Review : Asus ZenBook Pro 15 โน้ตบุ๊กสเปกแรง กับแนวคิดเสริมจอ 2 ด้วย Screen Pad

7729

ตลาดโน้ตบุ๊กระดับโปร กลายเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตเนื่องมาจากมีกลุ่มผู้ใช้งานเฉพาะทาง ที่ต้องการเครื่องประสิทธิภาพสูง โดยไม่ได้กังวลในเรื่องของราคา แต่มองในแง่ของการตอบโจทย์การใช้งานมากกว่า รวมถึงกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นเกมมิ่งแล้วต้องการโน้ตบุ๊กที่สามารถใช้งานแทนเดสก์ท็อปได้

Asus ZenBook Pro จึงกลายเป็นรุ่นที่มีตลาดเฉพาะตัว และมีความน่าสนใจเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากสเปกเครื่องที่ผู้ผลิตแต่ละราย ถ้าต้องการก็ใส่กันมาได้อยู่แล้ว แต่เป็นการนำเสนอความต่างในแง่ของการใช้งานที่นอกเหนือขึ้นไป

Asus เคลมว่า ZenBook Pro 5 เป็นโน้ตบุ๊กรุ่นแรกที่สามารถแสดงผลได้พร้อมกัน 5 จอ ประกอบไปด้วยหน้าจอหลัก 15” หน้าจอที่ 2 ตรงทัชแพด 5.5” ส่วนจอที่ 3-5 จะใช้การเชื่อมต่อจากพอร์ต HDMI และ USB-C ที่ติดมากับเครื่อง ที่สำคัญคือสามารถจอที่ความละเอียด 4K และใช้งานได้อย่างลื่นไหล

ที่สำคัญราคาจำหน่ายของ ZenBook 15 Pro เริ่มต้นที่ 69,900 บาท สำหรับรุ่น Intel Core i7 8750H และ 89,990 บาท สำหรับรุ่น Intel Core i9 8950HK พร้อมกับระบุว่าถูกกว่า Macbook Pro เกือบ 3 เท่า ถ้าต้องการสเปกที่ใกล้เคียงกัน

ข้อดี

โน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงในราคาไม่ถึง 1 แสนบาท

– Screen Pad ที่เป็นการเปลี่ยนพื้นที่ทัชแพดเป็นจอแสดงผล

พอร์ตเชื่อมต่อที่มีมาให้ครบครัน

จอแสดงผลหลักแบบทัชสกรีนรองรับ 4K บนมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ

ระบบเสียง Harman Kardon

มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือให้เพื่อความปลอดภัย

ข้อสังเกต

ตัวเครื่องขนาดใหญ่ หนักเกือบๆ 2 กิโลกรัม (รวมที่ชาร์จ) ทำให้ไม่เหมาะกับการพกพา

– Screen Pad ยังมีแอปพลิเคชันรองรับน้อย เหมาะกับผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่ม

ตัวเครื่องที่แรง ทำให้ใช้งานบนแบตเตอรีได้ราว 2 ชั่วโมง

ทำความรู้จัก ScreenPad ตัวช่วยใหม่ในการใช้งาน

ใน Asus ZenBook Pro 15 นิ้ว มีการเพิ่มฟีเจอร์อย่าง Screen Pad มาให้ใช้งาน และถือว่าเป็นการนำหน้าจอทัชสกรีนที่สามารถปรับการแสดงผลได้มาใช้งานแทนทัชแพดรุ่นแรกของโลกด้วย โดยจะเปลี่ยนจากการเป็นทัชแพดแบบเดิมๆ มาเป็นกระจกในการแสดงผลขนาด 5.5 นิ้วแทน

ในการใช้งาน Screen Pad ผู้ใช้สามารถกดปุ่ม F6 เพื่อเลือกสลับโหมดในการใช้งานได้ว่า จะเปิดใช้งาน Screen Pad ที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันพิเสษ อย่าง Spotify เครื่องคิดเลข ปฏิทิน เครี่องเล่นเพลง หรือเปลี่ยนเป็นปุ่มกรอกตัวเลข

หรือจะเลือกใช้เป็นการขยายหน้าจอวินโดวส์ โดยการเพิ่ม Screen Pad ให้เป็นจอที่ 2 โดยสามารถเลือกเปิดโปรแกรมมาใช้งานเพื่อแสดงผลอะไรก็ได้ สุดท้ายก็คือเลือกปิดการแสดงผล และใช้งานเป็นทัชแพดตามปกติ

Screen Pad ถือเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ สำหรับกลุ่มครีเอเตอร์ ที่สามารถใช้จอที่ 2 มาช่วยแสดงผลแบบงาน หรือตัวอย่างให้สามารถทำงานบนหน้าจอหลักได้ โดยไม่ต้องสลับหน้าจอไปมา หรือใช้ในการควบคุมการเล่นมัลติมีเดียต่างๆ เพียงแต่ว่าด้วยการที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ต้องรอนักพัฒนานำความสามารถไปใช้กับโปรแกรมหลักๆ เพื่อให้ใช้งานได้มากขึ้น

