ก่อนหน้านี้ Cyberbiz เคยแนะนำทั้ง Linksys Velop Tri-Band และเกมเมอร์เราเตอร์ MR900X ที่รองรับการกระจายสัญญาณแบบ Mesh WiFi กันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้ง 2 รุ่นจะมากับเทคโนโลยี WiFi 5 ทำให้ยังมีข้อจำกัดในการกระจายสัญญาณบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่
ประกอบกับการที่ ISP ในบ้านเราเพิ่มความเร็วในการเชื่อมต่อ 1 Gbps เข้ามาเป็นมาตรฐาน การที่จะใช้งานสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายภายในบ้านให้ได้ความเร็วตามแพ็กเกจ ก็จะต้องใช้งานคู่กับเราเตอร์ที่มีประสิทธิภาพด้วย โดยเฉพาะเทคโนโลยี WiFi 6 ที่อุปกรณ์ลูกข่าย (ดีไวซ์) รุ่นใหม่ๆ รองรับ
Linksys Velop MX5300 ถือเป็น Mesh WiFi ที่รองรับการกระจายสัญญาณ WiFi 6 ในระดับไฮเอนด์รุ่นแรกๆ ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งชูจุดเด่นในเรื่องของการกระจายสัญญาณที่ครอบคลุม และความนิ่งของสัญญาณให้ใช้งานกัน
WiFi 6 ส่งข้อมูลความเร็วสูง
การอัปเกรดขึ้นมาเป็น Velop MX5300 ของ Linksys ในครั้งนี้ จะเน้นการเพิ่มความเร็วในการเชื่อมต่อของเครือข่ายภายในบ้าน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับเน็ตบ้านความเร็วสูงระดับ 1 Gbps เพราะตัว MX5300 สามารถส่งต่อข้อมูลในบ้านได้ความเร็วสูงถึง 5.3 Gbps
เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ในการส่งข้อมูลนั้น จะมีทั้งการส่งข้อมูลไป และกลับ ทำให้จากแบนด์วิดท์ที่ได้ 5.3 Gbps เวลาใช้งานจริงก็จะแบ่งสัดส่วนออกเป็นการส่งข้อมูลบนคลื่น 2.4GHz 1147 Mbps 5GHz 2402 Mbps และ 5GHz คลื่นที่ 2 สำหรับ Mesh อีก 1733 Mbps
ดังนั้นเวลาใช้งาน ความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุดที่ทำได้ ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่รองรับคลื่น 5GHz บน WiFi 6 จะทำความเร็วได้เต็มสปีดที่เกือบๆ 1 Gbps ส่วนอุปกรณ์ที่รองรับ WiFi 5 ก็จะลงมาอยู่สูงสุดราว 850 Mbps ตามปกติ
การที่ MX5300 รองรับทั้งคลื่น 2.4 GHz และ 5GHz อีก 2 คลื่น จะมาช่วยให้เวลาใช้เป็น Mesh WiFi ร่วมกับ Velop รุ่นอื่น จะสามารถส่งสัญญาณ 5 GHz ไปให้ Velop เครื่องลูกได้ โดยไม่รบกวนกับคลื่นหลักที่ใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้เครื่องอื่นๆ ได้ความเร็วที่เพิ่มขึ้นไปด้วย
ข้อดีอีกอย่างของ MX5300 คือรองรับเครื่องลูกข่ายได้มากขึ้น โดยเฉพาะในยุคของอุปกรณ์ IoT ที่เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อสั่งงานได้ ทำให้การที่มีเครือข่ายที่รองรับก็จะช่วยให้การใช้งาน IoT ภายในบ้านสะดวกขึ้นด้วย
ทีมงานทดลองเชื่อมต่อ MX5300 เข้ากับ AIS Fibre ที่ให้ความเร็ว 1 Gbps / 200 Mbps ผ่านการเชื่อมต่อสาย LAN เข้ากับเราเตอร์หลัก เพื่อลดขั้นตอนในการติดตั้ง และทดสอบใช้งานพบว่า MX5300 สามารถรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านสาย LAN มาได้ราว 935 Mbps
เมื่อทดลองนำสมาร์ทโฟนที่รองรับ WiFi 6 อย่าง Samsung Galaxy S20 Ultra มาเชื่อมต่อ ก็จะได้ความเร็วที่ใกล้เคียงกันอยู่ในช่วง 850-900 Mbps ส่วนอุปกรณ์ที่เป็น WiFi 5 ก็จะลดลงอยู่ที่ราว 650-700 Mbps ซึ่งถือเป็นการทดสอบความเร็วสูงสุดในการเชื่อมต่อ
ถัดมา ทดลองเชื่อมต่อใช้งานในจุดที่ไกลขึ้น จากเดิมที่ Velop รุ่นแรก ใช้งานได้ความเร็วประมาณ 200 – 300 Mbps พอเปลี่ยนมาเป็น MX5300 ความเร็วที่ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 500-600 Mbps ซึ่งถือว่าให้สัญญาณที่แรง และครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น
ดังนั้น สำหรับบ้านหลังใหญ่ๆ ที่จากเดิมอาจจะต้องใช้ Velop 3 จุดให้ครอบคลุมทั่วทั้งบ้าน พอมาเป็นรุ่นใหม่อย่าง MX5300 การวางจุดกระจายสัญญาณดีๆ สัก 2 จุด ก็เชื่อว่าเพียงพอใช้งานให้ครอบคลุมในระดับที่ใช้งานได้แบบไม่หงุดหงิดแล้ว
