เป็นอีกหนึ่งปีทองของหัวเว่ยหลังจากการเข้าจับมือเปิดดีลกับแบรนด์ผู้ผลิตกล้องสัญชาติเยอรมันนามว่า “ไลก้า (LEICA)” เพื่อผลิตกล้องถ่ายภาพสำหรับสมาร์ทโฟนตัวใหม่ของตนจนเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก วันนี้การร่วมมือพัฒนากล้องระหว่างหัวเว่ยและไลก้าเป็นผลสำเร็จและถูกนำมาติดตั้งอยู่ในสมาร์ทโฟนท็อปฟอร์มรุ่นใหม่ปี 2016 ของหัวเว่ยแล้วกับ P9 และ P9 Plus เพื่อหวังนำมาต่อกรกับคู่แข่งในตลาดที่ในตอนนี้ก็มีกล้องหลังที่โดดเด่นไม่แพ้กัน
สำหรับรุ่นที่เรานำมาทดสอบในบทความนี้จะเป็น Huawei P9 รุ่นหน้าจอ 5.2 นิ้ว โมเดล EVA-L09
การออกแบบ
Huawei P9 รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะมีขนาดหน้าจอ 5.2 นิ้ว IPS (P9 Plus จะเปลี่ยนจอเป็น SuperAMOLED ขนาด 5.5 นิ้ว) ความละเอียด Full HD 1080p วัสดุผลิตหน้าจอเป็นกระจกขอบโค้ง (2.5D Glass) ประกบกระจก Corning Gorilla Glass 4 ช่วยให้การจับถือกระชับมือขึ้น (ถ้าเป็น P9 Plus หน้าจอจะมาสามารถรับรู้แรงกดหนักเบาได้ด้วย)
ในส่วนวัสดุตัวเครื่องเป็นโลหะ (Unibody aluminum) ขนาดเครื่องกว้าง 70.9 มิลลิเมตร ยาว 145 มิลลิเมตร หนา 6.95 มิลลิเมตร (กล้องหลังไม่นูนออกมาเหมือนคู่แข่ง) พร้อมน้ำหนัก 144 กรัม
กล้องหน้าสำหรับรุ่น P9 จะเป็นกล้องจากหัวเว่ยความละเอียด 8 ล้านพิกเซล แบบฟิกซ์โฟกัส รูรับแสง f2.4 ส่วนถ้าเป็นรุ่น P9 Plus กล้องหน้าจะมาพร้อมออโต้โฟกัสด้วย
ด้านหลัง – ส่วนหลักจะเป็นกล้องถ่ายภาพ (รายละเอียดขอยกไปอธิบายในส่วนถัดไป) พร้อมไฟแฟลชคู่ ถัดลงมาจะเป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ (Fingerprint sensor) สามารถใช้เป็นปุ่มสัมผัสเพื่อลั่นชัตเตอร์กล้องได้ด้วย และด้านล่างสุดจะเป็นโลโก้หัวเว่ยพร้อมรายละเอียดต่างๆ
ด้านข้าง – เริ่มจากขวามือจะเป็นที่อยู่ของปุ่มเปิดปิดเครื่องและปุ่มเพิ่มลดระดับเสียง อีกด้านจะเป็นช่องใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์แบบ Nano Sim และการ์ดความจำ MicroSD (สำหรับรุ่นที่ขายในไทยต้องติดตามต่อไปครับว่าจะนำเครื่องโมเดล Dual Sim หรือ Single Sim เข้ามาขาย เพราะรุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะเป็นซิมเดียว)
ด้านล่าง – จากซ้ายเป็นช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร ถัดมาเป็นช่องรับเสียงไมโครโฟนหลัก > พอร์ต USB-C > ลำโพง (สำหรับรุ่น P9 Plus จะเป็นลำโพงสเตอริโอเวลาใช้เครื่องในแนวนอน)
ด้านบน – เป็นช่องไมโครโฟนรับเสียงตัวที่สอง
