Review : Apple MacBook Air 13″ Retina ในที่สุดก็ปรับโฉม

13476

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับโฉมใหม่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาของ Apple หลังจากที่ใช้โมเดลเดิมมานานกว่าสิบปี ก็คือ MacBook Air ที่ในรอบนี้มีการปรับให้เบา และพกพาได้ง่ายขึ้น พร้อมกับใส่พอร์ต USB-C มาให้ใช้งานกัน

อย่างที่ทราบกันว่าปัจจุบันไลน์สินค้าของ MacBook จะเหลืออยู่หลักๆคือ MacBook (รุ่นจอ 12”) ที่ถือเป็นรุ่นขนาดเล็กที่สุดมาแทน MacBook Air 11” ตามมาด้วย MacBook Air 13” รุ่นนี้ ก่อนขยับขึ้นไปเป็น MacBook Pro 13” และ 15” ตามลำดับ

โดยจุดเด่นหลักของ MacBook Air 13” ก็ยังคงเป็นเรื่องของดีไซน์ที่ดูทันสมัย ที่มาจอ Retina ขนาด 13 นิ้ว ที่ขนาดตัวเครื่องเล็กลง เพื่อให้พกพาได้ง่ายขึ้น พร้อมใส่เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง Touch ID คีย์บอร์ด แทร็กแพดต่างๆ

ข้อดี

แมคบุ๊กจอ Retina 13 นิ้ว ที่พกพาง่ายขึ้น

มี Touch ID มาให้ใช้ในการปลดล็อกเครื่อง

คีย์บอร์ด และแทร็กแพดที่ใช้งานได้ดีขึ้น

ข้อสังเกต

พอร์ต Thunderbolt 3 (USB-C) ให้มาแค่ 2 พอร์ต

ราคาเริ่มต้นสูงขึ้นจากรุ่นก่อนหน้า (42,900 บาท)

ประสิทธิภาพยังถูกจำกัดอยู่ให้ใช้กับงานทั่วๆไป

MacBook Air 13” เหมาะกับใคร

เมื่อดูถึงไลน์สินค้าของ MacBook ทั้งหมดในปัจจุบัน MacBook Air 13” ถือเป็นเครื่องที่ระดับราคาเข้าถึงได้ง่ายมากที่สุด โดยราคารุ่นเริ่มต้นจะอยู่ที่ 42,900 บาท เมื่อเทียบกับ MacBook รุ่นเริ่มต้นจะอยู่ที่ 47,900 บาท ไม่นับ MacBook Air 13” รุ่นเดิมที่ยังขายในราคา 35,900 บาท อยู่

ถ้าต้องเลือกซื้อระหว่าง MacBook และ MacBook Air 13” ว่าควรเลือกซื้อรุ่นไหน ก็ต้องมองที่รูปแบบของการใช้งานเป็นหลัก ถ้าเน้นเครื่องที่การพกพา ใช้งานทั่วๆไป MacBook รุ่นจอ 12 นิ้วจะพกพาได้สะดวกสบายมากกว่า

ในมุมกลับกัน MacBook Air 13” ก็จะได้เปรียบในเรื่องของสเปกเครื่อง ที่ให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น และบางคนอาจจะมองว่าจอ 12 นิ้วเล็กเกินไปเมื่อใช้ทำงานเป็นเวลานาน ในจุดนี้ MacBook Air 13” ก็จะเหมาะกว่า แต่ถ้าต้องการเครื่องที่ใช้ประมวลผลหนักๆ การขยับขึ้นไปเป็น MacBook Pro ก็จะตอบโจทย์กว่า

ดังนั้น MacBook Air 13” จึงเหมาะกับผู้ที่ไม่ได้เน้นนำมาใช้งานเป็นเครื่องหลัก แต่เป็นเครื่องที่ใช้พกพาเวลาเดินทาง หรือออกไปประชุมนอกสถานที่ ใช้ในการพรีเซนต์งาน เขียนงาน ทำรูปภาพบ้างนิดหน่อย ที่มีจุดขายหลักคือเรื่องของแบตเตอรีที่สามารถใช้งานได้ตลอดวันสบายๆ

ปรับดีไซน์ครั้งแรกในรอบ 10 ปี

ในวันที่แอปเปิล เปิดตัว MacBook Air เมื่อปี 2008 ดีไซน์ของตัวเครื่องที่ถูกออกแบบมาเรียกได้ว่า เปลี่ยนโฉมรูปแบบของโน้ตบุ๊กในท้องตลาดเวลานั้นไปได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยการมาของโน้ตบุ๊กที่บางเบา และพกพาง่าย

กลับมาในปี 2018 แอปเปิลมีการปรับโฉม MacBook Air ครั้งแรก ด้วยการนำดีไซน์ของ MacBook และ MacBook Pro ที่เปิดตัวในช่วง 3-4 ปีหลัง มาใช้งานใน MacBook Air รุ่นนี้ ดังนั้นถ้าจะมองว่าเป็นดีไซน์ใหม่หมด ก็ไม่เชิง แต่ถือเป็นการเปลี่ยนโฉม MacBook Air หลังจากที่ใช้ดีไซน์เดิมมานาน

การปรับโฉมใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับใหญ่ที่สุด ของสินค้าในตระกูลนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาแอปเปิลเลือกที่จะอัปสเปกของซีพียูเป็นหลัก มาในรอบนี้จึงได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้นมาในช่วงหลังใส่เข้ามาให้ใช้งานใน MacBook Air รุ่นนี้

MacBook Air 13” Retina จะมีให้เลือกด้วยกัน 3 สี คือ สีทอง สีเงิน และสีเทาสเปซเกรย์ มีขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 304.1 x 212.4 x 4.1-15.6 มิลลิเมตร น้ำหนักจะอยู่ที่ราว 1.25 กิโลกรัม เบาลง 100 กรัมเมื่อเทียบกับ 13 นิ้วรุ่นเดิม และขนาดตัวเครื่องลดลงเกือบๆ 20 ..

