หลังจากพรีวิวแกะกล่อง iPhone 7 และ iPhone 7 Plus ไปแล้ว วันนี้ก็ถึงคิวของรีวิวฉบับเต็มตามที่ได้สัญญากันไว้ โดยในบทความนี้ทีมงานขอควบรวมทั้ง iPhone 7 และ 7 Plus เป็นรีวิวเดียวกัน เนื่องจากสเปกภายในไม่แตกต่างกันมากจนต้องเป็นประเด็นเว้นกล้องหลังที่ทีมงานจะขอทดสอบกล้องคู่ของ iPhone 7 Plus เป็นหลัก
การออกแบบ
ถึงแม้หน้าตาระหว่าง iPhone 7 / 7 Plus จะไม่แตกต่างต่างจากรุ่น 6s / 6s Plus เนื่องจากมีขนาดตัวเครื่องรวมถึงการออกแบบในภาพรวมไม่ต่างกัน แต่เรื่องน้ำหนัก iPhone 7 / 7 Plus จะมีความเบากว่า iPhone 6s / 6s Plus ประมาณ 4-5 กรัม (ถือแล้วแทบไม่รู้สึกถึงความต่าง) อีกทั้งเรื่องดีไซน์ถ้าเจาะลึกลงไปในเรื่องโครงสร้างยูนิบอดี้จะพบว่า แอปเปิลออกแบบใหม่ให้มีความเรียบร้อยมากขึ้น ด้วยการซ่อนเสาอากาศไว้บริเวณสันเครื่องแทนการพาดผ่านฝาหลังแบบรุ่นก่อนหน้า รวมถึงการเก็บขอบโค้งมนยังทำได้เรียบร้อยกว่า
โดยเฉพาะสีใหม่ที่มีให้เลือกเฉพาะ iPhone 7 / 7 Plus ความจุ 128/256GB อย่าง Jet Black (เจ็ทแบล็ค) หรือสีดำเงาที่แอปเปิลใช้เทคนิคที่เรียกว่า “แคพิลลารี” ทำตัวเครื่องขึ้นเงาทุกสัดส่วนตั้งแต่หน้าจอ พื้นผิวด้านหลัง (ไม่ได้ใช้กระจก) ไปถึงขอบเครื่องเป็นสีดำเงาทั้งหมด
อีกทั้ง iPhone 7 / 7 Plus ยังมาพร้อมคุณสมบัติเด่นที่หลายคนรอคอยก็คือ “สามารถป้องกันน้ำและฝุ่นได้ตามมาตรฐาน IP67” โดยแอปเปิลเครมว่า iPhone ใหม่จะสามารถใช้งานกลางสายฝนหรือถ้าเผลอทำเครื่องหล่นลงอ่างน้ำ ให้รีบเก็บขึ้นมา และไม่ต้องกังวลว่าตัวเครื่องจะได้รับความเสียหายใดๆทั้งจากน้ำและฝุ่นละออง
แต่ทั้งนี้แอปเปิลแนะนำว่า iPhone 7 / 7 Plus ไม่ควรใช้งานใต้น้ำ ลงทะเลหรือโดนน้ำเค็ม ซึ่งถ้าตัวเครื่องได้รับความเสียหายจากน้ำหรือของเหลวไหลเข้าเครื่อง จะถือว่าอยู่นอกเงื่อนไขการรับประกันทันที
มาดูหน้าจอ iPhone 7 / 7 Plus เป็น IPS Retina HD โดย iPhone 7 จะมีขนาด 4.7 นิ้ว ความละเอียด 1,334×750 พิกเซล (326ppi) ส่วน iPhone 7 Plus จะมีขนาดหน้าจอ 5.5 นิ้ว ความละเอียด 1,920×1,080 พิกเซล (401ppi)
ในส่วนสเปกหน้าจอแอปเปิลปรับปรุงใหม่หมด จากเดิมใน iPhone ทุกรุ่น แอปเปิลจะใช้หน้าจอแสดงสีแบบ sRGB แต่ใน iPhone 7 ทั้งสองรุ่น แอปเปิลเปลี่ยนไปใช้จอภาพที่สามารถแสดงสีสันได้กว้างขึ้นในชื่อ “P3” (Wide Color Gamut) รวมถึงปรับความสว่างเพิ่มจากรุ่นเดิมถึง 25% ทำให้หน้าจอ iPhone 7 / 7 Plus ให้สีที่สดใสและคมขัดมากขึ้น อีกทั้งยังแสดงส่วนคอนทราสต์ของภาพได้ดีกว่าหน้าจอรุ่นเดิมมาก
