Review : Dell XPS 13 2-1 (2019) จอสวย ใช้งานได้หลากหลาย

15560

เมื่อถึงเวลาที่ Intel ส่งซีพียูรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด บรรดาผู้ผลิตโน้ตบุ๊กก็หันมาอัปเกรดไลน์สินค้าเดิมด้วยซีพียูรุ่นใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเครื่องให้สูงขึ้น และในขณะเดียวกันก็ปรับในเรื่องของการประหยัดพลังงาน และระบายความร้อนไปในตัว

Dell XPS 13 2-1 ถือเป็นอีกหนึ่งโน้ตบุ๊กรุ่นเด่นของเดลล์ ที่ออกมาจับตลาดกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นผู้บริหารระดับสูง และกลุ่มผู้ที่ต้องการโน้ตบุ๊กบางเบาพกพาง่าย มากความสามารถ มาใช้งาน ด้วยการวางตัวอยู่ในระดับพรีเมียม ทั้งในแง่ของสเปก ดีไซน์ และรูปแบบการใช้งาน

ที่ผ่านมา Dell XPS 13 ได้รับการตอบรับที่ดีในเรื่องของขนาดตัวเครื่องที่บางเบาอยู่แล้ว ต่อมาพัฒขึ้นมาในเรื่องของการปรับมุมมองในการใช้งานที่ปัจจุบันรุ่น 2-in-1 สามารถพับหน้าจอแบบ 360 องศา มาใช้งานเป็นแท็บเล็ตได้ด้วย และแน่นอนว่ามากับหน้าจอแบบทัชสกรีนด้วย

ข้อดี

  • โน้ตบุ๊ก 2-1 บางเบา พกพาง่าย
  • มีพอร์ต Thunderbolt 3 (USB-C) ให้ใช้งาน 2 พอร์ต และช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ด
  • รักษาความปลอดภัยด้วย Windows Hello ร่วมกับเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ
  • หน้าจอ 4K ความละเอียดสูง รองรับทัชสกรีน

ข้อสังเกต

  • ราคาค่อนข้างสูง
  • ประสิทธิภาพเหมาะกับการใช้งานทั่วๆไป

เครื่อง 2-1 ระดับพรีเมียม

ถ้านับย้อนไปตั้งแต่เดลล์ ทำตลาด XPS 13 2-1 ออกมาคือย้อนไปในปี 2017 หรือราว 3-4 ปีที่ผ่าน การออกรุ่นอัปเกรดในปีนี้ นอกจากการปรับปรุงประสิทธิภาพตัวเครื่องให้ดีขึ้นแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของสัดส่วนหน้าจอที่ปรับมาเป็น 16:10 ให้ความละเอียดสูงสุดขึ้นเป็น UHD เช่นเดียวกับสเปกซีพียูที่มีให้เลือกระหว่าง Core i5 และ Core i7 ที่เป็น Intel Gen 10

ความสามารถหลักของ Dell XPS 13 2-1 คือการที่ตัวเครื่องสามารถเปิดใช้งานได้ทั้งในรูปแบบของโน้ตบุ๊กฝาพับปกติ หรือหมุนหน้าจอกลับให้กลายเป็นแท็บเล็ตเพื่อถือใช้งานได้ หรือจะใช้งานในรูปแบบของสแตน หรือเปิดจอแบนราบ 180 องศา ก็ได้

ขนาดของตัวเครื่องจะอยู่ที่ 296 x 207 x 7-13 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1.33 กิโลกรัม โดยวัสดุที่เดลล์นำมาใช้คืออะลูมิเนียมแผ่นเดียวที่นำมาเจาะ และตัดเพื่อความแข็งแรงของตัวเครื่อง ร่วมกับกระจก Corning Gorilla Glass 5 และขอบเครื่องจะมีการเจียรแบบ Diamond cut

โดย XPS13 2-1 ที่ได้มาทดสอบนี้ จะเป็นรุ่นที่มากับหน้าจอขนาด 13.4 นิ้ว ความละเอียด UHD+ 3840 x 2400 พิกเซล ที่ปรับขอบจอให้บางลง พร้อมกับซ่อนกล้องหน้าไว้ที่ขอบจอบนเพื่อใช้สำหรับการปลดล็อกด้วยใบหน้า และใช้งานวิดีโอคอล

ในส่วนของขาพับตัวเครื่อง เนื่องจากสามารถเปิดหน้าจอพับกลับไปได้ 360 องศา ทำให้ออกแบบเป็นข้อต่อที่ยืดออกมาเล็กน้อยเมื่อเปิดหน้าจอขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าทางเดลล์ได้ทนสอบความทนทานของข้อต่อนี้แล้วให้สามารถบิดพับไปมาได้แข็งแรงกว่ารุ่นปกติทั่วไป

ตามมาด้วยส่วนของคีย์บอร์ด ที่เดลล์เรียกว่า MagLev ซึ่งพัฒนาให้มีขนาดบางลง 24%  เมื่อเทียบกับคีย์บอร์ดทั่วไป หรือลดลงเหลือ 1.3 มิลลิเมตร ทำให้มีพื้นที่ทัชแพดใหญ่ขึ้น 19% โดยที่ขนาดของคีย์บอร์ดอยู่ในระดับมาตรฐานทั่วไป

ส่วนพอร์ตเชื่อมต่อที่ให้มา ทางซ้าย และขวา จะมีพอร์ต Thunderbolt 3 ให้ใช้งาน เสริมด้วยช่องอ่านไมโครเอสดีการ์ดทางฝั่งซ้าย และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ทางฝั่งขวา ซึ่งการที่ให้พอร์ตมาเป็น Thunderbolt 3 แปลว่าสามารถชาร์จแบตได้จากพอร์ตทั้ง 2 ฝั่ง รวมถึงเชื่อมต่อกับจอภายนอกได้ด้วย

