เมื่ออุปกรณ์ช่วยวัดอัตราการเต้นของหัวใจเริ่มกลายเป็นแอสแซสเซอรี่ประจำตัวผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย Fitbit ในฐานที่เป็นแบรนด์แรกๆที่เริ่มจับพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้ากลุ่มนี้ จึงเริ่มปรับตัวให้เข้ายุคสมัยมากยิ่งขึ้น ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูทันสมัย เข้ากับแฟชันมากขึ้น เพื่อให้สามารถใส่ใช้งานในชีวิตประจำวันได้
สิ่งที่ทำให้ Fitbit Blaze น่าสนใจคือ หน้าปัดแสดงผลที่ให้สีสรรกับความคมชัดมากยิ่งขึ้น พัฒนาขึ้นจากรุ่นเดิมอย่าง Surge ที่เป็นเพียงจอขาวดำที่ให้ความละเอียดเป็นแบบเม็ดพิกเซล พร้อมกับมีการเพิ่มความสามารถใหม่อย่าง FitStar เข้ามาช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้ออกกำลังกายมากขึ้น แต่ด้วยความที่ต้องการให้เครื่องบางลงจึงมีการตัดฟังก์ชันอย่างระบบระบุพิกัดออกไป
การออกแบบ
Fitbit Blaze จะชูในเรื่องของตัวเรือนหลักๆเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่สามารถถอดออกจากกรอบได้ โดยจะมีหน้าจอทัชสกรีนที่ใช้กระจก Gorilla GLass 3 ขนาด 1.25 นิ้ว ความละเอียด 240 x 180 พิกเซล ล่างหน้าจอมีสกรีนยี่ห้อ ‘Fitbit’ สีเงินไว้ โดยจะมีปุ่มย้อนกลับอยู่ทางฝั่งซ้าย และอีก 2 ปุ่มสำหรับสั่งงานอยู่ทางขวา ไว้ใช้กดเลือกเมนูต่างๆ
เมื่อพลิกตัวเรือนขึ้นมาจะพบกับเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ที่ใช้เทคโนโลยี PurePulse ถัดมาเป็นแถบสำหรับชาร์จตัวเรือน โดยการชาร์จจำเป็นต้องถอดตัวเรือนออกมาจากกรอบ แล้วนำเข้าไปไว้ในกรอบสายชาร์จแทน โดยใช้การชาร์จร่วมกับอะแดปเตอร์ยูเอสบี
ในส่วนของสายที่ให้มาด้วยจะเป็นสายสำหรับออกกำลังกายที่เรียกว่าอีลาสโตเมอร์แบบคลาสสิค ที่มีให้เลือก 3 สีคือ ดำ น้ำเงิน และม่วงเข้ม โดยสีที่ทีมงานได้มาทดสอบคือสีดำ ที่จะมีกรอบสีเงินไว้ใส่ตัวเรือนเข้าไป ก็จะกลายเป็นนาฬิกาข้อมือไว้ใช้งานได้
สำหรับขนาดของสายจะมีให้เลือกด้วยกัน 3 ขนาดคือ S 140 – 170 มิลลิเมตร L 170 – 206 มิลลิเมตร และ LL 206 – 236 มิลลิเมตร โดยในส่วนของสายสามารถซื้อเพิ่มได้ในราคา 1,290 บาท นอกจากนี้ ก็จะมีสายหนังขายพร้อมกับกรอบหน้าปัดสแตนเลสในราคา 3,990 บาท (สีดำ สีเทาหมอก และสีน้ำตาลอ่อน) สุดท้ายคือสายสแตนเลส คู่กับกรอบหน้าปัดสีเงินราคา 5,190 บาท
ภายในกล่องที่ให้มาจะประกอบไปด้วย ตัวนาฬิกา Fitbit Blaze สายชาร์จ อแดปเตอร์เชื่อมต่อข้อมูลกับพีซี และคู่มือการใช้งาน
ฟีเจอร์เด่น
ถ้ามองที่เฉพาะตัวเรือน Blaze จะมีความสามารถหลักๆคือเป็นนาฬิกาหน้าจอสัมผัส ผู้ใช้สามารถเลือกตัวแสดงผลข้อมูลด้านล่างได้ว่าจะให้แสดงผลก้าวเดิน ปริมาณแคลอรี่ที่เผาผลานไป ระยะที่เดิน จำนวนขั้นบันไดที่ขึ้น วันที่ และอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งผู้ใช้สามารถกดเข้าไปดูรวมๆได้ในโหมด Today ด้วยการปาดจากขวาไปซ้ายที่หน้าจอ
ถัดมาจะเป็นโหมด Exercise ที่ผู้ใช้สามารถเลือก 8 กิจกรรมที่ใช้งานบ่อย (เลือกจากในแอปฯ) อย่างการวิ่ง ขี่จักรยาน เดินเขา เล่นฟิตเนส และอื่นๆ เมื่อผู้ใช้เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนแล้วตัว Blaze ก็จะสามารถใช้การบันทึกพิกัดขณะออกกำลังกายได้ โดยถ้าเลือกกิจกรรมอย่างวิ่ง หรือปั่นจักรยาน จะมีหน้าจอแสดงขึ้นมาว่ากำลังเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน หลังจากเชื่อมต่อเสร็จแล้วตัวนาฬิกาก็จะบันทึกข้อมูลร่วมกับพิกัดบนสมาร์ทโฟนเพื่อคำนวนความเร็วได้ด้วย
