Review : macOS Catalina ปลดล็อกการใช้งานคู่กับ iPad และลาก่อน iTunes

10681

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลักๆ ในการอัปเดตระบบปฏิบัติการเวอร์ชัน 10.15 หรือ macOS Catalina คือการยุติการให้บริการ iTunes ของแอปเปิล และแยกออกมาเป็น 3 บริการคือ Apple Music Apple TV และ Apple Podcast แทน

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับกับรูปแบบการให้บริการแบบบอกรับสมาชิกของแอปเปิล ที่นอกเหนือจากการให้บริการ Apple Music และ Apple TV+ แล้วยังมีส่วนของ Apple Arcade ที่เป็นบริการเล่นเกมเพิ่มเข้ามาให้ใช้งานในอีโคซิสเตมส์ของแเอปเปิลด้วย

นอกจากนี้ ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานระหว่างเครื่อง mac คู่กับ iPhone และ iPad ให้ดีมากยิ่งขึ้น โดย MacBook ที่สามารถอัปเดตมาใช้งาน macOS Catalina สามารถเช็กได้จากลิสต์ด้านล่างนี้

  • MacBook (Early 2015)
  • MacBook Air (Mid 2012)
  • MacBook Pro (Mid 2012)
  • Mac mini (Late 2012)
  • iMac (Late 2012)
  • iMac Pro (2017)
  • Mac Pro (Late 2013)

ไม่มี iTunes แล้ว Sync iPhone / iPad อย่างไร

เชื่อว่าขาประจำที่ใช้งาน Mac คู่กับ iPhone และ iPad จะมีคำถามเกิดขึ้น เพราะแต่เดิมในการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่าง iPhone คู่กับ mac ต่างๆ จะต้องใช้งานร่วมกับ iTunes เพื่อทำการสำรองข้อมูลต่างๆ

พอมาเป็นใน macOS Catalina ที่ตัด iTunes ออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือแอปเปิล ได้ฝังการซิงค์ข้อมูลระหว่าง iPhone และ iPad เข้ากับ Finder แทน ทำให้เมื่อเชื่อมต่อ iPhone เข้ากับ mac จะมีแถบตัวเครื่องปรากฏขึ้นมาให้เลือกเข้าไปจัดการได้

เมื่อกดเข้าไปก็จะเจอกับหน้าจอซิงค์ข้อมูลที่คุ้นเคย ผู้ใช้สามารถทำการสำรองข้อมูล (Back Up) หรือแม้แต่ซิงค์ข้อมูลเพลง รายการทีวี รายการพอดคาสต์ หนังสือเสียง หนังสือ รูปภาพ และไฟล์ในตัวเครื่องได้ตามปกติ

แยกแอป Music / TV / Podcast ให้เข้าถึงง่ายขึ้น

แต่เดิมเวลาต้องการฟังเพลง ฟังพอดคาสต์ ผู้ใช้งาน macOS ต้องเข้าถึงบริการเหล่านี้ผ่านทาง iTunes แต่พอเป็นใน Catalina จะมีการแยกออกมาเป็น 3 แอปให้ใช้งานกัน

จึงแปลว่าช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ที่ต้องการได้ทันทีที่เปิดแอปเฉพาะต่างๆ อย่างถ้าต้องการฟังเพลงก็เปิด Apple Music ถ้าต้องการดูหนังเปิด Apple TV และถ้าต้องการเข้าถึงพอดคาสต์ก็เปิด Podcast เพื่อฟังได้เลย

Sidecar ใช้ iPad เป็นจอที่ 2

สำหรับฟีเจอร์สำคัญที่เชื่อว่าผู้ใช้ macOS ร่วมกับ iPad รอคอยกันอยู่ คือ Sidecar ที่เปิดให้ผู้ใช้งาน macOS Catalina สามารถใช้งาน iPad ที่ทำงานบน iPad OS ใช้เป็นจอแสดงผลเพิ่มเติมได้

ประกอบกับการที่ในช่วงหลัง iPad ทุกรุ่นรองรับการทำงานร่วมกับ Apple Pencil ดังนั้น จากเดิมเวลามีข้อจำกัดเรื่องของการทัชสกรีน ถ้านำ Sidecar มาร่วมด้วย ก็จะช่วยปลดล็อกเรื่องนี้ไป

โดยสามารถเลือกได้ว่าจะให้หน้าจอบน iPad เป็นจอเสริมของเครื่อง mac หรือใช้เป็นหน้าจอเดียวกัน เพื่อให้สามารถใช้ iPad ในการป้อนข้อมูลผ่านระบบทัชสกรีนแทนการใช้งานทัชแพดบน Mac

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ใช้งานที่ต้องการออกแบบ หรือวาดรูป จะทำงานได้สะดวกขึ้น เพราะสามารถนำปากกา Apple Pencil มาช่วยในการสร้างสรรค์ผลงาน ร่วมกับโปรแกรมต่างๆ ของ Mac ได้

นอกจากนี้ ด้วยการที่บน iPad OS มีการเพิ่มฟีเจอร์ในการใช้นิ้วควบคุมเพิ่มเติมอย่างการ Cut ด้วยการลาก 3 นิ้วขึ้นพร้อมกัน การ Copy ด้วยการลาก 3 นิ้วเข้าหากัน การ Paste ด้วยการลาก 3 นิ้วออกจากกัน รวมถึงการ Redo / Undo ด้วยการปาด 3 นิ้วไปทางซ้าย และขวา ซึ่งฟีเจอร์เหล่านี้ก็สามารถนำมาใช้งานบน Sidecar ได้ด้วย