สำหรับสเปกภายในของ XPS 13 2-1 จะมากับหน่วยประมวลผล Intel Core i7 Gen 10 (1065G7) 3.9 GHz RAM 16 GB SSD 512 GB กราฟิกการ์ดออนบอร์ด Intel UHD ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Windows 10

จุดที่น่าสนใจของรุ่นนี้คือมาพร้อมการเชื่อมต่อบน Wi-Fi 6 หรือ 802.11ax จากชิปเซ็ต Killer AX1650 ที่สามารถรับสัญญาณไวไฟได้ความเร็วระดับ 1 Gbps ที่เริ่มให้บริการแล้วในประเทศไทย และยังมากับบลูทูธ 5.0 อีกด้วย

Gallery

จอสวย ใช้งานครบถ้วน

อีกหนึ่งจุดที่ Dell XPS 13 2-1 ทำได้น่าประทับใจเหมือนเสมอมาคือเรื่องของการแสดงผล ที่ในคราวนี้เลือกใช้จอแสดงผลที่ให้ความละเอียดสูง UHD+ มาใช้งาน และผ่านมาตรฐาน HDR400 รองรับการแสดงผลสี DCI P3 อัตราคอนทราสต์อยู่ที่ 1500:1 ให้ความสว่างต่อเนื่องที่ 500 nit พร้อมจอแบบตัดแสงสะท้อน

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเทคโนโลยีอย่าง Dell Eyesafe มาช่วยถนอมสายตาผู้ใช้ ด้วยการลดการแสดงผลแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายกับดวงตา แต่ยังให้ภาพที่สดใสเหมือนเดิม ทำให้กลายเป็นหนึ่งในโน้ตบุ๊กที่จอสวยที่สุดเวลานี้ก็ว่าได้

ที่สำคัญหน้าจอทัชสกรีนยังรองรับการทำงานร่วมกับ Dell Premium Active Pen ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบการจดบันทึกบนแท็บเล็ต ทำงานได้สะดวกขึ้น โดยปากการองรับแรงกดถึง 4096 ระดับ

ส่วนของแบตเตอรีในการใช้งานต่อเนื่อง เดลล์เคลมว่าสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องราว 10 ชั่วโมง เมื่อใช้งานทั่วไป แต่ถ้าเป็นการใช้รับชมภาพยนต์ผ่านสตรีมมิ่งจะอยู่ที่ราว 7 ชั่วโมง 24 นาที ซึ่งเท่าที่ทดสอบใช้งานก็จะใกล้เคียงกับเวลาที่เคลมไว้

ความสะดวกอีกอย่างของ XPS 13 2-1 คือการที่มากับ Windows Hello ที่นอกจากรองรับการปลดล็อกด้วยใบหน้าแล้ว ยังสามารถใช้ระบบสแกนลายนิ้วมือที่อยู่บริเวณมุมขวาบนของคีย์บอร์ด และเป็นปุ่มเปิดปิดเครื่องไปในตัวได้ด้วย

อะเดปเตอร์ชาร์จที่ให้มาเป็นพอร์ต USB-C ที่พกพาง่ายเหมือนเดิม เพราะสามารถพันสายเก็บรอบตัวอะเดปเตอร์ได้

ถ้าเป็นผู้ที่ใช้แป้นควบคุมทิศทางบ่อยๆ ใน MegLev คีย์บอร์ดของเครื่องรุ่นนี้ อาจจะใช้งานยากสักหน่อย เพราะปุ่มควบคุมทิศทางมีขนาดเล็ก และมีการแทรกปุ่ม Page Up Page Down มาไว้ข้างๆ ทำให้กดผิดเป็นประจำ

ทดสอบประสิทธิภาพ

สำหรับการทดสอบตัวเครื่องผ่านโปรแกรมเทสต่างๆ อย่าง PCmark10 3Dmark และ Geekbench ให้ผลออกมาน่าพอใจ ในระดับของโน้ตบุ๊กทำงานที่บางเบา แต่ไม่ได้เน้นการประมวลผลหนักๆ หรือนำไปเล่นเกม

สรุป

ด้วยการที่เป็นโน้ตบุ๊กรุ่นที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะทาง จากระดับราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้ XPS 13 2-1 จะเป็นตัวเลือกให้ผู้บริหารระดับสูง หรือนักธุรกิจที่ต้องการความคล่องตัวในการใช้งานเป็นหลัก และรองรับการใช้งานในโหมดแท็บเล็ต เพื่อคอมเมนต์งาน หรือเข้าถึงคอนเทนต์ต่างๆ

แต่ถ้ามองหาโน้ตบุ๊กเครื่องบาง อาจจะหันไปมอง XPS 13 รุ่นธรรมดา น่าจะตอบโจทย์การใช้งานโดยรวมในราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น แต่ก็แลกกับการที่ไม่สามารถเปลี่ยนมาใช้เป็นโหมดแท็บเล็ตได้

โดยเดลล์ได้นำเข้ามาทำตลาดในไทย 2 สเปกด้วยกันคือ Intel Core i5 RAM 8 GB SSD 256 GB จอ Full HD+ ในราคา 69,990 บาท ส่วนรุ่นที่นำมาทดสอบคือ Core i7 จอ UHD+ จะอยู่ที่ 89,990 บาท และแน่นอนว่ามากับการรับประกัน On-Site ระดับพรีเมียม 3 ปี

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น