Review : Apple Watch Series 4 ยกระดับสมาร์ทวอทช์สู่นาฬิกาเพื่อสุขภาพ

36720

การยกระดับจากนาฬิกาอัจฉริยะ เป็นนาฬิกาเพื่อสุขภาพ กลายเป็นจุดเด่นสำคัญของ Apple Watch 4 ที่ถูกปรับปรุงขึ้นเพิ่มเติมจากในรุ่นก่อนหน้า ด้วยการเพิ่มความสามารถในการตรวจจับการล้มของผู้สูงอายุ การเพิ่มเซ็นเซอร์ที่ช่วยในการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (เปิดให้ใช้งานในอนาคต) ถือเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น

แต่จริงๆ แล้ว Apple Watch 4 ได้มีการเพิ่มทั้งประสิทธิภาพภายใน รวมถึงปรับเปลี่ยนดีไซน์เป็นครั้งแรกตั้งแต่ออกวางจำหน่ายมา ทำให้หน้าจอแสดงผลใหญ่ขึ้น ตัวเรือนบางลง และเพิ่ม Haptic เวลาหมุนเม็ดมะยม (Digital Crown) เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนใช้นาฬิกาแอนาล็อกหรูๆ

ข้อดี

ขนาดหน้าจอใหญ่ขึ้น เสียงดังขึ้น
รุ่น Cellular รองรับการใช้งานหลายๆ อย่างโดยไม่ต้องใช้คู่กับ iPhone
แม้จะมีการปรับขนาดตัวเรือน แต่ยังใช้งานร่วมกับสายเดิมที่มีได้

ข้อสังเกต

ต้องชาร์จทุกวันเหมือนเดิม
ราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสมาร์ทวอทช์แบรนด์อื่นๆ

สิ่งที่ปรับปรุงขึ้นจากรุ่นก่อนหน้า

Apple Watch 4 คู่กับ Apple Watch 3

ในแง่ของตัวเรือน Watch 4 จะเปลี่ยนมาใช้การเรียกขนาดตัวเรือนเป็น 40 มม. (แทนที่ 38 มม. เดิม) และ 44 มม. แทนที่รุ่น 42 มม. เดิม โดยผู้ใช้ยังสามารถใช้งานคู่กับสายขนาดเดิมได้ เมื่อตัวเรือนมีขนาดใหญ่ขึ้น จุดที่เพิ่มขึ้นมาก็คือหน้าจอแสดงผลที่ใหญ่กว่ารุ่นเดิม 30% จากการปรับในส่วนมุมให้โค้งรับกับตัวเรือน

ซ้าย Watch 4 ขวา Watch 3

 

ถัดมาคือตัวเรื่องบางลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ Watch 3 จากเดิมที่รุ่น 38 มม. มีขนาดอยู่ที่ 38.6 x 33.3 x 11.4 มิลลิเมตร น้ำหนัก 28.7 กรัม พอเป็นรุ่น 40 มม. ขนาดจะอยู่ที่ 39.8. x 34.4 x 10.7 มิลลิเมตร น้ำหนัก 30.1 กรัม

ส่วนรุ่น 42 มม. เดิมอยู่ที่ 42.5 x 36.4 x 11.4 มิลลิเมตร นำ้หนัก 34.9 กรัม ก็เพิ่มเป็น 44 x x37.8 x 10.7 มิลลิเมตร น้ำหนัก 36.7 กรัม โดยจอภาพที่ใช้ใน Watch 4 จะเปลี่ยนเป็น LTPO OLED Retina หรือ Low-Temperature Polycrystaline Oxide ที่ให้ความสว่างสูงสุด 1000 นิต มีการเคลื่อบสารกันรอยนิ้วมือมาให้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงในเรื่องของคุณภาพเสียง ด้วยการย้ายลำโพงมาไว้ทางด้านซ้าย และปรับไมโครโฟนไปอยู่ทางด้านขวา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเสียงรบกวนขณะสนทนา และช่วยทำให้ลำโพงดังขึ้นกว่าเดิมถึง 50%

เช่นเดียวกับบริเวณเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจด้านหลังตัวเรือน ที่เพิ่มพื้นที่ผลึกแซฟไฟร์มาช่วยให้ตรวจจับการเต้นของหัวใจได้แม่นยำมากขึ้น ไม่นับรวมกับบริเวณปุ่มเม็ดมะยมที่จะปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาช่วยวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ที่จะเปิดให้ใช้งานในภายหลัง)

รวมๆ แล้วจะเห็นได้ว่าตัวเรือนจะเน้นการปรับปรุงให้หน้าจอมีขนาดใหญ่ขึ้น และบางลงเล็กน้อย ซึ่งการที่หน้าจอใหญ่ขึ้น ก็ช่วยให้สามารถใช้งานแอปบนนาฬิกาได้สะดวกขึ้น ทั้งการอ่านข้อมูลการแจ้งเตือน อ่านข้อความ ดูตารางนัดหมายต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดใช้งาน iPhone

