Review : ASUS ZenBook 3 Deluxe แมคบุ๊กสายวินโดวส์

21486

ASUS (เอซุส) ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ออกแบบโน้ตบุ๊กได้ลงตัวและสวยงาม โดยเฉพาะกลุ่ม ZenBook ที่เน้นเรื่องความบางเบาและหรูหราเป็นพิเศษ โดยในวันนี้ ZenBook เดินทางมาถึงรุ่นที่ 3 กับการปรับเปลี่ยนดีไซน์และสเปกภายในให้ลงตัวมากกว่าเดิม โดยรุ่นที่ทีมงานไซเบอร์บิซได้รับมารีวิวในวันนี้จะเป็นตัวท็อปสุดในกลุ่มกับ “ASUS ZenBook 3 Deluxe”

การออกแบบ

ทั้ง ASUS ZenBook 3 และรุ่น Deluxe จะถูกออกแบบใหม่โดยเน้นเส้นสายสีทองและตัวเครื่องลูมิเนียมแบบ Unibody คือผลิตจากโลหะขึ้นรูปชิ้นเดียว พร้อมความบางเพียง 12.9 นิ้ว น้ำหนัก 1.1 กิโลกรัมเท่านั้น 

ด้านจอภาพสำหรับรุ่น Deluxe ที่ทีมงานนำมารีวิวจะเป็นจอ LED ขนาด 14 นิ้ว (1080p) ที่มีความพิเศษคือเป็นจอที่มาพร้อมเทคโนโลยี ASUS Eye Care ตัดแสงสีฟ้า 30% และมี Contrast Ratio (ค่าสีดำที่ดำสนิทที่สุดและสีขาวที่ขาวสุด ค่ายิ่งมากภาพจะมีมิติขึ้น) สูงถึง 1,000:1

ประกบทับด้วยกระจกจอ Corning Gorilla Glass 5 ความหนา 0.55 มิลลิเมตรเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของหน้าจอ

อีกทั้งหน้าจอขนาด 14 นิ้วยังถูกออกแบบให้ใช้งานเต็มพื้นที่ตัวเครื่อง เพราะเอซุสต้องการคงขนาดโน้ตบุ๊ก 13 นิ้วไว้ ซึ่งถือเป็น Compact Design เหมาะสมสำหรับการพกพามากที่สุดในตอนนี้

ขยับลงมาดูส่วนคีย์บอร์ดและทัชแพด เริ่มจากคีย์บอร์ดเป็นขนาด Full-size ระยะกด 1.2 มิลลิเมตร เหนือแป้นคีย์บอร์ดเป็นที่อยู่ของลำโพงสเตอริโอ 2 ตัว จากทั้งหมด 4 ตัว ออกแบบโดย Harman Kardon ด้วยเทคโนโลยีเสียง ASUS SonicMaster Premium

ถัดลงมาในส่วนทัชแพดด้านล่าง ถูกครอบทับด้วยกระจก ส่วนสเปกเป็นมัลติทัช รองรับ Smart gestures ได้สูงสุด 4 นิ้วมือ รองรับการขีดเขียนตัวอักษร (Handwriting) และที่สำคัญมาพร้อมเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือเพื่อใช้งานร่วมกับ Windows Hello ใน Windows 10

ด้านใต้เครื่องจะเป็นที่อยู่ของลำโพงอีก 2 ตัว ส่วนภายในตัวเครื่องจะเห็นว่า ZenBook 3 มีพัดลมระบายความร้อนเพียงตัวเดียว รวมถึงเมนบอร์ดก็ถูกลดขนาดลง ซึ่งเป็นผลมาจากหน่วยประมวลผลตระกูล Kaby Lake 14 นาโนเมตร

มาถึงช่องเชื่อมต่อรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านขวาตัวเครื่องจะเป็นที่อยู่ของไฟสถานะการทำงานและชาร์จไฟ ถัดมาเป็นพอร์ต USB-C (รองรับ Thunderbolt 3 – 40Gbps/USB 3.1 Gen 2) แบบเดียวกับพอร์ตเชื่อมต่อบน MacBook Pro ใหม่

ด้านซ้าย เป็นช่องเชื่อมต่อหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร และ USB-C (Version 3.1 Gen 1)

