Lumia 650 นับเป็นสมาร์ทโฟนที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางรุ่นแรกของไมโครซอฟท์ ตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างองค์กรให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวมากยิ่งขึ้นบนระบบปฏิบัติการ Windows 10 หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีออกรุ่นที่มาจับกลุ่มผู้เริ่มใช้สมาร์ทโฟนจาก Lumia 535 และในกลุ่มบนจาก Lumia 950XL
ที่สำคัญคือ Lumia 650 เริ่มกลับมาเป็นสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของไมโครซอฟท์แล้ว ด้วยการออกแบบตัวเครื่องที่มีความน่าสนใจ ไม่ได้ยึดตามแบบสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆในตลาด ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของไมโครซอฟท์ อย่างไรก็ตามด้วยการที่ทำงานบน Windows 10 ก็ทำให้ผู้ใช้มีความสะดวกในการใช้งานเครื่องบนแพลตฟอร์มเดียวกันมากขึ้น
ส่วนของสเปกเครื่อง ด้วยการที่ทำราคาออกมาต่ำกว่าหมื่นบาท ทำให้เครื่องจะเน้นไปที่สเปกกลางๆด้วยการใช้ซีพียู Snapdragon 212 ที่เป็นรุ่นประหยัด มาใช้กับหน้าจอเครื่องขนาด 5 นิ้ว ตัวเครื่องรองรับทั้ง 3G และ 4G กล้องที่ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล แต่มีอินเตอร์เฟสในการปรับแต่งใช้งานที่น่าสนใจ
การออกแบบ
ดีไซน์ของ Lumia 650 จะเน้นไปที่การนำเฟรมที่เป็นอะลูมิเนียมขัดมันผสมกับพลาสติกคุณภาพสูง เพื่อให้เมื่อได้สัมผัสแล้วจะรู้สึกถึงความพรีเมียมของตัวสินค้าเป็นหลัก โดยเน้นหลักๆไปที่ความบางของตัวเครื่อง ที่มีขนาดรอบตัวอยู่ที่ 142 x 70.9 x 6.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 122 กรัม มีให้เลือกด้วยกัน 2 สี คือขาว และดำ
ด้านหน้า – ไล่จากส่วนบนจะเป็นช่องลำโพงสนทนา ถัดลงมามีสกรีนแบรนด์ ‘Microsoft’ โดยมีกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล f/2.2 อยู่ที่มุมขวาบน ถัดลงมาเป็นหน้าจอที่ใช้กระจก Gorilla Glass 3 บนเทคโนโลยี ClearBlack OLED ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด HD (1280 x 720 พิกเซล) ความละเอียดเม็ดสี 297 ppi ส่วนล่างเป็นลำโพงปกติ ซึ่งถ้าสังเกตุจะพบว่ามีการปล่อยพื้นที่ว่างบริเวณส่วนบนและล่างหน้าจอค่อนข้างเยอะ เพื่อทำให้ตัวเครื่องบางลง
ด้านหลัง – เนื่องจากต้องการให้ตัวเครื่องเบา ฝาหลังที่ใช้จึงเป็นพลาสติกที่สามารถยืดหยุ่นได้ ลักษณะเป็นผิวด้านเล็กน้อย มีสัญลักษณ์วินโดวส์สีเงินอยู่ตรงกลาง เยื้องขึ้นมาส่วนบนเป็นเลนส์กล้องความละเอียด 8 ล้านพิกเซล f/2.2 พร้อมไฟแฟลชที่นูนขึ้นมาเล็กน้อย โดยสามารถแงะฝาหลังได้จากตรงกึ่งกลางล่าง
เมื่อแกะฝาหลังออกมาจะพบกับแบตเตอรีขนาด 2,000 mAh ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ โดยมีช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ด และไมโครซิมการ์ดอยู่ข้างๆ ทำให้เวลาถอดเปลี่ยน หรือสลับการใช้งานจำเป็นต้องปิดเครื่องก่อน ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลสูญหายเมื่อไม่ได้กดถอดการ์ดออกขณะเปิดเครื่อง
