Review : Apple iPad Pro (2018) เมื่อ iPad ทรงพลังกว่าโน้ตบุ๊ก แล้วเปิดโลกกว้างด้วย USB-C

12689

Apple วาง iPad Pro ให้กลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานบนโลกดิจิทัล โดยในช่วงที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าทั้ง iPad Pro และ Apple Pencil กลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ และในการอัปเดตไลน์ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลในปีนี้ ก็ทำให้ iPad Pro ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น

จุดเปลี่ยนหลักๆ ของ iPad Pro 2018 คือเรื่องของดีไซน์ตัวเครื่อง ที่ปรับโฉมใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะในรุ่นจอ 12.9 นิ้ว ที่ตัวเครื่องมีขนาดเล็กลง จากการหันมาใช้เทคโนโลยี FaceID แทนระบบ Touch ID ช่วยประหยัดพื้นที่ขอบเครื่องลงไปในตัว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการประมวลผลที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแอปเปิลเคลมว่า iPad Pro ประมวลผลได้แรงกว่าโน้ตบุ๊ก 92% ในท้องตลาดเวลานี้ ซึ่งช่วยให้การทำงานตัดต่อวิดีโอ สร้างผลงานมัลติมีเดีย วาดรูป แต่งรูป หรือใช้เพื่อการทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น

ข้อดี

หน้าจอขนาดเท่าเดิม ในขนาดตัวเครื่องที่เล็กลง (12.9″) และหน้าจอใหญ่ขึ้น ขนาดเครื่องเท่าเดิม (11″)

ประสิทธิภาพในการประมวลผลจาก Apple Bionic A12x

FaceID ช่วยปลดล็อกเครื่อง และทำให้ใช้งาน Animoji / Memoji

พอร์ต USB-C ช่วยให้ใช้งานกับอุปกรณ์ที่หลากหลายมากขึ้น

ข้อสังเกต

การทำงานแบบ Multitask ยังมีข้อจำกัดอยู่

ยังไม่สามารถใช้งานแทน Mac/PC ได้เต็มที่

ระดับราคาค่อนข้างสูง

ดีไซน์ใหม่ เครื่องบางลง

ในส่วนของการออกแบบ iPad Pro (2018) จะมีด้วยกัน 2 รุ่นเช่นเดิมคือรุ่นจอ 11 นิ้ว (จากเดิม 10.5 นิ้ว) ในขนาดตัวเครื่องใกล้เคียงเดิม และรุ่นจอ 12.9 นิ้ว ที่มีขนาดตัวเครื่องเล็กลง โดยมีการนำเทคโนโลยีจอแสดงผล Liquid Retina ที่ใช้งานบน iPhone XR มาใช้งานด้วย

ขนาดของ iPad Pro รุ่น 11 นิ้ว จะอยู่ที่ 247.6 x 178.5 x 5.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 468 กรัม ส่วนรุ่น 12.9 นิ้ว จะอยู่ที่ 280.6 x 214.9 x 5.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 631 กรัม มีวางจำหน่ายด้วยกัน 2 สีคือ สีเงิน และสีเทา

สำหรับดีไซน์โดยรวมของ iPad Pro จะถูกออกแบบมาให้จับถือใช้งานง่ายขึ้น ด้วยการตัดขอบเครื่องลดส่วนโค้งลง และด้วยการออกแบบให้น้ำหนักที่สมมาตร ทำให้สามารถตั้ง iPad บนพื้นผิวเรียบๆ ได้ด้วยทั้งแนวตั้ง และแนวนอน

พื้นที่ด้านหน้าส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปกับจอแสดงผล โดยจอ Liquid Retina ถือเป็นจอภาพที่แสดงผลสีบนมาตรฐาน P3 รองรับการแสดงผลแบบ True Tone ที่จะปรับสีให้เหมาะกับแต่ละสภาพแสง นอกจากนี้ เมื่อถูกใช้งานบนแอปพลิเคชันที่รองรับจะสามารถปรับการแสดงผลขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 120Hz เพื่อให้ภาพที่ได้ไหลลื่นมากที่สุด

โดยรอบๆตัวเครื่องเมื่อวางในแนวนอนจะมีเพียงปุ่มเปิดปิดเครื่อง อยู่ทางซ้าย และปุ่มปรับระดับเสียงอยู่ด้านบน (ยึดจากด้านที่สามารถต่อ Apple Pencil ไว้ด้านบน) แต่จริงๆแล้ว iPad Pro ที่ใช้ iOS 12 สามารถหมุนหน้าจอใช้งานได้ทุกด้านอยู่แล้ว ด้านล่างก็จะมีพอร์ต USB-C อยู่

