Review : Apple MacBook Pro 16” ไม่ใช่แค่จอใหญ่ขึ้น แต่ฟังเสียงผู้ใช้มากขึ้นด้วย

9627

ด้วยการที่ MacBook Pro 16” เป็นโน้ตบุ๊กที่จับตลาดเฉพาะกลุ่มมากๆ ทำให้เครื่องรุ่นนี้อาจจะไม่ได้เป็นที่สนใจของตลาดคอนซูเมอร์ทั่วไป แต่กลับกันถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในสายงานอาชีพที่ต้องการเครื่องมือมาช่วยในการสร้าง Productivity เมื่อได้ลองสัมผัสกับ MacBook Pro 16” เครื่องนี้แล้ว จะพร้อมใจกันยกให้เป็น MacBook รุ่นที่ดีที่สุดของปีนี้

โดยการมาของ MacBook Pro 16” ทำให้แอปเปิล (Apple) ยุติการทำตลาด MacBook Pro 15” โดยปริยาย พร้อมกับปรับราคาเครื่องให้ได้สเปกที่ดีขึ้น ในราคาที่ใกล้เคียงกับรุ่น 15” และมีตัวเลือกสเปกให้ผู้ใช้งานได้เลือกมากขึ้น รับกับตลาดที่ต้องการเครื่องประสิทธิภาพสูงไปช่วยในการประมวลผล

จุดเด่นของ MacBook Pro 16” หลักๆ เลยคือเรื่องการปรับขนาดหน้าจอ เปลี่ยนคีย์บอร์ดกลับมาใช้เป็น Magic Keyboard เพิ่มคุณภาพของลำโพง เพิ่มประสิทธิภาพตัวเครื่องจากหน่วยประมวล และกราฟิกการ์ดรุ่นใหม่ ดังนั้น ถ้าอยู่ในแวดวงการใช้งานเครื่องหนักๆ ในการทำงาน การลงทุนเพื่อให้ได้เครื่องรุ่นใหม่ที่แรงขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานได้น้อยลง MacBook Pro 16″ จึงเป็นรุ่นที่ไม่ควรพลาด

ข้อดี

  • ขนาดหน้าจอใหญ่ขึ้นเป็น 16″ ให้ความสว่างสูงสุด 500nit
  • กลับมาใช้คีย์บอร์ดแบบกลไกกรรไกร ที่หลายคนคุ้นเคย
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพ การระบายความร้อนให้ดีขึ้น

ข้อสังเกต

  • ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ขึ้น และหนักขึ้นเมื่อเทียบกับ 15″
  • พอร์ตเชื่อมต่อยังมีเฉพาะ USB-C / Thunderbolt 3
  • คีย์บอร์ดสกรีนตัวอักษรสลับจากรุ่นก่อนหน้า

MacBook Pro 16” ไม่ใช่เครื่องที่เหมาะกับทุกคน

หนาขึ้น และหนักขึ้น เมื่อเทียบกับรุ่น 15″

ด้วยการที่ MacBook Pro เน้นกลุ่มผู้ใช้งานระดับมืออาชีพเป็นหลัก ด้วยการพัฒนาเครื่องรุ่น 16” ขึ้นมา จากการรับฟังเสียงของผู้ใช้งานไปปรับปรุงเครื่องรุ่น 15” เดิม ทำให้พอมาเป็น 16” แล้วอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน

หนึ่งเลยคือด้วยการที่ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ ทำให้ไม่เหมาะกับการพกพาเหมือนอย่าง MacBook Air หรือ MacBook Pro 13” ดังนั้น กลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการเครื่อง 16” จึงกลายเป็น Heavy User ที่ต้องการเครื่องประสิทธิภาพสูงเป็นหลัก

โดยเฉพาะในกลุ่มของช่างภาพมืออาชีพทั้งภาพนิ่ง และภาพวิดีโอ จนถึงนักตัดต่อ ที่ต้องการเครื่องประมวลผลแรงๆ มาช่วย แม้กระทั่งกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นนักพัฒนาที่นำไปใช้กับการเขียนโปรแกรม ผู้ที่ทำงานกราฟิกต่างๆ

เพราะนอกจากประสิทธิภาพ และขนาดหน้าจอแล้ว หลายๆ จุดบน MacBook Pro 16” ยังได้มีการปรับปรุงมาให้เหมาะกับการใช้งานมากขึ้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่ใช้งานทั่วๆ ไป ถ้าต้องการเครื่องจอใหญ่มาใช้งาน และไม่ยึดติดกับขนาดเครื่องรุ่น 16” ก็น่าสนใจ แต่ถ้าต้องการพกพาง่าย แนะนำให้มองไปรุ่นอย่าง Air หรือ Pro 13” ดีกว่า

