Review : HTC U11 สเปกแรง กล้องดีสุดในตลาด

19098

แบรนด์ HTC (เอชทีซี) ห่างหายจากตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยไปนานหลายปี กลับมาในปีนี้ HTC เข็นสมาร์ทโฟนตระกูล U-Series บุกตลาดสมาร์ทโฟนแบบพลิกโฉมใหม่หมดตั้งแต่การออกแบบไปถึงซอฟต์แวร์ภายใน โดยในบ้านเราเริ่มทำตลาดไปก่อนหน้าแล้วกับ HTC U Ultra และในวันนี้ก็ถึงคิวของพี่ใหญ่เรือธงตระกูล U กับ “HTC U11” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆนี้

การออกแบบ

เริ่มจากจอภาพเป็น SuperLCD 5 ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด QuadHD 2,560×1,440 พิกเซล ครอบทับด้วยกระจกจอ 3D (ขอบโค้งมนทั้งสองด้าน) Corning Gorilla Glass 5 มาพร้อมปุ่มโฮม-เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือและ Navigation Buttons แบบทัชเซนเซอร์ติดตั้งอยู่ใต้จอภาพ

ส่วนกล้องหน้ามาพร้อมความละเอียด 16 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f2.0 เป็นเลนส์มุมกว้าง 150 องศา รองรับการถ่ายวิดีโอเซลฟีความละเอียด FullHD 1080p

ด้านหลังถือเป็นจุดขายหลักของ HTC ก็คือวัสดุที่ใช้ผลิตแบบ “Liquid glass surface” ให้ผิวมันวาว เวลาสะท้อนแสงตามมุมต่างๆจะให้สีสันที่แปลกตา หรูหราแบบเดียวกับกระจก โดยจะมีสีให้เลือก 5 สีได้แก่ Amazing Silver (สีเงินออกฟ้า – เครื่องที่ทีมงานนำมาทดสอบในวันนี้) Sapphire Blue (สีน้ำเงิน) Brilliant Black (สีดำ) Ice White (สีขาว) และสุดท้ายสีพิเศษ Solar Red หรีอสีแดง โดยเมื่อสะท้อนกับแสงจะสามารถไล่เฉดสีเป็นสีส้มได้อารมณ์พระอาทิตย์ยามเย็น

แต่มีข้อสังเกตเล็กน้อยในเรื่องพื้นผิวแบบ Liquid glass surface จะค่อนข้างลื่นง่าย โดยเฉพาะการถือถ่ายภาพในแนวนอนทำได้ไม่ค่อยถนัดนัก แนะนำให้ใส่เคสจะดีที่สุดครับ

ในส่วนกล้องถ่ายภาพหลังก็ถือเป็นอีกหนึ่งจุดขายหลักของ HTC U11 เช่นกันเพราะทางผู้ผลิตเลือกปรับปรุงใหม่หมด โดยสเปกกล้องจะใช้เซ็นเซอร์ที่มาพร้อมพิกเซลขนาดใหญ่ถึง 1.4 ไมครอน เลนส์มาพร้อมรูรับแสงกว้าง f1.7 ความละเอียดภาพ 12 ล้านพิกเซล รองรับการถ่ายวิดีโอ 4K ระบบออโต้โฟกัส UltraSpeed Autofocus (คาดว่าใช้ Dual Pixel) และเลนส์กล้องมาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหว OIS โดยสเปกกล้องจะคล้ายกับ Samsung Galaxy S8/S8+ แต่ HTC จะเพิ่มส่วนประมวลผลภาพเฉพาะตัวในชื่อ HTC UltraPixel 3 เข้ามาด้วย

มาถึงปุ่มกดและพอร์ตเชื่อมต่อรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านขวาของเครื่อง ตรงกลางจะเป็นปุ่มเปิดปิด, ปุ่มเพิ่มลดเสียง, เสาสัญญาณโทรศัพท์และบริเวณพื้นที่ว่างด้านล่างจะเป็นส่วนเซ็นเซอร์รับแรงกด (Haptic Sensor) โดย HTC เลือกติดตั้งไว้ทั้งสองข้าง ให้ผู้ใช้สามารถบีบขอบเครื่องเพื่อสั่งให้ระบบ Edge Sense ทำงานได้

