Review : Fitbit Ionic เมื่อฟิตบิทขอทำสมาร์ทวอทช์เพื่อสุขภาพ

2816

ด้วยชื่อแบรนด์ของฟิตบิท (Fitbit) ที่ถือเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดอุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพ (Wearable Device) ที่มีการออกผลิตภัณฑ์อย่างสายรัดข้อมือวัดจำนวนก้าว วัดการนอน เพื่อใส่ใช้งานในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงใส่เพื่อออกกำลังกายครอบคลุมระดับราคาตั้งแต่ไม่กี่พันบาทไปจนถึงเกือบหมื่นบาท

จนมาล่าสุด Fitbit หันมาเจาะตลาดในกลุ่มสมาร์ทวอทช์ (Smart Watch) ด้วยการเพิ่มสินค้าในซีรีส์ใหม่ขึ้นมาอย่าง Ionic ที่วางตัวมาเป็นนาฬิกาอัจฉริยะ ที่เชื่อมต่อเข้ากับอีโคซิสเตมส์ของ Fitbit ในการนำเสนอ และเก็บข้อมูลสุขภาพต่างๆของผู้ใช้ออกมาในช่วงระดับราคาหมื่นต้นๆ

ทำให้ปัจจุบัน Fitbit มีสินค้าให้เลือกตั้งแต่รุ่นเล็กอย่าง Flex Alta  Charge Surge และ Ionic รวมถึงรุ่นที่กำลังจะเปิดตัวในไทยอย่าง Versa ไม่นับรวมกับอุปกรณ์อื่นๆอย่างเครื่องชั่งน้ำหนัก และหูฟัง ที่ถือเป็นอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมเข้ามา

ข้อดี

นาฬิกาข้อมือวัดสุขภาพที่มากับ GPS ภายในตัว

แบตเตอรีใช้งานได้ 4-5 วัน ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง (10 ชั่วโมง ถ้าจับการออกกำลังกาย)

กันน้ำ 50 เมตร พร้อมตรวจจับการว่ายน้ำได้

อีโคซิสเตมส์ของ Fitbit Apps ที่สามารถบันทึกได้ทั้งอาหาร น้ำ ใส่ตารางออกกำลัง

ข้อสังเกต

ยังไม่รองรับการแสดงผลภาษาไทย

ราคาค่อนข้างสูง (ใกล้เคียงกับ Apple Watch Series 3)

การลงเพลงยังต้องใช้งานคู่กับพีซี

Gallery

มีอะไรเด่นใน Fitbit Ionic

จุดเด่นหลักที่ Fitbit Ionic นำเสนอคือเรื่องของการมีผู้ช่วยส่วนตัวในการใช้งาน ที่จะคอยทั้งแนะนำการออกกำลังกาย เลือกฟังเพลงโปรด รวมถึงฟีเจอร์พื้นฐานอย่างการวัดอัตราการเต้นหัวใจ วัดกิจกรรมต่างๆที่ทำในแต่ละวัน โดยภายในตัวเครื่องจะมีการติดตั้ง GPS มาให้ด้วย

ขณะเดียวกัน ยังชูจุดเด่นในเรื่องของการใส่ Ionic เพื่อวัดขณะว่ายน้ำได้ เพิ่มขึ้นมาจากรุ่นก่อนๆที่ยังไม่รองรับรูปแบบการออกกำลังดังกล่าว ที่เหลือก็คือฟังก์ชันพื้นฐานอย่างการวัดกิจวัตรประจำวัน การเตือนให้ขยับร่างกาย รองรับการตรวจจับรูปแบบการออกกำลังกายอัตโนมัติ วัดระดับการนอน

ส่วนที่เป็นฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับการเป็นสมาร์ทวอทช์ ก็จะมีการที่ตัว Iomic สามารถเก็บเพลงไว้ในเครื่องได้สูงถึง 300 เพลง โดยสามารถใช้เชื่อมต่อกับหูฟังบลูทูธ เพื่อฟังเพลงขณะออกกำลังกายได้ โดยไม่ต้องพกสมาร์ทโฟนไว้ใกล้ๆ

ถัดมาคือระบบการแจ้งเตือนทั้งการโทร ข้อความ ตารางนัดหมายต่างๆ แต่ที่น่าเสียดายคือปัจจุบันยังไม่รองรับการแสดงผลภาษาไทย (Fitbit ระบุว่ากำลังพัฒนาอยู่) นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับแอปอื่นๆที่ใช้ในการบันทึกการออกกำลังกายได้ อย่างพวก Strava ที่ใช้บันทึกการวิ่ง และปั่นจักรยาน

นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันอย่าง การเปลี่ยนรูปแบบหน้าปัดแสดงผลที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้ และอีกฟีเจอร์ที่แม้จะยังไม่สามารถใช้งานในไทยได้ แต่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีว่าเริ่มมีอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างการจ่ายเงินผ่านเทคโนโลยี NFC