ส่วนการชาร์จไฟจะทำผ่านอะแดปเตอร์ USB-C (Output: 19V DC, A, 65W) โดยผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกับพอร์ต USB-C พอร์ตใดก็ได้ รอบตัวเครื่อง

และสำหรับคนที่กำลังกังวลว่าจะสามารถเชื่อมต่อแฟลชไดร์ฟหรืออุปกรณ์เสริมที่เป็นพอร์ต USB-A ในปัจจุบันได้หรือไม่ ในแพกเกจจะมีการแถมอะแดปเตอร์ USB-A to USB-C มาให้จำนวน 1 ตัว และอะแดปเตอร์ HDMI to USB-C อีก 1 ตัว อีกทั้งทางเอซุสยังได้แถมกระเป๋า ซองผ้าและผ้าเช็ดโน้ตบุ๊กมาในแพกเกจสมราคาครึ่งแสนเลยทีเดียว

สเปก

ในส่วนสเปกเครื่อง ASUS ZenBook 3 Deluxe รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบเป็นโมเดล UX490UA มาพร้อมซีพียู Intel Core i7-7500U Dual-Core ความเร็ว 2.7GHz รองรับ Turbo Boost ได้สูงสุด 3.5GHz พร้อมกราฟิกออนชิป Intel HD Graphics 620 (รองรับการแสดงผล 4K)

ด้านกล้อง Web cam ความละเอียดระดับ VGA 640×480 พิกเซล

ในส่วนแรมเป็น LPDDR3 2,133MHz แบบติดกับเมนบอร์ด (อัปเกรดไม่ได้) จำนวน 16GB หน่วยเก็บข้อมูลในรุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะเป็นแบบ PCIe 3.0 ความจุ 512GB (เร็วกว่า SSD 3 เท่า)

สุดท้ายสำหรับสเปกการเชื่อมต่อเครือข่าย WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11ac Dual-band มีบลูทูธ 4.1 และมาพร้อมวินโดวส์ 10 Pro

ฟีเจอร์เด่น

Fast Charging ความจริงแล้วอะแดปเตอร์ชาร์จไฟที่ให้มากับ ZennBook 3 Deluxe จะรองรับการจ่ายไฟได้ถึง 4 รูปแบบได้แก่ 5V – 3A / 9V – 3A / 15V – 3A และ 20V – 3.25A ทำให้อะแดปเตอร์ตัวนี้สามารถชาร์จไฟได้ตั้งแต่สมาร์ทโฟน (ทีมงานทดสอบแล้วสามารถชาร์จแบบ Quick Charge ได้ด้วย – แต่เอซุสได้แนะนำเพราะอาจเกิดความเสียหายได้ภายหลัง) ไปถึงโน้ตบุ๊ก

โดยการชาร์จไฟด้วยอะแดปเตอร์รุ่นนี้ใน ZenBook 3 จะรองรับระบบ Fast Charging สามารถชาร์จไฟ 60% ได้ด้วยเวลาเพียง 50 นาที อีกทั้งผู้ใช้ยังสามารถตั้งค่าการชาร์จไฟได้ด้วยตัวเองผ่านซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งมากับตัวเครื่องด้วย

มาดูเรื่องดีลพิเศษสำหรับผู้เป็นลูกค้า ZenBook 3 ได้แก่ 1.Adobe Acrobat Pro DC สำหรับงานเอกสาร PDF จะได้ส่วนลดเมื่อเลือกซื้อซอฟต์แวร์ 13% 2.Adobe Premiere Pro CC รุ่นล่าสุด ได้ส่วนลด 20% และสุดท้ายดีล Dropbox ฟรีสำหรับทุกคน เพียงใช้งาน Dropbox บน ZenBook 3 จะได้พื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มอีก 25GB ฟรีเป็นเวลา 1 ปี