ด้านบน เป็นช่องใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์แบบ Nano Sim รองรับ 2 ซิมตามสมัยนิยม

ส่วนด้านล่างเป็นช่อง USB-C (USB3.1 Gen1) ไมโครโฟนและช่องลำโพง โดยลำโพงในตัวเครื่อง U11 จะเป็นสเตอริโอใช้ร่วมกับลำโพงโทรศัพท์ด้านบนด้วยเทคโนโลยี HTC BoomSound อันเป็นเอกลักษณ์ของ HTC

และนอกจากนั้นถ้าสังเกตรอบตัวเครื่องให้ดีจะพบว่า HTC U11 ไม่มีช่องเชื่อมต่อหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรอีกแล้ว โดยการเชื่อมต่อหูฟังจะต้องทำผ่านพอร์ต USB-C หรือผ่านอะแดปเตอร์แปลง 3.5 มิลลิเมตรเป็น USB-C เท่านั้น (มีแถมมาให้)

สเปก

ด้านสเปก HTC U11 ทุกรุ่นที่จำหน่ายทั่วโลกจะขับเคลื่อนด้วยหน่วยประมวลผลแฟลกชิปรุ่นใหม่ล่าสุดของปีนี้กับ Qualcomm Snapdragon 835 (64-bit) Octa-core ความเร็ว 2.45GHz โดยรุ่นที่ขายในประเทศไทยจะเป็นรุ่นแรมขนาด 6GB พร้อมพื้นที่เก็บข้อมูล 128GB (แต่รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะเป็นรุ่นแรม 4GB พร้อมความจุ 64GB) และสามารถเพิ่มความจุด้วยการ์ด MicroSD ได้สูงสุด 2TB (ใช้ร่วมกับถาดใส่ซิมที่ 2) มาพร้อมระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 7.1

ในส่วนสเปกเชื่อมต่อเครือข่าย HTC U11 รองรับ 2G/3G/4G LTE โดย 4G จะรองรับความเร็วระดับ Cat 16 หรือ Gigabit Network 4CA (ในไทยตอนนี้จะวิ่งได้สูงสุด 700 Mbps จาก 3CA 4×4 MIMO 256 QAM) พร้อมรองรับ VoLTE และ WiFi Calling เต็มระบบ

ด้านการเชื่อมต่อ WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac รองรับ Miracast, NFC, บลูทูธ 4.2 มี GPS – AGPS – GLONASS – Beidou พร้อมแบตเตอรีขนาด 3,000 mAh รองรับมาตรฐานชาร์จไฟเร็ว Quick Charge 3.0 (HTC แถมอะแดปเตอร์มาให้) โดยสามารถชาร์จไฟตั้งแต่ 0-80% ด้วยเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น (ระบบจ่ายไฟได้สูงสุด 12V 1.25A)

ซอฟต์แวร์และฟีเจอร์เด่น

HTC U11 จะมาพร้อมกับแอนดรอยด์ 7.1 Nougat ครอบทับด้วย HTC Sense โดยในรุ่นใหม่นี้ได้รับการออกแบบใหม่หมดตั้งแต่ยูสเซอร์อินเตอร์เฟสที่เรียบง่ายมากขึ้นไปถึงการเลือกติดตั้งแอปพลิเคชันเสริมเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้ เช่น Facebook Instagram เครื่อบันทึกเสียง แอปฯจัดการพลังงานและแอปฯตรวจดูสภาพอากาศ เป็นต้น โดยในภาพรวมแล้ว HTC Sense รุ่นติดตั้งมากับ U11 จะมีความลื่นไหลและให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่า Sense ทุกรุ่นที่ผ่านมา

หน้าตาแป้นคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษ

หน้าตาแป้นคีย์บอร์ดภาษาไทย

ส่วนคีย์บอร์ด HTC ไม่ได้พัฒนาเองแต่เลือกใช้บริการจาก TouchPal ซึ่งมีข้อดีในเรื่องแป้นคีย์บอร์ดสามารถปรับแต่งได้หลากหลาย แต่ข้อสังเกตสำหรับทีมงานไซเบอร์บิซจะอยู่ในเรื่องการจัดวางตำแหน่งปุ่มที่รู้สึกไม่ค่อยถนัดต้องอาศัยการปรับตัวเล็กน้อย

