Review : Microsoft Continuum ไม้เด็ดในตลาดสมาร์ทโฟน

9852

build920150428_web

ถ้าให้พูดถึง Continuum ง่ายๆก็คือระบบที่จะแปลงสมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ต ให้กลายเป็นคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปเพื่อให้ทำงานได้สะดวกขึ้น ถือเป็นฟังก์ชันที่จะมากับสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows 10 ที่กำลังจะทยอยเปิดตัวในประเทศไทยช่วงต้นปีนี้

ความสามารถดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อมๆไปกับการเปิดตัว Windows 10 ที่ทางไมโครซอฟท์วางไว้เป็นแพลตฟอร์มหลักในการเชื่อมต่อผลิตภัณฑ์ทุกๆกลุ่มเข้าด้วยกันไล่กันตั้งแต่อุปกรณ์ IoT สมาร์ทโฟน ไปจนถึงเครื่องเล่นเกมคอนโซล และคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถใช้งานข้อมูลต่างๆข้ามกันไปมาผ่านระบบคลาวด์ได้อย่างสะดวกสบาย

จุดแรกที่ต้องรู้กันคือ ไม่ใช่วินโดวส์โฟนทุกเครื่องจะใช้งาน Continuum ได้ เพราะต้องใช้ประสิทธิภาพในการประมวลผลเพื่อการทำงานทั้ง 2 หน้าจอไปพร้อมๆกัน ดังนั้นทางไมโครซอฟท์จึงระบุไว้ว่า เครื่องที่ใช้ซีพียู Qualcomm 808 และ 810 ถือเป็นขั้นต่ำในการใช้งาน พร้อมกับ RAM 2 GB สำหรับจอแสดงผลความละเอียด 720p และ 3 GB สำหรับความละเอียด 1080p

ในขณะที่การเชื่อมต่อระหว่างตัวสมาร์ทโฟน และจอสามารถทำได้ด้วยกัน 2 รูปแบบคือ แบบไร้สายร่วมกับ Wireless Dock โดยตัวเครื่องต้องรองรับ WiFi มาตรฐาน 802.11n dual band ขึ้นไป พร้อมกับระบบ WIndows 10 Miracast เพื่อให้สามารถส่งข้อมูลจากตัวเครื่องไปยังตัวรับได้อย่างรวดเร็ว และลื่นไหลไม่เกิดอาการกระตุก

ส่วนการเชื่อมต่อแบบมีสาย ก็สามารถทำงานร่วมกับ Wire Docking ได้ตั้งแต่ USB 2.0 ขึ้นไป แต่ที่ดีที่สุดคือการใช้งานร่วมกับ USB-C เพื่อให้ตัว Dock สามารถส่งต่อข้อมูล และรับข้อมูลได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการส่งภาพผ่านสาย HDMI การเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ด เมาส์ และฮาร์ดดิสก์พกพาผ่านช่องเสียบ USB ที่ตัว Dock

s1

โดยเมื่อทำการเชื่อมต่อ Continuum บน Windows 10 Mobile จะมีให้เลือกระหว่างการเชื่อมต่อแบบมีสาย และแบบไร้สาย เมื่อเชื่อมต่อเรียบร้อย ก็สามารถเข้าไปตั้งค่าการแสดงผลต่างๆได้ในเรื่องของภาพพื้นหลัง เพื่อให้เกิดความแตกต่างขณะใช้งาน

s2

ส่วนของการควบคุมถ้าไม่ได้มีการเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ดหรือเมาส์ภายนอก ผู้ใช้ก็สามารถใช้สมาร์ทโฟนในการสั่งงานได้ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมเมาส์ โดยใช้นิ้วลากไปบนจน หรือถ้าต้องการพิมพ์เมื่อเลือกในช่องที่ต้องการคีย์บอร์ดก็จะปรากฏขึ้นมาให้พิมพ์กรอกข้อมูลได้ทันที

c1

เมื่อเห็นถึงพื้นฐานในการเชื่อมต่อแล้ว ก็จะมองเห็นภาพคร่าวๆ ของการนำวินโดวส์โฟนมาใช้งาน Continuum ที่จะใช้สมาร์ทโฟนเป็นเหมือนหน่วยประมวลผล ที่ส่งภาพออกไปยังหน้าจอสมาร์ทโฟน และจอภาพ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นหลักของ Continuum เพราะผู้ใช้สามารถเลือกเปิดดูข้อมูลในสมาร์ทโฟน หรือคุยโทรศัพท์ ประชุมสาย ไปพร้อมกับการทำงานบนหน้าจอได้ในเวลาเดียวกัน

