Review : Apple Watch Series 6 / SE พัฒนาการสู่สมาร์ทวอทช์เพื่อสุขภาพยิ่งขึ้น

9000

Apple Watch ได้กลายมาเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ Wearable คู่ใจผู้ที่ใช้งาน iPhone และกลายเป็นสมาร์ทโฟนซีรีส์หนึ่งที่ขายดีที่สุดในโลก ซึ่งนอกจากความสามารถในการเชื่อมต่อกับ iPhone เพื่อแจ้งเตือนแล้วในช่วงหลังๆ ได้พัฒนาความสามารถเกี่ยวกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น

โดยใน Apple Watch Series 6 ได้มีการเพิ่มความสามารถใหม่เกี่ยวกับอย่างการวัดค่าออกซิเจนในเลือด ในเวลา 15 วินาที เมื่อประกอบกับความสามารถของ watchOS 7 ที่รองรับการตรวจจับการนอน และความสามารถเดิมอย่างการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ยังไม่สามารถใช้งานในไทย) ทำให้ Apple Watch สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน Apple Watch Series 6 ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพตัวเครื่อง รองรับการเชื่อมต่อ WiFi 5 GHz เพิ่มสีใหม่อย่างน้ำเงิน และสีแดง ปรับปรุงจอแสดงผลให้สว่างขึ้นกว่ารุ่นเดิม และประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วย

นอกเหนือจากรุ่นหลังแล้ว ในปีนี้ Apple ยังได้เปิดตัว Apple Watch SE ออกสู่ตลาด เพื่อมาเป็นตัวเลือกสมาร์ทวอทช์ประสิทธิภาพดีราคาประหยัดให้ผู้ใช้ iOS เลือกใช้งานเพิ่มเติม จากรุ่นเริ่มต้นที่เป็น Apple Watch Series 3

ข้อดี

  • Watch 6 รองรับการวัดค่าออกซิเจนในเลือด
  • Watch SE เป็นจะกลายเป็นรุ่นเริ่มต้นกับการใช้งานทั่วไป
  • การเพิ่มสีใหม่อย่าง สีแดง และน้ำเงิน ช่วยให้มีตัวเลือกหลากหลายมากขึ้น

ข้อสังเกต

  • ฟีเจอร์ ECG ยังไม่สามารถใช้งานในไทยได้
  • ระบบการวัดการนอนร่วมกับ watchOS 7 ยังเก็บข้อมูลได้ไม่ลึก ต้องใช้ร่วมกับแอปฯ ภายนอก
  • แบตเตอรี ยังใช้งานได้ประมาณ 1-2 วัน อยู่เช่นเดิม

Apple Watch 6 / Apple Watch SE เลือกรุ่นไหนดี?

Apple Watch 6 / Apple Watch 5 / Apple Watch SE

ด้วยการที่ปัจจุบัน Apple Watch มีตัวเลือกสำหรับการเลือกซื้อทั้งหมด 3 รุ่นด้วยกัน ประกอบไปด้วย Apple Watch 3 ซึ่งเป็นสมาร์ทวอทช์ที่เปิดตัวมา 3 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันยังคงทำตลาดอยู่ ด้วยการปรับลดราคาลงมาให้น่าสนใจ

จนกลายเป็นตัวเลือกเริ่มต้นของผู้ที่ต้องการใช้งาน Apple Watch ร่วมกับ iPhone เพราะด้วยราคาเริ่มต้นที่ 6,400 บาท แต่สามารถใช้รับการแจ้งเตือน ตรวจวัดการออกกำลังกาย อัตราการเต้นของหัวใจได้ ทำให้เพียงพอกับการใช้งานทั่วๆ ไป

ถัดมาคือ Apple Watch SE หรือให้นึกภาพง่ายๆ คือ Apple Watch Series 4 ที่นำมาปรับปรุงให้กลายเป็นตัวเลือกใช้งานเพิ่มเติม ในราคาเริ่มต้นที่ 9,600 บาท โดยจุดเด่นของ Apple Watch SE เมื่อเทียบกับ Watch 3 คือมีขนาดหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น 30% เพิ่มเติมด้วยการตรวจจับการล้ม (Fall Detection) และมีรุ่น Cellular ให้เลือกใช้งาน

ดังนั้น Apple Watch SE จึงกลายเป็นรุ่นที่น่าสนใจถ้าต้องเลือกซื้อ Apple Watch ให้ผู้สูงอายุ หรือเด็กๆ ใช้งานแบบเริ่มต้น เพราะนอกเหนือจากคุณสมบัติทั่วไปของสมาร์ทวอทช์แล้ว การมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการล้ม (ใช้เวลาผู้สูงอายุล้ม) และมี Cellular ในตัว จะช่วยให้สามารถแจ้งเตือนฉุกเฉินได้ทันที หรือแม้แต่ให้บุตรหลานใช้ ก็จะทำให้สามารถติดต่อได้ตลอดเวลา

