การออกมาจับกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางถือเป็นทิศทางใหม่ของกลุ่มสามารถ โดยเฉพาะในแบรนด์อย่างสามารถ ไอโมบาย ที่จากเดิมสร้างยอดขายถล่มทลายจากการเป็นเฮาส์แบรนด์ไทย แต่ปัจจุบันตลาดดังกล่าวโดนการแข่งขันที่รุนแรงจากโอเปอเรเตอร์ จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดในตลาด
Blackphone 2 จึงกลายเป็นสมาร์ทโฟนที่กลุ่มสามารถ นำมาใช้ในการเจาะตลาดซิเคียวริตี้โดยเฉพาะ เน้นไปที่ความปลอดภัยของข้อมูลที่อยู่ภายในเครื่องเป็นหลัก แถมด้วยการโทรศัพท์แบบเข้ารหัสผ่านระบบของไซเลนเซอร์เคิล ที่จะเหมาะกับกลุ่มนักธุรกิจ หรือกลุ่มที่ต้องการใช้งานสมาร์ทโฟนแบบปลอดภัย
ในแง่ของสเปก Blackphone 2 ถืงจะไม่ได้อยู่ในระดับไฮเอนด์ แต่ก็ถือว่าเพียงพอกับการใช้งาน เพราะหลักๆแล้วจะเน้นไปที่การเข้ารหัสข้อมูลมากกว่า ไม่ได้เน้นในแง่ของการประมวลผลที่แรงๆ เพื่อการเล่นเกม หรือใช้สำหรับความบันเทิง
การออกแบบ
รูปทรงของ Blackphone 2 จะเน้นไปที่ความเรียบง่าย ตัวเครื่องมีเฉพาะสีดำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความลึกลับ ตรงกับชื่อรุ่นว่าเป็น Blackphone โดยจะมีกระจกครอบทั้งหน้าและหลังเพิ่มความหรูหรา ทำให้ตัวเครื่องติดรอยนิ้วมือได้ค่อนข้างง่าย ขนาดตัวเครื่องจะอยู่ที่ 76.4 x 152.4 x 7.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 165 กรัม
ด้านหน้า – อย่างที่บอกไปว่า Blackphone 2 จะครอบด้วยกระจกหน้า ซึ่งใช้กระจก Gorilla Glass เพื่อเพิ่มความแข็งแรง โดยมีขนาดหน้าจอ 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920 x 1080 พิกเซล) ส่วนบนหน้าจอมีช่องลำโพงสนทนา และกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
ถัดลงมาล่างหน้าจอเป็นปุ่มควบคุมไม่ว่าจะเป็นปุ่มโฮม ปุ่มย้อนกลับ และ Recent Apps ที่สามารถใช้สลับแอปพลิเคชันที่ใช้งาน รวมถึงปิดแอปที่ใช้งานทั้งหมดได้ด้วย ในจุดนี้ผู้ใช้สามารถตั้งเพิ่มเติมได้ว่า จะให้เครื่องดับหน้าจอเมื่อมีการสัมผัสปุ่มโฮม 2 ครั้ง ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน
ด้านหลัง – ก็จะเป็นกระจกเช่นเดียวกัน โดยจะมีสัญลักษณ์ของ Silent CIrcle อยู่ตรงกึ่งกลาง ส่วนมุมบนจะมีกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซลที่ใช้เซ็นเซอร์แบบ BSI พร้อมไฟแฟลขแบบ Dual LED ส่วนล่างบริเวณลำโพงมีสกรีนชื่อรุ่น Blackphone และสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานต่างๆ ตัวเครื่องไม่สามารถถอดฝาหลังได้ ภายในจะมีแบตเตอรี Li-Polymer ขนาด 3,060 mAh รองรับระบบ Quick Charge 2.0
ขอบเครื่อง – จะใช้สีดำด้านเพื่อให้เครื่องดูสวยงามมากขึ้น พร้อมกับความโค้งมนเล็กน้อย โดยทางด้านซ้ายจะถูกปล่อยว่างไว้ ด้านขวา – จะมีปุ่มเปิด–ปิดเครื่อง และปุ่มปรับระดับเสียง ด้านบน – เป็นช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. และไมโครโฟนตัวที่ 2 ด้านล่าง – มีพอร์ตไมโครยูเอสบี และไมค์หลัก
สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องจะมีด้วยกัน 2 กล่อง คือกล่องของตัว Blackphone 2 ที่จะถูกออกแบบมาให้ดูว่าปลอดภัย ด้วยการออกแบบให้ต้องฉีกกล่องเพื่อแกะออกมาใช้งาน รวมถึงแนะนำให้ผู้ใช้งานเช็กให้มั่นใจว่ากล่องไม่ได้ถูกแกะมาก่อน เมื่อถอดกล่องออกมาก็จะพบกับกล่องเล็กๆที่แยกหูฟัง สาย อะเดปเตอร์ (หัวกลม) ตัวเครื่อง และคู่มือออกจากกัน