มาถึงจุดขายของ HTC Sense ตัวใหม่กันบ้าง จะมาพร้อมผู้ช่วยอัจฉริยะ HTC Sense Companion ที่จะคอยเรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้ และคอยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน อย่างการแนะนำให้ตั้งแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนถึงช่วงเวลานัดหมายในปฏิทิน การแสดงข้อมูลพยากรณอากาศล่วงหน้าเมื่อตื่นนอนหรือแสดงร้านอาหารที่อยู่ใกล้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม Sense Companion ในตอนนี้ยังไม่สามารถใช้งานในส่วน Amazon Alexa หรือเลขาส่วนตัวที่มีความเป็นมนุษย์เหมือน Siri ของแอปเปิลในประเทศไทยได้ ทำให้ Sense Companion ปัจจุบันสำหรับคนไทยแล้วอาจจะดูไม่น่าตื่นเต้นเหมือน Siri หรือ Google Now/Google Assistant ที่เคยสร้างสีสันในการเลือกตอบคำถามให้คนไทยมาแล้ว คงต้องรออัปเดตจากทางผู้ผลิตต่อไป

via GIPHY

มาถึงฟีเจอร์เด่น เริ่มจากฟีเจอร์แรกอย่าง Edge Sense หรือความสามารถในการบีบขอบเครื่องทั้งสองด้านเพื่อสั่งงานตัวเครื่องได้ โดยคำสั่งหลักๆที่รองรับกับ Edge Sense มีดังนี้

– เมื่อหน้าจอปิดอยู่ ผู้ใช้สามารถบีบขอบเครื่องสองครั้งติดกันจะเป็นการเรียกกล้องถ่ายภาพขึ้นมา
– ระหว่างอยู่ในโหมดกล้องถ่ายภาพ สามารถบีบขอบเครื่อง 1 ครั้งเพื่อลั่นชัตเตอร์ได้
– ระหว่างอยู่ในหน้าโฮมสกรีนสามารถบีบขอบเครื่องค้างไว้เพื่อเรียก Google Assistant
– ระหว่างพิมพ์ข้อความด้วยแป้น TouchPal สามารถบีบขอบเครื่อง 1 ครั้งเพื่อเรียกฟีเจอร์ Voice-to-text ได้

และนอกจากนั้นผู้ใช้ยังสามารถปรับแต่งการใช้งาน Edge Sense ได้อย่างอิสระผ่านเมนูตั้งค่าในระบบด้วย

ป้องกันน้ำและฝุ่น – HTC U11 มาพร้อมการป้องกันน้ำและฝุ่น IP67 ตามสมัยนิยม โดยส่วนที่ต้องระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องใช้งานในสภาพอากาศที่เสี่ยงต่อเครื่องเสียหายก็คือ “ส่วนฝาปิดซิมจะมีขอบยางซีลไว้ เวลาแกะเปลี่ยนซิมต้องกดปิดฝาให้สนิท”

HTC USonic – เป็นอีกหนึ่งจุดขายที่น่าสนใจสำหรับ HTC U11 เพราะนอกจากในแพกเกจจะแถมหูฟังอินเอียร์ที่มาพร้อมระบบตัดเสียงรบกวนแบบแอ็คทีฟและรองรับ Hi-Res Audio แล้ว ระบบการทำงานของ USonic ก็ยังน่าสนใจอย่างมาก

เริ่มจากครั้งแรกที่เราเชื่อมต่อหูฟังผ่านพอร์ต USB-C เมื่อเราใส่หูฟังระบบจะตรวจจับและให้เราตั้งค่าหูฟังครั้งแรกก่อน โดยระบบจะปล่อยคลื่นเสียงเข้าไปในรูหูของเรา จากนั้นเมื่อคลื่นเสียงไปกระทบกับแก้วหูและส่งสัญญาณกลับมาที่ตัวหูฟัง ระบบจะอ่านค่าและนำมาตั้งค่าโปรไฟล์เสียงและโปรไฟล์ระบบตัดเสียงรบกวนแบบดิจิตอลที่เหมาะสมกับหูของเราให้อัตโนมัติ