ด้านซ้าย – จะถูกปล่อยว่างไว้ ด้านขวา – เป็นที่อยู่ของปุ่มเปิด–ปิดเครื่อง และปุ่มปรับระดับเสียง
ด้านบน – มีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. และไมโครโฟน ด้านล่าง – จะมีช่องไมโครยูเอสบี สำหรับเสียบสายชาร์จ และเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์
สเปก
ในส่วนของสเปกภายใน Lumia 650 มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 212 ที่เป็นควอดคอร์ความเร็ว 1.3 GHz RAM 1 GB พื้นที่เก็บข้อมูลภายในตัวเครื่อง 16 GB รองรับไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติมสูงสุด 200 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10
การเชื่อมต่อรองรับ 3G บนคลื่นความถี่ 850/900/1900/2100 ความเร็วในการเชื่อมต่อสูงสุด 42.2/5.76 Mbps ส่วน 4G รองรับบนคลื่นความถี่ 700/850/2100 ความเร็ว 150/50 Mbps ขณะที่การเชื่อมต่อไวไฟอยู่บนมาตรฐาน 802.11b/g/n บลูทูธ 4.1 GPS NFC และวิทยุFM
ฟีเจอร์เด่น
เนื่องจาก Lumia 650 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ดังนั้น ฟังก์ชันในการใช้งานส่วนใหญ่ ก็จะไม่แตกต่างจากรุ่นพี่ใหญ่ก่อนหน้านี้อย่าง Lumia 950XL http://www.cyberbiz.in.th/review-microsoft-lumia-950xl/ เพียงแต่ในรุ่นนี้ จะไม่รองรับการใช้งาน Continuum ที่เป็นการต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับจอเพื่อใช้งานแทนพีซี เช่นเดียวกับระบบปลดล็อกเครื่องด้วย Windwso Hello ที่จะถูกตัดออกไป
แต่ฟังก์ชันที่เหลือไม่ว่าจะเป็น Glance Screen ที่มีบอกเวลาบนหน้าจอ ตัวแจ้งเตือน ตารางนัดหมาย แม้ว่ากดปิดหน้าจอไปแล้ว ก็ยังอยู่ให้ใช้งาน รวมถึงบริการอื่นๆที่มีมากับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Office Skype OneDrive OneNote Outlook Mail และการเข้าถึง Store เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติม
หน้าจอหลักของ Windows 10 ยังคงเป็น Live Tiles เหมือนเดิม ที่รวมการแสดงผลของรายชื่อผู้ติดต่อที่จะหมุนวนรูปขึ้นมาแสดง หน้าปฏิทินที่บอกตารางนัดหมาย อัลบั้มรูปที่ปรับเปลี่ยนแกลอรี่มาแสดงผล รวมถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ แน่นอนว่าผู้ใช้สามารถปรับแต่งธีมสี ขนาดไอค่อนได้ตามความต้องการเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน
แถบการแจ้งเตือน ยังสามารถเข้าถึงได้จากการลากนิ้วจากขอบบนลงมา เพื่อแสดงข้อมูลเครือข่ายที่ใช้งาน สถานะแบตเตอรี วันที่ การตั้งค่าด่วนอย่างการเปิด–ปิด ไวไฟ บลูทูธ การหมุนหน้าจอ ไฟฉาย โน้ต เข้าใช้งานกล้อง ปรับความสว่างหน้าจอ เปิด HotSpot
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดโหมดใช้งานมือเดียว ด้วยการกดปุ่มวินโดวส์ค้าง เพื่อย่อหน้าต่างลงมา และกดซ้ำเพื่อขยายกลับเหมือนเดิม ขณะเดียวกันผู้ใช้ยังสามารถเข้าไปตั้งค่าการแสดงผลของโทนสีหน้าจอได้จากในส่วนของ Colour Profile หรือจะเปลี่ยนธีมสีที่ใช้ได้จากในส่วนของการตั้งค่าเช่นเดียวกัน โดยจะมีโทนสีให้เลือกว่าเป็นสีดำ หรือขาว ที่จะเปลี่ยนบริเวณแถบเมนู และเลือกสีธีมหลักได้จากตารางสีที่ให้มา