สุดท้ายก็คือ Apple Watch 6 ที่กลายเป็นตัวเลือกหลักในการเลือกซื้อเพื่อใช้งานร่วมกับ iPhone โดยเฉพาะผู้ที่ใส่ใจด้านสุขภาพ และออกกำลังกายเป็นพิเศษ เพราะในรุ่นนี้ เพิ่มความสามารถอย่างการวัดค่าออกซิเจนในเลือด และยังมีเซ็นเซอร์วัดระดับความสูงแบบเรียลไทม์เพิ่มขึ้นมา

จะเห็นได้ว่า Apple Watch แต่ละรุ่นมีรายละเอียดที่น่าสนใจในแต่ละระดับราคา ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องการเลือกใช้ Apple Watch ไปใช้งานในลักษณะไหน ถ้าแค่แจ้งเตือนข้อมูลต่างๆ Watch 3 รุ่นเริ่มต้นก็เพียงพอ แต่ต้องการเลือกให้ผู้สูงอายุ หรือบุตรหลานใช้ แต่ไม่ต้องการซื้อรุ่นราคาสูงก็หันมามอง Watch SE ได้ ส่วน Watch 6 ถือเป็นรุ่นมาตรฐานของปีนี้ ที่ได้ฟีเจอร์ครบถ้วนมากที่สุด

ข้อดีอย่างหนึ่งของ Apple Watch คือสายของรุ่น 38-40 มม. และ 42-44 มม. สามารถใช้ร่วมกันได้ ดังนั้น ถ้าใช้งานตัวเรือนขนาดไหนอยู่ ถึงจะเปลี่ยนรุ่นใหม่ ก็ยังสามารถใช้งานสายเดิมได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องคอยสีสายใหม่ทั้งชุดตลอดเวลา

สิ่งใหม่บน Apple Watch 6

เมื่อเห็นถึงความสามารถที่แตกต่างกันใน Apple Watch แต่ละรุ่นที่วางจำหน่ายแล้ว ลองมาดูรายละเอียดที่น่าสนใจเพิ่มเติมของ Apple Watch 6 กันบ้าง ในรุ่นนี้ Apple ยังคงตัวเลือกวัสดุ 3 แบบ คืออะลูมิเนียม ที่พิเศษขึ้นมาคือมาจากวัสดุรีไซเคิล 100% ตามด้วย สแตนเลสสตีล และไทเทเนียม เช่นเดิม

สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาในส่วนของสีคือรุ่นอะลูมิเนียม จะเพิ่มรุ่นสีน้ำเงิน และแดง (Product RED) ขึ้นมา พร้อมกับสีเดิมอย่างสีเงิน สีทอง และสีเทาสเปซเกรย์ ถัดมาในรุ่นสแตนเลสสตีล จะมีสีกราไฟต์ และสีทอง รวมกับสีเดิมคือ สีเงิน สีไทเทเนียม และสีดำ

โดยยังคงมีให้เลือก 2 ขนาดตัวเรือนเช่นเดิมคือ 40 มม. (324 x 394 พิกเซล) ขนาด 39.8 x 34.4 x 10.7 มิลลิเมตร น้ำหนัก 30.5 กรัม และรุ่นที่นำมารีวิว 44 มม. (368 x 448 พิกเซล) ขนาด 44 x 37.8 x 10.7 มิลลิเมตร น้ำหนัก 36.4 กรัม

ตัวเรื่องรองรับการเชื่อมต่อ WiFi บนคลื่น 5GHz เรียบร้อยแล้ว ตามด้วยบลูทูธ 5.0 พร้อมเปลี่ยนมาใช้ชุดวงจรรวม (System in Package : SiP) S6 ที่ออกแบบใหม่ให้มีพื้นที่ใช้งานเพิ่มขึ้น 9% ประมวลผลได้รวดเร็วขึ้น 20% และประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของเซ็นเซอร์หลังตัวเรือน ได้มีการจัดเรียงฝาหลังคริสตัลพร้อมไฟ LED 4 ดวง สีเขียว แดง อินฟราเรด และโฟโต้ไดโอด เพื่อช่วยในการวัดค่าออกซีเจนในเลือดให้มีความแม่นยำ รวมกับการวัดอัตรการเต้นของหัวใจ และวัดค่า ECG ด้วย