ส่วนคนที่ไม่ชอบใช้หูฟัง แต่ชอบฟังเพลง ชมภาพยนตร์จากลำโพงตัวเครื่อง ทาง HTC ยังให้เทคโนโลยี HTC BoomSound มาให้เช่นเดิม แต่ใน U11 ทาง HTC จะมีการปรับปรุงลำโพงให้สามารถส่งเสียงได้ดังและมีไดนามิกที่ดีกว่าเดิม

Motion Launch อีกหนึ่งฟีเจอร์สุดท้ายที่เคยโด่งดังมาตั้งแต่สมัย HTC One ใน U11 ก็มีให้เลือกใช้งานเช่นเดิม ตั้งแต่ฟังก์ชันปลุกหน้าจอด้วยการแตะหน้าจอ 2 ครั้งระหว่างจอดับอยู่และแตะอีก 2 ครั้งเพื่อปิดหน้าจอ เป็นต้น

กล้องถ่ายภาพ

กล้องถ่ายภาพทั้งหน้าและหลังของ HTC U11 เรียกได้ว่าปรับปรุงใหม่หมดทุกสัดส่วนตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ไปถึงซอฟต์แวร์ โดยสเปกในส่วนกล้องหลังจะเหมือนกับ Samsung Galaxy S8/S8+ ซึ่งทีมงานไซเบอร์บิซเคยได้นำมาประชันความเจ๋งไปแล้วในบทความ “ใครเจ๋งกว่ากัน! ทดสอบกล้อง HTC U11 vs Samsung Galaxy S8 (ชมคลิป)”

จากบทสรุปในบทความก่อนหน้าจะเห็นว่า HTC U11 จะโดดเด่นในเรื่องการเก็บรายละเอียดของภาพที่สูงกว่า Samsung Galaxy S8/S8+ และดีกว่า HTC รุ่นก่อนหน้าทุกรุ่น สอดคล้องกับคะแนนที่ทาง DxOMark ให้ไว้เป็นอันดับ 1 (90 คะแนน) โดยไฟล์ภาพจาก HTC U11 ค่อนข้างมีคุณภาพสูง การจัดการของ HTC UltraPixel 3 ทำได้ค่อนข้างดีมาก โดยเฉพาะในที่แสงน้อยค่อนข้างจะโดดเด่นในเรื่องความคมชัดสูงและอาการภาพเป็นวุ้นๆค่อนข้างมีน้อยกว่ากล้องจากสมาร์ทโฟนแฟลกชิปในระดับเดียวกันแทบทุกรุ่น

ตัวอย่างภาพจากกล้อง HTC U11

แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะมีแต่เพียงข้อดีอย่างเดียว ข้อสังเกตเกี่ยวกับกล้องถ่ายภาพ U11 ก็มีเช่นกัน ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือกล้องหน้า ที่ HTC คุยว่าให้คุณภาพไม่ต่างจากกล้องหลัง แต่จากที่ทีมงานได้ทดสอบถ่ายเซลฟีพบว่าเรื่องของการจัดการสีผิว (Skin Tone) ยังไม่ค่อยธรรมชาติมากนัก โดยเฉพาะเมื่อถ่ายในที่แสงน้อยและต้องเปิดไฟแฟลชจากจอภาพ สีสันที่ได้ดูไม่เป็นธรรมชาติเท่าที่ควร

และอีกเรื่องในส่วนซอฟต์แวร์ที่ไม่ค่อยมีลูกเล่นพิเศษเหมือนคู่แข่งเจ้าอื่น ลูกเล่นหลักๆของ U11 จะมีพาโนรามาที่ความละเอียด 8,736×1,890 พิกเซล พาโนรามาเซลฟีและทำสโลโมชันวิดีโอที่ความเร็ว 120fps 1080p โดยส่วนใหญ่จะไปเน้นไปในเรื่องคุณภาพไฟล์ภาพนิ่งและ RAW File มากกว่า