Leica Main Camera
มาดูรายละเอียดของกล้องหลักด้านหลัง เป็นเลนส์คู่ (Dual Lens) Summarit H (Huawei) – Aspherical lens รูรับแสง f2.2 ระยะเลนส์เทียบฟูลเฟรมอยู่ที่ 27 มิลลิเมตร โดยไลก้าเป็นคนออกแบบและให้บริษัท Sunny Optical Technology จากจีนเป็นผู้ผลิต (ไลก้าใหญ่เป็นคนคุมคุณภาพ)
ด้านเซ็นเซอร์รับภาพจะใช้บริการ Sony IMX286 ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล (ให้อัตราส่วนภาพ 4:3) ขนาดเซ็นเซอร์รับภาพ 1.25 ไมครอน แบบ BSI CMOS ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเซ็นเซอร์รับภาพบน Samsung Galaxy S7 ถึง 90% และ iPhone 6s ถึง 270% พร้อม Laser Auto Focus และเทคโนโลยีประมวลผลภาพ IMAGEsmart 5.0
นอกจากนั้นหัวเว่ยยังนำความสามารถของกล้องคู่มาพัฒนาต่อยอดจากเดิมใช้ทำเฉพาะชัดลึกชัดตื้น ก็เพิ่มเซ็นเซอร์รับภาพเข้าไป 2 ตัว 2 รูปแบบการทำงาน
โดยเซ็นเซอร์ที่กล้องตัวแรกจะทำหน้าที่เก็บภาพสีเฉพาะ RGB ส่วนกล้องตัวที่สองจะเป็น Monochrome เก็บเฉพาะภาพขาวดำ มิติภาพ จากนั้นระบบจะรวมภาพที่ได้จากเซ็นเซอร์ทั้งสองตัว ทำให้เก็บรายละเอียดของภาพได้ดีขึ้นและช่วยให้กล้องรับแสงได้มากกว่าเดิม เนื่องจากเซ็นเซอร์ขาวดำจะรับแสงได้มากกว่าเซ็นเซอร์ RGB
อีกทั้งการติดตั้งเซ็นเซอร์ Monochrome ลงในกล้องตัวที่สองทำให้ P9 สามารถถ่ายภาพขาวดำ (ในโหมดถ่ายภาพพิเศษ Monochrome) ได้เอกลักษณ์ความเป็นไลก้าผสมผสานฟิล์มลุ๊ค โดยเฉพาะไดนามิกและมิติของภาพที่มากกว่าสมาร์ทโฟนปกติเปิดถ่ายขาวดำด้วย
ในส่วนซอฟต์แวร์ควบคุมกล้องถ่ายภาพ ทางหัวเว่ยและไลก้าจะร่วมกันพัฒนา โดยอินเตอร์เฟสหลักจะยังคงเอกลักษณ์ของหัวเว่ยไว้ (เน้นเรียบและใช้งานง่าย) แต่จะมีการปรับฟอนต์และเสียงชัตเตอร์ให้เป็นแบบไลก้า อีกทั้งโหมดถ่ายภาพจะเพิ่ม Monochrome Mode เข้ามา (ส่วนโหมดถ่ายภาพพิเศษอย่าง Light Painting และ Night Shot, Timelapse จะมีให้เลือกใช้งานในแบบของหัวเว่ยเช่นเดิม) รวมถึงมี Manual Mode (รองรับเฉพาะโหมดถ่ายภาพ Photo และ Monochrome) ที่เปิดใช้งานง่ายเพียงจิ้มที่ขีดสีขาวเหนือปุ่มชัตเตอร์แล้วตวัดขึ้นเท่านั้นจะพบหน้าตาส่วนปรับตั้งค่ากล้องถ่ายภาพ
โดย Manual Mode จะเปิดโอกาสให้คุณสามารถเลือกตัววัดแสง ISO มีให้เลือกตั้งแต่ 50-3,200 ความเร็วชัตเตอร์มีให้เลือกตั้งแต่ช้าสุด 30 วินาที่ – 1/4,000 วินาที สามารถปรับชดเชยแสงได้ ไปถึงการล็อกโฟกัสที่ระยะต่างๆและปรับ White Balance แบบ Manual ได้ตามต้องการ
