Fitbit Charge 2 ถือเป็นรุ่นที่ 2 ต่อจาก Fitbit Charge ที่ฟิตบิทผลิตออกมาจับตลาดกลุ่มผู้ใช้งานที่รักสุขภาพ ที่มี Health Conscious ด้วยการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากรุ่นเดิมที่เน้นการวัดกิจกรรมต่างๆ มาเพิ่มด้วยฟังก์ชันการตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ ที่ช่วยบอกถึงสุขภาพของผู้ใช้ได้การเก็บสถิติได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาใน Charge 2 ซึ่งถือเป็นสายวัดข้อมือสุขภาพในกลุ่มผู้ใช้ระดับกลางของฟิตบิท คือการเพิ่มเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสลับเปลี่ยนสายรัดสีต่างๆได้ และมีฟังก์ชันในการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อบันทึกพิกัด GPS เพิ่มเติมเข้ามา
การออกแบบ
ด้วยการที่ต้องออกแบบให้เป็นอุปกรณ์สวมใส่แทนนาฬิกา เพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน ทำให้ Charge 2 มีขนาดที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย เพื่อให้มีส่วนของจอแสดงผลเพิ่มเติม ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แสดงรายละเอียดต่างๆได้เพิ่มมากขึ้น
โดย Charge 2 จะมีให้เลือก 6 สี คือ ดำ ม่วง น้ำเงิน ฟ้าอมเขียว เทาดำ และโรสโกลด์ มีให้เลือก 3 ขนาด คือ Small สำหรับขนาดข้อมือ 5.5 – 6.5 นิ้ว Large 6.5 – 7.7 นิ้ว และ XL 7.7 – 8.9 นิ้ว ที่จะมีเฉพาะสีดำ และจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น
สิ่งที่เห็นชัดเจนมากที่สุดของ Charge 2 คือตัวหน้าจอแสดงผลที่เป็นจอแบบ OLED มีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับ Charge รุ่นก่อนหน้าราว 4 เท่า ทำหน้าที่ในการแสดงผลข้อมูลต่างๆ โดยใช้การสั่งงานด้วยปุ่มกดทางด้านซ้าย ควบคู่กับการแตะให้หน้าจอสั่นเพื่อรับสัมผัส
ด้านหลังตัวเรือนจะมีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ตรงกลาง และมีหน้าสัมผัสสำหรับชาร์จ และชิงค์ข้อมูลตัวเครื่องกับคอมพิวเตอร์ ผ่านสายยูเอสบีอยู่ ดังนั้น ในการใช้งานจึงสามารถใช้เชื่อมต่อได้ทั้งบลูทูธกับสมาร์ทโฟน หรือจะเลือกซิงค์ผ่านสายยูเอสบีกับคอมพิวเตอร์ก็ได้เช่นเดียวกัน
โดยผู้ใช้สามารถพลิกสายขึ้นมาเพื่อปลดล็อกสายออกจากตัวเครื่องได้ เพื่อนำมาทำความละเอียด หรือเปลี่ยนสีสายให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งบริเวณข้อต่อจะใช้เป็นโลหะ ทำให้มีความแข็งแรง เมื่อถอดออกมาแล้วก็จะเหลือแค่ตัวเครื่องที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก
ส่วนวิธีการชาร์จจะใช้อะเดปเตอร์เฉพาะ ที่เชื่อมต่อกับพอร์ตยูเอสบีทั่วไป ทำการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ เมื่อลงล็อกเรียบร้อยตัวเครื่องก็จะทำการชาร์จไฟทันที
สเปก
สำหรับสเปกคร่าวๆของ Fitbit Charge 2 จะประกอบด้วยเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว (3-axis accelerometer) เครื่องวัดระดับความสูง (Altimeter) และมอเตอร์ระบบสั่น แบตเตอรี Li-Polymer สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 5 วัน ใช้ระยะเวลาชาร์จประมาณ 1-2 ชั่วโมง นอกจากนี้ ตัวเรือนยังกันละอองน้ำได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถใส่อาบน้ำ หรือว่ายน้ำได้
ฟีเจอร์เด่น