มาดูเรื่องกล้องหน้า FaceTime HD แอปเปิลปรับเพิ่มความละเอียดเป็น 7 ล้านพิกเซล รูรับแสง f2.2 พร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหว AIS, Retina Flash สามารถถ่ายวิดีโอที่ความละเอียด 1080p
ส่วนการปรับปรุงเรื่องต่อไปก็คือ “ลำโพงสเตอริโอ” ครั้งแรกในไอโฟนกับเสียงที่ดังเพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยนอกจากลำโพงปกติที่ติดตั้งอยู่สันเครื่องด้านล่างแล้ว บริเวณลำโพงเสียงสนทนาโทรศัพท์ยังสามารถเปลี่ยนเป็นลำโพงกระจายเสียงปกติพร้อมเซ็นเซอร์ตรวจจับลักษณะการใช้งานแบบเดียวกับที่อยู่ใน iPad Pro ทำให้เมื่อเรารับฟังเพลง เล่นเกมหรือชมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะตั้งหรือตะแคงเครื่องด้านใดก็ตาม ลำโพงสเตอริโอทั้งสองจะรักษาสมดุลและความถูกต้องของการแยกเสียงลำโพงซ้ายขวาไว้อย่างแม่นยำ ลื่นไหลและไม่สะดุด
ปุ่มโฮมใหม่ – เพราะ iPhone 7 / 7 Plus ป้องกันน้ำและฝุ่นเข้าเครื่องได้ ทำให้แอปเปิลต้องออกแบบปุ่มโฮมใหม่ให้ไม่มีการยุบตัวด้วยกลไกเหมือน iPhone ทุกรุ่นที่ผ่านมา โดยแอปเปิลปรับไปใช้ปุ่มโฮมแบบสัมผัสโดยใช้เซ็นเซอร์ซึ่งถูกควบคุมโดย Taptic Engine และซอฟต์แวร์สามารถตรวจจับแรงกดได้ อีกทั้ง Taptic ยังสามารถสั่นให้ผู้ใช้รู้สึกเหมือนการกดปุ่มโฮมจริงๆได้ด้วย (ตั้งค่าได้ 3 ระดับ)
โดยข้อดีของปุ่มโฮมแบบใหม่ก็คือไม่มีกลไกภายใน ไม่ว่าผู้ใช้จะกดแรงหรือกดย้ำบ่อยเพียงใดปุ่มโฮมจะมีโอกาสเสียหายยากมาก หรือถ้าปุ่มโฮมมีปัญหา ระบบจะปรากฏปุ่มโฮมจำลองขึ้นมาที่ตัว iOS
ส่วนสแกนลายนิ้วมือ (Touch ID) จะทำได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น
ข้อสังเกตก็คือ ปุ่มโฮมแบบใหม่ใช้ไฟฟ้าสถิตที่นิ้วมือในการตรวจจับการกด ถ้าเราใส่ถุงมือจะไม่สามารถใช้งานปุ่มโฮมนี้ได้ และวิธีการ Hard Reset เวลาเครื่องค้าง จะเปลี่ยนไปกดปุ่มลดเสียงและปุ่มเปิดปิดเครื่องค้างไว้แทนกดปุ่มโฮมแบบเดิม
กล้องหลังใหม่ – อย่างที่ทราบกันดีว่า iPhone 7 จะมีกล้องหลังตัวเดียวคือเลนส์ระยะ 28 มิลลิเมตรพร้อมรูรับแสง f1.8 ส่วน iPhone 7 Plus จะมีกล้องหลัง 2 ตัว แบ่งเป็น ระยะเลนส์ 28 มิลลิเมตร f1.8 และระยะเลนส์ 56 มิลลิเมตร f2.8 หรือเทียบเท่าออปติคอลซูม 2 เท่า
สำหรับดิจิตอลซูมใน iPhone 7 สูงสุดทำได้ 5 เท่า iPhone 7 Plus ทำได้ 10 เท่า (วิดีโอ 6 เท่า)
มาดูส่วนสเปกฮาร์ดแวร์กล้องหลังที่เหมือนกันทั้ง iPhone 7 และ iPhone 7 Plus เริ่มจาก
1.ทั้ง iPhone 7 / 7 Plus มาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหวออปติคอล (OIS)
2.เซ็นเซอร์รับภาพขนาด 1/3″ ความละเอียดภาพ 12 ล้านพิกเซล พาโนรามา 63 ล้านพิกเซล
