Review : Huawei P20 Pro ยกระดับกล้องมือถือ ด้วย AI และกล้อง 3 เลนส์

9400

จุดเด่นหลักของ Huawei P20 Pro ที่ถูกนำเสนอออกมาให้เห็นชัดที่สุดเลยคือการที่มาพร้อมกับกล้อง 3 เลนส์ ที่เป็นการผสมผสานระหว่างเลนส์ความละเอียดสูง 40 ล้านพิกเซล เลนส์รับภาพขาวดำ ความละเอียด 20 ล้านพิกเซล และเลนส์มุมแคบ (Tele) 8 ล้านพิกเซล มาช่วยในการทำระยะชัดลึกชัดตื้น

พร้อมไปกับการปรับแต่งจากไลก้า (Leica) ที่มาช่วยเร่งสี และคุณภาพของรูปให้ดียิ่งขึ้น ไม่นับรวมกับความสามารถต่างๆอย่างการที่ซูมภาพได้ 5 เท่า ระบบกันสั่นรูปแบบใหม่อย่าง Huawei AIS ที่นำ AI มาช่วยควบคุม ทำให้ถ้าถามถึงเทคโนโลยีกล้องในเวลานี้ P20 Pro ขึ้นมาอยู่อันดับต้นๆ ได้ไม่ยาก

ขณะเดียวกัน ในแง่ของราคาเปิดตัวที่ 27,990 บาท ยิ่งทำให้ P20 Pro น่าสนใจมากขึ้น เพราะกลายเป็นสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ที่ราคาต่ำกว่า Samsung Galaxy S9+ และ iPhone X อยู่ อาจทำให้ตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น

ข้อดี

กล้อง 3 เลนส์ ที่นำ AI มาช่วยประมวลผล

สเปกเครื่องระดับไฮเอนด์ RAM 6 GB รองรับ 4G LTE Cat 18 1.2 Gbps

แบตเตอรี 4,000 mAh ใช้งาน 1 วันหนักๆแบบสบายๆ

การออกแบบและสีสันตัวเครื่องที่น่าสนใจ

ข้อสังเกต

การบันทึกวิดีโอความละเอียดสูงยังมีข้อจำกัดอยู่

ไม่มีช่องหูฟัง 3.5 มม.

ไม่สามารถใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มได้

จอแสดงผลยังอยู่ในระดับ FullHD

ปรับดีไซน์ใหม่ให้หรูขึ้น

การออกแบบโดยรวมของ Huawei P20 Pro ถือว่าเป็นการดีไซน์ใหม่ขึ้นมา โดยไม่เหลือความเป็น P10 เดิมอยู่เลย ด้วยการหันมาใช้กระจกหน้าแบบ FullView ที่มีรอยบากบนหน้าจอ เพื่อเป็นที่อยู่ของกล้องหน้า 24 ล้านพิกเซล f/2.0 และลำโพงโทรศัพท์ ส่วนล่างหน้าจอยังคงมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือให้กดใช้งานอยู่

หน้าจอของ P20 Pro จะมีขนาด 6.1 นิ้ว ความละเอียด FullHD+ (2244 x 1080 พิกเซล) ความละเอียดเม็ดสี 408 ppi ในสัดส่วน 18.7:9 ที่หันมาใช้เทคโนโลยี OLED ทำให้สีสันของหน้าจอสดใสมากขึ้น

ส่วนรอบๆเครื่องทางซ้ายจะมีช่องใส่ถาดซิมการ์ดที่เป็นแบบ 2 นาโนซิม ทางขวาเป็นปุ่มเพิ่มลดเสียง และปุ่มเปิดเครื่อง ที่มีสัญลักษณ์สีแดงแสดงความเป็น Leica ระบุเพิ่มเข้ามา ส่วนขอบบนจะมีช่องไมโครโฟนตัดเสียง และเซ็นเซอร์อินฟาเรต ขอบล่างเป็นลำโพง และพอร์ต USB-C

มาถึงจุดเด่นหลักคือ Triple Camera ที่อยู่ด้านหลังเครื่อง โดยการออกแบบต่างๆ ทำให้เห็นว่า P20 Pro เน้นการใช้งานถ่ายภาพในแนวนอน ด้วยการสกรีนชื่อแบรนด์ Huawei และ Leica ในแนวเดียวกับกล้องที่เป็นแนวตั้ง

โดยกล้องทั้ง 3 เลนส์จะมีหน้าที่แตกต่างกันชัดเจน ไล่จากที่อยู่ชิดกับไฟแฟลช คือเลนส์ถ่ายภาพขาวดำ ความละเอียด 20 ล้านพิกเซล f/1.6 ที่ไว้ใช้ในการเก็บคอนทราสต์ของภาพให้มีมิติมากยิ่งขึ้น

ถัดมาคือเลนส์สี RGB ความละเอียด 40 ล้านพิกเซล f/1.6 ที่ใช้เป็นเลนส์หลักในการเก็บภาพ โดยถ้าตั้งที่ความละเอียด 40 ล้านพิกเซล จะไม่สามารถซูมภาพได้ แต่ถ้าตั้งความละเอียดที่ 10 ล้านพิกเซล ระบบจะทำ Hybrid Zoom ให้ได้สูงสุด 5 เท่า