Continuity ให้ทำงานร่วมกันในอีโคซิสเตมส์

ในตอนที่แอปเปิล อัปเดจ macOS Mojave หนึ่งในฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นมาคือการเปิดฟีเจอร์ Continuity ให้สามารถทำงานได้ต่อเนื่องระหว่าง iPhone iPad และ Mac อย่างการเปิดหน้าเบราว์เซอร์ซาฟารีบน iPhone แล้วมาเปิดต่อใน Mac

พอมาเป็นใน macOS Catalina ได้เพิ่มความสามารถในส่วนของการ Markup  และ Sketch เพื่อใช้งานระหว่าง iPad และ Mac โดยทันทีที่มีการทำไฮไลท์ หรือวาดเขียนลงไปบนไฟล์ PDF บน iPad ก็จะไปปรากฏบน Mac ด้วยทันที

Find My ที่หาเครื่องได้แม้ไม่ต่อเน็ต

อีกฟีเจอร์ที่มีการอัปเดตเพิ่มเติมบน macOS Catalina ซึ่งถือเป็นฟีเจอร์ที่น่าสนใจไม่น้อย คือการค้นหาเครื่อง โดยบน Catalina ได้ทำการรวมแอป Find My iPhone และ Find My Freind เข้าด้วยกันเหมือนบน iOS 13 เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น

โดยจุดที่น่าสนใจคือการเปิดใช้งานฟีเจอร์ค้นหาเครื่องได้แม้ว่าเครื่องจะไม่ได้เชื่อมต่อเน็ตอยู่ ด้วยการนำระบบบลูทูธจาก iOS และ Mac ทุกเครื่องที่อยู่รอบบริเวณมาช่วยส่งสัญญาณ เพื่อให้ทราบตำแหน่งของเครื่องที่ต้องการค้นหา

ในจุดนี้ แอปเปิล ยืนยันถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ว่า ได้ใช้ระบบที่มีการเข้ารหัสเป็นอย่างดี ทำให้บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าถึงฟีเจอร์ดังกล่าวได้ และที่สำคัญคือด้วยบลูทูธเวอร์ชันใหม่ที่ใช้พลังงานต่ำทำให้ไม่ต้องกังวลว่าอุปกรณ์จะกินไฟมากกว่าเดิมด้วย

ใส่ Screen Time ให้รู้ว่าใช้ Mac ทำอะไรบ้าง

ก่อนหน้านี้บน iOS 12 แอปเปิล เริ่มแนะนำฟีเจอร์อย่าง Screen Time มาเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานได้รู้ว่าในแต่ละวัน มีการเปิดใช้งานแอปใดบ้าง เป็นเวลาเท่าไหร่ เพื่อเข้ามาช่วยลดการติดโทรศัพท์มือถือ ด้วยฟีเจอร์ปิดกั้นการใช้งาน เมื่อใช้ถึงเวลาที่กำหนด

พอมาเป็นบน macOS Catalina ก็ได้เพิ่มฟีเจอร์ Screen Time เข้ามาให้ใช้งานด้วยเช่นกัน โดยผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้แสดงผลข้อมูลจากอุปกรณ์อื่นๆอย่าง iPhone และ iPad มาร่วมด้วยหรือไม่ รวมถึงตั้งจำกัดการใช้งานแอปต่างๆ ได้ด้วย

ปรับปรุงจุดเล็กอีกเยอะ

นอกเหนือจากฟีเจอร์หลักๆ ที่แนะนำไปแล้ว ภายใน macOS Catalina ยังมีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ มาให้ใช้งานเครื่อง และแอปต่างๆ ได้สะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Photos ที่ปรับปรุงนำ AI มาช่วยวิเคราะห์ และเลือกแสดงรูปภาพได้เหมือนบน iOS 13

Mail เพิ่มฟีเจอร์ ปิดการแจ้งเตือนเฉพาะรายชื่อ บล็อกรายชื่อ และยกเลิกการรับอีเมลโฆษณามาให้ Safari ปรับการแสดงผลหน้าแรกให้นำเสนอเว็บไซต์ที่เข้าใช้งานเป็นประจำ มีการแจ้งเตือนให้ปรับปรุงรหัสผ่านให้ปลอดภัยมากขึ้น

Notes เพิ่มมุมมองการแสดงผลแบบ Gallery View รวมถึงการทำงานร่วมกัน (Shared Folders) กับผู้ใช้งาน iCloud Reminders ปรับอินเตอร์เฟสใหม่ให้เหมือนกับบน iOS 13 และรองรับการทำงานที่หลากหลายขึ้น

บน macOS Catalina ยังมีการปลดล็อกอีกอย่างคือ Mac Catalyst หรือการนำแอปพลิเคชันบน iPad มารันใช้งานบน Mac ทำให้หลังจากนี้เมื่อนักพัฒนาเพิ่มความสามารถนี้เข้าไปในแอป ผู้ใช้ก็สามารถดาวน์โหลดแอปที่อยู่บน iPad มาใช้งานบน Mac ผ่าน Mac AppStore ได้ทันที

สรุป

รวมๆ แล้วการอัปเดต macOS Catalina ในครั้งนี้ อาจจะไม่เหมือนการปรับใหญ่บน Mojave ที่มีการเพิ่ม Dark Mode มาให้ใช้งานทำให้ดูมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่บน Catalina จะเน้นปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานเป็นหลักมากกว่า

เช่นเดียวกับการเพิ่มฟีเจอร์ให้สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ของแอปเปิล ได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อจอกับ iPad ผ่าน Sidecar การส่งต่อข้อมูลระหว่าง iPhone และ Mac ต่างๆ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น