Review : Apple iPad Air (2020) เปลี่ยนโฉม พร้อมชิป A14 Bionic ที่แรงขึ้น

17345

การปรับโฉมของ Apple iPad Air รุ่นที่ 4 หรือ iPad Air 2020 นั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ไลน์ผลิตภัณฑ์แท็บเล็ตของ แอปเปิล นั้นมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบรับกับรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายของผู้บริโภค

โดยจุดเด่นของ iPad Air (2020) นอกจากการปรับดีไซน์มาในลักษณะเดียวกันกับ iPad Pro 11” มีให้เลือกหลายสีสัน แล้วยังนำความสามารถหลายๆ อย่างมาให้ใช้งาน โดยเฉพาะพอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB-C ทำให้สามารถใช้ iPad Air เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมได้หลากหลายขึ้น

ในขณะเดียวกัน ยังมีการนำชิป Apple A14 Bionic ที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบ 5 นาโนเมตร ที่ประมวลผลเร็วขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนปุ่มเปิดปิดเครื่องให้กลายเป็น Touch ID เพื่อปลดล็อกตัวเครื่องด้วยการสแกนลายนิ้วมือ สำหรับราคาเริ่มต้นของ iPad Air 2020 อยู่ที่ 19,900 บาท

ข้อดี

  • ดีไซน์ใหม่ มีสีให้เลือกเพิ่มขึ้น จอใหญ่ขึ้น
  • ยังมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือให้ใช้งาน
  • พอร์ตเชื่อมต่อ USB-C
  • ใช้งานอุปกรณ์เสริมร่วมกับ iPad Pro 11” ได้

ข้อสังเกต

  • ยังไม่รองรับ FaceID
  • จอยังเป็น Refresh Rate 60 Hz
  • ถ้าต้องการใช้ปากกาต้องซื้อ Apple Pencil เพิ่มอีก 4,490 บาท

ปรับโฉมใหม่ ประสิทธิภาพดีขึ้น

แม้ว่ารูปทรงของ iPad Air รุ่นนี้จะไม่ได้ถูกออกแบบใหม่หมดเสียทีเดียว เพราะเป็นการนำดีไซน์ของ iPad Pro 11 นิ้ว มาใช้ แต่ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสินค้าในตระกูลของ iPad Air

โดยแต่เดิม iPad Air รุ่นแรกจะมีขนาดหน้าจออยู่ที่ 9.7 นิ้ว ก่อนปรับมาเป็นขนาด 10.5 นิ้ว ในรุ่นที่ 3 (2019) และล่าสุดในการปรับดีไซน์มาเป็นเครื่องสี่เหลี่ยมขอบตัดในรุ่นที่ 4 นี้ ขนาดหน้าจอของ iPad Air ก็เพิ่มขนาดขึ้นเป็น 10.9 นิ้ว ในขนาดตัวเครื่องใกล้เคียงเดิม

คุณสมบัติของหน้าจอ iPad Air นั้นใช้จอภาพแบบ Liquid Retina ขนาด 10.9 นิ้ว ให้ความละเอียด 2360 x 1640 พิกเซล 264 ppi มีการเคลือบสารกันรอยนิ้วมือ และแสงสะท้อน แสดงผลสีขอบเขตกว้างระดับ P3 เพียงแต่ว่ายังใช้อัตราแสดงผล (Refresh Rate) ที่ 60 Hz

ส่วนบนหน้าจอมีกล้องหน้าความละเอียด 7 ล้านพิกเซล f/2.2 ให้ไว้ใช้งานร่วมกับ FaceTime HD และบันทึกวิดีโอได้ความละเอียดสูงสุด 1080p ที่ 60fps ซึ่งยังไม่ได้นำชุดกล้อง FaceID มาใช้งานใน iPad Air รุ่นนี้