s3

ดังนั้นในส่วนของหน้าจอ Windows 10 บนสมาร์ทโฟน ก็จะใช้การแสดงผลในรูปแบบเดิม ส่วนบนหน้าจอที่เชื่อมต่อ จะใช้อินเตอร์เฟสคล้ายคลึงกับบน Windows 10 ที่มีปุ่มวินโดวส์อยู่มุมซ้ายล่าง เพื่อเรียกดูแอปพลิเคชันต่างๆ พร้อมกับปุ่มค้นหา สลับการใช้งานแอป ส่วนมุมขวาล่างก็จะเป็นจุดรวมการแจ้งเตือน และเข้าสู่หน้าการตั้งค่าต่างๆ

ตัวแอปพลิเคชันพื้นฐาน ที่จะนำมาใช้งานกับ Continuum ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การทำงาน และความบันเทิงเป็นหลัก และที่สำคัญต้องเป็นแอปพลิเคชันบน Windows 10 ที่สามารถดาวน์โหลดผ่านสโตร์ได้เท่านั้น ดังนั้นผู้ใช้ที่หวังว่าจะนำโปรแกรมสกุลไฟล์ exe มาลงเพื่อทำงานไม่ต่างกับคอมพิวเตอร์จึงไม่สามารถทำได้

s4

ในแง่ของการทำงาน ถ้าเป็นผู้ที่ใช้งาน Microsoft Office เดิมอยู่แล้ว มีการซิงค์ข้อมูลออนไลน์ไว้ตลอดเวลา ตัว Continuum จะสะดวกช่วยอำนวยความสะดวก จากเดิมที่ต้องมาแก้งานบนสมาร์ทโฟน ตอนนี้ก็สามารถต่อกับจอ คีย์บอร์ด เมาส์ เพื่อทำงานได้ทุกที่ เพราะการใช้งานทั้ง Word Excel PowerPoint และ One Note บน Continuum จะไม่แตกต่างกับใช้งานบนพีซี

s5

ถัดมาในส่วนของ Microsoft Edge หรือเว็บเบราว์เซอร์ของไมโครซอฟท์ ก็สามารถใช้ในการท่องเว็บได้ แน่นอนว่าถ้ามีการล็อกอินบัญชีไว้บนพีซี เมื่อมาใช้งานบน Continuum พวกหน้าเว็บที่บุ๊กมาร์คไว้ก็จะถูกดึงมาด้วย ทำให้สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่ใช้งานประจำได้ทันที

อีกมุมหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือเรื่องของความบันเทิง ตัวเครื่องสามารถใช้เปิดเพลง (รองรับไฟล์ flac) เล่นวิดีโอ เปิดดูรูปจากบนสมาร์ทโฟนได้ตามปกติ ดังนั้นถ้าต้องการแชร์วิดีโอด้วยระบบไร้สายไปยังหน้าจอเพื่อเล่นให้ทุกคนดูก็ทำได้ทันที

แต่น่าเสียดายที่ตัว Continuum ไม่ได้คำนึงถึงในเรื่องของการเลือก Output ของเสียงมากนัก ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้เสียงที่เล่นวิดีโอ หรือเพลง ดังจากจอภาพ (ที่มีลำโพง) หรือดังจากตัวเครื่อง เพราะบางกรณีที่เชื่อมต่อกับจอภาพทั่วไปและไม่มีลำโพงในตัว เสียงก็จะไม่ออก หรือถ้าเชื่อมต่อกับจอภาพที่มีความละเอียดต่ำกว่า 1080p เสียงจะออกจากตัวสมาร์ทโฟนแทนจอโทรทัศน์

s7

นอกจากนี้ ก็จะมีอย่างตัวจัดการไฟล์ File Explorer อาจจะใช้งานไม่สะดวกเหมือนบนพีซีที่สามารถลากไฟล์วางๆ ได้เลย แต่บน Continuum จะใช้การเลือกไฟล์ เพื่อทำการคัดลอก (Copy) หรือ ย้าย (Move) แทน เหมือนกับการใช้งานบนสมาร์ทโฟน แต่จุดเด่นจะอยู่ที่เมื่อเชื่อมต่อกับ Dock แล้วก็สามารถเชื่อมต่อฮาร์ดดิสก์พกพา (External HD) เพื่อเรียกใช้งานไฟล์ต่างๆได้ทันที