ด้านหลังที่บริเวณมุมจะมีกล้องความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ที่รองรับการถ่ายวิดีโอ 4K 60fps ติดตั้งมาให้ใช้งานพร้อมกับไฟแฟลช ที่สำคัญรองรับการทำงานร่วมกับ AR ทำให้ iPad Pro กลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ AR ที่ประสิทธิภาพสูงระดับต้นๆในท้องตลาดเวลานี้

ที่เหลือก็จะมีสัญลักษณ์ แอปเปิล อยู่ตรงกึ่งกลาง ถัดลงมาด้านล่างจะมีจุดเชื่อมต่อระหว่าง iPad Pro เข้ากับ Smart Keyboard Folio ทำให้สามารถแปะ iPad Pro เข้ากับคีย์บอร์ดเพื่อใช้งานได้ทันที ไม่ต้องทำการเชื่อมต่อผ่านระบบไร้สายใดๆ

Gallery

Face ID ช่วยให้สะดวกขึ้น

การที่ iPad Pro เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี Face ID ร่วมกับกล้อง TrueDepth เหมือนบน iPhone X XS XS Max และ XR ที่นอกจากช่วยให้มีพื้นที่สำหรับขอแสดงผลขนาดใหญ่มากขึ้นแล้ว ก็ยังช่วยให้ iPad Pro สามารถถ่ายภาพ Portrait หลังละหลายได้จากกล้องหน้า รวมถึงการใช้งาน Animoji  Memoji ต่างๆได้

ในส่วนของการปลดล็อกตัวเครื่อง Face ID บน iPad Pro ถูกพัฒนาให้ฉลาดขึ้น ด้วยการที่รองรับการปลดล็อกด้วยใบหน้าได้จากทุกมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นแนวตั้ง หรือแนวนอน เพียงแต่ในการปลดล็อกต้องระวังไม่ให้มือไปบังหน้ากล้องเท่านั้นเอง (จะมีแจ้งเตือนถ้ามือบังหน้ากล้องอยู่)

ส่วนวิธีการในการควบคุมเพื่อใช้งาน iPad Pro เมื่อไม่มีปุ่มโฮม การสั่งงานต่างๆ ก็จะใช้วิธีการปาดจากขอบหน้าจอเหมือนบน iPhone X ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับการใช้ iPad รุ่นเก่าบน iOS 12 อยู่แล้ว ก็จะเรียนรู้และใช้งานได้ไม่ยาก

USB-C พอร์ตใหม่เชื่อม iPad สู่โลกกว้าง

ประเด็นสำคัญของการมีพอร์ต USB-C ให้ใช้งานบน iPad Pro (2018) ถือเป็นหนึ่งในจุดสำคัญที่ช่วยให้ iOS 12 สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่เชื่อมต่อกันบนมาตรฐานของพอร์ต USB ได้แล้ว จากที่ก่อนหน้านี้แอปเปิลเลือกใช้งานพอร์ต Lighting มาตลอดในช่วงหลังๆ

แน่นอนว่าจุดสำคัญที่สุดของ USB-C คือเรื่องของการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม (สูงสุด 10 Gbps) ประกอบกับหลังๆ อุปกรณ์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ MacBook ก็หันมาใช้พอร์ต Thunderbolt 3 (USB-C) ทั้งหมดอยู่แล้ว อุปกรณ์เสริมที่ไว้เชื่อมต่อก็มีรองรับมากขึ้นด้วย

การที่มี USB-C มาให้ทำให้นอกจากผู้ใช้จะใช้อะเดปเตอร์ และสายชาร์จ MacBook ในการชาร์จ iPad Pro ได้แล้ว ตัว iPad Pro ยังสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ชาร์จไฟให้กับ iPhone ได้ด้วย (ต้องมีสาย USB-C to Lightning) หรือจะใช้ต่อกับจอภาพความละเอียดสูงระดับ 5K ก็ได้ด้วย

นอกจากนี้ USB-C ยังเปิดให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกล้อง ไอโฟน แอนดรอยด์โฟน รุ่นอื่นๆ เข้ากับ iPad เพื่อถ่ายโอนไฟล์รูป และวิดีโอจากในอุปกรณ์เหล่านั้นมาแต่งรูปขั้นสูงบน iPad Pro ได้ หรือถ้าเชื่อมต่อกับอะเดปเตอร์การ์ดรีดเดอร์ต่างๆ ก็ทำได้เช่นเดียวกัน

Apple Pencil รุ่นใหม่ มาพร้อมปุ่มสัมผัส

อีกหนึ่งอุปกรณ์คู่กับ iPad Pro ที่ขาดไม่ได้เลยคือ Apple Pencil (วางจำหน่ายแยกในราคา 4,490 บาท) โดยถือเป็นรุ่นที่ 2 ที่น่าเสียดายคือ iPad Pro รุ่นแรกไม่สามารถใช้งานคู่กับ Pencil รุ่นใหม่ได้ เช่นเดียวกับ iPad Pro รุ่นใหม่ ก็ไม่สามารถใช้งานกับ Pencil รุ่นเดิมได้