ฟีเจอร์ใหม่ที่มากับ Watch Series 4

ในส่วนของฟีเจอร์ใหม่ที่มากับ Watch 4 หลักๆ แล้วจะมีด้วยกัน 2 อย่างด้วยกัน คือ เรื่องของการแจ้งเตือนการล้ม เนื่องจากภายใน Watch 4 มีการเพิ่มเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ที่แม่นยำขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการตกจากที่สูง

ส่งผลให้ตัวนาฬิกา จะมีโหมดการแจ้งเตือนฉุกเฉิน (SOS) เพิ่มเข้ามา ในกรณีที่ผู้สวมใส่ลื่นล้ม หรือหมดสติ ล้มลงกับพื้น แล้วไม่มีการตอบสนอง ตัวนาฬิกาจะติดต่อไปยังตำรวจ และส่งข้อมูลให้บุคคลใกล้ชิด (ที่ลงทะเบียนไว้) โดยจะส่ง SMS ขอความช่วยเหลือ พร้อมพิกัดสถานที่ไปให้ทันที

อย่างไรก็ตาม แอปเปิล ระบุว่า ฟีเจอร์นี้จะเหมาะกับการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยระบบจะทำการเปิดใช้งานฟีเจอร์นี้อัตโนมัติในกรณีที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป ส่วนถ้าอายุไม่ถึงแล้วอยากเปิดใช้งานก็สามารถเข้าไปตั้งค่าได้จากแอปพลิเคชัน Watch บน iPhone

ถัดมาก็คือฟีเจอร์อย่างการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ด้วยการที่ Watch 4 มีการเพิ่มเซ็นเซอร์วัดคลื่นหัวใจแบบไฟฟ้ามาที่บริเวณปุ่มเม็ดมะยม ทำให้เมื่อใช้งานร่วมกับเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นหัวใจเดิม ก็จะแสดงผลออกมาเป็นค่า ECG หรือ EKG ได้ทันที รวมถึงการแจ้งเตือนการเต้นหัวใจเบาลง ที่เมื่อก่อนจะมีการแจ้งเตือนเฉพาะหัวใจเต้นแรงเกินไป

ทั้งนี้ ฟีเจอร์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะเริ่มเปิดให้ใช้งานภายในปีนี้ที่สหรัฐอเมริกาก่อน หลังจากนั้นจึงจะทยอยเปิดให้ใช้งานในประเทศอื่นๆต่อไป เนื่องจากเมื่อเป็นอุปกรณ์ที่ถูกนำไปใช้งานทางการแพทย์จะต้องมีการขออนุญาติในการเปิดใช้งานเพิ่มเติมตามแต่ละหน่วยงาน

 

ที่เหลือก็จะเป็นการปรับปรุงในส่วนของประสิทธิภาพตัวเครื่องให้ทำงานได้เร็วขึ้น จากชิป S4 ที่หันมาใช้ซีพียูแบบ Dual-Core 64 บิต พร้อมกับจีพียูใหม่ ทำให้ตอบสนองการใช้งานได้รวดเร็วขึ้น และประหยัดแบตเตอรีมากขึ้น โดยแอปเปิลระบุว่า Watch 4 สามารถใช้งานต่อเนื่อง 18 ชั่วโมง และใช้วัดการออกกำลังได้ 6 ชั่วโมง

ส่วนการเชื่อมต่อก็พัฒนามาใช้ชิปเซ็ต W3 ที่รองรับการเชื่อมต่อบลูทูธ 5.0 ทำให้นอกจากใช้เชื่อมต่อกับหูฟังแล้ว Apple Watch 4 ยังสามารถใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ และเซ็นเซอร์ทางการแพทย์อย่างเครื่องตรวจระดับน้ำตาลภายในเลือด หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อส่งข้อมูลมาบันทึกเก็บไว้ได้

ใช้งานคู่กับ watchOS 5

ก่อนหน้านี้แอปเปิล เริ่มมีการอัปเดตให้ผู้ใช้งาน Apple Watch สามารถใช้งาน watchOS 5 ได้แล้ว แต่ใน Watch 4 จะมีจุดที่ใช้งานได้เพิ่มเติมขึ้นมาบางอย่าง เช่นในส่วนของหน้าปัดนาฬิกา Infograph ที่มีให้ใช้งานเฉพาะรุ่นนี้

โดยที่หน้าปัดนาฬิกาผู้ใช้จะสามารถเลือกได้ทั้งสีของหน้าปัด พร้อมกับวิตเจ็ตแสดงผลอีก 8 จุด ประกอบไปด้วยมุมซ้ายบน ขวาบน ซ้ายล่าง ขวาล่าง และตรงกลางหน้าปัดอีก 4 จุด จากเดิมในรุ่น Watch 3 จะเลือกได้เพียง 4 จุดเท่านั้น