ตัวเครื่องใหญ่ขึ้น แต่พอร์ตก็ครบขึ้นด้วย
มาถึงในส่วนของดีไซน์ตัวเครื่อง Velop MX5300 ยังมากับดีไซน์ที่คล้ายคลึงกับ Velop รุ่นเดิม เพียงแต่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีการเพิ่มเสาสัญญาณภายในเป็น 13 เสา เพื่อขยายกำลังส่งให้ไกลมากขึ้น
โดยขนาดของ MX5300 จะอยู่ที่ 110 x 110 x 244 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1.59 กิโลกรัม ที่มีการสกรีนสัญลักษณ์ Linksys อยู่ด้านหน้า ข้างบนจะเป็นช่องระบายอากาศ และไฟแสดงสถานะในการเชื่อมต่อ
ด้านหลัง จะเป็นจุดรวมพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ไล่ตั้งแต่ USB 3.0 พอร์ต Gigabit LAN 4 พอร์ต และอีก 1 พอร์ตสำหรับรับสัญญาณอินเทอร์เน็ต (WAN) กับช่องเสียบอะเดปเตอร์ ซึ่งภายในกล่องที่ให้มาจะแถมสาย LAN 1 เมตร มาให้ด้วย
ใต้เครื่อง จะมีปุ่มเปิด–ปิดเครื่อง พร้อมปุ่ม WPS และปุ่ม Reset มาให้กดใช้เวลาต้องการล้างเครื่อง หรือการเชื่อมต่อแบบรวดเร็ว โดยบริเวณขอบๆ จะมีการเว้นช่องไว้เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกขึ้น
ติดตั้งใช้งานง่าย
อีกจุดเด่นที่สำคัญของ Linksys Velop คือการที่ผู้ใช้สามารถซื้อมาติดตั้งได้ด้วยตัวเอง และมีขั้นตอนในการติดตั้งที่ง่ายมาก โดยสามารถเลือกได้ว่าจะใช้งานร่วมกับเราเตอร์เก่าที่มีอยู่เชื่อมต่อ LAN เข้ากับ Velop เพื่อใช้งานได้เลย
หรือจะเลือกใช้ Velop MX5300 แทนเราเตอร์เครื่องที่ ISP ให้มา ซึ่งถ้าเป็นขั้นตอนนี้จะต้องทำการประสานกับทาง Call Center ของแต่ละผู้ให้บริการเพื่อขอรหัสผ่าน และทำ Bridge Mode เพื่อให้ใช้ Velop ได้แทนเราเตอร์ ซึ่งอาจจะยุ่งยากขึ้นเล็กน้อย แต่ก็แลกกับการที่ไม่ต้องต่อเราเตอร์ 2 เครื่อง
ขั้นตอนในการติดตั้งก็จะเริ่มจากดาวน์โหลดแอป Linksys มาติดตั้งไว้บนสมาร์ทโฟน เปิดแอปขึ้นมาจะให้ทำการลงทะเบียน และทำตามขั้นตอนในการตั้งค่าไปเรื่อยๆ จนเสร็จแล้วไฟสัญลักษณ์ที่แสดงผลจะขึ้นเป็นสีฟ้า
เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วสามารถใช้แอปพลิเคชันเป็น Dashboard ดูข้อมูลการเชื่อมต่อ และตั้งค่าเพิ่มเติมได้ด้วยไม่ว่าจะเป็นดูว่ามีอุปกรณ์ใดเชื่อมต่ออยู่บ้าน จัดความสำคัญของอุปกรณ์ในการจัดสรรแบนด์วิดท์ จนถึงการเปิดโหมดผู้ปกครอง และตั้งเครือข่ายสำหรับแขกที่มาที่บ้าน
สำหรับรายละเอียดการตั้งค่าต่างๆ สามารถย้อนกลับไปดูได้ในรีวิว Linksys MR900X ที่อธิบายการทำงานของแอป Linksys ไว้อย่างละเอียดแล้ว และทำการเชื่อมต่อระบบ Mesh WiFi กับอุปกรณ์ Velop รุ่นอื่นไว้ด้วย
ราคาจำหน่าย Linksys Velop MX5300
สำหรับราคาจำหน่ายของ MX5300 จะมีขายทั้งแบบ 1 ตัว และแบบเป็นแพ็กให้เลือกประกอบด้วย Linksys Velop MX5300 1 โหนด ราคา 14,990 บาท 2 โหนด 24,990 บาท และ 3 โหนด 34,990 บาท
และยังมีการจัดแพ็กคู่ระหว่าง MX5300 คู่กับ Velop Tri-Band 3 โหนด ราคา 19,990 บาท เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่เน้นสัญญาณให้ครอบคลุมบ้านขนาดใหญ่มากๆ
สรุป
แม้ว่าราคาของ Linksys Velop MX5300 จะเริ่มต้นที่ 14,990 บาท แต่ถ้ามองถึงการใช้งานในระยะยาว กับอุปกรณ์ที่รองรับ WiFi 6 และสามารถขยาย Mesh เพิ่มได้ในอนาคต ก็ถือเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะบ้านที่มีพื้นที่กว้างๆ อาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ และเจอปัญหาในเรื่องของสัญญาณ WiFi ไม่ครอบคลุมทั่วบ้าน ที่สำคัญคือเรื่องของการติดตั้งใช้งานที่ง่ายที่สามารถติดตั้งใช้งานได้ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ถ้าการใช้งานในปัจจุบันยังไม่ได้มีอุปกรณ์ที่รองรับ WiFi 6 มาใช้งานมากนัก เครื่องรุ่นเดิมอย่าง Velop Tri-Band ที่ปรับลดราคาลงมาก็ถือเป็นรุ่นที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน