เมื่อต้องให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ทำให้ แอปเปิล (Apple) ต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนา AirTag ให้ปลอดภัยกับทั้งผู้ใช้ และผู้บริโภคทุกคนมากที่สุด เพราะเมื่อเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ติดตามสิ่งของหายได้ ก็ใช้ในการติดตามหรือสะกดรอยผู้คนได้เช่นเดียวกัน
แนวคิดในการพัฒนา AirTag ของ Apple นั้นถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการระบุตำแหน่งสิ่งของสำคัญๆ ได้ง่ายขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีอ Ultra-wideband (UWB) เพื่อช่วยระบุพิกัดสิ่งของเหล่านั้น และเมื่ออยู่ใกล้วัตถุภายในระยะ 10 เมตร บลูทูธ ก็จะเข้ามาทำหน้าที่ในการระบุตำแหน่งที่ชัดเจนอีกทีหนึ่ง
Apple AirTag เริ่มวางจำหน่ายในประเทศไทยแล้ววันนี้ ในราคาชิ้นละ 990 บาท และมีขายเป็นแพ็ก 4 ชิ้น ในราคา 3,390 บาท พร้อมกับอุปกรณ์เสริมอย่างพวงกุญแจหนัง (1,390 บาท) ห่วงคล้องแบบหนัง (1,590 บาท) และห่วงคล้องโพลียูรีเทน (1,190 บาท)
เบื้องหลังคือชิป U1 ที่มี Ultra-wideband
ก่อนหน้านี้ แอปเปิล ได้มีการนำฟีเจอร์อย่าง ‘ค้นหาของฉัน’ หรือ Find My มาใช้ในการติดตามผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น iPhone iPad Mac Apple Watch และ AirPods กันอยู่แล้ว ด้วยการที่ให้อุปกรณ์เหล่านั้นส่งพิกัดที่อยู่ผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทราบตำแหน่งคร่าวๆ บนแผนที่
ก่อนเริ่มประยุกต์ใช้เครือข่ายของ iPhone ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เป็นตัวช่วยในการตามหาอุปกรณ์ที่ Offline อย่าง MacBook ที่ไม่ได้เชื่อมต่อ WiFi หรือ iPad รุ่นที่ไม่ได้ใส่ซิมการ์ด ด้วยการให้อุปกรณ์เหล่านี้ส่งสัญญาณไปยัง iPhone เพื่อระบุตำแหน่งให้เจ้าของทราบได้
ทำให้ปัจจุบัน Find My ได้กลายเป็นเครือข่ายสำหรับติดตามสิ่งของต่างๆ ที่ใหญ่ และครอบคลุมมากที่สุดในโลก จากอุปกรณ์ของ Apple ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระดับพันล้านเครื่องทั่วโลก ที่สำคัญคือการส่งข้อมูลทั้งหมดนี้จะไม่มีการะบุตัวตน เพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
ต่อจากนั้น แอปเปิลจึงเริ่มพัฒนาชิป U1 ที่นำเทคโนโลยี UWB มาใช้ในการ ระบุตำแหน่งที่ตั้งจริง (Precision Finding) สำหรับ iPhone 11 และ iPhone 12 ที่ช่วยระบุทิศทางที่แม่นยำในการตามหา AirTag เมื่ออยู่ในระยะใกล้เคียง จึงทำให้ AirTag สามารถค้นหาสิ่งของที่หายไปได้
แกะกล่องใช้งาน
เมื่อทราบถึงหลักการทำงานของ AirTag แล้วก็ถึงเวลาใช้งาน เมื่อแกะ AirTag ออกจากกล่องสิ่งแรกที่ต้องทำคือแกะพลาสติกที่หุ้มรอบตัวเครือง เพื่อดึงให้ขั้วแบตเตอรีสัมผัสกัน เพื่อเปิดการใช้งานก่อน
ขนาดของ AirTag จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 31.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 11 กรัม โดยมีความสามารถป้องกันน้ำ และฝุ่นระดับ IP67 (ลึก 1 เมตร ไม่เกิน 30 นาที) รองรับการเชื่อมต่อทั้ง บลูทูธ UWB และ NFC
