การออกแบบ
อัลตร้าบุ๊กตระกูล Yoga ถือว่ามีจุดเด่นในเรื่องการออกแบบและรูปแบบการใช้งานมากที่สุด โดยในรุ่น 910 ยังคงคอนเซปหลักของเลอโนโวคือเป็นอัลตร้าบุ๊กบาง เบาที่สามารถพลิกหน้าจอ 360 องศาด้วยการออกแบบข้อต่อแบบ watchband hinge เพื่อรองรับการใช้งาน 4 รูปแบบได้แก่ 1.ใช้งานแบบโน้ตบุ๊กทั่วไป 2.Stand – สำหรับใช้รับชมภาพยนตร์ 3.Tablet – ใช้ในรูปแบบแท็บเล็ต และ 4.Tent – เหมาะสำหรับการวิดีโอคอลล์
ในส่วนวัสดุเป็นอะลูมิเนียมพร้อมความบาง 14.3 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1.38 กิโลกรัม
ด้านสเปกหน้าจอ – Yoga 910 ใช้หน้าจอ IPS Multi-Touch ขนาด 13.9 นิ้ว ความละเอียด 3,840×2,160 พิกเซล (4K UHD) มาพร้อมกล้องเว็บแคมความละเอียด 720p และไมโครโฟนติดตั้งด้านล่างจอภาพ (เพื่อให้รองรับกับการใช้ในแบบ Tent) อีกทั้งถ้าสังเกตขอบจอให้ดีจะเห็นว่าเลอโนโวออกแบบให้ขอบจอมีขนาดเล็กลงมาก เวลาใช้งานจะให้ความรู้สึกภาพแสดงผลได้เต็มพื้นที่จอมากกว่าการออกแบบดั้งเดิม
ในส่วนแป้นคีย์บอร์ดเป็นรูปแบบมาตรฐาน แต่เลอโนโวได้เพิ่มส่วนเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ (แบบเดียวกับบนสมาร์ทโฟน) เพื่อให้รองรับกับฟีเจอร์ Windows Hello ใน Windows 10 อย่างสมบูรณ์แบบ
พอร์ตเชื่อมต่อ – เริ่มจากด้านซ้ายของเครื่องจะเป็นพอร์ตเชื่อมต่ออะแดปเตอร์ชาร์จไฟ ถัดมาเป็นพอร์ต USB-C (USB3.0/2.0)
อีกด้านเป็นปุ่มเปิดปิดเครื่อง ถัดมาเป็นช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรและช่องเชื่อมต่อ USB 3.0
ด้านใต้ จะเป็นที่อยู่ของลำโพงสเตอริโอจาก JBL พร้อมรองรับระบบเสียง Dolby Audio Premium
ส่วนอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 45W ถูกลดขนาดให้เล็กลง พกพาสะดวกสบายมากขึ้น
สเปกและฟีเจอร์เด่น
Lenovo Yoga 910 ขับเคลื่อนด้วยหน่วยประมวลผล Kaby Lake – Intel Core i7 7500U (2-cores 4-threads) ความเร็ว 2.70GHz สามารถ Turbo boost ได้เร็วสุด 3.50GHz มาพร้อมแรม 16GB DDR4 (Dual Channel) และกราฟิกออนชิป Intel HD Graphics 620 ส่วน Windows 10 ที่ติดตั้งมาในเครื่องเป็นรุ่น Pro
ด้านสเปกอื่นๆ เริ่มจากแบตเตอรีไม่ได้ระบุในเอกสารบอกสเปก แต่เลอโนโวเครมว่าใช้งานได้ต่อเนื่องสูงสุด 9 ชั่วโมง WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11AC พร้อมบลูทูธ 4.1
ส่วนหน่วยเก็บข้อมูลภายในเป็น M.2 PCIe NVMe SSD ความจุ 512GB