ทดสอบประสิทธิภาพ

ทีมงานเลือกใช้ซอฟต์แวร์ทดสอบ 3 ตัวด้วยกันได้แก่ PCMark 10, Cinebench R15 และ Geekbench 4 ซึ่งผลคะแนนก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะในส่วนการประมวลผล ตัวเครื่องให้สเปกมาค่อนข้างไฮเอนด์ แม้ซีพียูจะอยู่ในระดับเน้นประหยัดพลังงาน แต่การใช้งานตัดต่อวิดีโอ 4K ตกแต่งภาพและอื่นๆสามารถทำงานได้ไหลลื่น ส่วนหนึ่งมาจากแรมที่ให้มามากถึง 16GB และหน่วยเก็บข้อมูลที่ทำงานได้รวดเร็วมาก ถือเป็นโน้ตบุ๊กในรูปแบบอัลตร้าบุ๊กที่รองรับงานระดับบนได้อย่างดี

อีกส่วนที่ ZenBook 3 Deluxe ทำได้ดีไม่แพ้ส่วนอื่นก็คือเรื่องแบตเตอรีและระบบจัดการพลังงานภายในที่ทำได้ใกล้เคียง MacBook ของแอปเปิลอย่างมาก ตัวเครื่องสามารถใช้งานทั่วไปได้ 6-8 ชั่วโมง (พิมพ์งาน เชื่อมต่อ WiFi และมีตกแต่งภาพสลับบ้างตลอดระยะทดสอบ)

ส่วนในเรื่องความร้อน การใช้งานปกติไม่พบอาการเครื่องร้อนแต่อย่างใด แต่เมื่อเครื่องทำงานเต็มประสิทธิภาพ 100% ความร้อนถือว่าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะใต้เครื่องถ้าใช้งานแบบโหลด 100% ตลอดทั้งวัน ผู้ใช้จะไม่สามารถวางบนตักได้เลยเพราะร้อนมาก แต่ก็ต้องยอมรับเวลาคายความร้อน ด้วยการที่ตัวเครื่องใช้วัสดุเป็นอลูมิเนียมทั้งหมด ความร้อนจะคายผ่านฝาอลูมิเนียมอย่างรวดเร็วเช่นกัน

สรุป

สำหรับราคาขาย ASUS ZenBook 3 Deluxe (UX490UA) จะอยู่ที่ 69,990 บาท ส่วน ZenBook 3 (UX390UA) ราคาอยู่ที่ 54,990 บาท ก็เป็นไปตามที่ทีมงานจั่วหัวไว้ “แมคบุ๊กสายวินโดวส์” เรียกได้ว่าตั้งราคาและประสิทธิภาพมาชนกับ MacBook/MacBook Pro ของแอปเปิลเลย (แต่ ZenBook 3 Deluxe จะมีสเปกค่อนข้างสูงกว่า ในรุ่นราคาระดับเดียวกัน)

โดยในส่วนประสิทธิภาพ ภาพรวมทั้งหมดเท่าที่ทีมงานทดสอบมา 2 อาทิตย์ถือว่า ZenBook 3 Deluxe ทำได้ดี ใช้ไปสักพักจะรู้สึกว่าได้อารมณ์ของ MacBook ผสม MacBook Pro ในคราบ Microsoft Windows มาก ไม่ว่าจะพิมพ์งาน ติดตัวไปประชุม พรีเซนต์งานไปถึงใช้งานตัดต่อวิดีโอแบบหนักหน่วงทุกอย่างสามารถทำได้ใน ZenBook 3 Deluxe (ยกเว้นเล่นเกม สามารถทำได้แต่ไม่แนะนำ) โดยเฉพาะน้ำหนักและขนาดที่ออกแบบมาได้ดี ไม่เป็นปัญหาในการพกพา เดินทางตลอดทั้งวันแน่นอน

ข้อดี

– การออกแบบยอดเยี่ยม หน้าจอสีสวย
– สเปกดี ใช้งานได้ตั้งแต่พิมพ์งาน พรีเซนต์งานไปถึงตัดต่อวิดีโอ
– แบตเตอรีและการจัดการพลังงานภายในทำได้ค่อนข้างดี
– ลำโพงเสียงดี
– มีระบบชาร์จไฟเร็ว

ข้อสังเกต

– ทำงานเต็ม 100% ตัวเครื่องค่อนข้างร้อนมาก
– กล้อง Web Cam ความละเอียดแค่ VGA
– พอร์ตเชื่อมต่อเป็น USB-C ทั้งหมด

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
10
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
9.5
ความสามารถโดยรวม
9
ความคุ้มค่า
8.5
SHARE