Review : Asus ZenBook 13 คงจุดเด่น 2 จอ พกพาง่าย

5952

กลายเป็นแนวทางที่ชัดเจนของ เอซุส (Asus) ไปเรียบร้อยแล้วกับการทำโน้ตบุ๊ก 2 หน้าจอ ที่จะมาช่วยให้การใช้งานโน้ตบุ๊กทำได้สะดวกขึ้น จากทั้งการทำงานของ Screen Pad+ และ Duo Screen ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเอซุส เพิ่งมีการอัปเดตไลน์ผลิตภัณฑ์ ZenBook ใหม่ในรุ่นหน้าจอ 13 นิ้ว และ 14 นิ้ว ในระดับราคาที่เข้าได้ถึงง่ายขึ้น

โดยรุ่นที่นำมารีวิวกันในวันนี้คือ Asus ZenBook 13 (UX334FLC) ซึ่งมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนของซีพียู ที่หันมาใช้ Intel Core i7 Gen 10 และ ScreenPad 2.0 ที่ถูกปรับปรุงให้ใช้งานง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้่า พร้อมกับจุดเด่นเรื่องของพอร์ตครบ น้ำหนักเบา แบตเตอรีใช้งานได้ต่อเนื่องเกือบ 14 ชั่วโมง

ข้อดี

  • โน้ตบุ๊กขนาดหน้าจอ 13 นิ้ว สเปกแรง พกพาสะดวก
  • มี ScreenPad 2.0 ให้ใช้งานเป็นจอที่ 2
  • พอร์ตเชื่อมต่อครบ

ข้อสังเกต

  • เสียงพัดลมค่อนข้างดัง จากที่ใช้ Core i7 เวลาประมวลผลหนักๆ
  • พอร์ตชาร์จไฟยังเป็นอะเดปเตอร์ ไม่ใช่ USB-C

ขนาดเล็ก พกพาง่าย

Asus ZenBook 13 ขึ้นชื่อว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่ถูกออกแบบมาให้มีขนาดเล็กที่สุดในโลกเวลานี้ก็ว่าได้ (ไม่นับความหนา) เพราะด้วยการเลือกใช้หน้าจอในสัดส่วน 16:9 เมื่อรวมกับหน้าจอแบบ NanoEdge Display ทำให้มีขนาดตัวเครื่องเล็กกว่ากระดาษ A4 และเล็กลงกว่ารุ่นก่อนหน้าถึง 14%

โดยขนาดของตัวเครื่อง ZenBook 13 จะอยู่ที่ 302 x 189 x 17.9 มิลลิเมตร น้ำหนักอยู่ที่ 1.22 กิโลกรัม เมื่อเทียบขนาดหน้าจอ 13.3 นิ้วกับตัวเรื่อง จะมีสัดส่วนถึง 95% ตัวเครื่องมีให้เลือกด้วยกันทั้งหมด 2 สี คือน้ำเงิน Royal Blue และ สีเงิน Icicle Silver

สำหรับหน้าจอที่ให้มาจะเป็นจอแบบป้องกันแสงสะท้อน (Anti Glare) ขนาด 13.3 นิ้ว ให้ความละเอียดสูงสุดที่ Full HD (1920 x 1080 พิกเซล) โดยมีมุมมองในการใช้งานถึง 178 องศา และมีกล้องเว็บแคมซ่อนอยู่บริเวณขอบบนของจอภาพ

ถัดลงที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างของโน้ตบุ๊กเอซุส ในช่วงหลังๆ คือการนำการออกแบบ Ergolift มาใช้งาน ทำให้เวลากางหน้าจอขึ้นมา จะยกตัวฐานคีย์บอร์ดขึ้นมา 3 องศา เพื่อให้ได้องศาที่เหมาะสมแก่การใช้งาน พร้อมกับช่วยระบายความร้อนตัวเครื่องไปในตัว

ต่อกันที่คีย์บอร์ดของ ZenBook 13 ที่มาในรูปแบบของ Chicklet พร้อมไฟ backlit ทำให้สามารถใช้งานในที่มืดได้ โดยขนาดของปุ่มคีย์บอร์ด 4 แถวหลังจะเป็นขนาดมาตรฐาน ส่วนแถบบนจะมีขนาดที่เล็กลงครึ่งหนึ่ง เพื่อแบ่งที่ให้กับหน้าจอ ScreenPad 2.0

