Review : Apple MacBook Pro 13″ (2019) อัปเกรดรุ่นเริ่มต้นให้มี Touch Bar

20569

การออกอัปเดตไลน์สินค้าในตระกูล MacBook Pro ช่วงกลางปีที่ผ่านมาของแอปเปิล จะไม่ได้เน้นในแง่ของการเปลี่ยนรูปแบบตัวเครื่อง แต่จะเน้นเปลี่ยนสเปกภายในของตัวเครื่อง พร้อมกับอัปเดตไลน์ของสินค้าใหม่แทน

จุดเด่นของ MacBook Pro (2019) ยังคงเป็นเรื่องของประสิทธิภาพตัวเครื่อง ที่แรงกว่า MacBook Air และมีการปรับราคาเริ่มต้นลงมาอยู่ที่ 42,900 บาท สำหรับรุ่น TouchBar และตัดรุ่นที่ไม่มี Touch Bar ออกไป

ข้อดี

ประสิทธิภาพสูง ในราคาเริ่มต้นที่ถูกลง

แบตเตอรีใช้งานได้ต่อเนื่องราว 10 ชั่วโมง

Touch Bar – Touch ID ช่วยเพิ่มความสะดวกเวลาใช้งาน

ข้อสังเกต

พอร์ต Thunderbolt 3 ให้มาแค่ 2 พอร์ต

แป้นคีย์บอร์ดแบบ Butterfly ยังถูกตั้งคำถามเรื่องความทนทานอยู่

ปรับไลน์ MacBook ใหม่

การออกวางจำหน่าย MacBook Pro 13” (Mid 2019) ของแอปเปิลในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับไลน์สินค้าที่น่าสนใจครั้งหนึ่ง เพราะจากเดิมรุ่นเดิมต้นของ MacBook Pro 13” จะเป็นรุ่นแบบที่ไม่มี Touch Bar มาด้วย แต่ปีนี้รุ่นเริ่มต้นของ MacBook Pro 13” จะเป็น Touch Bar ทั้งหมด

ประกอบกับการที่แอปเปิลมีการยกเลิกไลน์ MacBook ธรรมดาออกไป ทำให้ในเวลานี้ภาพรวมของไลน์ MacBook จะเหลือเป็นเริ่มต้นที่ MacBook Air 13” ตามมาด้วย MacBook Pro 13” และ MacBook Pro 15” เท่านั้น

โดย MacBook Pro 13” จะมีให้เลือก 2 รุ่นด้วยกันคือรุ่นเริ่มต้นที่ใช้ซีพียู Intel Core i5 ที่เป็น Quad Core 1.4 GHz มากับพอร์ต Thunderbolt 3 2 พอร์ต ในราคาเริ่มต้นที่ 42,900 บาท และรุ่น Intel Core i5 Quad Core 2.4 GHz ที่มากับ Thunderbolt 3 4 พอร์ต ในราคาเริ่มต้น 59,900 บาท

จึงกลายเป็นการเพิ่มตัวเลือกในการใช้งาน MacBook Pro 13” พร้อม Touch Bar ให้แก่ผู้ใช้งานที่กว้างขึ้นในรุ่น 2 พอร์ต แต่ในรุ่นเริ่มต้นก็จะมีสเปกที่ต่ำกว่าอยู่ ดังนั้นถ้าเน้นใช้งานสเปกสูงๆ ประมวลผลหนักๆ อาจจะต้องหันไปมองรุ่น 4 พอร์ต แทน

ภาพรวมตัวเครื่อง

ในแง่ของการดีไซน์ MacBook Pro 13” (2019) ยังคงใช้โมเดลของ MacBook Pro ตั้งแต่รุ่นปี 2017 ที่มีการปรับปรุงตัวเครื่องให้บางลง เหลือเฉพาะพอร์ต Thunderbolt 3 และช่องเสียบหูฟังเท่านั้น

