ชื่อแบรนด์ของ Coocaa อาจจะไม่คุ้นหูผู้บริโภคชาวไทยนัก เพราะที่ผ่านมาจะทำตลาดโทรทัศน์ภายใต้แบรนด์สกายเวิร์ท แต่พอหันมาทำสมาร์ททีวี ที่อัจฉริยะมากขึ้นด้วยนำระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มาใช้ จึงได้รีแบรนด์ออกมาเป็นน้องใหม่ในชื่อ Coocaa ที่วางโพสิชันเป็นแบรนด์ทีวีคุณภาพสูงราคาจับต้องได้
สำหรับรุ่นที่ทีมงานได้มาทดสอบคือ Coocaa Android Infinity View 40S3A21T ซึ่งเป็นแอนดรอยด์ทีวี ที่ชูจุดเด่นในเรื่องของขอบจอบาง ให้พื้นที่จอแสดงผล 97% ของตัวเครื่อง พร้อมกับความสามารถในการสั่งงานด้วยเสียง จากผู้ช่วยส่วนตัว Google Assistant มาให้ใช้งาน
จุดที่น่าสนใจหลักๆของ Coocaa คือเรื่องของราคาอย่างในรุ่น 40S3A21T ราคาปกติจะอยู่ที่ 13,990 บาท แต่วางจำหน่ายผ่านออนไลน์สโตร์บนลาซาด้า ในราคา 8,400 บาท หรือถ้าขยับไปรุ่นจอใหญ่ขึ้นอย่าง 50 นิ้ว (50Q5) จะอยู่ที่ราว 12,800 บาท ไม่รวมส่วนลดพิเศษเพิ่มเติม
รู้จักแอนดรอยด์ทีวี
ความพิเศษของแอนดรอยด์ทีวี คือการที่ผู้ใช้นอกจากสามารถใช้ในการรับชมโทรทัศน์ผ่านระบบดิจิทัลทีวี หรือเชื่อมต่อสาย HDMI / AV เพื่อต่อกับกล่องเพย์ทีวี และเครื่องเล่นต่างๆได้แล้ว ยังสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มจาก Playstore มาใช้สตรีมมิ่งดูคอนเทนต์ได้ทันที
โดยโปรแกรมพื้นฐานที่ติดตั้งมาให้หลักๆเลยคือ YouTube ผู้ใช้สามารถต่อเน็ตจากโทรทัศน์ แล้วทำการค้นหารายการ หรือช่องโปรดบน YouTube เพื่อรับชมได้ทันที หรือถ้ามีบัญชีกูเกิลอยู่แล้ว ก็สามารถซิงค์ข้อมูลการใช้งานมารับชมต่อได้ทันที
อีกทางเลือกหนึ่งคือ การที่แอนดรอยด์ทีวีเปิดโอกาสให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติมได้ ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกโหลด iFlix หรือโปรแกรมดูหนังต่างๆจากบนเพลยสโตร์มาติดตั้งเพื่อล็อกอินใช้งานได้ ช่วยให้สามารถรับชมคอนเทนต์ได้สบายๆ โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริม
อย่างไรก็ตาม จุดเสียสำคัญของรุ่น 40S3A21T คือ ไม่รองรับการแสดงผลของ Netflix ทั้งการใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน ไปจนถึง Cast จากสมาร์ทโฟนไปฉายบนทีวีก็ไม่ได้ ทำให้ผู้ที่นิยมใช้งาน Netflix อาจจะต้องมองข้ามไปเป็นรุ่นจอ 50 นิ้วแทน ที่สามารถรับชมได้ตามปกติ
ขณะเดียวกัน สิ่งที่พิเศษอีกอย่างใน Coocaa 40S3A21T คือรองรับการใช้งาน Chromecast ภายในตัว ดังนั้น ถ้ามีดีไวซ์ที่อยู่ภายในเครือข่ายเดียวกัน ก็สามารถ Cast หน้าจอจากสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ขึ้นมาแสดงผลบนทีวีได้ทันทีเช่นเดียวกัน
ที่เหลือก็จะเป็นลูกเล่นของ Android TV ที่เพิ่มมาอย่าง Google Assistant ที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัว ช่วยให้สามารถสั่งงานด้วยเสียงได้ ด้วยการพูด Hey Google เข้าไปที่รีโมททีวี ในกรณีที่เชื่อมต่อกับบัญชีของกูเกิลไว้ ก็สามารถใช้ทีวี Coocaa ในการสั่งงานอุปกรณ์ IoT อื่นๆภายในบ้านได้ด้วย
ตัวอย่างคำสั่งเสียงง่ายๆ ที่สามารถสั่งให้ Coocaa ข่วยค้นหาข้อมูลได้ ก็คือให้ค้นภาพสภาพอากาศ สั่งเปิดเพลงจาก Spotify (ในกรณีที่เชื่อมต่อบัญชีใช้งานไว้) เล่น YouTube บันทึกตารางนัดหมายต่างๆ ที่จะเชื่อมต่อกับปฏิทินกูเกิลอยู่แล้ว