โดยจุดที่เปลี่ยนแปลงหลักๆ คือหน้าจอที่ปรับมาใช้เป็น Retina Display ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด 2560 x 1600 พิกเซล 227 ppi ที่ถูกออกแบบมาให้มีขนาดขอบจดเล็กลง ส่วนกล้องหน้ารองรับการใช้งาน FaceTime HD ที่ความละเอียด 720p

ต่อมาคือปุ่มคีย์บอร์ด ที่นำคีย์บอร์ดแบบปีกผีเสื้อ (Butterfly) มาใช้งาน เช่นเดียวกับแทร็กแพดแบบไฟฟ้าสถิตย์ (Force Touch) ที่เริ่มนำมาใช้ครั้งแรกใน MacBook รุ่นปี 2015 และพัฒนาเรื่อยมา ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ก็จะมีเซ็นเซอร์ Touch ID ที่ใส่มาไว้มุมขวาบน เพื่อใช้ในการปลดล็อกตัวเครื่องด้วยลายนิ้วมือ ซึ่งจะทำงานคู่กับชิปเซ็ต Apple T2 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการรักษาความปลอดภัย ด้วยการเข้ารหัสข้อมูล ทำให้ถ้าไม่มีการถอดรหัสที่ถูกต้องข้อมูลที่อยู่ภายใน MacBook Air เครื่องนี้ก็จะไม่มีใครสามารถนำไปใช้งานได้

ในส่วนของพอร์ตเชื่อมต่อ เรียกได้ว่าเป็นการใช้งาน Thunderbolt 3 (USB-C) อย่างต่อเนื่อง นับจากในปี 2015 เช่นเดียว โดยในเวลานี้อุปกรณ์ไอทีในท้องตลาดหลายๆ ชนิดเริ่มรองรับการใช้งาน USB-C แล้ว ช่วยให้สะดวกในการใข้งานมากขึ้น

แต่ก็น่าเสียดายที่ให้พอร์ต USB-C มาเพียง 2 พอร์ต ซึ่งกลายเป็นว่าในการใช้งานจริง ผู้ใช้ก็จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอย่าง USB-C Hub เพื่อต่อกับอุปกรณ์อื่นๆอยู่ดี แต่ก็ถือเป็นแนวโน้มที่ดีเพราะใน MacBook มีให้มาเพียงพอร์ตเดียว

อีกพอร์ตที่แอปเปิลยังเลือกเก็บไว้ก็คือช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. เพื่อให้สามารถต่อหูฟังใช้งานได้เช่นเดิม ส่วนการเชื่อมต่อไร้สายของรุ่นนี้ ถือว่ารองรับตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น WiFi 5 (802.11ac) บลูทูธ 4.2

สำหรับสเปกภายใน MacBook Air 13” รุ่นเริ่มต้น จะมากับหน่วยประมวลผล 8th Gen Intel Core i5 ที่ให้ความเร็ว 1.6 GHz Turbo Boost ไปได้สูงสุด 3.6 GHz RAM 8 GB (สูงสุด 16 GB) และพื้นที่เก็บข้อมูลแบบ SSD เริ่มต้น 128 GB (สูงสุด 1.5 TB)

Gallery

ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

อีกหนึ่งข้อมูลที่ถูกนำเสนอออกมาในช่วงการเปิดตัวคือ MacBook Air 13” เป็น 1 ใน 2 ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล (คู่กับ Mac Mini) ที่ใช้วัสดุอะลูมิเนียมรีไซเคิล 100% มาผลิต ที่นอกจากได้เรื่องความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังเป็นการช่วยลดคาร์บอนฟุตปริ้นให้แก่โลกด้วย

ครบแต่ยังไม่สุด

ในส่วนของการใช้งาน เท่าที่ได้นำมาใช้งานเป็นเครื่องหลักในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นคนที่ติดกับเครื่องแรงๆ ประมวลผลได้เร็วๆ หรือเคยใช้งาน MacBook Pro ที่ซีพียูแรงกว่ามาก่อน พอมาใช้งานบน MacBook Air ก็จะรู้สึกว่าเครื่องประมวลผลช้าลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานด้วย ถ้านำมาใช้ทำพรีเซ็นเทชัน เล่นเน็ต พิมพ์งาน ดูหนัง ฟังเพลงทั่วๆไป MacBook Air 13” รุ่นนี้รองรับได้อยู่แล้ว แต่ถ้าจะเลยไปถึงขั้นทำรูปไฟล์ขนาดใหญ่ๆ ไปจนถึงตัดต่อวิดีโอ ก็อาจจะต้องมองข้ามไป เพราะทำได้เล็กๆน้อยๆ เท่านั้น

เทียบความหนากับ MacBook Pro 13″

สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานมากกว่า อย่างที่กล่าวไปว่า ถ้าต้องการเครื่องจอขนาด 13” ที่พกพาง่าย ไม่ได้เน้นใช้งานหนักมาก MacBook Air 13” จะตอบโจทย์ แต่ถ้าต้องการเครื่องเล็กกว่านี้ก็จะมี MacBook ให้เลือก ถ้าต้องการประสิทธิภาพสูงก็เพิ่มเงินเลือก MacBook Pro ไป

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น