ที่อยู่คู่กันคือเลนส์มุมแคบ 8 ล้านพิกเซล f/2.4 ซึ่งมาช่วยในการถ่ายโหมด Portrait หรือภาพยุคคล เพื่อละลายฉากหลัง ด้วยการแยกวัตถุออกมา โดยใน P20 Pro จะมีการนำหน่วยประมวลผล NPU มาใช้เพื่อให้ AI ช่วยประมวลผลภาพให้ออกมาเนียนมากที่สุด

สำหรับขนาดตัวเครื่องจะอยู่ที่ 73.9 x 155 x 7.8 มิลเมตร นำ้หนัก 180 กรัม สเปกภายใน P20 Pro จะทำงานบนหน่วยประมวลผล Kirin 970 (2.36 x 1.8 GHz) RAM 6 GB ROM 128 GB แบตเตอรี 4,000 mAh ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 8.1

รองรับการใช้งาน 4G 2 ซิมการ์ด (นาโนซิม) ตัวเครื่องมีเฉพาะพอร์ต USB-C ให้ใช้ในการเชื่อมต่อเท่านั้น ส่วนการเชื่อมต่อไร้สายจะมีทั้ง Wi-Fi 802.11ac บลูทูธ 4.2 NFC GPS และยังมีพอร์ตอินฟาเรตมาให้ใช้งานด้วย

ก่อนหน้านี้ ทีมงานเคยเปรียบเทียบความสามารถระหว่างเรือธง 2 รุ่นคือ Samsung Galaxy S9+ และ Huawei P20 Pro ไว้คร่าวๆ เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจกัน ว่าการใช้งานแบบใด เหมาะกับเครื่องรุ่นไหน

ลงรายละเอียด Triple Camera

 

ทีนี้ มาเจาะลึกกันถึงความสามารถใน P20 Pro ที่น่าสนใจกันบ้าง เริ่มจากในโหมดเด็ดอย่างการถ่ายภาพ ที่กลายเป็นว่า Huawei สามารถคว้ารางวัลการเป็นสมาร์ทโฟนที่ถ่ายภาพได้ดีที่สุดในเวลานี้มาได้ท้ังในส่วนของ P20 และ P20 Pro

ส่วนหนึ่งที่เป็นตัวช่วยสำคัญเลยคือการทำงานร่วมกันระหว่าง Huawei และ Leica ในการนำเลนส์มาปรับแต่งให้เหมาะสม ผสมไปกับการที่ Huawei มีการนำ Master AI มาใช้งานเพื่อช่วยประมวลผลภาพ ส่งผลให้ภาพที่ได้จาก P20 Pro มีเอกลักษณ์ของความเป็น Leica ได้เป็นอย่างดี

จุดเด่นของ Master AI เลยคือเมื่อเข้าโหมดถ่ายภาพตัวกล้องจะเลือกโหมดถ่ายภาพให้อัตโนมัติ โดยขึ้นอยู่กับวัตถุ สภาพแสงที่ถ่าย โดยใช้ AI มาช่วยเลือก โดยในจุดนี้จะมีการแสดงผลขึ้นมาแจ้งเตือนว่ากำลังใช้โหมดถ่ายภาพใดอยู่ และในขณะเดียวกันก็จะมีการเร่งสีขึ้นมาให้ดูสวยงามขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสะดวกในการใช้งานที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องไปคิดว่าจะใช้โหมดใดถ่ายภาพ หยิบขึ้นมาก็สามารถรอให้ AI ประมวลผล แล้วกดถ่ายได้เลย ถ้าไม่ชอบสีที่ปรับแต่งเพิ่มก็กดกากบาทเพื่อปิดโหมดดังกล่าวและกลับมาใช้โหมดปกติในการถ่ายภาพ

อย่างไรก็ตาม การที่ AI ฉลาดเกินไป ทำให้กลายเป็นจุดที่เวลาใช้งานแล้วค่อนข้างขัดใจอย่างเช่น ถ้าการถ่ายภาพในสภาพสีที่สมจริง แต่เมื่อ AI มาช่วยประมวลผล ภาพที่ได้ออกมากลายเป็นมีการเร่งสีออกมา ทำให้ภาพที่ได้ไม่ค่อยตรงกับธรรมชาติ แต่แน่นอนถ้าเป็นผู้ที่ชอบสีสดๆ ก็จะไม่มีปัญหากับตรงนี้

ถัดมาเลยคือเรื่องของอินเตอร์เฟสการใช้งานกล้อง ที่คิดว่า Huawei พยายามปรับรูปแบบการใช้งานให้เหมือนกับ iPhone มากเกินไป ด้วยการเปลี่ยนมาใช้การปัดซ้ายขวาเพื่อเปลี่ยนโหมดในการถ่ายภาพแทน ทำให้ถ้าต้องการสลับจากการถ่ายภาพนิ่ง ไปถ่ายภาพแบบปรับรูรับแสง หรือถ่ายภาพในโหมดโปรต้องปาดอย่างน้อย 2 ครั้ง