3.ชุดชิ้นเลนส์เพิ่มเป็น 6 ชิ้น
4.ไฟแฟลช LED เพิ่มจาก 2 ดวงเป็น 4 ดวงแบบ True Tone
5.Wide Color Capture P3 หรือการรับสีสันแบบกว้างแทน sRGB เพื่อให้สอดคล้องกับหน้าจอ
6.ออโต้โฟกัส Focus Pixel
7.วิดีโอความละเอียดสูงสุด 4K 30 เฟรมต่อวินาที
8.วิดีโอสโลโมชัน 240 เฟรมต่อวินาทีที่ความละเอียด 720p และ 120 เฟรมต่อวินาทีที่ความละเอียด 1080p
ด้านความแตกต่างกันที่ iPhone 7 Plus ทำได้มากกว่า iPhone 7 ได้แก่
1.กล้องหลัง iPhone 7 Plus สามารถใช้โหมดหน้าชัดหลังเบลอ (Depth of field) ในชื่อ “Portrait Mode” (iOS 10.1 เป็นต้นไป)
2.การถ่ายวิดีโอสามารถไหลซูมและให้คุณภาพที่คมชัดตั้งแต่ 1x ไปจนถึง 2x
กลับมาดูส่วนพอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มกดรอบตัวเครื่อง ทั้ง iPhone 7 / 7 Plus จะเหมือนกัน เริ่มจากด้านซ้ายจะเป็นที่อยู่ของปุ่มปิดเปิดเสียง ถัดลงมาเป็นปุ่มเพิ่มลดระดับเสียง ส่วนด้านขวา เป็นปุ่มเปิดปิดเครื่อง และช่องใส่ซิมการ์ด Nano Sim
ด้านล่าง มีการปรับเปลี่ยนโดยตัดช่อง 3.5 มิลลิเมตรออกไป และแทนที่ด้วยช่องคล้ายลำโพง (แต่ภายในไม่มีลำโพง) คาดว่าช่องนี้น่าจะช่วยเรื่อง Balance เสียงจากลำโพงสเตอริโอและอาจเป็นส่วนรับเสียงของไมโครโฟนด้วย ตรงกลางเป็น Lightning Port ด้านขวาเป็นลำโพงปกติ
สำหรับชุดหูฟังที่แถมมาจะเหมือนกับ iPhone รุ่นก่อนหน้า ยกเว้นส่วนของพอร์ตเชื่อมต่อ 3.5 มิลลิเมตรจะเปลี่ยนไปใช้ Lightning Port พร้อมแถมอะแดปเตอร์แปลง 3.5 มิลลิเมตรไปเป็น Lightning Port สำหรับเชื่อมต่อกับหูฟังทั่วไป
ในส่วนแพกเกจที่ใส่หูฟัง ส่วนนี้แอปเปิลปรับเปลี่ยนจากกล่องพลาสติกหรูหราพร้อมส่วนป้องกันสายหูฟังพันกัน ไปเป็นกล่องกระดาษ ดูแล้วลดต้นทุนดี
สเปก
iPhone 7 และ iPhone 7 Plus มาพร้อมซีพียู 64 บิต Apple A10 “Fusion” Quad-core + ชิปประมวลผลการเคลื่อนไหว M10 โดยซีพียูแบ่งเป็นส่วนคอร์ประสิทธิภาพสูงและส่วนคอร์เน้นประหยัดพลังงาน พร้อมแรม 3GB สำหรับ iPhone 7 Plus และแรม 2GB สำหรับ iPhone 7
โดยในส่วนความเร็วเมื่อเทียบกับ iPhone รุ่นก่อนหน้า จะเร็วกว่า iPhone 5 ถึง 4 เท่า iPhone 6 ถึง 2 เท่า
ด้านกราฟิกปรับไปใช้ GPU 6 แกนสมอง เร็วกว่า iPhone 6 ถึง 3 เท่า และ iPhone 5 ถึง 6 เท่าตัว
ในส่วนความจุมีให้เลือก 32/128/256GB โดยรุ่นที่ทีมงานทดสอบในบทความรีวิวนี้คือรุ่นความจุ 256GB (เหลือใช้จริงประมาณ 244GB)
การรองรับเครือข่ายโทรศัพท์ – เป็นครั้งแรกของ iPhone ที่รองรับ 4G LTE Advanced แบบ 3 Carrier Aggregation ความเร็วสูงสุด 450Mbps รวมถึงรองรับ VoLTE, WiFi Calling และ FaceTime Audio