อีกหนึ่งความน่าสนใจที่ปรับปรุงขึ้นบน Watch 6 คือเรื่องของแบตเตอรี ที่ทางแอปเปิล ระบุว่า สามารถใช้งานได้นานขึ้น อย่างการเล่นเพลงในเครื่องได้ต่อเนื่อง 11 ชั่วโมง เล่นเพลงผ่านสตรีมมิ่งได้ 8 ชั่วโมง ติดตามการออกกำลังกายในร่มได้ 11 ชั่วโมง กลางแจ้งแบบเปิดใช้ GPS ได้สูงสุด 7 ชั่วโมง และ 6 ชั่วโมง ถ้าใช้งาน Cellular ร่วมด้วย

ระบบการชาร์จก็เช่นกัน เพราะปัจจุบัน Apple Watch ได้พัฒนาเป็นอุปกรณ์ในการตรวจจับการนอนด้วย ดังนั้นทำให้ต้องลดระยะเวลาชาร์จให้น้อยลง เพื่อให้สามารถชาร์จก่อนนอนได้ โดยในรุ่นนี้ จะสามารถชาร์จได้ 80% ในเวลา 1 ชั่วโมง และจะเต็ม 100% ภายใน 1 ชั่วโมง 30 นาที เทียบกับ Series 5 แล้วชาร์จเร็วขึ้นราว 33%

ข้อดีของการวัดค่าออกซิเจนในเลือด

หนึ่งในคำเตือนสำคัญที่แอปเปิล แจ้งเสมอมาคือ Apple Watch ไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้ข้อมูลที่ได้จากนาฬิกานั้นไม่สามารถนำไปใช้ในการรักษาคนไข้ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วถือเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ Apple Watch ต้องรับรู้

โดยการเก็บข้อมูลต่างๆ ถูกเก็บเพื่อไว้ใช้เพื่อให้ตรวจพบอาการผิดปกติได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา Apple Watch ได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีอาการเต้นของหัวใจผิดปกติมาแล้วหลายราย

การเพิ่มระบบวัดค่าออกซิเจนในเลือดครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวที่น่าสนใจ เพิ่มเติมจากการใส่ฟีเจอร์อย่างวัดค่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ที่แม้ว่าจะยังไม่สามารถใช้งานในไทยได้ เพราะอยู่ระหว่างการขออนุญาต แต่ก็ถือว่าตัวเครื่องรองรับ ที่ผ่านมาแอปเปิลได้เพิ่มฟีเจอร์เพื่อสุขภาพอย่าง การติดตามรอบเดือน การแจ้งเตือนเสียงดังเกินไป จนถึงการตรวจจับการล้มด้วย

ต่อเนื่องมาถึงความอิ่มตัวของออกซิเจน หรือ SpO2 ที่ช่วยแสดงข้อมูลว่าระบบหมุนเวียนเลือดมีการส่งค่าออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีแค่ไหน โดยค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนปกติจะอยู่ที่ช่วง 95-99%

หลักการที่แอปเปิล นำมาใช้ในการวัดค่าออกซิเจนในเลือดคือการใช้เทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกับ Pulse Oximeter ในการใช้แสงส่องผ่านผิวหนังเพื่อตรวจวัดสีของเลือด และคำนอนออกมาเป็นค่าออกซิเจนในเลือด

ประกอบกับการที่ใน watchOS 7 เพิ่มฟีเจอร์วัดการนอนหลับขึ้นมา ฟีเจอร์นี้จะเข้าไปช่วยให้เห็นระดับค่าความอิ่มตัวระหว่างการนอนได้เพิ่มเติม จนถึงระดับออกซิเจนในเลือดระหว่างวัน ที่สามารถดูข้อมูลย้อนหลังผ่านแอป Health ได้

Apple Watch SE กับความคุ้มค่า

เมื่อ Apple Watch 6 เป็นรุ่นที่สมบูรณ์ที่สุด Apple Watch SE ก็จะอยู่กับความคุ้มค่า ซึ่งถือเป็นจุดหลักของซีรีส์ SE ที่เป็นรุ่นราคาประหยัดของ Apple โดยให้ความสามารถที่เพียงพอกับการใช้งาน ในระดับราคาที่ย่อมเยาลงมา

โดย Watch SE จะมากับขนาดหน้าจอเท่ากับ Watch 6 คือมีให้เลือกระหว่างรุ่น 40 มม. และ 44 มม. ในส่วนของขนาดตัวเรือน และน้ำหนักก็ใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่าจะใช้ SiP S5 ที่ใช้งานกับ Watch 5 แทน รองรับการเชื่อมต่อ WiFi บน 2.4 GHz เท่านั้น