จากเดิมที่ปาดครั้งเดียว แล้วเลือกโหมดที่ต้องการใช้งานได้ทันที และยิ่งเมื่อมาใช้งานในโหมดโปร ที่ต้องมีการใช้นิ้วลากเพื่อปรับตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ ความไวแสง หรือระยะโฟกัส ปาดไปปาดมากลายเป็นเปลี่ยนโหมดถ่ายภาพไปก็มี

ต่อมาคือเรื่องของการซูมภาพที่ Huawei มีการนำ Hybrid Zoom มาใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถซูมภาพได้ 1x 3x และ 5x โดยที่ยังรักษาความละเอียดของภาพไว้ได้ (การซูมภาพต้องตั้งความละเอียดภาพที่ 10 ล้านพิกเซล ถ้าไปตั้งที่ความละเอียด 40 ล้านพิกเซลจะไม่สามารถซูมได้)

โดยในส่วนของการถ่ายวิดีโอ ก็ได้รับอานิสงค์จากเลนส์ความละเอียดสูงเช่นกัน ทำให้เมื่อเลือกถ่ายภาพในระดับ Full HD จะสามารถซูมภาพได้มากขึ้น แต่ถ้าถ่ายในระดับ 4K ก็ยังไม่สามารถซูมแล้วเก็บรายละเอียดได้เหมือนเดิม

ประกอบกับการทำงานของ Huawei AIS ที่เป็นระบบกันสั่นที่นำ AI มาช่วยประมวลผล ซึ่งจะเหมาะกับการใช้งานเมื่อถ่ายในมุมกว้าง จะช่วยให้สามารถถือกล้องถ่ายได้ในระยะเวลาที่นานขึ้น ช่วยให้เปิดหน้าเลนส์รับแสงได้มากขึ้น ผลก็คือสามารถถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดี

แต่ Huawei AIS ก็มีจุดที่ต้องเข้าใจนิดหน่อยตรงที่เมื่อใช้ถ่ายภาพในระยะซูม เมื่อระบบกันสั่นตรวจจับการสั่นไหวของมือเล็กน้อย ก็จะทำให้เกิดการไหลไปมาของภาพ เพราะ AI พยายามปรับให้ภาพนิ่งที่สุด ซึ่งเชื่อว่าในจุดนี้จะสามารถพัฒนาได้ในอนาคต

Gallery

ประสิทธิภาพโดยรวมระดับไฮเอนด์

หมดจากการใช้งานในโหมดกล้อง ส่วนที่เหลือของ P20 Pro โดยรวมก็ถือว่าอยู่ในระดับของสมาร์ทโฟนไฮเอนด์อยู่แล้ว การใช้งานทั่วๆไปทั้งหลายทำได้ไหลลื่นสบายๆ โดยเฉพาะการเล่นเกมที่ Kirin 970 กับ RAM 6 GB ต่อให้เกมกินสเปกแค่ไหนก็ยังประมวลผลได้ลื่นไหล

ในส่วนของการแสดงผลอย่างรอยบากบนหน้าจอ ถ้าผู้ใช้ไม่ชอบทาง Huawei ก็มีตัวเลือกมาให้ตั้งค่าถมแถบดำเพื่อปิดรอยบากดังกล่าวได้ แต่ถ้าไม่ได้มีปัญหาในการใช้งานก็สามารถใช้แบบปกติไปได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของการใช้งานสมาร์ทโฟนที่มีรอยบาก ช่วงแรกๆ ที่แอปพลิเคชันบนแอนดรอยด์ยังไม่ได้มีการอัปเดต การแสดงผลก็จะมีการแสดงผลเพี้ยนบ้าง อย่างเช่นไปมีข้อความขึ้นทับกับตรงรอยบากดังกล่าว ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องใช้เวลาให้นักพัฒนามีการอัปเดตแอปพลิเคชันเพิ่มเติม เหมือนกับที่เกิดกับ iPhone X ช่วงแรกๆ

มาถึงในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพ ถ้ามองที่ตัวเลขในการทดสอบ P20 Pro จะกลายเป็นสมาร์ทโฟนที่อยู่ในระดับท็อปๆอยู่แล้ว ทั้งในแง่ของการประมวลผล และการแสดงผลบนหน้าจอระดับ Full HD ที่ให้มา

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของแบตเตอรี ที่ให้มา 4,000 mAh ซึ่งกลายเป็นว่าเมื่อใช้งานจริง สามารถอยู่ได้เกิน 1 วันสบายๆ และถ้าไม่ได้ใช้งานมากนักจะลากยาวไปถึง 2 วันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แถมยังทำระยะเวลาทดสอบบน PCMark ได้ถึง 8 ชั่วโมงด้วย

ทดสอบประสิทธิภาพ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

SHARE