Review : Intel Compute Stick (2016) คอมจิ๋วพกพาง่าย ต่อจอใช้ได้เลย

33348

IMG_2986

อุปกรณ์ที่ถือเป็นต้นแบบสำหรับอินเทล ในการนำซีพียูรุ่นเล็ก มาเชื่อมต่อกับหน้าจอโทรทัศน์ หรือจอมอนิเตอร์เพื่อใช้งานภายใต้ชื่อ Intel Compute Stick ยังถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน ที่นิยมรับชมรายการโทรทัศน์ ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

จุดเด่นที่เพิ่มขึ้นมาใน Intel Compute Stick (2016) นอกเหนือไปจากใช้ซีพียู Atom รุ่นใหม่ (Cherry Trail) กับปรับสเปกเพิ่มเล็กน้อยแล้ว ก็จะมีในส่วนของพอร์ตยูเอสบีเป็น 2 พอร์ต จากเดิมที่มีเพียงพอร์ตเดียว พร้อมกับการเพิ่มฟังก์ชันอย่าง Intel Remote Keyboard ให้สามารถใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตควบคุมได้

การออกแบบ

IMG_2997

ด้วยจุดประสงค์หลักของอินเทล คือการออกมาเป็นต้นแบบคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก (Stick) ทำให้การออกแบบจะเน้นไปที่การตอบโจทย์การใช้งานเป็นหลัก ดีไซน์จึงออกมาอยู่ในลักษณะแท่งๆเหมือนพวกแอร์การ์ด โดยในรุ่นนี้จะมีความยาวเพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนหน้า จากการเพิ่มพอร์ตยูเอสบีเข้ามา

ทำให้ขนาดของ Intel Compute Stick อยู่ที่ 113 x 38 x 12 มิลลิเมตร ขณะที่อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องนอกจากตัว Compute Stick แล้วก็จะมี สายต่อ HDMI ขนาดสั้นมาให้กรณีที่พื้นที่หลังโทรทัศน์มีจำกัด พร้อมกับอะเดปเตอร์ที่เป็นพอร์ตไมโครยูเอสบี (สามารถนำที่ชาร์จโทรศัพท์ทั่วไปใช้แทนได้เวลาพกพาไปที่ต่างๆ)

IMG_2987

ด้านหน้าจะมีสัญลักษณ์ของ Intel Inside อยู่ส่วนปลาย ขณะที่ส่วนบนจะเป็นเหมือนช่องระบายอากาศ ด้านหล้งจะเป็นสติกเกอร์บอกรายละเอียดมาตรฐานต่างๆ รวมถึงรหัสผลิตภัณฑ์ และ Mac Address เพื่อใช้ตั้งเข้ากับเครือข่ายในการใช้งาน

ด้านบนเป็นพอร์ต HDMI 1.4b ด้านล่างจะมีความโค้งเล็กน้อย

IMG_2990

ด้านซ้ายมีช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ดให้เพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูล และช่องสำหรับร้อยสายล็อกเครื่อง

IMG_2992

ด้านขวาจะมีปุ่มเปิดเครื่อง ถัดลงมาเป็นช่องไมโครยูเอสบีสำหรับเสียบสายชาร์จ พอร์ตยูเอสบี 2 ช่อง โดยเป็น USB 2.0 1 ช่อง และ USB 3.0 (สีฟ้า) อีก 1 ช่อง กรณีที่ต้องการความเร็วในการเชื่อมต่อที่มากขึ้น

สเปก

cpuzw10

สำหรับหน่วยประมวลผลของ Intel Compute Stick (2016) จะใช้หน่วยประมวลผล Intel Atom x5-Z8300 ที่เป็น Quad-Core 1.44 GHz (Upto 1.84 GHz 2MB Cache) RAM DDR3L 2 GB พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 32 GB รองรับการเพิ่มไมโครเอสดีการ์ดสูงสุด 128 GB ด้านการเชื่อมต่อไร้สายจะรองรับทั้ง WiFi 802.11ac บลูทูธ 4.0 ที่สำคัญคือมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 Home Edition ให้พร้อมใช้งานทันที