ติดตั้ง ต่อเน็ต ใช้งานง่าย
มาถึงตัวแอนดรอยด์ทีวี Coocaa อุปกรณ์ที่ให้มาภายในกล่องนอกจากตัวเครื่องทีวี รีโมทควบคุม และถ่าน มาให้พร้อมใช้งานแล้ว ก็จะมีฐานขาตั้งมาให้ ผู้ใช้สามารถใช้ไขควงยึดติดขากับทีวีได้ทันที หรือถ้าไม่ต้องการตั้งใช้งานก็ใช้คู่กับอุปกรณ์แขวนผนังได้
ตัวเครื่องรุ่นที่ได้มาทดสอบจะเป็น Android TV ขนาดจอ 40 นิ้ว โดยมีขนาดรวมขาตั้งอยู่ที่ 898.7 x 553.1 x 196.7 มิลลิเมตร ถ้านำมาใช้งานในห้องเล็กๆ หรือคอนโด ก็ถือว่าเป็นขนาดที่พอเหมาะ ไม่ใหญ่ หรือเล็กเกินไป
หลังจากที่เสียบปลั๊ก เปิดเครื่องใช้งาน ตัวเครื่องก็จะถามว่าจะให้ดึงข้อมูลจากสมาร์ทโฟนมาช่วยในการตั้งค่าหรือไม่ ถ้ามีแอนดรอยด์โฟน หรือ ไอโฟน ที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน Google Home อยู่แล้วก็สามารถเข้าไปเพิ่มอุปกรณ์ และเชื่อมต่อกับบัญชีที่ใช้งานได้ทันที
เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งค่าก็จะมีให้เลือกเชื่อมต่อไวไฟ หรือถ้ามีสายแลนก็สามารถเสียบเข้ากับหลังตัวเครื่อง เพื่อให้ Coocaa เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้เลย หรือในกรณีที่ยังไม่ต้องการเชื่อมต่อเน็ต ก็สามารถใช้ดูทีวีดิจิทัลได้ จากการที่ตัวเครื่องมีภาครับสัญญาณ DVB-T2 อยู่แล้ว
ช่องเชื่อมต่อครบถ้วน
ด้านหลังเครื่องในส่วนของช่องเชื่อมต่อต่างๆ จะมีพอร์ตอย่างช่องต่อเสาอากาศ ช่องต่อ HDMI 2 พอร์ต ช่องเสียบสายแลน และสายต่อ AV เพื่อใช้กับอุปกรณ์รุ่นเก่า และยังมีช่องเพิ่มเติมอย่าง HDMI อีก 1 พอร์ต และ USB 2.0 1 ช่อง USB 3.0 1 ช่อง อยู่ข้างๆ เครื่องให้เชื่อมต่อได้ง่ายๆ
ดังนั้น ถ้ามองในแง่ของภาพรวม ถือว่าแอนดรอยด์ทีวี Caacaa รุ่นนี้ให้พอร์ตในการเชื่อมต่อต่างๆ มาครบ สามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์เดิมที่มีอยู่ หรือจะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ในอนาคตก็สามารถทำได้
ความสามารถสมาร์ททีวีครบ
ด้วยการที่มีช่องต่อ USB มาให้ ผู้ใช้ก็สามารถเชื่อมต่อกับฮาร์ดดิสก์ หรือแฟลชไดร์ฟที่มีไฟล์รูปภาพ เพลง หนัง เพื่อสั่งเล่นจากทีวีได้ตามพื้นฐานของสมาร์ททีวีกันอยู่แล้ว ที่เหลือก็จะมีฟีเจอร์อย่างเล่นเกม ที่ตัวเครื่องจะมีติดตั้งเกมรถแข่งมาให้ หรือถ้าจะโหลดเพิ่มจากเพลยสโตร์ก็ทำได้เช่นกัน
สรุป
สุดท้ายในประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของการแสดงผล โดยรวมๆ ถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐาน ตามระดับราคาของเครื่อง ทั้งเรื่องของสี ความคมชัด ซึ่งแน่นอนว่าถ้าจะให้ไปเทียบกับเครื่องระดับหลายหมื่นบาท ก็ต้องสู้ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามองในแง่ของความคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป ก็ต้องยอมรับว่าสมเหตุสมผลดี
ส่วนประเด็นเรื่องของ Netflix ที่เครื่องจอ 40 นิ้วเล่นไม่ได้ เนื่องจากตัวเครื่องไม่รองรับ แต่สามารถใช้งานบนเครื่องขนาด 50 นิ้วได้ ก็เป็นทางเลือกในการตัดสินใจของผู้บริโภคแล้วว่า จะขยับขึ้นไปเล่นตัวจอ 50 นิ้วแทน เพื่อให้ดู Netflix ได้หรือไม่