ในส่วน WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac พร้อม MIMO บลูทูธ 4.2, มี NFC และ GPS/GLONASS
iOS และฟีเจอร์เด่น
ระบบปฏิบัติการที่ติดตั้งมาให้กับ iPhone 7 / 7 Plus เป็น iOS 10 (อัปเดตเป็น iOS 10.1 ได้วันนี้) โดยหน้าจอ iPhone 7 Plus จะสามารถใช้งานการแสดงผล iOS แบบแนวนอน (Landscape Mode) ได้
ส่วนแอปพลิเคชันและการใช้งานจะไม่แตกต่างจาก iOS 10/10.1 ที่ติดตั้งบน iPhone 6s และรุ่นอื่นๆที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทีมงานจะขอแนะนำฟีเจอร์เด่นใน iOS 10 เฉพาะฟังก์ชันที่หลายคนอาจยังไม่ทราบ
เริ่มจากส่วนการเชื่อมต่อ WiFi ที่ทำได้ฉลาดมากขึ้น และสามารถรู้ได้ว่าอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ WiFi กับ iPhone อยู่สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้หรือไม่ ถ้าใช้ได้ เช่น เชื่อมต่อกับโมเด็มเราเตอร์แบบ WiFi ที่บ้าน ระบบจะเชื่อมต่อพร้อมปรากฏสัญลักษณ์ WiFi ปกติ แต่ถ้าอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเป็นพวก SD การ์ด WiFi, กล้องถ่ายรูป ระบบจะรู้และปรับ WiFi ให้ใช้งานแค่เป็นตัวรับส่งข้อมูลจากอุปกรณ์เหล่านั้น ส่วนอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนไปใช้ดาต้า 3G/4G อัตโนมัติ ซึ่งจากเดิมระบบจะมองการเชื่อมต่อ WiFi ทุกอย่างเป็นอินเตอร์เน็ตทั้งหมด เวลาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์มีเดียจะมีปัญหาในเรื่องอินเตอร์เน็ตถูดปิดการเชื่อมต่อ
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ตั้งแต่ iOS 10 ก็คือ ส่วนของโทรศัพท์ (Phone) จะอนุญาตให้ผู้พัฒนาแอปฯรายอื่นๆ ยกตัวอย่าง Whoscall สามารถใช้งานฟังก์ชันบอกข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ที่โทรเข้ามาได้แบบเดียวกับ Whoscall บนแอนดรอยด์ เพราะปกติใน iOS รุ่นก่อนหน้า ถ้าผู้ใช้อยากทราบเบอร์ที่โทรเข้ามาจะต้องทำการคัดลอกเบอร์โทรศัพท์เหล่านั้นไปวางที่แอปฯของ Whoscall แต่ใน iOS 10 ระบบสามารถระบุเบอร์โทรศัพท์พร้อมข้อมูลได้ทันที
Messages – ปรับปรุงใหม่ยกแผง เพราะแอปเปิลเพิ่มฟีเจอร์เข้ามามากมาย ยกตัวอย่างเช่น มีสติ๊กเกอร์ให้ดาวน์โหลดและใช้งาน สามารถเขียน เซ็นชื่อ รวมถึงส่ง Invisible Ink และ Personal Touch บอกความรู้สึกแบบส่วนตัวได้
และสุดท้ายกับการเพิ่มคุณสมบัติถ่ายภาพเป็นไฟล์ RAW หรือไฟล์ดิบ .DNG สำหรับช่างภาพที่ต้องการตกแต่งภาพแบบขั้นสูง (ทำได้เฉพาะ iPad Pro 9.7”, iPhone SE, 6s, 7 และ 7 Plus เป็นต้นไป) โดยการถ่าย RAW จะต้องทำผ่านแอปฯเฉพาะ เช่น Manual, Adobe Lightroom เป็นต้น ส่วนแอปฯกล้องบน iOS ปัจจุบันยังไม่เปิดให้ใช้งานฟังก์ชันดังกล่าว
