Review : Linksys Velop สร้างเครือข่าย Wi-Fi ที่คลุมทุกพื้นที่ในบ้าน

2589

ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ปัญหาสัญญาณ Wi-Fi อ่อน หรือได้ความเร็วไม่เต็มที่  เมื่อต้องใช้งานภายในบ้าน กลายเป็นเรื่องน่าปวดหัว เพราะเมื่อใช้งานแล้วรู้สึกช้า ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะคิดไปว่าเป็นที่ผู้ให้บริการ หรือ ISP แต่ในความเป็นจริง การที่สัญญาณ Wi-Fi อ่อนกลายเป็นจุดหลักที่ทำให้ใช้งานแล้วช้ามากกว่า

เมื่อเป็นเช่นนั้น ในยุคปัจจุบันจึงเริ่มมีการนำระบบ Mesh Wi-Fi เข้ามาใช้งานกัน โดยรูปแบบการใช้งานคือจะเป็นอุปกรณ์กระจายสัญญาณ Wi-Fi ที่สามารถเชื่อมต่อหลายๆ จุดเข้าด้วยกัน เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ใช้งานทั่วบ้าน หรือภายในอาคารต่างๆ

Linksys Velop เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมสำหรับการทำ Mesh- Wi-Fi ภายในบ้าน ด้วยการที่ Velop 3 ตัว สามารถครอบคลุมพื้นที่ใช้งานได้ถึง 550 ตารางเมตร เมื่อรวมกับการตั้งค่าใช้งานที่ง่ายสะดวก จึงทำให้กลายเป็น 1 ในแบรนด์ที่ได้รับความนิยม

เพียงแต่ว่าด้วยระดับราคาที่ค่อนข้างสูง แม้จะมีให้เลือกตั้งแต่ตัวกระจายสัญญาณ 1 ตัวเริ่มต้นที่ 7,990 บาท 2 ตัว 12,990 บาท และ 3 ตัว ที่นำมารีวิวคือ 17,990 บาท ทำให้อาจจะตัดสินใจค่อนข้างยากในการเลือกซื้อมาใช้งาน

ข้อดี

ระบบ Mesh Wi-Fi ช่วยกระจายสัญญาณ Wi-Fi ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในบ้าน

เทคโนโลยี Velop ที่มาช่วยในการจัดการเครือข่าย

ส่งต่อข้อมูลแบบ Tri-Band ทำให้ใช้งานภายในเครือข่ายได้เต็มประสิทธิภาพ

รองรับความเร็วระดับ 1 Gbps

ข้อสังเกต

ราคาค่อนข้างสูง

เหมาะกับใช้งานในบ้านขนาดใหญ่

ควรใช้กับเน็ตความเร็วเกิน 100 Mbps ขึ้นไป

ตั้งค่าง่ายควบคุมผ่านแอปฯ

สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง Velop 1 ชุด จะประกอบไปด้วยตัวกระจายสัญญาณ 3 ตัว พร้อมกับอะเดปเตอร์ ที่มีหัวเสียบมาให้เลือกหลากหลายตามรูปแบบของปลั้กที่ใช้งาน พร้อมกับสาย LAN 1 เส้น และคู่มือที่เป็นกระดาษ 1 ใบเท่านั้น

โดยวิธีการเริ่มติดตั้งใช้งานจะเริ่มจากนำ Velop เข้าไปเชื่อมต่อกับเราเตอร์ที่ใช้งานอยู่ผ่านสาย LAN หลังจากนั้นเปิดเครื่องรอให้ไฟแสดงสถานะกระพริบเป็นสีม่วงฟ้า ในขณะเดียวกันบนสมาร์ทโฟนก็ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Linksys มาติดตั้งไว้

เมื่อเตรียมการเรียบร้อยก็เข้าสู่กระบวนการตั้งค่า ด้วยการเปิดแอปพลิเคชันขึ้นมา ทำตามขั้นตอนเริ่มจากการเลือกว่าจะติดตั้ง A Velop System จากนั้นในแอป ก็จะสอนวิธีการเชื่อมต่อ โดยจะมีให้เลือกว่าใช้ Velop เป็นตัวกระจายสัญญาณเฉยๆ หรือใช้เป็นโมเด็มด้วย

ในกรณีที่จะใช้งาน Velop เป็นโมเด็มด้วย ผู้ใช้อาจจะต้องมีการติดต่อกับทาง ISP เพิ่มเติม เพื่อให้เข้ามาตั้งค่าการเชื่อมต่อต่างๆให้ แต่ถ้าใช้การแชร์สัญญาณจากเราเตอร์เครื่องเก่า ก็สามารถเสียบสาย LAN เพื่อเชื่อมต่อได้เลย