ตัวเครื่องโดยรวมจะอยู่ที่ขนาด 247.6 x 178.5 x 6.1 มิลลิเมตร น้ำหนัก 458 กรัม มีให้เลือกด้วยกันทั้งหมด 5 สี แบ่งเป็นสีเริ่มต้นอย่าง เทาสเปซเกรย์ เงิน โรสโกลด์ เขียว และสกายบลู

อีกจุดที่น่าสนใจคือบริเวณปุ่มเปิดปิดเครื่อง ที่ Apple มีการนำ TouchID มาใช้งานร่วมกับปุ่มนี้บน iPad เป็นครั้งแรก จากเดิมที่ใช้ร่วมกับปุ่ม Home ทั้งบน iPhone และ iPad รุ่นเก่า กับบน MacBook ที่มีการฝั่งเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือบนปุ่มเปิดเครื่อง

ด้านขวาของเครื่องยังเป็นแม่เหล็กที่ใช้เชื่อมต่อกับ Apple Pencil 2 ไว้สำหรับจับคู่ และชาร์จแบตในตัว ซึ่งแน่นอนว่าใครที่ใช้งาน Apple Pencil รุ่นแรกอยู่ พออัปเกรดมาใช้งาน iPad Air ใหม่นี้ก็ต้องซื้อ Apple Pencil 2 ใหม่ด้วย

ด้านหลังตัวเครื่อง iPad Air จะมากับกล้องความละเอียด 12 ล้านพิกเซล f/1.8 รองรับการถ่ายวิดีโอระดับ 4K ซึ่งเป็นเลนส์เดียวกับใน iPad Pro แต่จะไม่มีเลนส์วัดระยะ LiDAR Scanner มาให้ด้วยนั่นเอง ส่วนล่างก็จะเป็นคอนเนคเตอร์ในการเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ด

สำหรับพอร์ตเชื่อมต่อที่ให้เป็น USB-C นั้นจะอยู่ที่ด้านล่างเครื่องถ้าถือใช้งานในแนวตั้ง และทางขวา ในกรณีที่ใช้งานร่วมกับ Magic Keyboard โดยใช้เป็นพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อสายชาร์จ ถ่ายโอนข้อมูลสูงสุด 5 Gbps เชื่อมต่อกับกล้องดิจิทัล ฮาร์ดดิสก์พกพา และต่อจอภาพได้ความละเอียดสูงสุด 4K

ภายในกล่องจะมีอะเดปเตอร์ชาร์จไฟแบบ 20W มาให้ พร้อมสาย USB-C ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก iPad Pro ที่เป็นแบบ 18W และได้กลายเป็นอะเดปเตอร์ USB-C มาตรฐานของ Apple ที่ใช้งานในปัจจุบันแล้ว

สเปก

สำหรับ iPad Air จะมากับหน่วยประมวลผล A14 Bionic ที่นำสถาปัตยกรรมแบบ 5 นาโนเมตร มาใช้งาน ร่วมกับทรานซิสเตอร์ 11,800 ล้านตัว เพื่อช่วยประมวลผลภายในซีพียูแบบ 6 คอร์ โดยแบ่งเป็น 2 คอร์ ที่เน้นการประมวลผลหนักๆ และอีก 4 คอร์ มาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ ยังมากับกราฟิกแยกอีก 4 คอร์ ทำให้สามารถประมวลผลทั้งการเล่นเกม ตัดต่อวิดีโอ จนถึงเรนเดอร์คอนเทนต์ 3มิติ ได้รวดเร็วขึ้น และยังเป็นชิปเซ็ตที่ใส่ Neural Engine มาใช้เรียนรู้การใช้งานเพิ่มเติมด้วย

ด้านการเชื่อมต่อ iPad Air จะมีทั้งรุ่น WiFi และรุ่น Cellular ที่เป็น 4G LTE  ซึ่งรองรับการใช้งาน WiFi 6 Bluetooth 5.0 ทำงานบนระบบปฏิบัติการ iPadOS 14 ที่ช่วยปลดล็อกการใช้งาน iPad ให้ดีขึ้น