มาถึงการตั้งค่ากล้องถ่ายภาพ คุณสามารถเลือกความละเอียดที่ต้องการได้ โดยความละเอียดสูงสุดจะอยู่ที่ 12 ล้านพิกเซลบนอัตราส่วนภาพ 4:3 ส่วนเมื่ออยู่ในโหมดพิเศษอย่าง Light Painting และ Night Shot ความละเอียดภาพจะทำได้แค่ 8 ล้านพิกเซลเท่านั้น
ส่วนเมนูปรับแต่งอื่นๆที่น่าสนใจจะอยู่ที่ความสามารถในการเปิดใช้ RAW Format ได้เมื่ออยู่ใน Manual Mode สามารถเลือก Film mode สไตล์ไลก้า (มีให้เลือก Standard, Vivid และ Smooth) ได้ รวมถึงสามารถเปิดปิดตัววัดระดับความลาดเอียง GRID และตั้งเวลาถ่ายได้
มาถึงวิดีโอจะสามารถถ่ายที่ความละเอียดสูงสุด FullHD 1080p ที่ความเร็ว 60 เฟรมต่อวินาทีได้
ตัวอย่าง Beauty mode เมื่อปรับแต่งในระดับต่างๆ (ถ้าปรับดีๆ เลือกมุมถ่ายดีๆ จะได้ภาพใบหน้าที่สวยงามแน่นอน)
และสุดท้ายกับ Beauty mode สำหรับขาเซลฟี ที่ในครั้งนี้หัวเว่ยเพิ่มระบบจดจำและสร้างโปรไฟล์ใบหน้าของผู้ถ่ายที่ถูกปรับแต่งได้ทั้ง เพิ่มขนาดดวงตา ทำคางแหลม บีบหน้า หรือสิ่งใดก็แล้วแต่เก็บไว้ในระบบ จากนั้นเมื่อผู้ใช้เริ่มถ่ายเซลฟีในสถานการณ์ต่างๆ ระบบจะตรวจจับใบหน้าของคุณ ถ้าตรงกับใบหน้าที่อยู่ในฐานข้อมูล ระบบจะปรับแต่งหน้าคุณตามโปรไฟล์ที่ตั้งไว้ให้อัตโนมัติ
สเปก
หน่วยประมวลผลที่ใช้ขับเคลื่อน Huawei P9 และ P9 Plus คือ HiSilicon Kirin 955 Octa-core แบ่งความเร็วเป็น 4 คอร์แรก 2.5GHz, 4 คอร์หลัง 1.8GHz พร้อมกราฟิก Mali-T880
ในส่วนแรมสำหรับรุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบเป็นโมเดล EVA-L09 ความจุ 32GB จะให้แรมมา 3GB (เหลือใช้จริงประมาณ 1.5-2GB)
ด้านการเชื่อมต่อเครือข่ายต่างๆ P9 ทุกรุ่นจะมาพร้อมเสารับสัญญาณสามเสา (Triple Antenna) ประกบเทคโนโลยี Single+ 2.0 ออกแบบมาเพื่อรองรับเทคโนโลยีรวมคลื่นความถี่ Carrier Aggregation โดย 2G/3G/4G จะรองรับทุกเครือข่ายที่มีในประเทศไทยทั้งหมด
ส่วน WiFi (802.11 a/b/g/n/ac แบบ Dual Band) รองรับระบบ WiFi+ หรือระบบจัดการ WiFi และ อินเตอร์เน็ตโมบายให้ใช้งานได้ลื่นไหล ลดปัญหาสัญญาณ WiFi อ่อนแล้วอินเตอร์เน็ตใช้ไม่ได้ (แนะนำให้ปิดถ้าไม่ใช้แพกเกจอินเตอร์เน็ตโมบายแบบ Unlimited), บลูทูธ 4.2 มี NFC (เฉพาะโมเดล EVA-L09 นอกนั้นไม่มี) แบตเตอรี 3,000mAh (P9 Plus 3,400mAh)
ซอฟต์แวร์และฟีเจอร์เด่น
Huawei P9 ทุกรุ่นจะมาพร้อมระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ 6.0 Marshmallow ครอบทับด้วย EMUI 4.1 ตัวล่าสุด ที่ปรับเอ็ฟเฟ็กต์และหน้าตาการออกแบบให้สอดคล้องกับแอนดรอยด์ 6.0 มากขึ้น รวมถึงมาพร้อมฟีเจอร์เด่นจากระบบปฏิบัติการ Marshmallow อย่าง “Now on tap” ก็มีให้ใช้งาน