โดยแถบบนนอกจากเป็นปุ่ม Fn แล้วยังถูกใช้เป็นปุ่มควบคุมลัดไม่ว่าจะเป็นการปิดเสียง ปรับเสียง ความสว่างหน้าจอ เปิดใช้งานทัชแพด ไฟคีย์บอร์ด การสลับหน้าจอ ล็อกปุ่ม Windows ปิดการทำงานของกล้อง จับภาพหน้าจอ และเรียก myAsus ขึ้นมาใช้งาน

มาถึงจุดเด่นของ ZenBook 13 รุ่นนี้ ก็คือหน้าจอ ScreenPad 2.0 ที่ปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 5.65 นิ้ว และให้ความละเอียดหน้าจอเป็น 2160 x 1080 พิกเซล ที่ผู้ใช้สามารถเลือกเปิดปิด ได้จากปุ่มลัด f6 บนคีย์บอร์ด ส่วนความพิเศษของ ScreenPad จะกล่าวถึงต่อไปในภายหลัง

นอกเหนือจากเรื่องคีย์บอร์ด และสกรีนแพดแล้ว สิ่งที่โดดเด่นอีกเรื่องของ ZenBook 13 คือการที่ให้พอร์ตเชื่อมต่อมาครบ ไล่จากทางฝั่งซ้ายจะมีช่องเสียบสายชาร์จ พอร์ต HDMI USB3.1 USB-C

ทางฝั่งขวาเป็นช่องอ่านไมโครเอสดีการ์ด USB 2.0 ช่องเสียบหูฟัง และไฟแสดงสถานะการทำงานของเครื่อง ทั้งนี้ในส่วนนี้ก็มีจุดที่น่าเสียดายคือ น่าจะเปลี่ยนช่องเสียบสายชาร์จให้มาเป็นพอร์ต USB-C แทน เช่นเดียวกับ USB 2.0 ที่ควรเปลี่ยนเป็น USB-C เพิ่มให้มาใช้งานกับอุปกรณ์อื่นๆ ตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ดีกว่า

สเปก

Asus ZenBook 13 (UX334) เป็นรุ่นที่ได้รับการอัปเกรดซีพียู ขึ้นมาเป็น Intel Core i7 Gen 10 (10510U) โดยมาพร้อมกับชิปกราฟิก NVIDIA MX250 RAM 8 GB พื้นที่เก็บข้อมูล SSD 512 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Windows 10 พร้อมให้ใช้งานทันที

ส่วนเรื่องการเชื่อมต่อมากับ WiFi 6 (802.11ax) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ 1 Gbps ที่มีให้บริการในไทยแล้วได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เสริมด้วยบลูทูธ 5.0

ScreenPad 2.0 ที่ฉลาดกว่าเดิม

นับจากเอซุส เริ่มนำเสนอ SreenPad ออกมาเกือบ 2 ปีแล้ว ทำให้ตัวทัชแพดอัจฉริยะนี้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น และตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น โดยเพาะการเพิ่มแอปพลิเคชันที่รองรับการใช้งานถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับความสามารถหลักๆ ของ ScreenPad 2.0 นั้นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ถ้าผู้ใช้งานไม่ต้องการเปิดหน้าจอ ScreenPad ขึ้นมาใช้งานก็สามารถกดปิดการใช้งานหน้าจอเสริมได้

ถัดมาก็คือเลือกใช้งานเป็นจอเสริมจากจอหลัก ก็คือสามารถลากหน้าต่างที่ต้องการเปิดเพื่อใช้ดูข้อมูลลงมาไว้ที่บริเวณ ScreenPad เพื่อใช้งานต่อเนื่องกันไปได้เลย เพียงแต่ว่าด้วยการที่ความละเอียดของ ScreenPad ค่อนข้างสูง ถ้าไม่ได้ตั้งปรับค่าความละเอียดไว้ตัวอักษรอาจจะแสดงผลเล็กมากๆ

รูปแบบสุดท้ายก็คือใช้ความสามารถของ ScreenPad ร่วมกับซอฟต์แวร์ Screen Xpert ที่จะมีแอปพลิเคชันให้เลือกใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการแทนที่ ScreenPad ด้วยปุ่มตัวเลข สร้างปุ่มลัดไว้ใช้งาน เปิดใช้หน้าจอสำหรับการเขียนข้อความ