ด้านซอฟต์แวร์จัดการระบบเป็นของเลอโนโว โดยผู้ใช้สามารถเปิดปิดฟังก์ชันการใช้งานต่างๆได้จากส่วน Settings บริเวณ Task Bar และสำหรับคนชอบอ่านหนังสือบนโน้ตบุ๊ก ทางเลอโนโวยังให้ฟีเจอร์ Paper Display มาให้ โดยเมื่อเปิดใช้งานหน้าจอจะปรับแสงและสมดุลแสงขาวให้เหมาะสมกับการอ่านหนังสือโดยอัตโนมัติ
ทดสอบประสิทธิภาพและสรุป
PC Mark 8 – Home accelerated Test
PC Mark 8 – Creative accelerated Test
PC Mark 8 – Work accelerated Test
PC Mark 8 – Storage Test
Geekbench 4
ในส่วนการทดสอบประสิทธิภาพ ทีมงานขอเน้นหนักไปทางซอฟต์แวร์ PC Mark จะเห็นว่าคะแนนส่วนใหญ่ทำได้ดีขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะชุดทดสอบ Creative accelerated ที่ทำงานได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งตรงจุดนี้น่าจะมาจากแรมที่ให้มามากถึง 16GB แน่นอนว่ามีผลอย่างมากสำหรับผู้ใช้อัลตร้าบุ๊กตกแต่งภาพจากกล้องดิจิตอลหรือใช้ตัดต่อวิดีโอ Yoga 910 จะแสดงประสิทธิภาพได้สมบูรณ์แบบ ใช้งานได้ลื่นไหลดีมาก
หน้าจอ 4K กับสเปกเครื่องไม่มีปัญหาหน่วงช้าให้เห็น ทุกอย่างทำงานได้ลื่นไหลจากการที่เลอโนโวให้แรมมามากถึง 16GB รวมถึงกราฟิกชิปออนบอร์ดตัวใหม่ Intel HD Graphics 620 ก็ให้ประสิทธิภาพด้านการใช้งานทั่วไป ไปถึงงานระดับตัดต่อวิดีโอ 4K ที่ดี ส่วนการเล่นเกมไม่เหมาะสมอย่างแน่นอน
และอีกสิ่งที่ Yoga 910 ทำได้น่าประทับใจไม่แพ้กันก็คือเรื่องการอ่านเขียนข้อมูลที่ทำคะแนนทั้งการการใช้งานจริงและผ่านซอฟต์แวร์ทดสอบได้รวดเร็ว น่าประทับใจเช่นกัน (จากชุดทดสอบ PC Mark ทำความเร็วได้ระดับ 360 เมกะไบต์ต่อวินาทีเลย) คงต้องยกความดีความชอบให้กับ NVMe SSD ไปเต็มๆ รวมถึงส่วนทัชแพดประสิทธิภาพดีมาก การสัมผัสและคลิกทำได้ลื่นไหลน้องๆ MacBook เลย
ส่วนแบตเตอรีทดสอบใช้งานต่อเนื่องได้ 4 ชั่วโมง 30 นาที (ถ้าใช้งานทั่วไปจะทำเวลาได้ประมาณ 6-7 ชั่วโมง) เป็นไปตามมาตรฐานอัลตร้าบุ๊กยุคใหม่ ไม่มีสิ่งใดหวือหวา
กับราคาค่าตัว 69,990 บาท (สี Champagne Gold) เรียกได้ว่าเป็นพรีเมียมอัลตร้าบุ๊กที่แรงทั้งราคาและประสิทธิภาพ เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ใช้ที่ต้องเดินทางบ่อยและเน้นการทำงานด้านตกแต่งภาพหรือตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงระดับ 2K 4K เป็นสำคัญ Lenovo Yoga 910 เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ด้วยสเปกซีพียูตัวใหม่ล่าสุดของปีนี้ ไปถึงแรมที่ให้มามากถึง 16GB กราฟิกออนชิป Intel HD 620 ที่ให้ประสิทธิภาพที่แรงกว่ารุ่นก่อนหน้ามาก เรียกได้ว่าเกิดมาเพื่อรองรับคนทำงานระดับบนได้อย่างดี