ในส่วนแอปฯระบบที่เพิ่มเติมเข้ามาได้อย่างน่าสนใจได้แก่ แอปฯ Health (สุขภาพ) ที่จะช่วยตรวจวัดจำนวนก้าวเดินและคำนวณแคลอรี่ในแต่ละวัน พร้อมสรุปผลเป็น Timeline ว่าเวลาใดเราเคลื่อนไหวหรือเดินไปเท่าไร
อีกทั้งในส่วนสรุปผลแคลอรี่ที่เผาผลาญยังมีระบบเปรียบเทียบกับอาหารที่เราทานเข้าไป เช่น วันนี้เดินไป 122.7 kcal เท่ากับเราเผาพลาญไข่ไป 2.5 ฟอง เป็นต้น
มาถึงฟีเจอร์จับภาพหน้าจอ Screenshot มีการเพิ่มระบบตกแต่งภาพหน้าจอ สามารถใส่ตัวหนังสือ ขีดเขียน และเซนเซอร์ข้อความหรือครอปภาพได้ อีกทั้งยังสามารถจับภาพหน้าจอเว็บไซต์ได้ทั้งหน้าเว็บเพจด้วย
ในส่วนการปรับแต่งเปิดปิด Gestures และการเคลื่อนไหวต่างๆที่เป็นเอกลักษณ์ของหัวเว่ยก็มีให้เลือกเปิดปิดใช้งานได้ตามต้องการเช่นเดิม เช่น แตะเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือเพื่อลั่นชัตเตอร์กล้อง หรือเมื่อหน้าจอปิดอยู่ คุณสามารถวาดตัวอักษรที่คุณกำหนดเพื่อเปิดแอปฯที่ตั้งไว้ได้ เป็นต้น
มาถึงระบบจัดการพลังงาน Battery manager ฟีเจอร์หลักอย่าง Power plan ปรับเลือกการทำงานของซีพียูตามการใช้งานเพื่อประหยัดแบตเตอรี หรือจะเลือกเปิดปิดการเรียกข้อมูลของแอปฯที่ทำงานเบื้องหลังก็มีมาให้ผู้ใช้ได้ปรับแต่งเช่นเดิม และส่วนที่โดดเด่นก็คือโหมด ROG power saving mode ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานระบบจะปรับความละเอียดหน้าจอเหลือ 720p เพื่อประหยัดพลังงาน
ในส่วนแอปฯอื่นๆที่ติดตั้งมาจากโรงงานจะเหมือนสมาร์ทโฟนหัวเว่ยทุกรุ่น แต่จะมีแอปฯพิเศษอย่าง EyeEm เครือข่ายสังคมสำหรับคนถ่ายภาพติดตั้งมาให้กับ P9 ทุกรุ่นเลย
ส่วน Galley ก็มาพร้อมระบบตกแต่งภาพ ใส่ฟิลเตอร์สีต่างๆหรือจะใช้เช็คขนาดไฟล์ ค่ากล้องต่างๆได้เพียงกดไอคอนรูปตัว i เท่านั้น
ทดสอบประสิทธิภาพ
AnTuTu Benchmark – ทำคะแนนรวมได้ 97,725 คะแนน
3D Mark – ชุดทดสอบ Sling Shot ES 3.1 = 902 คะแนน, Ice Storm Extreme = 9,236 คะแนน, Ice Storm Unlimited = 16,091 คะแนน
PC Mark – คะแนนรวม 6,240 คะแนน
Quadrant Standard – คะแนนรวม 37,596 คะแนน
Multi-Touch – 10 จุด
PassMark PerformanceTest Mobile – System = 6,124 คะแนน, CPU Tests = 210,469 คะแนน, Disk Tests = 23,495 คะแนน, Memory Tests = 5,541 คะแนน, 2D Graphics Tests = 5,152 คะแนน, 3D Graphics Test = 1,518 คะแนน
