับมาทดสอบเกมที่อยู่คู่เอเอ็มดีมานานกับ Battlefield ทั้งภาค 4 (DirectX 11 และ Mantle) และภาค 1 (DirectX 12) เริ่มจากภาคเก่า Battlefield 4 ใช้ชุดคำสั่งกราฟิก AMD Mantle ปรับสูงสุดทั้งหมด ลื่นไหลไม่มีปัญหา ส่วนถ้าเปิดใช้ชุดคำสั่ง DirectX 11 เวลาเจอเอฟเฟ็กต์จำนวนมาก จะมีอาการภาพหน่วงให้เห็นเล็กน้อย

ส่วน Battlefield 1 โหมด DirectX 12 ที่หลายคนลงความเห็นว่าเข้ากันดีกับ RX 480 มากที่สุด ลองมาทดสอบกับ RX 470 พบว่า สามารถเล่นได้ลื่นไหลแบบปรับสุดได้เช่นกัน แต่เฟรมเรตจะมีอาการสวิงตั้งแต่ 30-50 เฟรมต่อวินาที ไม่นิ่งเหมือน RX 480 และอาจพบอาการภาพหน่วงเวลาเจอระเบิดจำนวนมาก

wattman-temp-rx470

ด้านการทดสอบอุณหภูมิระหว่างทำงานแบบ Full Load จะอยู่ที่ประมาณ 78 องศาเซลเซียส

สรุป

IMG_0385

สำหรับราคาขาย AMD Radeon RX 470 – 4GB จะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 7 พันถึง 8 พันบาทปลายๆ โดยภาพรวมตัวการ์ดยังเน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา แรมให้มา 4GB เพียงพอกับความต้องการของเกมในปัจจุบัน ส่วนประสิทธิภาพโดยรวมแล้วใกล้เคียงกับพี่ใหญ่ RX 480 เหมาะแก่เกมเมอร์ฮาร์ดคอร์ที่ใช้จอภาพความละเอียด 1080p ส่วนคนที่ใช้หน้าจอ 2-4K ทีมงานยังแนะนำให้เลือกใช้ RX 480 จะดีที่สุด

ข้อดี

– ราคาเทียบประสิทธิภาพจัดอยู่ในเกณฑ์คุ้มค่าคุ้มราคา
– AMD Radeon สถาปัตยกรรมใหม่ ประหยัดไฟมากขึ้น ความร้อนต่ำลงมาก

ข้อสังเกต

– ไม่มีพอร์ต DVI มาให้
– การอัปเดตไดร์วเวอร์ บางครั้งแสดงชื่อการ์ดผิดรุ่น (เป็น RX 480)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
9
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
9.5
ความสามารถโดยรวม
9.5
ความคุ้มค่า
10
SHARE