แต่โดยรวมทีมงานค่อนข้างพอใจกับไฟล์ภาพนิ่งจาก HTC U11 ค่อนข้างมากและขอยกให้เป็นสมาร์ทโฟนที่มีกล้องถ่ายภาพยอดเยี่ยมสุดในตอนนี้ได้เลย

มาดูงานวิดีโอกับการบันทึกเสียงแบบ 3D Audio กันบ้าง โดย HTC U11 จะมาพร้อมไมโครโฟน 4 ตัวติดตั้งอยู่บริเวณข้างกล้องหน้า 1 ตัว สันเครื่องด้านบน 1 ตัว ล่าง 1 ตัวและด้านหลังอีก 1 ตัว

โดยการทำงาน 3D Audio จะมาพร้อมเทคโนโลยี Acoustic Focus สำหรับการใช้งานปกติระบบจะโฟกัสเสียงที่อยู่ใกล้กับสมาร์ทโฟนก่อนเป็นอันดับแรกไม่ว่าเสียงสภาพแวดล้อมจะดังขนาดไหนก็ตาม เสียงที่อยู่ใกล้ เช่น เสียงพูดจะชัดเจนตลอดการบันทึกวิดีโอ แต่เมื่อเราเริ่มซูมภาพวิดีโอเพื่อไปโฟกัสกับวัตถุที่อยู่ไกลตัวออกไป ไมโครโฟนทั้ง 4 ตัวจะถูกระบบเลือกใช้ตามความเหมาะสมและเริ่มเพิ่มระดับการรับเสียงสอดคล้องไปตามระบบซูมภาพ เพื่อให้เสียงที่อยู่ไกลถูกบันทึกได้อย่างคมชัดมากขึ้น

ทดสอบประสิทธิภาพ

PCMark
Work 2.0 = 7,124 คะแนน
Computer Vision = 3,575 คะแนน

AnTuTu Benchmark = 174,304 คะแนน

3DMark
Sling Shot Extreme = 2,683 คะแนน
Sling Shot = 4,099 คะแนน

Geekbench 4.0
Single-Core = 1,897 คะแนน
Multi-Core = 6,181 คะแนน

PassMark PerformanceTest
System = 13,344 คะแนน
CPU Tests = 248,306 คะแนน
Memory Tests = 12,919 คะแนน
Disk Tests = 68,358 คะแนน
2D Graphics Tests = 7,447 คะแนน
3D Graphics Tests = 3,809 คะแนน

AndroBench
Seq. Read = 708.06MB/s
Seq. Write = 194.89MB/s

เสียดายที่ทีมงานไซเบอร์บิซไม่ได้รับตัวทดสอบเป็นรุ่นแรม 6GB แต่โดยภาพรวมถึงแม้ตัวเครื่องรุ่นนี้จะมาพร้อมแรมเพียง 4GB (เป็นเครื่องไต้หวัน) แต่การใช้งานก็ไม่พบอาการสะดุดให้เห็น การเล่นเกมทุกเกมสามารถทำได้ลื่นไหล การเปิดใช้งานแอปฯจำนวนมากสามารถทำได้ HTC Sense กับแอนดรอยด์ 7.0 ทำงานเข้าขากันดีมาก ฟีเจอร์ที่มากับซีพียู Snapdragon 835 HTC ก็เรียกใช้งานได้ครบถ้วนดีตั้งแต่ ระบบชาร์จไฟ Quick Charge 3.0 ทาง HTC ก็แถมอะแดปเตอร์มาให้ด้วย ไปถึงการรองรับ 4.5G LTE Advanced แบบ Cat 16 ก็มีให้เลือกใช้จาก U11 ทั้งหมด

