Review : Asus Zenfone 4 Max Pro เน้นหนักที่แบตอึด แชร์แบตให้เพื่อนก็ได้

12063

หนึ่งในซีรีส์ที่ได้รับความนิยมของเอซุสในปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น Zenfone 3 Max ที่ชูจุดเด่นในเรื่องของการเป็นสมาร์ทโฟนที่มากับแบตเตอรีขนาด 5,000 mAh แถมยังพ่วงความสามารถในการแปลงสมาร์ทโฟนเป็นพาวเวอร์แบงค์เพื่อชาร์จแบตให้กับเครื่องอื่นได้ด้วย

ประกอบกับเมื่อดูในไลน์สินค้าของ เอซุส จะเห็นว่ามีการแตกไลน์ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆด้วยกันคือ ซีรีส์ Max ที่เป็นรุ่นเริ่มต้นเน้นเรื่องแบตฯเป็นพิเศษ ถัดมาเป็น Selfie ที่เน้นเรื่องกล้องหน้า และสุดท้ายคือรุ่นปกติที่จะจับตลาดกลางบนเป็นหลัก

ดังนั้น Asus Zenfone 4 Max และ Max Pro จึงเป็นสมาร์ทโฟนที่อยู่ในช่วงระดับราคาต่ำกว่าหมื่นบาท (5,990 – 7,990 บาท) แต่ไม่ใช่ว่าจะโดดเด่นที่เรื่องแบตเพียงอย่างเดียว เพราะตัวเครื่องก็มากับหน่วยประมวลผลระดับที่พอใช้งาน และยังมีกล้องหลังคู่มาให้ใช้งานด้วย

การออกแบบ

รุ่นที่ทีมงานได้มารีวิวในวันนี้คือ Asus Zenfone 4 Max Pro ที่จะมีแบตเตอรีมากกว่ารุ่น Zenfone 4 Max ธรรมดา โดยตัวเครื่องจะมากับขนาด ขนาด 154 x 76.9 x 8.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 181 กรัม มีให้เลือกด้วยกัน 3 สี คือ Deepsea Black Sunlight Gold และ Rose Pink

ด้านหน้าจะมีหน้าจอ 2.5D IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด HD (1280 x 720 พิกเซล) โดยส่วนบนหน้าจอประกอบไปด้วยกล้องหน้าความละเอียด 16 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลช ลำโพงสนทนา และเซ็นเซอร์ตรวจจับใบหน้า ล่างหน้าจอเป็นปุ่มโฮมและเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ พร้อมปุ่มย้อนกลับ และเรียกดูแอปที่ใช้งานล่าสุด

ด้านหลังไล่จากส่วนบนจะมีกล้องหลักคู่ที่เป็นเลนส์ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล คู่กับเลนส์มุมกว้าง พร้อมไฟแฟลช ถัดลงมาเป็นสัญลักษณ์เอซุส โดยจะใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียม เน้นความเรียบง่ายเป็นหลัก ภายในมีแบตเตอรี 5,000 mAh อยู่

ด้านซ้ายจะมีช่องใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์ (Nano Sim) ที่มีความพิเศษตรงช่องใส่ซิมที่ 2 ไม่ต้องแชร์กับช่องใส่การ์ด MicroSD เหมือนหลายๆแบรนด์ สะดวกสบายสำหรับคนที่ใช้ 2 ซิมแล้วต้องการใส่การ์ดความจำเพิ่มด้วย ถือเป็นอีกจุดที่น่าสนใจของรุ่นนี้

ด้านขวามีปุ่มเพิ่มลดระดับเสียง และปุ่มเปิดปิดเครื่อง ด้านบนมีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. และไมโครโฟน ด้านล่างเป็นพอร์ตไมโครยูเอสบี และช่องลำโพง (โมโน)

อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง นอกจากตัวเครื่อง อะเดปเตอร์ สายชาร์จ หูฟัง และคู่มือการใช้งานแล้ว เอซุส ยังได้แถมสาย OTG หรือสายแปลงหัวไมโครยูเอสบี เป็นพอร์ตยูเอสบีให้เสียบสายชาร์จ หรือแฟลชไดรฟ์เพื่อต่อใช้งานได้ทันทีมาให้ด้วย

สเปก

ASUS Zenfone 4 Max Pro จะขับเคลื่อนด้วยซีพียู Qualcomm Snapdragon 430 Octa-core ความเร็ว 1.4GHz กราฟิก Adreno 505 พร้อมแรม 3GB รอม 32GB ระบบปฏิบัติการเป็น Android 7.1.1 ครอบทับด้วย ASUS ZenUI 4.0 และแบตเตอรีความจุ 5,000 mAh

ด้านสเปกการเชื่อมต่อเครือข่าย รองรับ 3G/4G ในบ้านเราทั้งหมด โดย 4G (รองรับ VoLTE) จะรองรับความเร็วระดับ Cat4 ดาวน์โหลด 150Mbps 3G รองรับความเร็วดาวน์โหลดสูงสุด 42 Mbps ส่วน WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g/n บลทูธ 4.0, มี GPS/A-GPS/GLONASS/BDSS และภาครับสัญญาณ FM

ฟีเจอร์เด่น

ในแง่ของฟีเจอร์การใช้งานทั่วไป Zenfone 4 Max Pro จะคล้ายๆกับรุ่นที่เคยรีวิวไปก่อนหน้านี้อย่าง Zenfone 4 Selfie ที่มีการใช้อินเตอร์เฟสของ Zen UI 4.0 มาครอบเพื่อให้ใช้งานได้ในสไตล์ของเอซุส ซึ่งถือว่าทำออกมาได้เบา ทำให้เครื่องไม่หน่วงเวลาใช้งานแม้จะให้ RAM มาเพียง 3GB