ความสามารถที่ถูกตัดออกไปจาก Watch 6 คือเรื่องของการวัดค่าออกซิเจนในเลือด การวัดค่า ECG แต่ยังใช้วัดอัตราการเต้นของหัวใจ การออกกำลังกาย และการตรวจจับการล้มได้ ทำให้เหมาะกับผู้สูงอายุ เพื่อเป็นตัวเลือกในการใช้งาน

ฟีเจอร์ใหม่ของ watchOS 7 / Family Setup

ทีนี้ มาย้อนดูถึงความสามารถของ watchOS 7 ที่เพิ่มขึ้นมา ให้ผู้ใช้งาน Apple Watch รุ่นเดิมสามารถใช้งานได้แล้ว ก็จะมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจอย่าง การล้างมมือ ที่จะคอยนับถอยหลัง 20 วินาที การวัดการนอน เพิ่มรูปแบบหน้าปัดใหม่

ส่วนที่น่าสนใจที่สุดคือระบบการตั้งค่าครอบครัว (Family Setup) ที่เปิดให้สามารถตั้งค่าและจัดการ Apple Watch สำหรับสมาชิกในครอบครัว โดยที่ไม่ต้องใช้งานร่วมกับ iPhone อย่างเด็กๆ หรือผู้สูงอายุ

โดย Apple Watch จะคอยเก็บข้อมูลสุขภาพ กิจกรรม และการแจ้งเตือนตำแหน่งต่างๆ ซึ่งมีโหมดเฉพาะลงไปสำหรับเด็ก อย่างการตั้งค่าจำกัดการสื่อสาร ในช่วงเวลาเรียน หรือใช้ตรวจจับการล้มสำหรับผู้สูงอายุ

ปัจจัยสำคัญในการใช้งาน Family Setup คือจะทำงานร่วมกับ Apple Watch รุ่นที่ 4 ขึ้นไป แบบ GPS+Cellular เท่านั้น เนื่องจากต้องมีการใส่ eSIM เข้าไปในตัวเรือนเพื่อให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และสื่อสารได้

ประกอบกับการที่ watchOS 7 เปิดให้สามารถจัดการทุกอย่างบนนาฬิกาได้แล้ว ทั้งการโทรฯ รับส่งข้อความ ตั้งค่าหน้าปัดรูปแบบต่างๆ ดาวน์โหลดแอปมาติดตั้งเพิ่มเติม ดังนั้นจึงทำให้กลายเป็นสมาร์ทวอทช์ที่สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องซิงค์กับ iPhone

ในจุดนี้ ทำให้ Apple Watch SE กลายเป็นรุ่นที่น่าสนใจ สำหรับผู้ปกครองที่อยากได้อุปกรณ์ไว้คอยช่วยเฝ้าระวังบุตรหลาน หรือผู้สูงอายุ แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มเข้ามาในการให้บริการซิมการ์ดจากผู้ให้บริการมือถือเดือนละประมาณ 150 บาท 

ราคาจำหน่ายของ Apple Watch

ปัจจุบัน Apple Watch วางจำหน่ายด้วยกันทั้งหมด 3 รุ่นใหญ่ๆ เริ่มต้นที่ Apple Watch 3 38 มม. 6,400 บาท 42 มม. 7,400 บาท โดยมีจำหน่ายเฉพาะรุ่น GPS เท่านั้น

ตามด้วย Apple Watch SE ที่มีทั้ง GPS ในราคา 40 มม. 9,400 บาท 44 มม. 10,400 บาท และ GPS+Cellular ในราคา 10,400 บาท และ 11,900 บาท ตามลำดับ

สุดท้ายคือ Apple Watch 6 รุ่น 40 มม. เริ่มต้นที่ 13,400 บาท สำหรับ GPS และ 16,900 บาท สำหรับ GPS+Cellular ส่วน 44 มม. เริ่มต้นที่ 14,400 บาท และ 17,900 บาท สำหรับ GPS+Cellular เช่นเดียวกัน

สรุป

Apple Watch ได้กลายเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์เสริมที่อยู่คู่กับผู้ใช้งาน iPhone แล้ว Wacth 6 ที่ออกมาในปีนี้ ได้มีการปรับปรุงฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้น และน่าสนใจมากขึ้น ใครที่ใช้งาน Apple Watch 3 ลงไปเชื่อว่าถึงเวลาที่จะได้เปลี่ยนมาใช้งานกันแล้ว

ขณะเดียวกัน การเพิ่มไลน์อย่าง Apple Watch SE มาช่วยให้การใช้งาน Apple Watch นั้นเข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และเหมาะกับการเลือกซื้อให้บุคคลอื่นในครอบครัวใช้งานเพื่อสุขภาพไปได้ด้วย

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น