มาถึงการทดสอบแบตเตอรี น่าจะถือเป็นข้อสังเกตใหญ่สุดเพียงเรื่องเดียวนอกจากข้อสังเกตยิบย่อยเรื่องกล้องที่เป็นเพียงแค่ความรู้สึกของทีมงาน (คนอื่นอาจรู้สึกต่างไป) เพราะตัวเครื่องให้แบตเตอรีมา 3,000 mAh ซึ่งถือว่าไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับสเปกเครื่องและขนาดหน้าจอ ทำให้สามารถใช้งานได้เพียง 9 ชั่วโมง 39 นาทีเท่านั้น ยิ่งใช้งานหนักหน่วง เช่น เล่นเกม แบตเตอรีสามารถหมดได้เพียง 5-6 ชั่วโมง ถือว่ายังไม่น่าประทับใจนัก

สรุป

สำหรับราคา HTC U11 ในประเทศไทยเป็นรุ่นแรม 6GB ความจุ 128GB อยู่ที่ 25,990 บาท เทียบสเปกกับคู่แข่งระดับเดียวกันแล้ว ราคาเปิดตัวมาได้ค่อนข้างน่าสนใจ (ราคาเปิดตัวต่ำกว่าคู่แข่งระดับเดียวกันหลายเจ้า) โดยเฉพาะคนชอบถ่ายภาพน่าจะถูกใจ HTC U11 ได้ไม่ยาก เพราะกล้องถ่ายภาพโดยเฉพาะด้านหลังถือว่าทำได้ดีมาก แต่กล้องหน้าสำหรับคนที่ชอบเซลฟีทีมงานแนะนำให้ไปลองก่อน เพราะสำหรับทีมงานเองรู้สึกว่ากล้องหน้ายังให้คุณภาพไม่ดีนัก

แต่โดยภาพรวมทั้งตัวเครื่องไปถึงประสิทธิภาพถือว่าครั้งนี้ HTC กลับมาได้สมศักดิ์ศรี ทุกอย่างดูลงตัวดี และที่สำคัญอุปกรณ์ที่แถมมาให้ในกล่องทั้งหูฟัง USonic และอะแดปเตอร์ชาร์จไฟแบบ Quick Charge 3.0 เรียกได้ว่าจัดเต็ม คุ้มราคาดี ใครกำลังมองหาสมาร์ทโฟนแฟลกชิปในตอนนี้ HTC U11 ถือว่าไม่ควรมองข้าม

เบื้องต้น HTC U11 คาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ แต่ที่สำคัญคือต้องรอดูในแง่ของการให้บริการหลังการขาย และช่องทางจำหน่ายว่าจะครอบคลุมมากแค่ไหน เพราะเอชทีซี เรียกได้ว่าหายไปจากตลาดไทยพอสมควรในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ข้อดี

– ฝาหลัง Liquid glass surface ดูหรูหรา
– สเปกเครื่องดี
– หูฟังอินเอียร์พร้อมระบบตัดเสียงรบกวนและฟีเจอร์ USonic ดีมาก
– กล้องหลังคุณภาพดี
– รองรับ 4G Cat 16
– รองรับการถอดรหัสไฟล์เพลงแบบ HiRes Audio
– ในชุดที่ทีมงานได้รับมาทดสอบ อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องค่อนข้างน่าสนใจ โดยเฉพาะหูฟังอินเอียร์คุณภาพสูงรองรับ HiRes Audio และอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ Quick Charge 3.0 มาตรฐาน Qualcomm

ข้อสังเกต

– Liquid glass surface ดูหรูหราแต่ลื่นมาก ยิ่งมาเจอกับขอบเครื่องโค้ง ทำให้จับถือไม่ถนัด
– การบันทึกเสียงวิดีโอแบบ 3D Audio ให้เสียงที่เบาไป
– Edge Sense บีบขอบเครื่องเพื่อสั่งงานเป็นแนวคิดที่ดี แต่การใช้งานยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก บางครั้งต้องบีบแรงๆเพื่อให้ระบบรับคำสั่ง แต่บางครั้งถือเครื่องอยู่ในมือปกติแต่ระบบก็สั่งให้เรียก Google Assistant หรือบางทีก็พาเข้าโหมดกล้องไปโดยผู้ทดสอบยังไม่ทำอะไรเลย
– แบตเตอรีไม่อึด

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
8.8
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
9
ความสามารถโดยรวม
8.9
ความคุ้มค่า
9.6
SHARE