ฟีเจอร์เด่น

intel

ด้วยเป้าหมายของ Compute Stick คือการเป็นคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก ที่เหมาะกับทั้งในส่วนของผู้บริโภคทั่วไปที่ต้องการเปลี่ยนโทรทัศน์ให้สามารถใช้งานเป็นคอมพ์เพื่อใช้ท่องอินเทอร์เน็ต ใช้เข้าถึงคอนเทนต์ส่วนตัวอย่างรูปภาพ วิดีโอ การใช้งานเพื่อความบันเทิงอย่างรับชมวิดีโอสตรีมมิ่งหรือใช้งานสไกป์ เพื่อติดต่อสื่อสารกับเพื่อนๆ

ขณะที่ลูกค้าฝั่งองค์กรธุรกิจ ก็สามารถนำ Compute Stick ไปปรับใช้ได้กับการนำเสนอข้อมูลระบบดิจิตอล (Digital Signafe) หรือใช้เป็นคอมพ์ตามจุดบริการลูกค้า (Kiosk) หรือจะประยุกต์มากับงานชนิดอื่นๆที่ใช้ประสิทธิภาพทั่วไปของคอมพิวเตอร์ หรือในระบบประหยัดพลังงานก็ทำได้

โดยจริงๆแล้วอินเทลจะผลิต Compute Stick ออกมาด้วยกัน 2 รุ่นคือ รุ่นรหัส STK1AW32SC คือรุ่นที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 กับอีกรุ่นคือ STK1A32SC เป็นรุ่นที่ไม่ได้มากับระบบปฏิบัติการใดๆ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถนำไปลงโอเอสที่ต้องการใช้อย่างลินุกซ์ได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ประสิทธิภาพตัวเครื่องไม่ได้สูงมาก ทำให้การแสดงผลที่อินเทลระบุว่ารองรับคือ 1080p เท่านั้น แต่อย่างไรด็ตามผู้ใช้สามารถนำไปใช้เชื่อมต่อกับจอ 4K บางรุ่นได้ ทั้งนี้ ทีมงานได้ทดลองใช้กับจอ LG UltraWide 4K กลับไม่สามารถใช้งานได้ ดังนั้นจึงอาจจะขึ้นอยู่กับรุ่นของจอว่าจะใช้ด้วยกันได้หรือไม่

windows10

เมื่อเชื่อมต่อ Intel Compute Stick เข้ากับหน้าจอครั้งแรกจะพบกับหน้าจอการติตตั้ง Windows 10 อย่างการใส่ชื่อผู้ใช้ การเชื่อมต่อเข้าไวไฟ ล็อกอินเข้าบัญชีผู้ใช้ ซึ่งเป็นไปตามปกติหลังจากที่ลง Windows 10 ครั้งแรก เมื่อตั้งค่าต่างๆเสร็จเรียบร้อย ก็พร้อมให้ใช้งานได้ทันที

remote

แอปพลิเคชันเสริมที่อินเทลติดตั้งมาให้ด้วยเพื่อความสะดวกในการใช้งานคือ Intel  Remote Keyboard กรณีที่ไม่สามารถเชื่อมต่อเมาส์ และคีย์บอร์ดเข้ากับ Stick ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าวมาติดตั้งไว้ในสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เพื่อใช้การควบคุมผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายได้ทันที

เพียงแต่ในการใช้งานครั้งแรก อาจจะต้องมีการเปิดใช้งานในเครื่องก่อน หลังจากนั้นเปิดแอปที่สมาร์ทโฟนขึ้นมา เลือกชื่ออุปกรณ์ที่จะเข้าไปควบคุม ซึ่งที่หน้าจอแสดงผลจะขึ้นรหัส QR Code มาให้ใช้สมาร์ทโฟนสแกนเพื่อเข้าเครื่องป้องกันการเข้าใช้งานผิดเครื่อง และเพื่อความปลอดภัย จากนั้นก็สามารถใช้สมาร์ทโฟนแทนเมาส์ และคีย์บอร์ดได้ทันที