ความแตกต่างกับ iPad Pro

(ซ้าย) iPad Pro 11″ (ขวา) iPad Air

ด้วยการที่ตัวเครื่อง iPad Air รุ่นที่ 4 นี้ นำดีไซน์ของ iPad Pro มาใช้งาน ทำให้มีความสงสัยตามมาว่า แล้ว 2 รุ่นนี้แตกต่างกันอย่างไร ถ้าต้องเลือกใช้งานระหว่าง 2 รุ่นนี้ มีอะไรที่ต้องคำนึงถึงบ้าง

จุดหลักๆ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดนอกเหนือจากหน้าจอ 10.9 นิ้ว และ 11 นิ้ว แล้ว ก็คือการที่ iPad Air ไม่มี FaceID เพราะมากับปุ่ม TouchID แทน ยังมีเรื่องของการแสดงผลหน้าจอที่ iPad Pro มาพร้อมกับเทคโนโลยี ProMotion ที่แสดงผลในอัตรการ 120 Hz

ผลทดสอบประสิทธิภาพของ iPad Air

ผลทดสอบประสิทธิภาพของ iPad Pro 11″

นอกจากนี้ ชิปเซ็ต A12Z Bionic พร้อม RAM 6 GB ที่อยู่บน iPad Pro นั้น ยังคงแรงกว่า A14 Bionic RAM 5 GB ที่นำมาใช้งานกับ iPad Air ในกรณีที่เป็นการประมวลผลแบบ Multitasking ดังนั้น iPad Air จึงยังคงอยู่ตรงกลางระหว่าง iPad รุ่นปกติ และ iPad Pro อยู่เช่นเดิม

โดยการใช้งานของ iPad Air นั้นทำมารองรับผู้ที่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากยิ่งขึ้น ทั้งการเพิ่มพอร์ต USB-C และหน่วยประมวลผล A14 Bionic นั้นก็รองรับการประมวลผลสูงๆได้ ทำให้สามารถตัดต่อวิดีโอ 4K ทำกราฟิกต่างๆ บน iPad Air ได้ทันที

แต่แน่นอนว่าถ้าเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นมืออาชีพ ตัวเลือกอย่าง iPad Pro ที่มีขนาดหน้าจอ 11 นิ้ว และ 12.9 นิ้ว ให้เลือกยังเป็นรุ่นที่น่าสนใจมากกว่า แต่ก็แลกกับราคาที่สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

อุปกรณ์เสริมช่วยเพิ่มรูปแบบการใช้งาน

การใช้งาน iPad Air ให้ครบชุดนั้น นอกจากตัวเครื่อง iPad ที่มีราคาเริ่มต้นสำหรับรุ่น WiFi 64 GB อยู่ที่ 19,900 บาท 256 GB 24,900 บาท ขณะที่รุ่น Cellular เริ่มต้นที่รุ่น 64 GB 24,400 บาท และ 256 GB 29,400 บาท

iPad Air คู่กับ Magic Keyboard

ยังมีอุปกรณ์เสริมที่น่าสนใจอย่าง Apple Pencil 2 ราคา 4,490 บาท ตามด้วย Magic Keyboard ที่ 9,900 บาท หรือถ้าเลือกใช้งานเป็น Smart Keyboard จะอยู่ที่ 5,990 บาท ส่วน Smart Cover อยู่ที่ 2,990 บาท

iPad Air กับ Smart Cover

ดังนั้น ถ้าใครจะเลือกซื้อ iPad Air อย่าลืมเผื่องบประมาณสำหรับอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้ได้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุด แต่ถ้าไม่ได้ต้องใช้การป้อนข้อมูลด้วยคีย์บอร์ดมากนัก เลือกซื้อเฉพาะ iPad Air คู่กับ Apple Pencil 2 ก็เพียงพอกับการใช้งานแล้ว