ตามด้วยการใช้สั่งงานลัดในโปรแกรม Office ใช้ควบคุมการเล่นเพลงบน Spotify จนถึงเข้าไปเลือกดาวน์โหลดแอปเพิ่มเติมจาก App Deal ที่สำคัญคือหน้าจอใช้พลังงานน้อยลงเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้าเยอะมาก จนแทบไม่มีผลกับแบตเตอรีในการใช้งานทั่วๆไป

ทริกเล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ที่ซื้อ ZenBook 13 มาใช้งานแล้วต้องการสลับใช้งาน ScreenPad กับการเป็นทัชแพดปกติคือ ผู้ใช้สามารถใช้ 3 นิ้วแตะบนหน้าจอเพื่อสลับโหมดใช้งานได้ทันที

หรือถ้าต้องการสลับหน้าจอบนล่าง หรือขยายหน้าจอให้เต็มบน ScreenPad เมื่อนำเมาส์คลิกที่ขอบหน้าต่าง จะมีตัวเลือกขึ้นมาให้สามารถลากหน้าต่างไปไว้ตรงโหมดที่ต้องการได้ทันที

แน่นอนว่าด้วยการที่เป็นแนวคิดใหม่ในการใช้งาน ทำให้อาจเกิดคำถามว่า ScreenPad จะถูกนำไปใช้อะไรได้บ้าง ถ้าให้นึกถึงรูปแบบการใช้งานง่ายๆ ก็คือเมื่อใช้หน้าจอหลักทำงาน เราอาจจะใช้หน้าจอ ScreenPad ในการเปิดข้อมูลเทียบไปด้วย หรือใช้เปิดโปรแกรมสื่อสารเพื่อให้ใช้งานได้ทันที

จุดเด่นอื่นๆ

ไม่ใช่แค่การมี ScreenPad 2.0 และพอร์ตที่ครบจะเป็นจุดเด่นของ ZenBook 13 เพียงอย่างเดียว เพราะยังมีในเรื่องของระบบเสียงที่เลือกใช้ลำโพงจาก harman kardon ทำให้เสียงที่ได้จากเครื่องมีคุณภาพ

หรือแม้แต่เรื่องของแบตเตอรี ที่แม้ว่าจะมีขนาดตัวเครื่องที่เล็กลง แต่แบตเตอรีไม่ได้เล็กตามไปด้วย จากการดีไซน์ตัวเครื่องแบบใหม่ ที่สามารถใส่แบตเตอรีมาได้ถึง 50 Wh ซึ่งสามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 12-14 ชั่วโมงตามที่เคลมไว้จริงๆ

นอกจากนี้ ด้วยการที่ใส่กล้องเว็บแคมแบบอินฟาเรดมาด้วย ทำให้สามารถนำมาใช้งานคู่กับระบบปลดล็อกตัวเครื่องอย่าง Windows Hello ทำให้เวลาเปิดหน้าจอขึ้นมาใช้งาน เมื่อเจอใบหน้าก็จะปลดล็อกตัวเครื่องใช้งานได้ทันที

สุดท้ายก็คือเรื่องของความทนทานที่ทางเอซุสให้ข้อมูลว่าใช้วัสดุเดียวกับ มาตรฐานทางทหาร ที่ผ่านการทดสอบความทนทานจากการตกหล่น ความดัน ความร้อน ความเย็นต่างๆ มาแล้ว

ทดสอบประสิทธิภาพ

สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของ ZenBook 13 สามารถดูได้จากอัลบั้มภาพด้านล่าง

สรุป

Asus ZenBook 13 ถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่เหมาะกับวัยทำงานที่ต้องการเครื่องที่พกพาง่าย ประสิทธิภาพสูง รองรับการทำงานได้หลากหลายเป็นหลัก เพราะด้วยขนาดที่เล็กกว่า A4 และแบตเตอรีที่ยาวนานทำให้เหมาะกับการทำงานในออฟฟิศยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันด้วยระดับราคาที่ไม่สูงจนเกินไปเพราะมีสเปกให้เลือกทั้ง Core i5 เริ่มที่ 29,990 บาท และ Core i7 เริ่มที่ 35,990 บาท (รุ่นที่นำมารีวิว) ทำให้สามารถเลือกให้เหมาะกับการใช้งานได้

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น