ภายในของ AirTag จะใช้ถ่านกระดุมขนาดมาตรฐาน CR2032 ที่ใช้งานได้ราว 1 ปี เมื่อสัญญาณอ่อน หรือแบตเตอรีใกล้หมดผู้ใช้สามารถหาซื้อมาเปลี่ยนเองได้ทันที โดยจะมีสถานะแบตเตอรีแจ้งอยู่ในแอป Find My
หลังจากนั้นนำ AirTag ไปไว้ใกล้เคียงกับ iPhone ที่ต้องการเชื่อมต่อ จะเด้งหน้าจอขึ้นมาให้ทำการเชื่อมต่อได้ทันที คล้ายกับการเชื่อมต่อ AirPods ที่คุ้นเคยกัน หลังจากนั้นจะมีให้เลือกว่าต้องการทำ AirTag นี้ไปติดกับสิ่งของใด คล้ายๆ กับการระบุชื่อของสิ่งของให้เข้ามาเลือกดูได้สะดวกขึ้น ในจุดนี้ผู้ใช้สามารถเลือกปรับตั้งชื่อ พร้อมใส่ Emoji เพิ่มเติมได้ด้วย
เมื่อทำการเชื่อมต่อเสร็จแล้ว ก็จะสามารถใช้ในการค้นหาตำแหน่งได้ทันที โดยเมื่ออยู่ในระยะใกล้ประมาณ 10 เมตร จะใช้การค้นหาจากสัญญาณบลูทูธ ร่วมกับ UWB ในการระบุตำแหน่งที่แม่นยำ หรือจะกดให้ส่งเสียงจากตัว AirTag เพื่อช่วยระบุตำแหน่งเพิ่มเติมได้ด้วย
สำหรับการค้นหา AirTag เมื่อตามพิกัดบนแผนที่เข้ามาอยู่ในระยะที่เชื่อมต่อโดยตรงได้แล้ว ที่หน้าจอ iPhone จะมีการชี้บอกทิศทาง และระยะห่างให้ค้นหาได้ง่ายขึ้น ยิ่งเข้าใกล้ AirTag มากเท่าไหร่ ก็จะมีการสั่นช่วยบอกด้วย
กรณีที่ทำหายหล่นอยู่นอกสถานที่ ก็สามารถเข้าไปตั้งโหมดสูญหาย (Lost Mode) เพื่อระบุช่องทางติดตามอย่างเบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล ให้ผู้ที่เก็บได้ใช้ติดต่อกลับมา ในจุดนี้ผู้ที่เก็บ AirTag จะสามารถเห็นข้อมูลดังกล่าวได้ต่อเมื่อนำ AirTag ไปแปะบริเวณจุดรับสัญญาณ NFC ที่ตัวเครื่อง ซึ่งทำงานทั้งบน iOS และ Android
ในระหว่างที่เข้าสู่โหมดสูญหาย เจ้าของ AirTag ยังสามารถติดตามตำแหน่งของอุปกรณ์ หรือสิ่งของนี้ได้ และจะได้รับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนค้นหาเจอ ซึ่งถ้าคนอื่นเก็บได้แล้วนำมาสแกน ก็จะปรากฏลิงก์ให้เข้าสู่เว็บไซต์ แสดงรายละเอียดเฉพาะการติดต่อ และเลขซีเรียลเท่านั้น ไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดส่วนตัวอื่นๆ แต่อย่างใด
ระบบป้องกันการถูกติดตาม
ในแง่ของความเป็นส่วนตัว เมื่อ AirTag สามารถใช้ในการระบุพิกัดได้ ทำให้อาจะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีในการสะกดรอยได้ ในจุดนี้แอปเปิล ได้คิดค้นวิธีการป้องกันที่จะคอยแจ้งเตือน เมื่อตรวจพบว่า AirTag เดินทางไปในสถานที่ต่างๆ โดยไม่ได้อยู่กับเจ้าของ
เมื่อได้รับการแจ้งเตือน AirTag ที่ไม่ได้อยู่กับเจ้าของ จะแจ้งข้อมูลให้ผู้ใช้งานได้ทราบว่า AirTag เครื่องนี้ติดตามตั้งแต่สถานที่ใดบ้าง และมีปุ่มให้กดเล่นเสียงเพื่อค้นหา AirTag ดังกล่าว เพื่อทำการปิดกั้นไม่ให้ติดตามได้ หรือในกรณีที่อยู่ห่างไกลจากเจ้าของนานเกินช่วงเวลา 8 – 24 ชั่วโมง แอปเปิล ได้ตั้งให้ AirTag ส่งเสียงเพื่อแจ้งเตือนไว้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้ใช้ iPhone สามารถเข้าไปแอป Find My แล้วกดเข้าไปใน ระบุสิ่งของที่พบ (Identify Found Item) เมื่อตรวจพบจะขึ้นรายละเอียดของ AirTag ให้เห็นอย่าง Serial Number และเลขหมายโทรศัพท์ 2 หลักหลัง พร้อมคำแนะนำในกรณีที่ไม่ใช่เจ้าของ และเป็น AirTag ต้องสงสัย