s6

กรณีที่ต้องการสลับการทำงานระหว่างโปรแกรมต่างๆ ก็สามารถกดหน้าต่างมัลติสกรีนขึ้นมาเพื่อเลือกสลับได้ทันที

s8

การใช้งาน Cortana ก็ถือเป็นอีกจุดเด่นที่สำคัญ เพราะช่วยให้สามารถสั่งงานผ่านระบบเสียงได้ทันที ส่วนในแง่ของการตั้งค่าจะไม่แตกต่างจากการตั้งค่าบนสมาร์ทโฟน และอีกปัญหาที่พบคือบางแอปพลิเคชันไม่สามารถใช้งานบน Continuum ได้

c2

อย่างที่บอกไปว่าในการทำงานระหว่างบนหน้าจอ และสมาร์ทโฟนที่แยกออกจากกัน ดังนั้นในขณะที่ใช้งานบนจอ ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกส่งข้อความหาตามรายชื่อ หรือจะสั่งให้เครื่องทำการโทรออกไปได้ทันที เพียงแต่เมื่อกดแล้วก็ต้องยกตัวสมาร์ทโฟนขึ้นมาคุยเหมือนปกติแทน แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่แยกจากกันโดยสิ้นเชิง

Microsoft Display Dock

d2

หนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่ต้องนำมาเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ทโฟน Windows 10 และจอภาพคงหนีไม่พ้น Microsoft Display Dock โดยการออกแบบจะเน้นไปที่รูปทรงขนาดเล็กพกพาง่าย ผู้ใช้สามารถพกพาไปนอกสถานที่พร้อมกับคีย์บอร์ดและเมาส์ไร้สายได้ทันที ขนาดรอบตัวจะอยู่ที่ 64.1 x 64.1 x 25.6 มิลลิเมตร น้ำหนัก 230 กรัม

โดยด้านบนจะมีสัญลักษณ์ ‘Windows’ ปรากฏอยู่ตรงกึ่งกลาง ขณะที่ด้านหน้าจะมีไฟแสดงสถานะ (สีแดงกรณีไม่มีการใช้งาน สีขาวกำลังใช้งานอยู่) และพอร์ต USB-C สำหรับเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน

d1

ส่วนด้านหลังจะเป็นที่อยู่ของพอร์ตต่างๆไม่ว่าจะเป็นพอร์ตยูเอสบี 3 พอร์ต พอร์ต USB-C 1 พอร์ตสำหรับเชื่อมต่อกับอะเดปเตอร์ ช่องต่อ DisplayPort และ HDMI ที่ให้ความละเอียดสูงสุด 1920 x 1080 พิกเซล

สำหรับ Microsoft Display Dock จะวางจำหน่ายในราคา 2,990 บาท

สรุป

ในมุมของผู้บริโภคทั่วไป อาจจะมองว่า Continuum ไม่ได้มีความจำเป็นในการใช้งานมากนัก แต่ถ้าเป็นในมุมของนักธุรกิจ หรือคนทำงาน ที่มีการใช้งาน Microsoft Office เป็นประจำ Continuum จะมาช่วยให้ไม่จำเป็นต้องพกพาโน้ตบุ๊กติดตัวตลอดเวลา แต่ก็สามารถแก้ไขงานได้จากการพกอุปกรณ์เสริมเหล่านี้แทน

อีกมุมหนึ่งก็คือในเรื่องของ Smart Home ที่ผู้ใช้สามารถใช้งาน Continuum ร่วมกับจอโทรทัศน์ในการใข้งานเพื่อความบันเทิงได้ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อ Smart TV ราคาแพง แต่ใช้การเชื่อมต่อจากสมาร์ทโฟนแทน ก็ถือเป็นอีกความสามารถที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ เนื้อหาจากรีวิวนี้เขียนขึ้นบนการใช้งาน Continuum จาก Microsoft Lumia ที่มากับ Windows 10 ที่กำลังจะเปิดตัวเร็วๆนี้

ข้อดี

ช่วยให้การทำงานได้ต่อเนื่อง ไม่มีสะดุดแม้ต้องออกไปข้างนอก

เป็นการนำความสามารถของแพลตฟอร์ม Windows 10 ออกมาใช้อย่างเต็มที่

ข้อสังเกต

ระหว่างใช้งาน Continuum หน้าจอสมาร์ทโฟนจะติดค้างอยู่ตลอดเวลา

ไม่สามารถเลือก Audio Output ได้

แอปพลิเคชันที่ใช้งานได้ยังจำกัดอยู่

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

SHARE