จอเปิดให้ปรับ Refresh Rate ได้

เริ่มกันจากเรื่องของขนาดหน้าจอที่ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 16 นิ้ว จากรุ่นเดิมที่อยู่ 15.4 นิ้ว แม้ว่าจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่ที่เห็นชัดเจนเลยคือขอบจอ (Bezel) ของเครื่องบางลงกว่ารุ่นเดิม และสเปกจอสูงขึ้น

โดยจอของ MBP 16” นอกจากรองรับมาตรฐานสี P3 แล้วยังให้ความสว่างหน้าจอเพิ่มขึ้นเป็น 500nit ช่วยให้สามารถใช้งานในที่แสงจ้าได้สะดวกขึ้น ความละเอียดหน้าจออยู่ที่ 3072 x 1920 พิกเซล 5.9 ล้านสี ความละเอียดเม็ดสีอยู่ที่ 226 ppi

ความพิเศษของ MacBook Pro 16” คือเปิดให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งอัตราการรีเฟรชหน้าจอ (Refresh Rate) ได้ด้วยตนเอง ในจุดนี้จะเหมาะกับผู้ใช้งานที่ทำงานทางด้านตัดต่อ เพราะสามารถปรับการแสดงผลหน้าจอให้เหมาะกับผลิตวิดีโอคอนเทนต์ที่ใช้งาน

ที่สามารถเลือกได้ตั้งแต่ 47.95, 48, 50, 59.94 และ 60 Hertz ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าไฟล์วิดีโอที่นำมาใช้งานบันทึกมาในรูปแบบของ 25 เฟรม 30 เฟรม หรือ 60 เฟรม แล้วก็เลือกใช้ Refresh Rate ตามช่องทางที่นำไปใช้ เพื่อให้แสดงผลได้แม่นยำที่สุด

ปรับปรุงคีย์บอร์ด กลับมาใช้ Magic Keyboard

จุดที่ 2 คือการปรับปรุงคีย์บอร์ด จากรุ่นก่อนหน้านี้ใช้กลไกปีกผีเสื้อ (Butterfly) ซึ่งเริ่มต้นงานมาตั้งแต่ MacBook ปี 2015 กลับมาใช้กลไกแบบกรรไกร (Scissor) ของ Magic Keyboard ที่ให้สัมผัสในการพิมพ์ที่ดีขึ้น และเสียงปุ่มกดเบาลง

นอกจากนี้ ยังมีการปรับในส่วนของ Touch Bar จากเดิมที่เป็นแถบสัมผัสทั้งหมด ด้วยการเพิ่มปุ่มกด Esc และแยกปุ่มเปิดเครื่อง ที่รองรับการสแกนลายนิ้วมือ (Touch ID) ออกจากกัน แต่ก็ไม่ได้ลดขนาดของ Touch Bar ลงแต่อย่างใด

ในจุดนี้ แอปเปิล ระบุว่า ได้รับการเรียกร้องจากผู้ใช้ในกลุ่มของนักพัฒนา ที่เวลาเขียนโค้ด มักจะต้องการปุ่ม Esc ไว้ใช้งาน รวมถึงการปรับดีไซน์ปุ่มลูกศร ให้แยกปุ่มใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการทำงานเอกสาร หรือใช้เล่นเกม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคีย์บอร์ดไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจที่จะทำให้เวลามองจากภายนอกแล้วเห็นความต่างระหว่างเครื่องรุ่นเก่า และใหม่ หรือไม่อย่างไร เพราะกลายเป็นว่า การสกรีนตัวอักษรบนคีย์บอร์ดที่ปกติตัวอักษรภาษาอังกฤษจะอยู่ทางซ้าย ภาษาไทยอยู่ทางขวา แต่กลายเป็นสลับกันบนเครื่องรุ่นนี้

ปรับสเปกสูงขึ้นยกชุด

ตามมาด้วยเรื่องของหน่วยประมวลผล และระบบระบายความร้อน เนื่องจาก MacBook Pro 15” ในช่วงแรกที่ออกมาจำหน่ายพร้อมกับรุ่นของ Core i9 ช่วงแรกๆ เจอปัญหาเรื่องของการระบายความร้อนไม่ทัน ทำให้ตัวเครื่องมีการปรับลดการทำงานของซีพียูลงทำให้เครื่องช้า