ภาพรวมในส่วนทดสอบประสิทธิภาพ ถ้ามองในแง่ตัวเลขคะแนน Huawei P9 อาจไม่โดดเด่นเทียบเท่าคู่แข่ง แต่เรื่องความลื่นไหล การเข้ากันได้ระหว่างระบบปฏิบัติการกับ EMUI รวมถึงฟีเจอร์เด่นต่างๆที่ใส่เข้ามา ถือว่าหัวเว่ยปรับแต่งมาได้ลงตัวมาก แรม 3GB ถือว่าพอเพียงและไม่พบอาการแรมหมดเกิดขึ้นแต่อย่างใด
ในส่วนการทดสอบแบตเตอรีด้วย Geekbench อยู่ที่ 7 ชั่วโมง 50 นาที 30 วินาที คิดเป็นคะแนนอยู่ที่ 4,616 คะแนน ถือว่าอยู่ระดับปานกลาง ใช้งานตลอดทั้งวัน ถ้าเป็นคนชอบถ่ายภาพอาจไม่เพียงพอ ต้องหา Power Bank ติดตัวไปด้วย ส่วนถ้าใช้งานทั่วไป เน้นสแตนบาย สามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวัน
ทดสอบกล้องหลัง LEICA
ถ่ายภาพทั้งหมดโดย พศวัต ศิริจันทร์ > https://www.eyeem.com/u/potsawatsirichan
**ภาพทั้งหมดเป็น JPEG ปรับตั้งค่าแบบ Manual ไฟล์ภาพทั้งหมดไม่ผ่านการตกแต่งด้วยซอฟต์แวร์ใดๆทั้งสิ้น ยกเว้นบางภาพมีการครอปในอัตราส่วนต่างๆ
เริ่มจากภาพขาว-ดำ ผลผลิตจากเซ็นเซอร์ Monochrome
จะเห็นว่าภาพขาวดำจาก P9 มีความแตกต่างจากการสมาร์ทโฟนทั่วไปที่เปิดใช้ฟิลเตอร์ภาพขาวดำ ในเรื่องมิติ ความกว้างของภาพที่มากกว่า และที่สำคัญอารมณ์และโทนภาพแบบฟิล์มที่โดดเด่นชัดเจนมาก อีกทั้งในโหมด Monochrome ยังถ่ายในที่แสงน้อยได้ดีกว่าภาพสีด้วย
มาต่อที่โหมดถ่ายภาพสีปกติ
ชมภาพตัวอย่างทั้งหมดแบบเต็มความละเอียด >คลิกที่นี่<
โดยภาพรวมกล้องไลก้าใน Huawei P9 จะมีจุดเด่นในเรื่องคอนทราสต์ที่จัดจ้านและโทนภาพติดฟิล์มเล็กน้อย ส่วนสีที่ให้ก็เป็นไปตามธรรมชาติ (ทีมงานมองว่าโทนคล้ายกับ iPhone 6s) จุดเด่นที่อยากให้ทุกคนได้ลองคือการถ่ายภาพย้อนแสง P9 ทำได้ดีมากทั้งเรื่องแฟร์ที่เลนส์ควบคุมได้ยอดเยี่ยม ความคมชัด มิติภาพ และรายละเอียดภาพทั้งหมดถือว่าอยู่ครบถ้วนไม่เสียชื่อไลก้า
ฟีเจอร์ Wide Aperture ถ่ายภาพก่อนแล้วค่อยเลือกโฟกัสและรูรับแสงละลายฉากหลังได้ภายหลังก็มีให้เลือกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพเหมือน Honor 6 Plus
ในส่วนไฟล์ภาพ ในที่นี้ขอพูดถึง JPEG File ที่ทำได้โดดเด่นมากที่สุด ชนะ Galaxy S7 ได้เลยในความเห็นของทีมงาน เพราะเนื้อไฟล์ JPEG ทำได้ดีกว่า โดยเฉพาะไดนามิกที่ดีจนผู้ใช้สามารถตกแต่งภาพเพิ่มเติมจาก JPEG ได้เหมือนกับ RAW เลย
แต่ทั้งนี้ถ้ามองถึงความสวยในแบบสำเร็จรูป เน้นโดนใจวัยรุ่น (ประมาณถ่ายทุกสภาพแสงยังไงก็ได้ภาพสดใส คมชัดตลอด) ส่วนนี้คู่แข่งอย่าง Galaxy S7 จะทำได้ดีกว่ามาก Huawei P9 จะได้ไฟล์ที่มีความดิบกว่า