สำหรับวิตเจ็ตใหม่ที่มีการนำเสนอเพิ่มขึ้นมาก็จะมีอย่างการแสดงระดับรังสี UV และระบบวอล์คกี้ทอล์คกี้ ที่เพิ่งเปิดให้ใช้งานบน watchOS 5 ทำให้ผู้ใช้สามารถสื่อสารกับผู้ใช้งาน Apple Watch ด้วยกัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้งานไอโฟน

ประกอบกับถ้าใช้งาน Watch 4 GPS+Cellular ก็สามารถใช้งานร่วมกับระบบ eSIM ที่ปัจจุบันโอเปอเรเตอร์ในไทยเปิดให้บริการอยู่แล้ว ซึ่งถ้าไม่เคยใช้งานมาก่อนก็จะได้สิทธิใช้งานฟรี 3-12 เดือน ขึ้นอยู่กับแพกเกจหลักที่ใช้งาน ถ้าครบแล้วก็จะมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 199 บาท

การลงทะเบียร eSIM สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เมื่อเชื่อมต่อ Watch Series 4 Cellular เข้ากับ iPhone ก็จะสามารถผูกเบอร์ที่ใช้งานเข้าไปด้วยการใส่หมายเลขบัตรประชาชน แล้วกดยืนยัน ก็จะมีข้อเสนอจากโอเปอเรเตอร์มาให้ดู และกดสมัครได้เลย

ส่วนที่มีการอัปเดตเพิ่มเติมใน watch OS 5 ก็จะมีเรื่องของการทำกิจกรรมแข่งขันกับเพื่อนๆ เพื่อท้าทายให้ออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น มีโปรแกรมการออกกำลังกายที่เพิ่มโยคะ และการปีนเขาเพิ่มขึ้นมา รวมถึงการตรวจจับการออกกำลังกายอัตโนมัติด้วย

เช่นเดียวกับการทำงานของ Siri ที่ผู้ใช้สามารถยกนาฬิกาขึ้นมาแล้วสั่งงานได้ทันที ไม่ต้องกดปุ่มเม็ดมะยมค้างเพื่อสั่งงานอีกต่อไป ยังมีพอดคาสต์ที่สามารถดาวน์โหลดมาเก็บไว้ฟังบน Watch ได้ทันที และระบบจะทำการซิงค์กับข้อมูลบน iPhone เพื่อให้สามารถฟังได้ต่อเนื่องจากที่ฟังค้างไว้

รุ่น และราคาจำหน่าย

สำหรับ Apple Watch 4 จะมีวางจำหน่ายด้วยกันในประเทศไทย 3 รุ่นหลักๆ 5 รุ่นย่อย ประกอบไปด้วย 1.Apple Watch 4 GPS และ Watch 4 GPS+Cellular ภายในก็จะมีให้เลือกอีกว่าเป็นตัวเรือนขนาด 40 มม. หรือ 42 มม. ที่ใช้อะลูมิเนียม หรือสแตนเลสสตีล

ตามมาด้วย 2.Apple Watch 4 Nike ที่นำมาแกะกล่องให้ชมกัน ที่จะแยกรุ่น GPS และ GPS + Cellular ในราคาเร่ิมต้นที่เท่ากัน และ 3.Apple Watch Hermes ที่มีให้เลือกเฉพาะรุ่น GPS + Cellular ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นำรุ่นดังกล่าวเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 14,400 บาท สำหรับรุ่น 40 มม. GPS ส่วน Watch 4 GPS+Cellular ที่ทางค่ายมือถือเริ่มเปิดให้จองประกาศราคาเริ่มต้นรุ่น 40 มม. อยู่ที่ 17,900 บาท และ 42 มม. อยู่ที่ 18,900 บาท

กลายเป็นนาฬิกาเพื่อสุขภาพ

จะเห็นได้ว่า การพัฒนาหลักๆของ Watch 4 จะเน้นไปที่เรื่องของสุขภาพเป็นหลัก ทั้งการทำงานของนาฬิกาอย่างเดียว ไปจนถึงการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่เริ่มมีผู้ผลิตหลายรายให้ความสนใจเชื่อมต่อกับระบบ Health ของทางแอปเปิลมากยิ่งขึ้น ตามเทรนด์เรื่องของสุขภาพที่เกิดขึ้นในเวลานี้

เพราะฟังก์ชันการใช้งานนาฬิกาอัจฉริยะต่างๆ ถูกคิดค้นและพัฒนามาจนอยู่ตัวแล้ว ก้าวต่อไปจึงอยู่ที่การช่วยให้ผู้ใช้งานได้มีสุขภาพที่ดีขึ้นแทน และกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้นมากกว่าเดิมด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้สูงอายุ ที่ Apple Watch 4 จะกลายเป็นของขวัญที่มีค่า และได้ใช้งานจริง

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น