ด้วยเหตุนี้ใน MacBook Pro 16” เลยมีการออกแบบพัดลมระบายอากาศใหม่ ที่สามารถระบายอากาศได้เพิ่ม 28% และเพิ่มขนาดจุดสัมผัสของ heat sink ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น 35% ซึ่งทำให้ตัวเครื่องหนาขึ้นเล็กน้อย แต่ผู้ใช้จะไม่เจอปัญหาเรื่องของการปรับการทำงานของซีพียูอีกแน่นอน

ส่วนของซีพียูที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานได้สูงสุดที่ Core i9 แบบ 8 Core ทำให้การประมวลผลบน MacBook Pro 16” แรงขึ้นกว่ารุ่น 15” เช่นเดียวกับระบบไฟที่เมื่อทำงานคู่กับระบบระบายความร้อนจะช่วยให้ใช้พลังงานได้สูงขึ้น 12 วัตต์ ทำให้ประมวลผลได้แรงไม่มีตก

ไม่ใช่แค่ซีพียูที่เปลี่ยนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ในส่วนของกราฟิกการ์ด ก็ปรับมาใช้ AMD Radeon Pro 5000M ซีรีส์ เช่นเดียวกับ RAM ที่เป็น DDR 4 ทำให้ความเร็วในการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูลแบบ SSD เลือกได้สูงสุดถึง 8 TB

สำรวจตัวเครื่อง

เทียบขนาดกับรุ่น 13″

ในแง่ของดีไซน์ตัวเครื่อง MacBook Pro 16” ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก มีเพียงขนาดตัวเครื่องที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 35.79 x 24.59 x 1.62 เซนติเมตร นำ้หนัก 2 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับ 15” จะอยู่ที่ 34.93 x 24.07 x 1.55 เซนติเมตร น้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม

ส่วนพอร์ตการเชื่อมต่อที่ให้มาจะเป็น Thunderbolt 3 4 พอร์ต รองรับการเชื่อมต่อจอภาพภายนอก (6K 2 จอ / 4K 4 จอ) และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ดังนั้นในการใช้งานหลักๆ แล้วจำเป็นต้องใช้คู่กับอะเดปเตอร์อยู่เช่นเดิม

ทั้งนี้ กล้องของ MacBook Pro 16” ยังคงเป็นกล้อง FaceTime 720p เช่นเดิม เช่นเดียวกับแทร็กแพดแบบ Force Touch ที่รองรับแรงกด และการใช้งานแบบมัลติทัช เหมือนเดิม ด้านการเชื่อมต่อยังรองรับ WiFi 5 (802.11ac) เท่านั้น ยังไม่รองรับ WiFi 6 บลูทูธ 5.0

สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง นอกจากตัวเครื่องก็จะมีอะเดปเตอร์ชาร์จไฟขนาด 96w ที่ใหญ่ขึ้นจากรุ่น 15” ที่ให้มาแบบ 87w และสาย USB-C ยาว 2 เมตร โดยแบตเตอรีของ MBP 16” จะใช้งานได้ต่อเนื่องราว 11 ชั่วโมง ถ้าใช้งานทั่วๆไป อย่างท่องเว็บ หรือดูหนัง

เทียบอะเดปเตอร์รุ่น 13″ 15″ และ 16″

สรุป

MacBook Pro 16” จะเหมาะกับสายที่เน้นการทำงานเป็นหลัก ต้องการเครื่องมือที่มาช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น โดยไม่ได้กังวลกับเรื่องราคาของตัวเครื่อง เพราะสามารถปรับแต่งเพิ่มเติมได้ ซึ่งจากทิศทางที่แอปเปิล ฟังเสียงจากผู้ใช้ไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ถือเป็นแนวโน้มที่ดีกับเครื่องรุ่นอื่นๆ ที่จะทยอยอัปเดตในอนาคตด้วย

หลังจากนี้คงต้องรอดูกันว่า แอปเปิล จะนำ Magic Keyboard กลับมาใช้กับ MacBook รุ่นอื่นๆ ต่อหรือไม่ รวมถึงเสียงเรียกร้องให้นำช่องอ่าน SD Card กลับมา ด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันผู้ที่ใช้ทำงานอย่างช่างภาพ หรือวิดีโอต่างต้องใช้งานคู่กับการ์ดรีดเดอร์ ทำให้ไม่สะดวกเท่าที่ควร

สำหรับราคาจำหน่ายของ MacBook Pro 16” รุ่น Core i7 เริ่มต้นที่ 75,900 บาท ส่วนรุ่น Core i9 เริ่มต้นที่ 89,900 บาท โดยสามารถปรับแต่งขึ้นไปได้ถึง Core i9 2.4 GHz RAM 64 GB กราฟิกการ์ด 8 GB SSD 8 TB ในราคา 221,900 บาท

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น