ทดสอบประสิทธิภาพ

geekbench

ในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพ เนื่องจากตัวสเปกเครื่องของ Compute Stick ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานหนักๆ ดังนั้นโปรแกรมเทสอย่าง PCMark8 หรือ 3DMark จึงไม่สามารถรันได้เสร็จสมบูรณ์ ทีมงานจึงเหลือเพียงการทดสอบผ่าน Geekbench มาให้ดูกันคือคะแนนแบบ Single Core ได้ที่ 745 คะแนน ส่วน Multi Core ได้ 2,101 คะแนน

ขณะที่การทดสอบอื่นๆ อย่างการรับชมภาพยนตร์ความละเอียดสูงระดับ 1080p ที่การแสดงผล 1080p จะพบอาการหน่วงเป็นระยะๆ ดังนั้นถ้าต้องการนำมาสตรีมมิ่งภาพยนตร์ความละเอียดสูง อาจจะต้องหาสติ้กที่มีประสิทธิภาพสูงกว่านี้ แต่ถ้าเป็นความละเอียดระดับ 720p สามารถแสดงผลได้สบายๆ

สรุป

ถ้าเทียบระหว่าง Compute Stick ปี 2015 กับ ปี 2016 สิ่งที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนเลยคือการเพิ่มพอร์ต USB 3.0 มาให้อีกพอร์ต ทำให้มีตัวเลือกในการเชื่อมต่อเพิ่มเติม ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ควบคุมเข้ากับพอร์ต USB 2.0 หรือผ่านบลูทูธ และเลือกใช้พอร์ต USB 3.0 สำหรับการเชื่อมต่อ External Harddisk เพื่อให้ได้ความเร็วในการใช้งานที่สูงขึ้น

แต่ด้วยประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลที่เป็น Atom กับ RAM ที่ให้มาเพียง 2 GB ข้อจำกัดในการใช้งานจึงมีค่อนข้างสูง ทำให้ใช้งานได้ทั่วๆไป อย่างการแปลงโทรทัศน์มาใช้ ท่องอินเทอร์เน็ต ใช้ติดต่อสื่อสารผ่านโปรแกรมแชตต่างๆ รวมถึงการทำงานเล็กๆน้อยๆจากไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ การสตรีมภาพยนตร์ระดับ 720p (1080p มีอาการกระตุกบ้าง)

ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับราคาจำหน่ายที่ 6,490 บาท กับการได้อุปกรณ์ที่จะเปลี่ยนจอโทรทัศน์ให้กลายเป็นสมาร์ททีวี หรือสำหรับการใช้งานในองค์กรที่ต้องการเพียงระบบแสดงผลตามคีออส หรือการใช้งานเว็บแอปพลิเคชัน การลงทุนระดับนี้ถือว่าค่อนข้างคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะขนาดทั่วไป แถมยังได้ความสะดวกในการพกพาเพิ่มขึ้นมา ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะนำอุปกรณ์นี้ไปใช้ในมุมไหนด้วย

ข้อดี

เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กพกพาติดตัวไปได้ง่าย

สามารถเชื่อมต่อกับจอภาพเพื่อแปลงเป็นพีซีได้ทันที

มีพอร์ต USB 3.0 มาให้ใช้งานเพิ่มเติม

ข้อสังเกต

แม้ว่าตัวเครื่องจะรองรับการแสดงผล 1080p แต่ยังมีอาการกระตุกให้เห็น

ประสิทธิภาพเหมาะกับการใช้งานเบื้องต้นเท่านั้น

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
8.5
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
7.5
ความสามารถโดยรวม
8
ความคุ้มค่า
8.5
SHARE