หน้าจอยังคงใช้งานจอ Retina ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด 2560 x 1600 พิกเซล ความละเอียดเม็ดสี 227 ppi ให้ความสว่างหน้าจอสูงสุด 500 นิต การแสดงผลสีมาตรฐาน P3 พร้อมกับเทคโนโลยี True Tone ในการปรับแสงหน้าจอให้เหมาะสมกับแต่ละสภาพแวดล้อม

ขอบบนหน้าจอยังคงใช้กล้องหน้า FaceTime HD ความละเอียด 720p เช่นเดิม ส่วนชอบล่างก็จะมีสกรีน MacBook Pro ไว้ ตรงส่วนของข้อพับหน้าจอก็จะเป็นช่องระบายอากาศไว้เหมือนเดิม

ถัดลงมาในส่วนของตัวแป้นพิมพ์ เนื่องจากรุ่นเริ่มต้นของ MacBook Pro 13” จะเปลี่ยนมาเป็นปุ่มควบคุมแบบ Touch Bar ทั้งหมดแล้ว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ามอง Touch Bar เป็นตัวช่วยเวลาใช้งานหรือไม่ ถ้ามองว่าทำให้ใช้งานเครื่อง และโปรแกรมต่างๆได้สะดวกขึ้น Touch Bar ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างดี แต่ถ้ามองว่าเป็นแค่กิมมิคหรือลูกเล่นก็อาจจะไม่ได้ใช้งานมากนัก

มุมขวาของ Touch Bar ที่นอกจากเป็นปุ่มเปิดเครื่องแล้ว ก็ยังเป็นส่วนของเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ (Touch ID) เช่นเดิม ส่วนคีย์บอร์ดที่ใช้ยังคงเป็นแบบ Butterfly ที่ปุ่มคีย์บอร์ดบางอยู่ ซึ่งถ้าใครที่ใช้งานแล้วชอบก็จะรู้สึกว่าสะดวกดี

สุดท้ายคือแทร็กแพด ที่มากับ Force Touch ทำให้สามารถรับรู้แรงกด และการใช้งานคำสั่งแบบมัลติทัชได้ ซึ่งแทร็กแพดของแอปเปิล ก็ยังคงจุดเด่นในแง่ของการตอบสนองได้ดีที่สุดเช่นเดิม

สำหรับการเชื่อมต่อไร้สาย MacBook Pro 13” จะรองรับ WiFi มาตรฐาน 802.11ac บลูทูธ 5.0 ขณะที่พอร์ตการเชื่อมต่อในตัวเครื่องรุ่นเริ่มต้นจะมี Thunderbolt 3 อยู่ทางซ้ายเครื่อง 2 พอร์ต และพอร์ตหูฟัง 3.5 มม. อยู่ทางขวา

สเปกเครื่อง

MacBook Pro 13” รุ่นเริ่มต้นจะมากับหน่วยประมวลผล Interl Core i5 1.4 GHz ที่สามารถเลือกอัปเกรดเป็น Core i7 1.7 GHz ได้ (เพิ่มเงิน 12,000 บาท) RAM ที่ให้มาเป็น 8 GB สามารถเพิ่มเป็น 16 GB (เพิ่มเงินอีก 8,000 บาท)

เช่นเดียวกับตัวจัดเก็บข้อมูลที่ให้มาเป็น SSD ความจุ 128 GB ถ้าต้องการเพิ่มเป็น 256 GB (7,000 บาท) ไปจนถึงสูงสุดที่ 2TB (35,000 บาท)

ถ้าให้แนะนำว่าควรจะซื้อแบบไหน ถ้างบประมาณไม่ใช่ปัญหาหลัก แนะนำให้ดูรุ่นเริ่มต้นที่เพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลเป็น 256 GB แทน เพราะ 128 GB จะไม่เพียงพอกับการใช้งานในระยะยาว ในยุคที่คอนเทนต์ต่างๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะไฟล์วิดีโอความละเอียดสูง