ตัวเครื่อง ZenBook 15 Pro

ดีไซน์ของ ZenBook Pro 15 นิ้ว จะเน้นไปที่การใช้สีสัน และขอบเครื่องให้ดูหรูหราขึ้นเป็นหลัก ไม่ได้เน้นการออกแบบให้ดูเพรียวบาง เพราะเนื่องจากตัวเครื่องมากับหน่วยประมวผลระดับ Core i9 ทำให้ต้องมีการเว้นพื้นที่ให้ระบบระบายอากาศมาช่วย เพื่อให้เวลาใช้งานตัวเครื่องหนักๆแล้วไม่ร้อนด้วย

ขนาดตัวเครื่อของ ZenBook Pro 15 จะอยู่ที่ 36.5 x 24.1 x 1.89 เซนติเมตร น้ำหนัก 1.88 กิโลกรัม มีให้เลือกสีเดียวคือ Deep Dive Blue ที่เป็นสีน้ำเงินเข้ม ตัดกับขอบเครื่องสีทอง แต่อย่างไรก็ตาม ในการพกพาตัวเครื่องไปใช้งานก็ต้องพกคู่กับอะเดปเตอร์ชาร์จไฟขนาดใหญ่ไปด้วย เพราะตัวเครื่องค่อนข้างใช้ไฟเยอะ

เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาจะเจอกับหน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด 4K UHD (3840 x 2160 พิกเซล) ในอัตราส่วน 16:9 โดยมีจุดเด่นอยู่ที่มีการปรับค่าสีในการแสดงผลให้อยู่บนมาตรฐาน Delta E < 2, 100% Adobe RGB ขณะที่สัดส่วนหน้าจอต่อขอบจอจะอยู่ที่ 83% โดยขนาดของขอบจอจะอยู่ที่ 7.3 มิลลิเมตรเท่านั้น และมีกล้องเว็บแคมให้ใช้งานอยู่ด้วย

ถัดลงมาเป็นคีย์บอร์ด ด้วยการที่ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ถึง 15 นิ้ว ดังนั้น ตัวคีย์บอร์ดที่ให้มาถือว่าเป็นขนาด Full Size พร้อมกับมีไฟแสดงผลใต้คีย์บอร์ดให้สามารถใช้งานในเวลากลางคืนได้ด้วย

ส่วนพอร์ตที่ให้มารอบตัวเครื่อง ไล่จากทางซ้ายประกอบไปด้วย ช่องต่ออะเดปเตอร์ไฟ พอร์ต HDMI และพอร์ต USB-C 2 พอร์ต ส่วนทางขวาเป็น พอร์ต USB 3.1 2 พอร์ต USB-C อีก 1 พอร์ต ช่องเสียบไมโครเอสดีการ์ด และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม.

สเปกตัวเครื่อง ZenBook Pro 15 ที่ได้รับมาทดสอบจะเป็นรุ่น 8 Gen Intel Core i9 8950HK ที่เป็น Hexa Core (6 คอร์) ความเร็ว 2.9 GHz 12 MB Cache ให้ RAM มา 16 GB พร้อมกับกราฟิกการ์ด Nvidia GeForce GTX 1050i 4 GB และพื้นที่เก็บข้อมูลแบบ SSD 512 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 โฮม ส่วนของการเชื่อมต่อ Asus ZenBook Pro 15 รองรับ WI-FI 5 หรือ 802.11ac พร้อมกับบลูทูธ 5.0

Gallery

เหมาะกับใครใช้งาน

ZenBook Pro 15 ถูกออกแบบมาให้กลายเป็นเวิร์คสเตชันเคลื่อนที่ เน้นการใช้งานโน้ตบุ๊กที่เน้นการประมวลผลเป็นหลัก ดังนั้น ถ้าใครที่ต้องใช้โน้ตบุ๊กเพื่อตัดต่อวิโอ ทำงานกราฟิก ออกแบบ 3มิติ เหล่านี้คือกลุ่มเป้าหมายหลักของเครื่องรุ่นนี้

แต่ในความเป็นจริง กลุ่มผู้ใช้ที่เป็นเกมเมอร์ และต้องการเครื่องแรงๆ ก็เป็นอีกกลุ่มที่เหมาะกับเครื่องรุ่นนี้ แม้ว่าระดับราคาเครื่องจะสูงขึ้นมาสักหน่อย แต่เมื่อแลกกันประสิทธิภาพที่ได้ก็ถือว่าคุ้มค่า แต่ถ้าคุณไม่ใช่กลุ่มเหล่านี้ เครื่อง ZenBook Pro 15 ก็จะเกินความจำเป็นในการใช้งานไป

ทดสอบประสิทธิภาพ

เมื่อเป็นเครื่องที่มากับหน่วยประมวลผลอย่าง Core i9 ที่ใส่กราฟิกการ์ด GTX 1050i มาให้ ความแรงของเครื่องก็อยู๋ในระดับน้องๆ คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปอยู่แล้ว โดยลองไปดูผลทดสอบกันว่า ZenBook Pro 15 ทำคะแนนได้เท่าไหร่จากโปรแกรมทดสอบกันบ้าง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

SHARE