ส่วนระบบออโต้โฟกัส ส่วนนี้คงให้คะแนนแค่ปานกลาง ความไวและความแม่นยำยังไม่สามารถสู้ Dual Pixel ได้ อีกทั้งทีมงานยังพบอาการโฟกัสวืดวาดในที่แสงน้อยบ่อยครั้ง โดยเฉพาะชัตเตอร์ที่บางครั้งเกิดอาการลั่นช้าบ้าง
มาถึงสิ่งประทับใจสุดท้ายคือเรื่องยูสเซอร์อินเตอร์เฟสกล้องที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะเมื่อต้องการตั้งชัตเตอร์ช้ามากๆ โดยเมื่อเรากดปุ่มชัตเตอร์ลงไป จะมีแถบสถานะเวลาเปิดหน้ากล้องนับถอยหลังให้เราทราบด้วย หรือแม้แต่โหมดพิเศษอย่าง Light Trails ระหว่างที่กล้องบันทึกภาพเส้นแสง หน้าจอจะแสดงผลภาพเส้นแสงที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ด้วย
สุดท้ายในส่วนงานวิดีโอ เรื่องภาพถือว่าคมชัด แต่การบันทึกเสียงและระบบป้องกันภาพสั่นไหวถือว่ายังทำได้แค่ระบบพอใช้เท่านั้น ไม่ได้น่าประทับใจเหมือนส่วนกล้องถ่ายภาพนิ่ง
สรุป
Huawei P9 เป็นสมาร์ทโฟนไฮเอนด์จากหัวเว่ยที่มีความโดดเด่นในเรื่องกล้องถ่ายภาพหลังไลก้าที่สุด และดูเหมือนหัวเว่ยจะเน้นจุดขายนี้เป็นพิเศษกว่าเรื่องสเปกที่ปัจจุบันจะคล้ายกันจนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แน่นอนว่าหัวเว่ยทำได้ดีมากจนกลายเป็นการแจ้งเกิดแบรนด์ตำนานอย่างไลก้าในตลาดสมาร์ทโฟนได้อย่างยอดเยี่ยม กล้องคู่ที่มีอยู่แล้วในตลาดก็ถูกพัฒนาให้มาเพิ่มประสิทธิกล้อง ซึ่งถือเป็นความคิดที่ดี จน P9 น่าจะถูกใจผู้ใช้ที่ชอบถ่ายภาพไปถึงช่างภาพมืออาชีพที่กำลังมองหามือถือกล้องสวย Huawei P9 ถือเป็นสมาร์ทโฟนที่ทีมงานแนะนำให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกไฮเอนด์สมาร์ทโฟนของปีนี้
โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบภาพ Monochrome Huawei P9 น่าจะเป็นสมาร์ทโฟนตัวเดียวที่มีจิตวิญญาณของภาพ Monochrome ขาวดำที่สวยสุดในตลาดตอนนี้แล้ว
ในส่วนโมเดลที่จะเข้ามาขาย ราคา วันวางจำหน่ายและคะแนนภาพภาพรวมทั้งหมด ทีมงานขอติดผู้อ่านไว้ก่อน รอให้หัวเว่ยประเทศไทยประกาศอย่างเป็นทางการก่อน แล้วทีมงานจะกลับมาให้ในส่วนคะแนนภาพรวมเพิ่มเติมภายหลัง
อัปเดต : เปิดราคา Huawei P9 ในบ้านเราจะเป็นรุ่นความจุ 32GB แรม 3GB พร้อมรองรับซิมโทรศัพท์ Dual Sim โดยในส่วนราคาอยู่ที่ 16,990 บาท มีให้เลือก 3 สี ได้แก่ สีทอง สีเงิน และสีเทา เริ่มเปิดให้จองวันนี้ (มีค่า Pre Booking 2,000 บาท) พร้อมรับของแถม ได้แก่ Leica Case มูลค่า 1,900 บาท และ MicroSD Card 128GB Class 10 มูลค่า 2,190 บาท