อีกกล่องคือที่ทาง ซิเคียวเอเชีย (บริษัทลูกของสามารถ–ไอโมบาย ที่นำ Blackphone2 เข้ามาทำตลาด) แถมมาให้ จะประกอบไปด้วยเคสใส ฟิล์มกระจก ใบรับประกัน คู่มือการใช้งาน และอะเดปเตอร์แบบสองขาที่ใช้ได้ง่ายในประเทศไทย
สเปก
Blackphone 2 จะมาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 615 ที่เป็น Octa-Core 1.6 GHz RAM 3 GB พื้นที่เก็บข้อมูลภายในตัวเครื่อง 32 GB รองรับไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติมสูงสุด 128 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 6.0.1 ที่ครอบด้วย Silent OS อีกทีหนึ่ง ด้านการเชื่อมต่อรองรับทั้ง 3G และ 4G ที่ให้บริการในประเทศไทย พร้อมกับ Wifi มาตรฐาน 802.11 b/g/n/ac บลูทูธ 4.0 GPS
ฟีเจอร์เด่น
เนื่องจาก Blackphone 2 จะเน้นไปที่ความปลอดภัยของข้อมูลในการใช้งานเป็นหลัก ดังนั้นจึงได้มีการออกแบบระบบปฏิบัติการ Silent OS ขึ้นมาครอบแอนดรอยด์ เพื่อให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่แน่นอนว่าพื้นฐานของเครื่องก็ยังเป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์อยู่ ดังนั้นการใช้งานจึงไม่ต่างไปมาก
สิ่งแรกที่ควรทำหลังจากเริ่มใช้งานเลยคือการสร้างโปรไฟล์ในการใช้งาน ที่สามารถแยกกันได้ 4 รูปแบบ (Spaces Management) เมื่อมีการแยกโปรไฟล์การใช้งานออกจากกันได้ถึง 4 รูปแบบ ทำให้ผู้ใช้ สามารถล็อกอินใช้ LINE หรือ Facebook ส่วนตัว ได้มากกว่า 1 แอคเคาท์ถือเป็นจุดที่น่าสนใจ
เพราะด้วยสมาร์ทโฟนปกติ ถ้าต้องการใช้งาน LINE หลายแอคเคาท์เป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก รวมถึง Facebook ที่ถ้าต้องการล็อกอินหลายๆแอคเคาท์ในเครื่องเดียวกัน จำเป็นต้องใช้งานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ หรือแอปพลิเคชันอื่นควบคู่กันไป
ทั้งนี้ ในการแยกพื้นที่ใช้งานออกจากกัน ส่งผลให้ผู้ใช้จำเป็นต้องมีการตั้งรหัส เพื่อรักษาความปลอดภัย ที่แยกกันในแต่ละ Space เพื่อทำการล็อกอินเข้าไปในแต่ละพื้นที่ ถือเป็นการสร้างความปลอดภัยในรูปแบบหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ยังเลือกลึกลงไปได้อีกว่าในแต่ละพื้นที่จะตั้งค่าการใช้งานไว้ในรูปแบบใด
โดยจะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบความปลอดภัยคือ Personal Space คือแบ่งพื้นที่การใช้งานส่วนตัวออกมา แบบปกติ จะได้รับการรักษาความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับปกติทั่วไป จากการเข้ารหัสล็อกตัวเครื่อง และการสั่งล้างเครื่องระยะไกลตามปกติ โดยผู้ใช้สามารถสร้าง Personal Space ได้หลายพื้นที่แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 4 รูปแบบ
ถัดมาคือ Silent Space ที่จะสามารถสร้างได้ 1 พื้นที่ต่อ 1 เครื่อง โดยภายใน Silent Space จะกำหนดได้ว่า จะให้รองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายที่เชื่อถือได้เท่านั้น หรือจะเลือกเฉพาะโมบายอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่คาดไม่ถึง
นอกจากนี้ ยังสามารถตั้งได้อีกว่า จะเปิดโหมดการโทรออก รับ–ส่งข้อความ แชร์พิกัด การบันทึกหน้าจอ การใช้งานไมโครโฟน บลูทูธ การติดตั้งแอปพลิเคชัน การแชร์ข้อมูลระหว่างพื้นที่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าต้องการรักษาความลับของข้อมูลขนาดไหน ถ้าใช้งานในพื้นที่นี้ ซึ่งถือเป็นระดับการรักษาความปลอดภัยที่สูงที่สุด