ทดสอบประสิทธิภาพ
ซ้าย : iPhone 7 Plus / ขวา : iPhone 7
คะแนนจาก iPhone 7 Plus
คะแนนจาก iPhone 7
เรื่องการทดสอบประสิทธิภาพถ้าวัดตามผลคะแนนก็เป็นไปตามคาด เนื่องจาก iPhone 7 มีแรมที่น้อยกว่า 7 Plus ทำให้ตัวเลขคะแนนต่างกัน แต่เมื่อทดลองใช้งานจริงกลับไม่เห็นผลแตกต่างอย่างชัดเจน เครื่องทั้งสองรุ่นมีความลื่นไหลตามแบบฉบับสมาร์ทโฟนเรือธงอย่างที่ควรเป็น รวมถึงถ้าเทียบเฉพาะส่วนประสิทธิภาพกับ iPhone 6s / 6s Plus สำหรับการใช้งานทั่วไปแทบไม่รู้สึกแตกต่างจนต้องยกเป็นประเด็นใหญ่ ยกเว้นผู้ใช้จะทำงานที่ต้องใช้ซีพียูประมวลผลสูงเช่น ตัดต่อวิดีโอ ตกแต่งภาพไฟล์ RAW หรือเล่นเกมที่ออกมารองรับกับ iPhone 7 / 7 Plus ก็น่าจะเห็นผลต่างอยู่บ้าง
ด้านสเปกหน้าจอที่ปรับเปลี่ยนไปใช้หน้าจอแสดงผลสีแบบ P3 และความสว่างที่เพิ่มขึ้น 25% จะเหมาะสมที่สุดสำหรับช่างภาพและคนทำงานด้านวิดีโอ เนื่องจากหน้าจอ iPhone 7 / 7 Plus สามารถเป็นอุปกรณ์ช่วยตรวจสอบเรื่องสีและการปรับแต่งแสงระดับเบื้องต้นได้ โดยเฉพาะรายละเอียดในโทนมืดกับสว่าง ลองปรับความสว่างหน้าจอขึ้นจนสุด ส่วนมืดจะแสดงรายละเอียดของภาพออกมาได้สูงกว่าหน้าจอของ iPhone ทุกรุ่นที่ผ่านมา
ในส่วนของแบตเตอรี แอปเปิลเครมไว้ว่า iPhone 7 สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ 13 ชั่วโมง (ทดสอบด้วยการเล่นวิดีโอผ่านระบบไร้สาย) ส่วน iPhone 7 Plus อยู่ที่ 14 ชั่วโมง (ทดสอบด้วยการเล่นวิดีโอผ่านระบบไร้สาย) แน่นอนว่าใช้งานได้นานกว่า iPhone 6s / 6s Plus ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
โดยจากการทดสอบจริงกับ iPhone 7 Plus (ใช้งานปกติทั่วไป รวมถึงถ่ายภาพตลอดทั้งวัน) ยอมรับว่า iPhone 7 Plus ใช้งานตลอดทั้งวันได้สบาย แม้ทีมงานจะใช้งานถ่ายภาพต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง ตัวเครื่องมีอาการร้อนเป็นระยะๆ แต่เมื่อปิดหน้าจอลง ความร้อนระบายไปอย่างรวดเร็วมาก ส่วนแบตเตอรีถือว่าแอปเปิลยังคงจัดการพลังงานภายในได้ดีมาตั้งแต่ iPhone 6 โดยเฉพาะตัว Plus ตั้งแต่ 6s-7 ถือว่าเรื่องแบตเตอรีทำได้น่าประทับใจ
ส่วน iPhone หน้าจอ 4.7 นิ้วปกติตั้งแต่ 6-7 เทียบกันด้วยความรู้สึกแล้วถือว่าใช้ได้ ระยะเวลาใช้งานจาก 100% จนแบตเตอรีขึ้นขีดแดงไม่แตกต่างกันจนรู้สึกได้ การใช้งานหนักหน่วงอาจต้องพึ่งพา Power Bank บ้าง