โดยจุดเด่นหลักๆของเครื่องรุ่นนี้จริงๆ ก็จะเป็นเรื่องของการแชร์แบตเตอรี ที่สามารถต่อกับอะเดปเตอร์เพื่อแชร์แบตให้เครื่องอื่นได้ เพราะด้วยแบตเตอรีที่ให้มา 5,000 mAh ก็เปรียบเหมือนพาวเวอร์แบงค์ขนาดเล็กๆอันหนึ่ง

แต่ถ้าไม่ได้ไปแชร์ใช้ให้ใคร เมื่อใช้เครื่องปกติ ระยะเวลาการใช้งานที่ได้ก็ถือว่าใช้งานได้สบายๆ 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งาน แต่ถ้าใช้งานต่อเนื่องหนักๆ ก็จะได้ประมาณ 1 วันสบายๆ เพราะด้วยสเปกที่ให้มาก็ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ตามระดับราคาของเครื่อง

ในส่วนของกล้องที่ให้มา แม้ว่าจะมีลูกเล่นอย่างกล้องคู่มาให้ด้วย แต่คุณภาพของรูปทีไ่ด้จากกล้องรองที่เป็นเลนส์มุมกว้างนั้น ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เนื่องจากใช้เลนส์ความละเอียดต่ำ เหมือนใส่มาเพื่อให้การถ่ายภาพได้มุมมองที่แปลกไปมากกว่า

ขณะที่ในแง่ของโหมดถ่ายภาพที่ให้มาก็เป็นมาตรฐาน มีทั้งโหมดอัตโนมัติ โหมดโปร ที่เข้าไปตั้ง ISO และ Speed Shutter ได้เอง แต่ถ้าเน้นถ่ายง่ายๆ สนุกๆโหมดอัตโนมัติที่ให้มาก็พอแล้ว ไม่นับรวมกับพวกโหมดพิเศษอย่างพาโนราม่า หรือการถ่ายภาพเป็นไฟล์ GIF

ที่เหลือก็จะเป็นลูกค้าที่มากับ Zen UI ภายใต้ Zen Motion ที่จะมีให้เลือกตั้งค่าอย่างการจับภาพหน้าจอ สามารถกดปุ่ม Recent Apps ค้างไว้เพื่อบันทึกภาพแทน หรือการแตะหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อเปิดปิดหน้าจอ การวาดตัวอักษรบนหน้าจอเพื่อเรียกใช้แอปเป็นต้น

ทดสอบประสิทธิภาพ

Antutu Benchmark = 44,447 คะแนน
Quadrant Standard = 14,760 คะแนน

PassMark PerformanceTest
System = 3513 คะแนน
CPU Tests = 81,572 คะแนน
Memory Tests = 5,267 คะแนน
Disk Tests = 36,236 คะแนน
2D Graphics Tests = 2,446 คะแนน
3D Graphics Tests = 807 คะแนน

3D Mark

Sling Shot Unlimited = 566 คะแนน
Sling Shot Extreme = 296 คะแนน
Sling Shot = 569 คะแนน
Ice Storm Extreme = 5,838 คะแนน
Ice Storm Unlimited = 9,483 คะแนน
Ice Storm = 10,004 คะแนน

PC Mark

Work 2.0 = 3,716 คะแนน
Computer Vision = 1,704 คะแนน
Storage = 3,155 คะแนน
Work = 4,846 คะแนน

Geekbench 4
Single-Core = 656 คะแนน
Multi-Core = 2,493 คะแนน
Compute = 2,129 คะแนน

ขณะที่การทดสอบแบตเตอรีผ่าน PCMark จะอยู่ที่ 15 ชั่วโมง 5 นาที เมื่อแบตเตอรีเหลือ 20% ดังนั้นถ้าใช้งานต่อเนื่องจนถึงแบตหมดเหมือนใช้งานต่อเนื่องได้ทั้งวันสบายๆ หรือถ้าใช้งานทั่วๆไปในแต่ละวัน ก็สามารถอยู่ได้ 2-3 วัน

สรุป

ด้วยการที่เอซุสในซีรีส์เน้นเรื่องแบตเตอรีเป็นหลัก ดังนั้นถ้าอยากได้สมาร์ทโฟนที่แบตอึดๆ ใช้ได้ยาวๆก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในราคาระดับนี้ เพราะโดยรวมกับสเปกที่ให้มาอยู่ในช่วงกลางๆ พอกับการใช้งานทั่วๆไป อย่างใช้โซเชียลมีเดีย แชท เล่นเน็ต ดูซีรีส์ยาวๆ แต่ถ้าจะเอามาเล่นเกมหนักๆ ตัวเครื่องก็จะมีอาการหน่วงอยู่นิดๆ

ข้อดี

– แบตเตอรี 5,000 mAh ที่ใช้ได้ยาวๆ และแชร์แบตให้เพื่อนได้
– มีสาย OTG (แปลง MicroUSB เป็น USB) มาให้ในกล่อง
– มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือให้ใช้งาน
– กล้องหลังคู่ที่เป็นเลนส์มุมกว้าง

ข้อสังเกต

– ประสิทธิภาพตัวเครื่องจะอยู่ในระดับกลางๆ
– กล้องคู่ที่ให้มาคุณภาพไม่ค่อยดี ส่วนกล้องหลักตามราคาเครื่อง
– ZenUI ที่ให้มายังไม่ค่อยเสถียรมากนัก
– ดีไซน์ไม่ได้มีความแปลกใหม่จากรุ่นเดิมมากนัก

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
6.5
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
7
ความสามารถโดยรวม
6.5
ความคุ้มค่า
6.8
SHARE