การออกแบบ
HUAWEI MediaPad T3 10 ใช้หน้าจอ IPS ขนาด 9.6 นิ้วความละเอียด HD 1,280×800 พิกเซล ความสว่างหน้าจออยู่ที่ 300 นิต ความหนาตัวเครื่องอยู่ที่ 7.95 มิลลิเมตร มาพร้อมกล้องหน้า 2 ล้านพิกเซล
ด้านหลังใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียม พร้อมกล้องหลังความละเอียด 5 ล้านพิกเซลแบบออโต้โฟกัส
ในส่วนปุ่มกดและช่องเชื่อมต่อรอบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านล่างจะเป็นที่อยู่ของลำโพง 1 ตัวให้เสียงแบบโมโน
ด้านซ้ายเป็นช่องเชื่อมต่อหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร ช่องใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์แบบ Nano Sim (รองรับซิมเดียว) พร้อมช่องใส่ MicroSD Card ถัดมาเป็นช่อง MicroUSB สำหรับเชื่อมต่อสายชาร์จไฟหรือเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์
ด้านขวา เป็นปุ่มเพิ่มลดระดับเสียงและปุ่มเปิดปิดเครื่อง
ในส่วนอุปกรณ์เสริมนอกจากอะแดปเตอร์ชาร์จไฟแล้ว ทางหัวเว่ยยังให้ฟิล์มกันรอยและเคสแถมมากับ MediaPad T3 10 (แต่เมื่อใส่เคสแล้วจะไม่สามารถถ่ายรูปและเสียบหูฟังได้)
สเปก
MediaPad T3 10 ขับเคลื่อนด้วยซีพียู Qualcomm Snapdragon 425 Quad Core 1.4 GHz พร้อมแรม 2GB (เหลือให้ใช้งานจริงประมาณ 900MB-1GB) รอมให้มา 16GB (เหลือใช้งานจริงประมาณ 7-8GB) ขับเคลื่อนด้วย Android 7.0 Nougat ครอบทับด้วย EMUI 5 แบตเตอรี 4,800 mAh
ด้านการเชื่อมต่อเครือข่าย รองรับ 4G ในบ้านเรา สามารถใช้งานส่วนโทรศัพท์ รับข้อความได้ แต่ต้องเปิดลำโพงเครื่องเพื่อฟังเสียงหรือถ้าอยากได้ความเป็นส่วนตัวก็ต้องพึ่งพา Smalltalk
ส่วน WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n แบบ Dual Band บลูทูธรองรับเวอร์ชัน 4.1 มี GPS/AGPS/GLONASS และ BDS จับสัญญาณไวพอสมควร สามารถใช้นำทางได้
ฟีเจอร์เด่น
หน้าตาของยูสเซอร์อินเตอร์เฟส MediaPad T3 10 จะเหมือนกับสมาร์ทโฟนหัวเว่ยรุ่นใหม่ๆ แอปฯเสริมมีมาให้กำลังพอดี เช่น Microsoft Office ส่วนแอปฯโทรศัพท์ รับข้อความจะถูกซ่อนอยู่ในโฟลเดอร์เครื่องมือ
นอกจากนั้นหัวเว่ยยังได้ติดตั้งแอปฯสำหรับให้เด็กใช้งานไว้ด้วย โดยผู้ปกครองสามารถควบคุมและกรองการใช้งานแอปฯในตัวเครื่องให้เหมาะสำหรับลูกของคุณได้
ส่วนฟีเจอร์อย่าง Multitasking เปิด 2 แอปฯในหน้าจอเดียวก็มีให้เลือกใช้ใน MediaPad T3 10 เช่นกัน (แต่ทดลองเปิดบางแอปฯการใช้งานจะค่อนข้างหน่วง เนื่องมาจากแรมในตัวเครื่องมีเพียง 2 GB เท่านั้น)
สุดท้ายในส่วนกล้องถ่ายภาพ นอกจากโหมดอัตโนมัติปกติแล้วยังมี HDR และสามารถสแกนเอกสารได้