สุดท้ายส่วนทดสอบประสิทธิภาพกับเรื่องการป้องกันน้ำและฝุ่น ทีมงานได้มีโอกาสทดลองในภาคสนามจริง ลงไปถ่ายภาพกลางสายฝนและนำไปล้างน้ำจากก๊อกน้ำ ทุกอย่างผ่านไปได้ดี ตัวเครื่องไม่มีปัญหาใดๆ แต่ถึงอย่างไรทีมงานก็ไม่แนะนำให้นำเครื่องไปใช้ใต้น้ำหรือลงทะเลอยู่ดี เพราะถ้าตัวเครื่องได้รับความเสียหายขึ้นมา ตัวผู้ใช้จะต้องจ่ายเงินซ่อมด้วยตัวเองเนื่องจากไม่อยู่ในเงื่อนไขรับประกัน ได้ไม่คุ้มเสีย
กล้องถ่ายภาพ
อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่าเราจะขอทดสอบเฉพาะกล้องคู่จาก iPhone 7 Plus เป็นหลัก โดยก่อนใช้งานให้อัปเดต iOS เป็นรุ่น 10.1 ก่อนเพื่อเปิดใช้ฟังก์ชัน Portrait Camera หน้าชัดหลังเบลอที่มีให้ใช้เฉพาะ iPhone 7 Plus เท่านั้น
โดยในส่วนหน้าตา ภาพรวมของแอปฯกล้องถ่ายภาพจะเหมือน iPhone ทุกรุ่น เพียงแต่ใน iPhone 7 Plus แอปเปิลจะเพิ่มปุ่มซูมภาพเข้ามา (จากภาพจะเห็นปุ่มที่เขียนว่า 1x) โดยเมื่อกดลงไปหนึ่งครั้งจะเป็นการเปลี่ยนไปใช้เลนส์ตัวที่สองระยะซูม 2x (56 มิลลิเมตร)
จากซ้าย : 1x > 2x (Optical Zoom) > 5x (Digital Zoom) > 10x (Digital Zoom) – กดที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
ส่วนอีกหนึ่งวิธีการซูมภาพก็คือกดปุ่ม 1x ค้างไว้จากนั้นค่อยๆสไลด์ลงข้างล่าง ระบบจะไหลซูมจาก 1x ไป 2x จนสูงสุดที่ดิจิตอลซูม 10x (ใช้วิธีนี้ในการซูมภาพสำหรับโหมดถ่ายวิดีโอได้) หรือจะใช้วิธีการซูมภาพแบบเก่าก็คือ นำสองนิ้วจิ้มแล้วถ่างออกไปเรื่อยๆก็ยังสามารถทำได้เช่นเดิม
มาถึงหนึ่งฟีเจอร์ใหญ่เฉพาะ iPhone 7 Plus ก็คือ Portrait Camera หรือโหมดหน้าชัดหลังเบลอที่ปัจจุบันยังอยู่ในสถานะทดลอง (Beta) โดยแอปเปิลเริ่มเปิดให้ทดลองใช้งานตั้งแต่ iOS 10.1
โดยการใช้งานโหมด Portrait เพื่อสร้าง Depth Effect เหมือนถ่ายจากกล้อง DSLR มีข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้
1.Portrait Mode จะใช้เลนส์ระยะ 56 มิลลิเมตร f2.8 เป็นหลัก เพราะฉะนั้นตัวบุคคลหรือวัตถุที่ต้องการถ่าย ต้องอยู่ห่างจากกล้องประมาณ 2.4 เมตร
2.ต้องการแสงพอสมควร การถ่ายในห้องหรือในที่แสงน้อยอาจทำให้ภาพแสดงส่วนชัดและเบลอผิดพลาดได้
3.แนะนำให้ถ่ายกับบุคคลหรือวัตถุที่อยู่นิ่ง เนื่องจากระบบต้องมีการประมวลผล ถ้าวัตถุหรือบุคคลเคลื่อนไหวไปมา ระบบอาจคำนวณระยะชัดผิดพลาด
4.เมื่อระบบประมวลผลเสร็จสิ้น คำว่า DEPTH EFFECT จะปรากฏกรอบสีเหลือง ให้กดปุ่มชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพได้
ภาพปกติ
ภาพหลังจากใช้ Portrait Mode
ภาพปกติ
ภาพหลังจากใช้ Portrait Mode