จุดเด่นของ Charge 2 ที่เพิ่มขึ้นมา คือการมีหน้าจอแสดงผลเพิ่มเข้ามา เมื่อเทียบกับรุ่นเดิม ทำให้ผู้ใช้สามารถสั่งงานอุปกรณ์ได้สะดวกขึ้นกว่าเดิม โดยไม่จำเป็นต้องใช้การกดผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน กับความสามารถในส่วนของการวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นมา
การสั่งงานของ Charge 2 ทำได้ด้วยการกดปุ่มทางด้านซ้าย (ทั้งเครื่องมีปุ่มเดียว) เพื่อเลือกโหมด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงผลนาฬิกา (หน้าจอหลัก) โดยในหน้าจอนี้ สามารถแตะที่ตัวเครื่องเพื่อเปลี่ยนการแสดงผลรายละเอียดย่อยอย่างจำนวนก้าว อัตราการเต้นของหัวใจ ปริมาณแคลอรี่ที่เผาผลาน ระยะ จำนวนชั้นที่เดินขึ้น และเวลาที่มีการเคลื่อนไหว
โหมดถัดมาคือ โหมดวัดอัตราการเต้นของหัวใจ โหมดเลือกชนิดกีฬาที่อกกำลัง (แตะที่ตัวเครื่องเพื่อสลับประเภทกีฬา) เมื่อเลือกประเภทได้แล้ว ให้กดปุ่มค้างเพื่อเริ่มออกกำลัง และกดค้างอีกครั้งเพื่อสิ้นสุด ในจุดนี้ถ้าเป็นกีฬาที่มีการเก็บเส้นทาง ตัวเครื่องก็จะทำการซิงค์กับ GPS บนสมาร์ทโฟนให้อัตโนมัติ
นอกจากนี้ ก็จะมีในส่วนของนาฬิกาจับเวลา และระบบใหม่ล่าสุดคือ แนะนำการหายใจเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย โดยสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ระยะเวลากี่นาที อย่าง 2 นาที 5 นาทีเป็นต้น หลังจากนั้นตัวเครื่องก็จะทำการวัดการหายใจเข้า ออก โดยมีกราฟิกแสดงบนหน้าจอให้ผู้ใช้หายใจตาม
แน่นอนว่าเมื่อมีการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ก็จะได้ในส่วนของการแจ้งเตือนไม่ว่าจะเป็น สายเรียกเข้า ข้อความ และปฏิทินนัดหมาย เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังไม่ได้ถูกพัฒนาให้รองรับภาษาไทย ดังนั้นจะแสดงผลแต่ข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น
ส่วนฟีเจอร์ที่เหลืออื่นๆ ก็จะทำการซิงค์ข้อมูลกับแอปพลิเคชันของ Fitbit ที่มีการพัฒนาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ให้แสดงผลได้ละเอียดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัดก้าวเดิน การนอน การออกกำลัง ที่สามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันภายนอกได้ รวมถึงการบันทึกข้อมูลอาหารที่รับประทาน เพื่อใช้ในการควบคุมน้ำหนักเป็นต้น
สรุป
ถ้ากำลังมองหาอุปกรณ์ที่มาช่วยในการเก็บข้อมูลการใช้ชีวิตประจำวัน Charge 2 ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ จากการที่ฟิตบิท มีการพัฒนาตัวแอปพลิเคชันให้ฉลาดขึ้น ด้วยการตรวจจับกิจกรรมต่างๆอัตโนมัติไม่ว่าจะเป็นการออกกำลัง การนอนต่างๆ ทำให้ผู้ใช้ไม่ยุ่งยากในการใช้งาน ประกอบกับการที่ตัวเครื่องมีเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจมาให้ด้วยจึงถือว่าครบเครื่องมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับราคาที่อยู่ราว 7,490 บาท อาจจะถือว่าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับฟิตเนส แทร็กเกอร์ แบรนด์จีนที่เริ่มทยอยเข้ามาทำตลาด แต่ด้วยการที่ฟิตบิท มีตัวแอปพลิเคชันที่พร้อมกว่า ทำให้เมื่อได้ใช้งานแล้วจะทราบว่า ตัวระบบที่ทำการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สำคัญกว่าตัวอุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลในระยะยาวอย่างแน่นอน