โดยในส่วนคุณภาพของกล้องหน้าและหลังถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้แก้ขัดได้ ส่วนกล้องหน้ามี Beauty Mode ทำหน้าใสมาให้ด้วย
ทดสอบประสิทธิภาพ
PC Mark Work 2.0 = 3,568 คะแนน
AnTuTu Benchmark = 38,004 คะแนน
3D Mark
Sling Shot = 55 คะแนน
Ice Storm Extreme = 3,695 คะแนน
Ice Storm = 7,267 คะแนน
AndroBench
Seq. Read = 157.84MB/s
Seq. Write = 62.79MB/s
PassMark PerformanceTest
System = 2,343 คะแนน
CPU Tests = 54,826 คะแนน
Memory Tests = 5,961 คะแนน
Disk Tests = 2,663 คะแนน
2D Graphics Tests = 2,911 คะแนน
3D Graphics Tests = 523 คะแนน
ด้วยซีพียูที่จับกลุ่มระดับเริ่มต้นและแรมที่ให้มาเพียง 2GB แต่เหลือใช้จริงระดับ 900MB-1GB เท่านั้น แน่นอนว่าการใช้งานจริงทีมงานต้องเรียนตามตรงว่า “ตัวเครื่องทำงานได้หน่วงพอตัว แถมถ้าเปิดแอปฯเป็นจำนวนมาก อาจพบเจออาการแอปฯปิดตัวเองได้ด้วย” ความจริงหัวเว่ยน่าจะให้แรมมาอย่างน้อย 4GB น่าจะทำให้การทำงานดีขึ้นกว่านี้
ด้านรอมที่ให้มา 16GB พร้อมรองรับการใส่การ์ดความจำ MicroSD เพิ่มได้ เอาเข้าจริงแล้วถ้าเป็นคนไม่ได้ใช้งานแท็บเล็ตหนักหน่วงมากก็อาจจะเพียงพอในวันนี้ แต่วันข้างหน้าเมื่อแอปฯมีขนาดใหญ่ขึ้นก็อาจสร้างความวุ่นวายให้ผู้ใช้ต้องมาคอยตามลบหรือย้ายไฟล์ไปฝากไว้ที่ MicroSD Card (ความจริงความจุรอมในตัวเครื่องที่เหมาะสมกับปัจจุบัน ควรเริ่มต้นที่ 32GB เป็นอย่างต่ำ)
ส่วนการใช้เล่นเกมถามว่าทำได้หรือไม่ ทีมงานได้ทดสอบกับเกมหลากหลายรูปแบบก็ถือว่าพอใช้ได้ อย่าง ROV ปรับได้สูงสุดลื่นไหลกำลังดีแต่เกมบางเกมก็แนะนำให้ปรับไปที่ระดับกลาง-ต่ำสุดจะทำให้การเล่นลื่นไหลขึ้น
ด้านการทดสอบแบตเตอรีด้วย PC Mark เปิดหน้าจอทิ้งไว้ตลอดการทดสอบ ทำเวลาได้ 7 ชั่วโมง 5 นาทีเทียบกับแบตเตอรี 4,800 mAh และหน้าจอความละเอียดเพียง HD ถือว่ายังทำเวลาไม่ค่อยน่าประทับใจ
สรุป
สำหรับราคาขาย HUAWEI MediaPad T3 10 อยู่ที่ 8,900 บาท ถ้ามองถึงฟีเจอร์ ลูกเล่นที่ให้มาก็ถือว่าคุ้มค่าคุ้มราคาพอสมควร แต่ถ้ามองเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพ MediaPad T3 10 ยังทำได้ไม่น่าประทับใจนัก โดยเฉพาะแรมและรอมในตัวเครื่องที่ให้มาน้อยไปเสียหน่อย และไม่น่าเพียงพอต่อการใช้งานในอนาคต
แต่ถ้ามองในแง่ซื้อเป็นแท็บเล็ตเสริม เช่น ไว้ใช้งาน GPS หรือใช้เปิดเพลงผ่านแอปฯสตรีมมิ่งต่างๆในรถยนต์ หรือหาซื้อเป็นแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาสำหรับลูกหลาน HUAWEI MediaPad T3 10 ก็ถือว่าตอบโจทย์ได้ดี เพราะตัวเครื่องมีขนาดใหญ่แถมใส่ซิมรับ 4G ได้ด้วย