สรุปจากการทดลองใช้ Portrait Mode ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถานะ Beta ถือว่าให้ผลลัพท์ใช้ได้ การถ่ายภาพให้ฉากหลังเบลออย่างเป็นธรรมชาติอาจต้องมีวิธีเล็กน้อย เช่น ฉากหลังต้องเคลียร์ ไม่มีรายละเอียดของฉากที่ซับซ้อนรวมถึงแสงต้องมากพอ และวัตถุไม่เคลื่อนไหว ภาพถึงจะดูเป็นธรรมชาติ
แต่ทั้งนี้ด้วยสถานะอยู่ในขั้นตอนพัฒนา บางครั้งระบบก็เกิดการวัดระยะและคำนวณการเบลอฉากหลังผิดพลาด เช่น ภาพถ่ายนาฬิกา Apple Watch จะเห็นว่าตรงตัวอักษรวันที่มีอาการเบลอเล็กน้อยจากระบบคำนวณซับเจ็คหลักกับฉากหลังที่ควรต้องถูกเบลอผิดพลาดไป ก็คงต้องรอดูเวอร์ชันเต็มในอนาคตว่าโหมดนี้จะถูกปรับปรุงให้ฉลาดมากขึ้นเพียงใด
ทดสอบประสิทธิภาพกล้องหลัง
ติดตามชมตัวอย่างภาพจาก iPhone 7 Plus เพิ่มเติมได้จากลิงก์ https://psirichan.wordpress.com/2016/10/23/sadness-october-2016/ (เฉพาะภาพที่ 1-11 ถ่ายด้วย iPhone 7 Plus ไฟล์ RAW ผ่านแอปฯ Manual / โปรเซส : Adobe Lightroom)
มาถึงการทดสอบกล้องถ่ายภาพหลักกันบ้าง ภาพทดสอบทั้งหมดนี้ถ่ายจาก iPhone 7 และ iPhone 7 Plus สลับกันไป โดยในส่วนประสิทธิภาพไม่มีความแตกต่างกันเพราะใช้เซ็นเซอร์และสเปกภายในเดียวกัน เพียงแต่ iPhone 7 Plus จะมีเลนส์ 56 มิลลิเมตรหรือเทียบเท่าซูม 2 เท่าติดมาให้ ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับผู้ใช้ทั่วไป
โดยในส่วนคุณภาพไฟล์ภาพถือว่าถูกปรับปรุงเล็กน้อยจาก iPhone 6s ในเรื่องไดนามิก สีสันและนอยซ์ที่ดีขึ้น
ส่วนใครอยากรีดประสิทธิภาพสูงสุดแนะนำให้ถ่ายด้วย RAW และไปจัดการผ่านซอฟต์แวร์ในคอมพิวเตอร์จะพบว่า ไฟล์ RAW ของ iPhone 7 / 7 Plus นี่ได้คุณภาพน้องๆกล้องไฮเอนด์คอมแพกต์เลย ยกเว้นส่วนของนอยซ์ที่ทีมงานมองว่ายังทำได้ไม่ดีเท่าที่โฆษณาไว้
ด้านการใช้งานปกติผ่านแอปฯกล้องถ่ายภาพใน iOS – ส่วนนี้มีการปรับปรุงจากเดิมไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการถ่ายในที่แสงน้อยทำได้น่าประทับใจ แต่เรื่องระบบออโต้โฟกัสยังให้คุณภาพไม่แตกต่างจาก iPhone 6s / 6s Plus มากนัก
มาถึงงานวิดีโอ ทีมงานขอยกให้แอปเปิลครองแชมป์เช่นเดิม เพราะถึงแม้ปัจจุบัน คู่แข่งหลายเจ้าจะหันมาพัฒนาโหมดวิดีโอมากขึ้น แต่เรื่องคุณภาพไฟล์และความลื่นไหล โดยเฉพาะความคมชัดของการรับเสียงจากไมโครโฟนเฉพาะของแอปเปิล ยังทำได้ดีกว่าคู่แข่งหลายเจ้าและดีกว่า iPhone ทุกรุ่นที่ผ่านมา ยิ่งเป็น iPhone 7 Plus นอกจากกดซูมเปลี่ยนระยะเลนส์ปกติได้แล้ว ยังสามารถใช้ระบบไหลซูมจาก 1x-2x ได้ลื่นไหลตามนิ้วมือของเราได้ ยิ่งทำให้การถ่ายวิดีโอจากสมาร์ทโฟนทำได้น่าสนใจมากขึ้น
