Review : Asus ZenBook Duo โน้ตบุ๊ก 2 จอที่เปลี่ยนรูปแบบการใช้งานไปจากเดิม

5741

ปีที่ผ่านมา Asus นำเสนอโน้ตบุ๊กที่แปลงบริเวณทัชแพดเป็นพื้นที่จอที่ 2 ออกสู่ตลาด ก่อนที่ในปีนี้จะนำเสนอคอนเซปต์ใหม่ของโน้ตบุ๊ก ด้วยการพัฒนาโน้ตบุ๊ก 2 จอ ที่ใช้งานต่อเนื่องกันออกมาในชื่อ ZenBook Duo

จุดเด่นของ ZenBook Duo คือมีให้เลือกใช้ทั้งรุ่นจอ 14 นิ้ว และ 15 นิ้ว โดยจอที่ 2 จะเชื่อมต่ออยู่ด้านล่างของจอแสดงผลหลัก และย้ายบริเวณคีย์บอร์ดลงมาไว้ส่วนล่างแทน แต่นั่นก็ทำให้พื้นที่บริเวณทัชแพดถูกบีบให้เล็กลงด้วย

ในการใช้งาน ZenBook Duo มีการนำเสนอการนำจอที่ 2 ไปใช้ได้หลากหลาย ทั้งในการเปิดโปรแกรมใช้งานคู่กับจอหลัก หรือใช้เป็นพื้นที่แสดงผลเพิ่มเติมในการใช้งานหลายๆ รูปแบบ ด้วยการเปิดให้ใช้งานร่วมกับจอหลักได้ถึง 5 ส่วน

ข้อดี

Screen Pad+ ช่วยเพิ่มความหลากหลายในการใช้งาน

ดีไซน์ Ergolift ช่วยยกเครื่องขึ้นมาให้เหมาะกับองศาในการใช้งาน

มีพอร์ตเชื่อมต่อให้ครบ

ข้อสังเกต

ราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง (เริ่มที่ 34,990 – 114,990 บาท)

คีย์บอร์ดทัชแพด มีขนาดเล็กลง ไม่มีพื้นที่พักข้อมือ

หน้าจอหลักไม่ใช่ทัชสกรีน รองรับการสัมผัสเฉพาะจอรองเท่านั้น

ภาพรวมเครื่อง

Asus ZenBook Duo จะมาในรูปแบบของโน้ตบุ๊กฝาพับปกติ โดยมีการปรับเปลี่ยน 2 จุดใหญ่ๆ คือการเพิ่มหน้าจอที่ 2 (ScreenPad Plus) เข้ามา และการเปลี่ยนบริเวณแผงคีย์บอร์ดถัดลงมา ขนาดตัวเครื่องจะอยู่ที่ 323. x 223 x 19.5 – 19.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม

โดยเมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาจะพับขนาดหน้าจอของ ZenBook Duo UX481 มากับหน้าจอขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920 x 1080 พิกเซล) ถัดลงมาคือจอทัชสกรีน Screen Pad Plus ขนาด 12.6 นิ้ว ก่อนจะเป็นแผงคีย์บอร์ด

ในส่วนของคีย์บอร์ดที่ปรับตำแหน่งลงมาอยู่ชิดขอบล่าง ถือว่าเป็นการวางตำแหน่งคีย์บอร์ดรูปแบบใหม่ ที่ทำให้ผู้ใช้งานต้องปรับตัวพอสมควร เนื่องจากไม่มีจุดที่พักข้อมือในการพิมพ์

ส่วนของทัชแพด จากเดิมที่จะอยู่บริเวณล่างคีย์บอร์ด ก็ปรับมาอยู่ด้านขวาแทน โดยมีขนาดที่เล็กลง ทำให้ในช่วงแรกที่เปลี่ยนมาใช้งานต้องทำความเคยชินเล็กน้อย แต่ทางที่ดีแนะนำให้ต่อใช้งานร่วมกับเมาส์จะได้ประสบการณ์ที่ดีกว่า

สำหรับพอร์ตเชื่อมต่อรอบๆ ตัวเครื่อง ทางฝั่งซ้ายจะเป็นที่อยู่ของช่องเสียบสายชาร์จ พอร์ต HDMI USB 3.1 และ USB-C ส่วนทางฝั่งขวาจะมี USB 3.1 ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. และช่องอ่านไมโครเอสดีการ์ด