ความสามารถที่พัฒนาขึ้นของ Pencil 2 คือเรื่องของความสะดวกในการใช้งาน ทั้งการเชื่อมต่อกับ iPad Pro ที่ทำได้ด้วยการนำ Pencil มาแปะไว้ที่ข้างเครื่อง ตัวเครื่องจะขึ้นคำสั่งให้กดเชื่อมต่อโดยอัตโนมัติ และเมื่อแปะไว้ก็จะเป็นการชาร์จแบต Pencil 2 ไปในตัวด้วย

นอกจากนี้ อีกฟีเจอร์ที่พัฒนาขึ้นมา จากเสียงตอบรับของผู้บริโภคคือ การเพิ่มปุ่มสัมผัสให้แตะสั่งงานบน Pencil ได้เลย โดยค่ามาตรฐานในการใช้งานผู้ใช้สามารถแตะ 2 ครั้งบน Pencil เพื่อสลับโหมดปากกา / ยางลบ และสามารถเข้าไปตั้งค่าเพิ่มเติมให้แตะเพื่อเรียกใช้แพลตสี เป็นต้น

ส่วนในอนาคต ทางแอปเปิลให้ข้อมูลว่า ได้ใช้มาตรฐานเปิดในการพัฒนาเพื่อให้นักพัฒนาสามารถ นำคำสั่งในการแตะบน Pencil ไปใช้งานในแอปอื่นๆได้ด้วย ซึ่งในช่วงแรกที่เปิดตัวแอปพลิเคชันที่รองรับหลักๆ จะเป็นของทางแอปเปิลมากกว่า

Smart Keyboard Folio พิมพ์สนุก เสริมประสบการณ์ใช้งาน

iPad Pro คู่กับคีย์บอร์ดเป็นอีกหนึ่งคู่อุปกรณ์ที่ออกมาช่วยให้ผู้ที่ชื่นชอบการพิมพ์ สามารถหันมาใช้งาน iPad Pro แทนโน้ตบุ๊กได้ โดย Smart Keyboard Folio จะวางขายแยกเช่นกันในราคา 6,490 บาท และ 7,290 บาท

จุดเด่นของคีย์บอร์ดเฉพาะตัวนี้คือ สามารถแปะ iPad Pro เข้าไปด้วยการเชื่อมต่อกับแม่เหล็กที่ iPad Pro จะมีแม่เหล้กกระจายอยู่รอบหลังเครื่อง เมื่อแปะเข้าไปแล้วก็สามารถใช้งานคีย์บอร์ดได้ทันที ผู้ใช้สามารถปรับระดับหน้าจอได้ 2 มุม

ส่วนขนาดของปุ่มคีย์บอร์ดก็จะใกล้เคียงกับคีย์บอร์ดบนโน้ตบุ๊ก ขณะเดียวกันผู้ใช้ยังสามารถใช้คีย์ลัดต่างๆได้เหมือนใช้งานบนแมคบุ๊ก เพื่อให้ประสบการณ์ใช้งานในจุดนี้ดีขึ้น ขณะเดียวกันตัวเคสก็จะช่วยปกป้อง iPad Pro ไปในตัว

สรุป

แน่นอนว่า การที่ iPad Pro สามารถพิมพ์งานได้ มี Pencil ช่วยในการวาดเขียน การมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ก็ช่วยเพิ่มความสามารถให้หลากหลายขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าสุดท้ายแล้ว iPad Pro จะเข้ามาแทนที่โน้ตบุ๊กได้ เพราะในการใช้งานโน้ตบุ๊กก็จะได้การใช้งานที่หลากหลายขึ้นไปอีก ส่วน iPad Pro ก็จะได้ในแง่ของความสะดวกในการพกพา

จุดที่พัฒนาขึ้นมาอย่าง USB-C ก็ช่วยเจาะกลุ่มช่างภาพเพิ่มเติม เนื่องจากช่างภาพสามารถต่อ iPad เข้ากับกล้องรุ่นใหม่ที่เชื่อมต่อผ่าน USB-C เพื่อดูรูป และในกรณีที่ต้องปรับแต่งสี ก็สามารถแต่งภาพเบื้องต้นบน iPad Pro ได้ทันที และสะดวกกว่าด้วย

ไม่นับรวมกับกลุ่มเป้าหมายเดิมอย่าง ผู้ที่ชื่นชอบการวาดภาพ ใช้ Apple Pencil ในการสร้างสรรค์ผลงาน ที่เชื่อว่าเมื่อมีรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมออกมา ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนเครื่องรุ่นใหม่เพื่อใช้งานอยู่แล้วด้วย

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น