สุดท้ายคือ Managed Space ที่เป็นพื้นที่สำหรับการใช้งานกับภาคองค์กรธุรกิจ ที่สามารถสร้างพื้นที่ขึ้นมาให้พนักงานได้เข้ามาล็อกอินใช้งาน ซึ่งจุดเด่นก็คือส่วนกลางสามารถควบคุมการเข้าถึงข้อมูล และจัดการพื้นที่ใช้งานได้ผ่านอินเทอร์เน็ต
แน่นอนว่า สิ่งสำคัญที่สุดของข้อมูลในสมาร์ทโฟนจะถูกขโมยคือตัวเครื่องหาย หรือถูกขโมย เพื่อให้ระบบของ Silent Circle ปกป้องข้อมูลอย่างสมบูรณ์ ผู้ใช้จำเป็นต้องมีการสมัครบัญชีผู้ใช้กับทาง Silent Circle เพื่อให้สามารถเข้าไปบริหารจัดการเครื่องผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ โดยจะใช้อีเมล และรหัสผ่าน รวมถึงการใช้รหัสยืนยัน (Two-Factor Authentication) เพิ่มอีกครึ่งเพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น
ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มความปลอดภัยในส่วนของการส่งข้อความ ด้วยการใช้งานระบบ Burn Chat ที่ผู้ใช้สามารถสั่งลบข้อความกรณีที่ส่งผิดพลาด หรือตั้งเวลาลบข้อความอัตโนมัติได้สูงสุด 90 วัน เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้มีข้อความหลุดเกิดขึ้นจากการใช้งาน
ส่วนความสามารถของ Silent Phone หรือระบบความปลอดภัยในการโทรระหว่างประเทศ เป็นบริการเสริมที่ช่วยให้ผู้ใช้งาน Blackphone 2 สามารถติดต่อโทรศัพท์แบบเข้ารหัสผ่านการโทรจากอินเทอร์เน็ต โดยให้สิทธิพิเศษลูกค้าใช้งานได้ 100 นาทีต่อเดือน นาน 12 เดือนมาด้วย
ทดสอบประสิทธิภาพ
ในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพนั้น โดยภาพรวมเครื่อง Blackphone 2 ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง คะแนนต่างๆที่ทดสอบออกมาไม่ได้สูงมากนัก อยู่ในระดับเดียวกับสมาร์ทโฟนช่วงมิดเอนด์ ดังนั้นอย่างที่บอกไปว่าเครื่องจะเน้นไปในแง่ของความปลอดภัยมากกว่า
สำหรับระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรี ทดสอบจาก PC Mark ด้วยการเปิดเครื่องให้ทำงานต่อเนื่องเมื่อแบตลดลงมาเหลือที่ 20% จะใช้ได้ราว 8.13 ชั่วโมง ดังนั้นถ้าใช้งานจนแบตหมดก็อาจจะอยู่ใกล้ๆ 9 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าทำได้ค่อนข้างดี
สรุป
Blackphone 2 ถือเป็นสมาร์ทโฟนสำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่เน้นในแง่ของความปลอดภัยของข้อมูลภายในเครื่องเป็นหลัก จากตัวเครื่องที่มีการแยกใช้งานชัดเจนระหว่างการใช้งานทั่วไปกับการใช้เพื่อทำงานโดยเฉพาะ บวกกับการที่มี Silent Phone มาให้ใช้งานช่วยให้สามารถพูดคุยธุระในแบบส่วนตัวได้สะดวกขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ของสเปกการใช้งาน Blackphone 2 ไมไ่ด้เป็นเครื่องในระดับไฮเอนด์มากนัก แต่ก็ถือว่าเพียงพอกับการใช้งานทั่วๆไป ส่วนในแง่ของความสามารถด้านมัลติมีเดียถือว่าไม่ค่อยสมราคาเท่าไหร่ จากคุณภาพของกล้องที่อยู่ในระดับพอใช้
ขณะเดียวกัน ข้อจำกัดในแง่ของการที่ต้องสั่งล้างข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต ถ้าตัวเครื่องถูกถอดซิมการ์ด ทำให้เครื่องไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ผู้ที่ขโมยเครื่องไปแม้ว่าจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ แต่ก็สามารถหาวิธีล้างเครื่องเพื่อนำไปใช้ได้อยู่ดี และที่สำคัญคือห้ามลืมพาสเวิร์ดในการใช้งานเด็ดขาด สำหรับผู้ที่แยกใช้งานหลายบัญชี