Screen Pad+ ทำอะไรได้บ้าง

ก่อนหน้านี้ เอซุส เคยแนะนำ ‘Screen Pad’ ที่เปลี่ยนบริเวณทัชแพดให้เป็นหน้าจอสัมผัสใช้งานมาแล้ว พอมาเป็น Screen Pad+ ฟีเจอร์ต่างๆ ที่เคยใช้งานอยู่กับ Screen Pad เดิมก็ยังมีมาให้อยู่ และเพิ่มด้วยความสามารถพิเศษที่ผสมผสานการใช้งานไปกับวินโดวส์ 10 เพิ่มมา

โดยผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะเปิดแอปที่รองรับการทำงานบน Screen Pad+ อย่างปุ่มกดตัวเลข โปรแกรมแปลงลายมือเป็นตัวอักษร หรือแม้แต่ใช้ควบคุมเครื่องเล่นเพลงของ Spotify

อีกรูปแบบคิอการลากโปรแกรมที่ใช้จากจอบน ลงมาไว้ในจอ Screen Pad+ ได้ทันที โดยเมื่อเริ่มกดลากจะมีแถบลัดปรากฏขึ้นบนหน้าจอเพื่อเลือกได้ว่า จะย้ายหน้าจอที่เปิดไว้ลงไปบน Screen Pad+ แบบไหน มีทั้งลากลงไปเฉยๆ ปักหมุดไว้ และขยายเต็มจอ

นอกจากนี้ บนคีย์บอร์ดบริเวณขวาบน ยังมีปุ่มสำหรับสลับหน้าโปรแกรมจากจอบนลงมาอยู่บนจอ Screen Pad+ แทน เพื่ออำนวยความสะดวกเวลาต้องการปรับเปลี่ยนหน้าจอใช้งานเร็วๆ

ถ้าจะให้เฉพาะทางเพิ่มขึ้นหน่อย อย่างเวลาทำงานตัดต่อวิดีโอ การที่มีจอ Screen Pad+ เพิ่มเข้ามา ก็จะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการทำงานได้ อย่างการลากแถบไทม์ไลน์มาไว้ที่จอล่างแทน เพื่อให้จอบนสามารถดูวิดีโอ ได้เต็มตามากขึ้น

อย่างถ้าเอาไปใช้กับการเล่นเกม ก็สามารถใช้จอที่ 2 มาช่วยในการแสดงผลเพิ่มเติม หรือถ้าต้องการเปิดดูวิดีโอการเล่นควบคู่ไปด้วยก็สามารถทำได้ทันที รวมถึงสตรีมเมอร์ที่ต้องการไลฟ์ ก็สามารถโต้ตอบกับผู้ชมขณะที่เล่นเกมในจอหลักได้

สเปก และการทดสอบประสิทธิภาพ

สเปกของ ZenBook Duo มากับหน่วยประมวลผล Intel Core i5 10210U 1.6 GHz RAM 16 GB SSD 256 GB – 1 TB มาพร้อมการ์ดจอ NVIDIA GeForce MX250 2GB GDDR5X VRAM ส่วนการเชื่อมต่อไร้สาย มากับ Wi-Fi 6 และบลูทูธ 5.0

ส่วนผลการทดสอบ PCMark10 3DMark GeenBench และ CineBench สามารถดูได้จากอัลบั้มภาพด้านล่าง

สรุป

ในส่วนของ Asus Zenbook Duo UX481 ที่ถือเป็นรุ่นเริ่มต้นของโน้ตบุ๊ก 2 จอ ที่ใช้งานคู่กับ Screen Pad+ ของเอซุส ถือว่าทำออกมาได้น่าสนใจ กับค่าตัวเริ่มต้นที่ 34,990 บาท

เพียงแต่ด้วยการที่เป็นรุ่นเริ่มต้น ทำให้หน้าจอหลักไม่ได้รองรับระบบสัมผัสด้วย จะรองรับระบบสัมผัสเฉพาะจอ Screen Pad+ เท่านั้น ทำให้ต้องปรับตัวพอสมควรในการใช้งาน

ต่างจากรุ่น ZenBook Duo Pro UX581 ที่ให้มาเป็นจอสัมผัสทั้งคู่ทำให้การทำงานร่วมกันลื่นไหลมากกว่า แต่ราคาก็กระโดดไปอยู่ที่ 89,990 บาท ดังนั้นถ้าไม่ได้จำเป็นต้องใช้งานจอสัมผัสเชื่อว่า UX481 ก็ตอบโจทย์การใช้งานอยู่แล้ว

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น