โดยถ้ามีการสะกดรอยตามจริงๆ ก็สามารถนำข้อมูล Serial Number ไปดำเนินคดีตามกฏหมายได้ เพราะเมื่อมีการฟ้องร้องทาง Apple สามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเจ้าของ AirTag ที่ลงทะเบียนไว้ได้อย่าง ชื่อ และอีเมล เพื่อช่วยในการดำเนินคดี
เบื้องต้นทาง Apple จะแนะนำวิธีป้องกันไม่ให้อุปกรณ์นี้สามารถติดตามคุณได้ด้วยการถอดแบตเตอรีออกได้ทันที AirTag นั้นจะไม่สามารถระบุตำแหน่งได้อีกต่อไป จนกว่าจะใส่แบตเตอรีกลับเข้ามา
อุปกรณ์เสริม
เนื่องจาก Apple วางจำหน่าย AirTag เป็นชิ้นๆ ไม่ได้มีสายคล้อง หรือสายห้อยมาให้ด้วย ทำให้เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมแบรนด์อื่นๆ สามารถผลิตพวงกุญแจต่างๆ มาจำหน่ายเพิ่มเติมได้
โดยปัจจุบัน Apple มีห่วงคล้องสำหรับ AirTag ที่เป็นแบบพื้นฐานให้เลือก 2 แบบ และพวงกุญแจอีก 1 แบบ ไม่นับรวมกับสายคล้อง Hermes ที่มีตัวเลือกเพิ่มเติม เพื่อนำไปคล้องกับอุปกรณ์ต่างๆ
เริ่มกันที่ Leather Loop ที่เป็นห่วงคล้องหนัง มีให้เลือก 2 สีคือ แดง และน้ำตาล ถัดมาคือ Loop ที่เป็นยางโพลียูรีเทนมีให้เลือก 4 สี คือ ส้ม เหลือง กรมท่า และขาว ส่วนพวงกุญแจหนัง (Leather Key Ring) มีให้เลือก 3 สี น้ำเงิน น้ำตาล และแดง
นอกจากนี้ ในตลาดยังมี Belkin ที่เปิดตัว Belkin Secure Holder for AirTag มีให้เลือก 2 รูปแบบคือ พวงกุญแจ และสายรัด มีให้เลือก 4 สี คือ สีดำ สีขาว สีชมพู และสีฟ้า วางจำหน่ายแล้วในราคา 490 บาท
ทำให้ในการเลือกซื้อ AirTag นอกจากตัวอุปกรณ์แล้ว ยังต้องเสียเงินซื้ออุปกรณ์เสริมเพื่อนำมาใส่ AirTag ให้นำไปติดกับสิ่งของต่างๆ ได้สะดวกขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น ติดกับกุญแจรถ กุญแจบ้าน กระเป๋า จักรยาน กล้อง หูฟัง เสื้อคลุม ร่ม หรือแม้แต่กระเป๋าตังก็ตาม
สรุป
AirTag จะกลายเป็นอีกอุปกรณ์เสริมที่ผู้ใช้งาน iPhone ต้องมีติดตัวไว้ สำหรับการค้นหาสิ่งของอย่างแน่นอน เพราะสามารถใช้ในการติดตามหาของได้จริง แม้ว่าจะทำตกไว้ระหว่างทาง หรือตามสถานที่ต่างๆ
ที่สำคัญคือ Apple ออกแบบให้ป้องกันการขโมยไว้อย่างน่าสนใจ โดยผู้ที่ได้ AirTag ไป จะไม่สามารถเชื่อมต่อใช้งานได้ จนกว่าเจ้าของจะยกเลิกการเชื่อมต่อ ดังนั้นถึงขโมยไปได้ ก็จะได้แค่ถ่าน CR2032 ไปใช้งานเท่านั้น ส่วน AirTag ก็ไม่ต่างจากของชิ้นหนึ่งที่ไม่สามารถใช้งานได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก AirTag ยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้คนติดตามได้ในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงถ้าไม่ได้ใช้งาน iOS 14.5 ขึ้นไป ก็จะไม่ได้รับการแจ้งเตือนว่ามี AirTag คอยสะกดรอยตามอยู่ เพราะระบบแจ้งเตือนที่คิดค้นมาไม่ได้ทำมาเผื่อให้ Android จึงต้องใช้การฟังเสียงเตือน (ที่ค่อนข้างเบา) จาก AirTag เวลาอยู่ห่างจากเจ้าของนานๆ แทน