ทั้งนี้ หน้าจอขณะออกกำลังกายผู้ใช้สามารถเลือกแสดงผล HR ความเร็วต่อชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ย ปริมาณแคลอรี่ เวลา และระยะเวลาออกกำลังกาย พร้อมกับระยะทางรวม โดยสามารถกดพักได้ด้วยปุ่มขวาล่าง เมื่อกดแล้วต้องการออกกำลังกายก็ต่อกดปุ่มเดิมซ้ำเพื่อเริ่ม หรือถ้าต้องการหยุดก็กดที่ปุ่มขวาบนแทน ตัวเครื่องก็จะแสดงผลรวมการออกกำลังกายเมื่อสักครู่แทน
นอกจากนี้ การใช้งาน Blaze ให้ได้เต็มประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชัน Fitbit ที่จะคอยเก็บข้อมูลผู้ใช้ในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถย้อนดูได้ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเดิน ระยะเวลานอน ช่วงเวลาออกกำลังกาย ขณะเดียวกันเมื่อซิงค์ข้อมูลขึ้นไปเก็บไว้บนเซิฟร์เวอร์ของ Fitbit แล้วก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดที่มากขึ้นทางหน้าเว็บไซต์ได้ด้วย
ถัดมาเป็นฟังก์ชันใหม่อย่าง FitStar ที่เป็นโหมดออกกำลังแบบง่ายๆ ให้ผู้ใช้สร้างความฟิต แบ่งเป็น 3 โหมดคือ Warm IT Up ที่ใช้ระยะเวลา 8 นาทีในการวอร์มร่างกายก่อนออกกำลังกาย ถัดมาเป็น 7 Minute Workout การออกกำลังกาย 13 ท่าภายในระยะเวลา 7 นาที ที่ให้ร่างกายทุกส่วนได้ขยับ และสุดท้าย 10 Minute Abs ที่เป็นท่าออกกำลังช่วงหน้าท้องให้แข็งแรง
ภายในแต่ละโหมดของ FitStar ก็จะแสดงรูปพร้อมท่าทางให้ทำพร้อมไปกับการจับเวลา เมื่อทำครบเซ็ตก็เทียบกับจบ 1 โหมดในการออกกำลัง เพียงแต่ในเบื่องต้นยังมีอยู่เพียง 3 โหมดเท่านั้น แต่เชื่อว่าในอนาคตจะมีโหมดเพิ่มเติมเข้ามาให้ผู้ใช้เลือกได้มากขึ้น
ส่วนเมนูหลักๆที่เหลือก็จะเป็นโหมดอย่างนาฬิกาจับเวลา และนาฬิกานับเวลาถอยหลัง กับโหมดนาฬิกาปลุก
สุดท้ายในส่วนของโหมดการตั้งค่าจะมีให้เลือกว่าจะเปิดใช้งาน Quick View (หน้าจอติดอัตโนมัติเมื่อยกแขนขึ้นมา) ปรับความสว่างหน้าจอ เลือกการเชื่อมต่อบลูทูธแบบคลาสสิค (ใช้สำหรับกรณีที่ต้องการควบคุมเครื่องเล่นเพลงบนมือถือ) ตั้งเปิด–ปิดการทำงานของ HR ที่เหลือก็จะเป็นแสดงเวอร์ชันของเครื่อง และปิดเครื่อง
ขณะเดียวันทาง Fitbit ยังมีการอัปเดตตัวแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มฟังก์ชันอย่าง Hourly Activity ที่จะนับช่วงเวลาที่มีการขยับเคลื่อนไหวเกิน 250 ก้าว ในแต่ละวันตามช่วงเวลาที่กำหนด เมื่อเคลื่อนไหวครบก็จะขึ้นแสดง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้นกว่าเดิม
สรุป
ด้วยความสามารถหลักของ Blaze จะเน้นไปที่การนับก้าว วัดนอน จับอัตราการเต้นของหัวใจ ร่วมไปกับฟังก์ชันพิเศษของทาง Fitbit เล็กๆน้อยๆ ดังนั้นจึงไม่ได้เหมาะกับผู้ที่ต้องการนำมาเป็นอุปกรณ์เสริมคู่กายในการออกกำลังมากนักเพราะตัวเครื่องไม่รองรับการจับ GPS แต่จะเน้นที่การใช้งานในชีวิตประจำวันมากกว่า
เมื่อมองไปถึงราคาจำหน่ายที่ 8,990 บาท ก็อาจจะทำให้ต้องคิดเพิ่มขึ้นสักหน่อย เพราะถ้ามองในแง่ของการเป็น Smart Watch ตัว Blaze ก็ทำหน้าที่ได้เพียงบางส่วน เพราะตัวเครื่องแม้จะรองรับการแจ้งเตือน แต่ยังไม่รองรับภาษาไทย และจะเน้นไปที่โทรศัพท์ ข้อความ ยังไม่รวมถึงการสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ
อย่างไรก็ตามถ้านำมาใช้กับการออกกำลังกายทั่วๆไป อย่างวิ่งบนลู่ หรือใช้ร่วมกับการฟิตเนส หรือออกกำลังกายเล็กๆน้อยๆ Blaze ก็ถือว่าเหมาะสมอยู่ เพราะด้วยน้ำหนักตัวเรือนที่ไม่หนักมาก ทำให้ไม่รู้สึกหนักตอนใส่ กับระยะเวลาการใช้งานต่อการชาร์จ 1 ครั้งที่ใช้ได้เกือบสัปดาห์ถือว่าเป็นอีกจุดเด่นที่น่าสนใจ