แต่ทั้งนี้ระบบไหลซูม 1x-2x รวมไปถึงช่วงเปลี่ยนระยะเลนส์จากตัวแรกไปตัวที่สอง ทีมงานมองว่าแอปเปิลต้องพัฒนาซอฟต์แวร์มาจัดการเรื่องความต่อเนื่องและลื่นไหลให้ดีกว่านี้ เพราะจากคลิปวิดีโอด้านบนจะเห็นว่าที่ระยะ 28 มิลลิเมตร (1x) เวลาซูม ระบบจะใช้ดิจิตอลซูมผสมเข้าไปจนกล้องตัดเข้าเลนส์ 56 มิลลิเมตร ภาพจะสะดุดเล็กน้อย ถ้าปรับปรุงเรื่องความต่อเนื่องส่วนนี้ได้ กล้อง iPhone 7 / 7 Plus จะโดดเด่นเรื่องงานวิดีโอมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว
สรุป
สำหรับราคา iPhone 7 มีความจุให้เลือก 32/128/256GB ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 26,500-34,500 บาท iPhone 7 Plus เริ่มต้น 31,500-39,500 บาท มีสีดำ เงิน ทอง โรสโกลด์และเจ็ทแบล็ค (*เจ็ทแบล็คมีเฉพาะรุ่น 128/256GB เท่านั้น)
โดยภาพรวมทั้ง iPhone 7 และ iPhone 7 Plus ถ้ามองถึงเรื่องสเปก ประสิทธิภาพโดยรวม แม้จะมีการปรับปรุงใหม่หลายส่วน แต่ถ้าเทียบกับ iPhone 6s และ 6s Plus ที่ทีมงานเคยยกให้เป็นสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดของแอปเปิลในรอบ 3 ปี การปรับปรุงครั้งนี้ยังไม่ถือว่าโดดเด่นจนต้องให้ความสนใจ ยกเว้นแค่เรื่องกล้องคู่ 2 ระยะเลนส์ใน iPhone 7 Plus และระบบป้องกันน้ำและฝุ่นของทั้งสองรุ่นที่ทีมงานมองว่าทำออกมาได้ถูกทิศทางอย่างที่ควรเป็นแล้ว (เพราะทั้งสองส่วนใช้งานได้จริงตลอดเวลา) แต่เสียดายที่แอปเปิลใส่ให้เฉพาะรุ่นใหญ่เท่านั้น
ส่วนเรื่องการตัดช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรออก แล้วแต่มุมมองของผู้อ่านแต่ละคน แต่สำหรับทีมงานคิดว่าแอปเปิลเลือกตัดช่องเชื่อมต่อนี้ออกเร็วเกินไป อีกทั้งตัดช่องนี้ออกไปแล้ว ตัว iPhone ก็ไม่ได้ถูกออกแบบให้บางลงแต่อย่างใด
ส่วนประสิทธิภาพการทำงานอื่นๆ เมื่อใช้งานจริง ทีมงานกลับไม่พบเห็นความแตกต่าง อีกทั้งแอปพลิเคชันที่จะดึงประสิทธิภาพของ iPhone 7 ออกมาอย่างเต็มที่ก็ยังมีน้อยมาก ถ้าผู้ที่กำลังสนใจแต่ในมือถือ iPhone 6s หรือ 6s Plus อยู่ เมื่อคุณมาใช้ iPhone 7 หรือ 7 Plus จะไม่รู้สึกแตกต่างมากนัก ยกเว้นคุณจะตื่นตาตื่นใจกับการป้องกันน้ำและฝุ่นรวมถึงกล้องคู่หรือปุ่มโฮมใหม่
ส่วนคนที่ใช้ iPhone 5s หรือต่ำกว่านั้น ผมอยากเรียนตามตรงว่าถึงเวลาแล้วที่คุณจะเปลี่ยนมาสู่ iPhone 7 หรือ iPhone 7 Plus เพราะในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นแรกของ iPhone ยุคต่อไป ที่คาดว่าแอปเปิลจะเดินตามเกมนี้ไปอีกหลายปี โดยเฉพาะกล้องคู่ที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นกว่านี้ในอนาคต