อัด 8 เซ็นเซอร์ไว้ในตัวเครื่องเดียว 

ความสามารถคร่าวๆของ Fitbit Ionic ตัวเครื่องจะมากับดีไซน์แบบ unibody โดยเป็นอะลูมิเนียมเกรด 6000 เหมือนกับที่ใช้กับยานอวกาศชิ้นเดียวที่ภายในใส่เซ็นเซอร์ตรวจจับต่างๆมาให้ 8 ชนิด กันน้ำระดับ 50 เมตร หน้าจอแสดงผลให้ความสว่างสูงถึง 1000 nits บนกระจก Gorilla Glass 3

สำหรับ 8 เซ็นเซอร์ที่ใส่มาประกอบไปด้วย เซ็นเซอร์วัดความสูง (Altimeter) เซ็นเซอร์วัดความเร็ว (Accelerometer) เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (Gyroscope) พร้อมกับจีพีเอส เซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เซ็นเซอร์วัดวัดแสง (Ambient Light) เซ็นเซอร์เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ และมอเตอร์สร้างแรงสั่นสะเทือน

โดยตัวเรือนของ Ionic จะสามารถถอดสายเพื่อเปลี่ยนสายใหม่ได้ (ในกล่องมีสายให้เลือก 2 ขนาด) เวลาชาร์จจะใช้สายเชื่อมต่อกับหลังเครื่อง ซึ่งรอบๆตัวเครื่องจะมีปุ่มสั่งงานด้วยกัน 3 ปุ่มคือทางซ้าย 1 ปุ่ม และทางขวา 2 ปุ่ม ร่วมกับหน้าจอสัมผัส

สั่งงานจากการสัมผัสหน้าจอ และกดปุ่ม

การควบคุม Fitbit Ionic หลักๆ จะใช้การสัมผัสหน้าจอ เพื่อเลื่อนเข้าสู่หน้าแอปที่ต้องการเรียกใช้ โดยในหน้าหลัก จะแสดงผลวัน เวลา และสัญลักษณ์บอกเป้าหมายการเดิน อัตราการเต้นหัวใจ และการเผาผลานแคลอรี่ ที่ผู้ใช้สามารถเลื่อนสลับหน้าจอได้ด้วยการปาดนิ้ว

เมื่อลากนิ้วจากส่วนบนหน้าจอลงมา จะเข้าหน้าจอการแจ้งเตือนต่างๆ ถ้าเลื่อนขึ้นก็จะเข้าไปดูรายละเอียดกิจกรรมในแต่ละวัน ถ้าลากนิ้วจากขวาไปซ้าย จะเข้าสู่หน้าเมนูหลัก ที่ผู้ใช้สามารถเลือกเข้าไปฟังเพลง ออกกำลังกาย นาฬิกา ดูพยากรณ์อากาศต่างๆ รวมถึงเข้าถึงแอปที่ลงเพิ่มเติม

ในกรณีที่ต้องการย้อนกลับสามารถกดปุ่มซ้ายของตัวเรือนได้ ส่วนปุ่มทางขวาก็จะเป็นปุ่มลัดในการเลื่อนขึ้น-ลง หรือไว้ใช้กดหยุดพัก ระหว่างการออกกำลังกาย รวมถึงกดเปลี่ยนเพลงได้ด้วย สุดท้ายถ้าต้องการให้หน้าจอดับ ก็สามารถใช้ฝ่ามือปิดลงไปบนหน้าจอได้

ทดสอบประสิทธิภาพ

ในแง่ของการใช้งานทาง Fitbit เคลมว่า ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ที่ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง จะสามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 10 ชั่วโมง (เปิดใช้งาน GPS ตลอดเวลา) แต่ถ้าใช้งานทั่วๆไปจะสามารถอยู่ได้ราว 4-5 วัน ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

ส่วนการบันทึกข้อมูล Fitbit Ionic สามารถบันทึกข้อมูลเก็บไว้ภายในเครื่องได้ 7 วัน แบบนาทีต่อนาที และสามารถเก็บข้อมูลทั่วไปได้ราว 30 วันย้อนหลัง แต่ในการใช้งานจริงแนะนำให้มีการ Sync ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ตัวแอปสามารถเก็บข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจได้แบบครบถ้วน

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ใช้จะสามารถนำ Ionic มาลงเพลง เพื่อใช้ฟังขณะออกกำลังกายได้ แต่น่าเสียดายที่เวลาโอนย้ายไฟล์เพลง ยังจำเป็นต้องใช้งานคู่กับพีซีอยู่ ด้วยการเชื่อมต่อผ่านแอป Fitbit Connect เพื่อโอนย้ายไฟล์เพลงเข้ามาไว้ในเครื่อง ไม่สามารถโอนย้ายจากสมาร์ทโฟนได้ทันที

อย่างไรก็ตาม เมื่อทดสอบใช้ระหว่างออกกำลังกาย ด้วยการที่เป็นเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจที่ใช้การวัดที่แขน ทำให้เวลาเหงื่อออกมากๆ การแสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจอาจจะมีหลุดๆบ้างเป็นบางจังหวะ แต่ในแง่ของการจับพิกัด GPS ถือว่าทำได้แม่นยำดี

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

SHARE