ความรู้สึกหลังใช้งาน

ต้องยอมรับว่า Touch ID ที่แอปเปิล เลือกนำมาวางไว้ที่ปุ่มเปิดปิดเครื่อง นั้นช่วยให้ใช้งาน iPad Air ได้สะดวกขึ้น จากเดิมถ้าใช้งาน iPad Pro จะเจอปัญหาเดียวกับผู้ใช้งาน iPhone คือเวลาที่สวมหน้ากากอนามัย จะไม่สามารถปลดล็อกด้วย FaceID ได้

ทำให้การปลดล็อกตัวเครื่องกลับมาสะดวกเหมือนเดิมแล้ว ที่สำคัญคือในตอนที่เริ่มตั้งค่า Touch ID เหมือนแอปเปิลคิดมาให้แล้วว่ารูปแบบการจับถือใช้งาน iPad Air จะมีด้วยกัน 2 ลักษณะด้วยกัน

ประกอบด้วยการใช้งานแนวตั้ง ที่ปุ่มเปิดเครื่องอยู่ทางขวาบน ก็จะเริ่มแนะนำให้สแกนนิ้วชี้ข้างขวาก่อน หลังจากนั้นจึงให้ปรับตัวเครื่องในแนวนอน และสแกนนิ้วชี้ข้างซ้ายแทน ช่วยให้เวลาถือเครื่องใช้งานสามารถปลดล็อกได้สะดวก

คำถามที่ตามมาคือทำไม แอปเปิล ไม่นำ Touch ID บนปุ่มเปิดเครื่องมาใช้งานกับ iPhone 12 ด้วย เพราะเชื่อว่าทุกคนยังต้องใส่หน้ากากใช้ชีวิตเวลาอยู่นอกบ้านกันอีกพักใหญ่จนกว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะออกมาให้ได้ฉีดกัน

ในส่วนของประสิทธิภาพ iPad Air นั้นยอมรับว่า A14 Bionic ทำได้ประทับใจ เพราะจากที่ทดสอบใช้งานเล่นเกม ประมวลผลหนักๆ หรือตัดต่อวิดีโอระดับ 4K ความเร็ว และความลื่นไหลที่ได้ ถือว่าตอบโจทย์ทั้งหมด แบตเตอรีใช้งานได้ทั้งวันสบายๆ

สรุป

รวมๆ แล้ว iPad Air จะกลายเป็นตัวเลือกแท็บเล็ต สำหรับผู้ที่ต้องการใช้งาน iPad ในขั้นสูงมากขึ้น เมื่อเทียบกับ iPad รุ่นปกติ เมื่อใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เสริมของ iPad Pro 11 นิ้ว ได้ ยิ่งทำให้ iPad Air มาใช้ทำงานบางส่วนแทนคอมพิวเตอร์ได้แล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ ด้วยระดับราคาของ iPad Air ที่ถ้าจะซื้อใช้งานจริงๆ ควรเลือกเป็นรุ่น 256 GB เพื่อให้สามารถเก็บไฟล์ข้อมูลรูปภาพ หรือวิดีโอ ได้เพียงพอ ก็จะขึ้นไปอยู่ราว 24,900 บาท ก็ถือว่าค่อนข้างสูง เพราะถ้าซื้อร่วมกับ Apple Pencil 2 ก็ขึ้นไปอยู่เกือบ 30,000 บาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ได้ต้องการ iPad ที่มีขนาดหน้าจอใหญ่ สวยขึ้น ได้เทคโนโลยีประมวลผลใหม่ เน้นการใช้งานอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียทั่วๆ ไป iPad รุ่นที่ 8 ซึ่งมากับ A12 Bionic ก็เพียงพอกับการใช้งานอยู่แล้ว ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องอัปเกรดมาใช้งานเป็น iPad Air แต่อย่างใด

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น