ในขณะที่การประมวลผลสำหรับรุ่นเริ่มต้นที่เป็น Core i5 1.4 GHz ถือว่าเพียงพอกับการทำงานทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งรูปผ่าน Photoshop หรือ Lightroom รวมถึงการตัดต่อวิดีโอผ่าน Final Cut

เพราะซีพียูสามารถ Turbo Boost ไปได้ถึง 3.9 GHz ทำให้การประมวลผลของเครื่องรุ่นนี้เพียงพอกับการใช้งานหนักๆได้เลย แต่ถ้าต้องการลดระยะเวลาในการเรนเดอร์สำหรับตัดต่อวิดีโอให้เร็วขึ้น ก็อาจจะต้องมองรุ่นที่ใช้หน่วยประมวลผล Core i5 2.4 GHz แทน

โลกของ Thunderbolt 3 หลังผ่านมา 4 ปี

ย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้วแอปเปิล เริ่มนำเสนอพอร์ต Thunderbolt 3 หรือ USB-C ออกสู่ไลน์สินค้าในตระกูล MacBook ก่อนทยอยอัปเดตมาให้ใช้งานทั้งบน MacBook Pro และ MacBook Air ซึ่งในช่วงเริ่มต้น Thunderbolt 3 อาจจะเป็นข้อจำกัดในการใช้งาน

แต่หลังจากผ่านมา 4 ปีแล้ว Thunderbolt 3 ได้กลายเป็นพอร์ตมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ทั้งการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนในกลุ่มของ Android ที่หันมาใช้พอร์ต USB-C กันทั้งหมด

หรือถ้าเป็นผู้ใช้ iPhone ก็มีสาย USB-C to lightning มาให้ใช้งาน หรือแม้แต่ผู้ใช้ iPad Pro ก็เปลี่ยนมาเป็น USB-C กันทั้งหมดแล้ว โลกของ Thunderbolt 3 จึงสะดวกมากขึ้น

เพราะความสามารถของ Thunderbolt 3 นอกจากใช้เพื่อชาร์จไฟแล้ว ยังใช้เป็น DisplayPort เพื่อเชื่อมต่อกับจอภายนอกได้ รองรับการรับส่งข้อมูลที่เร็วขึ้น (Thunderbolt สูงสุด 40 Gbps USB 3.1 สูงสุด 10 Gbps)

อย่างไรก็ตาม ในการใช้งาน Thunderbolt 3 ก็จำเป็นต้องพกพา USB Hub มาช่วยเพิ่มพอร์ตในการใช้งานอยู่เช่นเดิม ในกรณีที่ต้องการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ที่มากขึ้น อย่างธัมป์ไดรฟ์ หรือเอสดีการ์ด ซึ่งถ้าเริ่มใช้งานมาแล้วสุดท้ายก็จะเข้ามาอยู่อีโคซิสเตมส์ของ Thunderbolt 3 ที่ช่วยให้การใช้งานสะดวก และรวดเร็วขึ้นอยู่ดี

สรุป

การปรับราคารุ่นเริ่มต้นของ MacBook Pro 13” (2019) ลงมาอยู่ที่ 42,900 บาท และได้รุ่นที่มี Touch Bar กับ Touch ID ทำให้เป็นเครื่องที่น่าสนใจมากขึ้น เพราะจากเดิมถ้าต้องการรุ่นที่มีทั้ง 2 อย่างนี้จะต้องเสียเงินเกือบ 6 หมื่นบาท

และกลายเป็นรุ่นที่มาอุดช่องว่างระหว่างผู้ที่ต้องการซื้อ MacBook Air ที่มองว่าสเปกไม่เพียงพอกับการใช้งาน และ MacBook Pro 4 พอร์ต ที่ระดับราคาสูงเกินไปด้วย ดังนั้น MacBook Pro 13” (2019) จะกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้งาน MacBook ประสิทธิภาพสูงในราคาที่ไม่สูงเกินไป

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น