เมื่อตัว Velop ขึ้นไฟแสดงสถานะเป็นสีม่วง ก็กดติดตั้งได้เลย หลังจากนั้นแอปจะทำการตั้งค่าเราเตอร์ให้อัตโนมัติ ถ้าต้องการเพิ่มจุด Velop เพิ่มก็สามารถกด Add Another Node ต่อไปได้ทันที เมื่อทำการติดตั้งครบทั้ง 3 จุดแล้ว ก็จะได้ Mesh Wi-Fi มาใช้งานในบ้านแล้ว

ต่อจากนั้น ก็เข้าสู่การตั้งค่าเชื่อมต่อทั่วไป โดยเมื่อเข้าไปในแอป Linksys จะมีหน้าจอแสดงสถานะ (Dashboard) ขึ้นมา แสดงว่าขณะนี้มีการเชื่อมต่อสัญญาณกับอินเทอร์เน็ตหรือไม่ มีอุปกรณ์เชื่อมต่อเข้ามาในเครือข่ายกี่ชิ้น

ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกเปลี่ยนชื่อ Wi-Fi ตั้งรหัส เลือก Channel เพื่อไม่ให้ชนกับเครือข่ายอื่นๆได้ตามปกติ รวมถึงเปิดการใช้งาน Guest Wi-Fi ที่สามารถตั้งจำกัดความเร็วในการเชื่อมต่อ และป้องกันไม่ให้เข้าสู่เครือข่ายภายในบ้านด้วย

เช็กความเร็ว จำกัดการเข้าถึง

นอกเหนือจากการตั้งค่าเชื่อมต่อทั่วไปแล้ว อีกฟีเจอร์ที่มีมาให้ในแอป Linksys คือเรื่องของการตรวจสอบความเร็วในการเชื่อมต่อ โดยผู้ใช้สามารถกดที่เมนู Speed Check เพื่อเทสความเร็วอินเทอร์เน็ตได้ทันที ตัวแอปจะมีการซิงค์ข้อมูลกับ Speedtest.net ในการทดสอบความเร็ว

ยังมีฟีเจอร์อย่างการจำกัดการเข้าถึงของบุตรหลาย อย่างเช่นผู้ปกครองสามารถตั้งค่าได้ว่า อุปกรณ์ใดสามารถใช้เน็ตได้ในวันไหน ช่วงเวลาใดบ้าง รวมถึงบล็อกเว็บไซต์แบบเจาะจงก็สามารถทำได้ และยังสามารถตั้งความสำคัญของอุปกรณ์ (Device Prioritization)ที่จะได้แบนด์วิธในการใช้งานเน็ตได้สูงสุดด้วย

ในส่วนของการเชื่อมต่อ เมื่อกดเข้าไปดูก็จะเห็นว่ามีอุปกรณ์อะไรบ้างเชื่อมต่อกับ Velop ในจุดต่างๆ รวมถึงแสดงให้เห็นว่าเชื่อมต่อบนเครือข่าย 2.4 GHz หรือ 5 GHz หรือผ่านสาย LAN ก็จะมีการแสดงผลอย่างชัดเจน

ข้อดีอีกอย่างก็คือที่ใต้ Velop ทุกตัวจะมีช่องให้เชื่อมต่อสาย LAN ได้ 2 พอร์ต ดังนั้น ถ้าต้องการให้อินเทอร์เน็ตสเถียรที่สุด ก็สามารถใช้การเชื่อมต่อสาย LAN เข้ากับอุปกรณ์ได้เลย อย่าง Apple TV เครื่องเล่นเกม PS4 กล่อง Android TV เป็นต้น

Mesh Wi-Fi ที่คลุมทุกจุดในบ้าน

เมื่อทดลองใช้งานจริง การที่มีเครือข่าย Velop อยู่ในบ้านแล้วจะช่วยเรื่องหลักเลยคือ ปัญหาสัญญาณ Wi-Fi อ่อนในบางจุดจะหมดไป เพราะสามารถเลือกวางจุดกระจายสัญญาณได้ตามที่ต้องการ

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการเดิน หรือย้ายจุดใช้งานตัวอุปกรณ์ก็จะเชื่อมต่อเข้ากับตัวกระจายสัญญาณที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะบางทีถ้าสัญญาณอ่อนลงเหลือ 1-2 ขีด จากความเร็วเน็ตที่ 100 Mbps อาจจะลดลงมาเหลือ 15-20 Mbps ก็เป็นได้

ที่น่าสนใจคือ ในอนาคตถ้ามีการนำอุปกรณ์ IoT ต่างๆเข้ามาใช้งานภายในบ้าน การมี Velop ก็เหมือนเป็นการช่วยสร้างเครือข่ายการเชื่อมต่อ IoT ในบ้านแบบง่ายๆอยู่แล้ว ถ้ามีแผนที่จะเปลี่ยนบ้านเป็น Smart Home ในอนาคตก็ถือเป็นการลงทุนที่ได้ใช้งานยาวๆกันไป

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น