ในขณะที่แอปพลิเคชันที่ติดตั้งมาให้ในเครื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นแอปฯทั่วๆไปไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาปลุก เครื่องคิดเลข กล้อง ตัวจัดการไฟล์ วิทยุ เครื่องเล่นเพลง แผนที่ เบราว์เซอร์ รูปภาพ โทรศัพท์ และบริการต่างๆของไมโครซอฟท์ ให้เลือกใช้งาน ไม่นับรวมพวกโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ที่มีให้ดาวน์โหลดมาใช้งานเพิ่มเติม
โหมดใช้งานกล้อง ถือเป็นอีกจุดเด่นของ Lumia ที่ผู้ใช้สามารถใช้นิ้วลากบริเวณปุ่มชัตเตอร์มาทางซ้าย เพื่อเข้าสู่การปรับตั้งค่าสมดุลแสง ระยะโฟกัส ปรับ ISO และความเร็วชัตเตอร์ได้ ถือเป็นความสะดวกของผู้ที่ชื่นชอบใช้กล้องแบบมืออาชีพ แต่ถ้าไม่ต้องการก็สามารถใช้การถ่ายภาพโหมดอัตโนมัติในการถ่ายภาพได้ปกติ โดยจะมีให้ตั้งแค่ว่าจะใช้แฟลข หรือเปิดโหมด HDR หรือไม่
นอกจากนี้ Lumia ยังมีการปล่อยให้ลูกค้าดาวน์โหลด Lens เพิ่มเติม (โหมดถ่ายภาพพิเศษ) ได้จากในสโตร์ เพื่อให้สามารถใช้งานโหมดกล้องได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นการตั้งเวลาถ่ายภาพ โหมดถ่ายภาพเซลฟี่ ถ่ายภาพแบบ 360 องศา ให้เลือกดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้
การนำทางใน Lumia 650 ยังถือเป็นอีกจุดเด่นที่ขาดไม่ได้ เพราะผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแผนที่มาเก็บไว้ภายในเครื่องล่วงหน้า ทำให้เวลาเดินทางไปต่างประเทศ หรือต่างจังหวัดก็ยังสามารถเปิดใช้ระบบนำทางได้ แม้ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เพียงแต่ว่าถ้ามีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็จะได้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นอย่างร้านอาหารต่างๆ หรือข้อมูลที่มีการอัปเดต
โหมดการใช้งานโทรศัพท์ ยังคงเน้นที่ความง่ายในการใช้งานเป็นหลัก ด้วยการมีแป้นปุ่มกดตัวเลขให้สามารถใช้ระบบคาดเดารายชื่อจากในเครื่องได้ ขณะที่น่าจอการสนทนาก็จะมีบอกระยะเวลาที่คุยสาย พร้อมปุ่มกดพักสาย เพิ่มสาย ปิดเสียง เปิดลำโพง หรือสลับเป็นการใช้สไกป์วิดีโอได้ กรณีสายเรียกเข้าสามารถกดเลือกได้ว่าจะรับสาย ตัดสาย หรือส่งข้อความกลับ
ส่วนการที่แอปในวินโดวส์สโตรยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักทาง Lumia ก็มีการรวบรวมแอปพลิเคชันที่น่าสนใจมาไว้ภายใน Lumia Highlight ที่จะคอยแนะนำแอปพลิเคชันที่น่าสนใจ และผู้ใช้สามารถกดต่อเพื่อเข้าไปดาวน์โหลดในสโตร์ได้ทันที
ทดสอบประสิทธิภาพ
ในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพ ทีมงานทดสอบด้วยการใช้แอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง AnTuTu ที่ภายในระบบปฏิบัติการวินโดวส์ จะมีให้เลือก 2 เวอร์ชัน คือ AnTuTu Benchmark v6.0.5 UWP Beta5 ได้ 31,646 คะแนน และ AnTuTu Benchmark v0.8.0 beta สามารถทำคะแนนรวมได้ราว 12,608 คะแนน ซึ่งต่ำกว่า Lumia 950XL อย่างเห็นได้ชัด
ส่วนในแง่ของระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรี ด้วยการที่ให้แบตมาขนาด 2,400 mAh ทดลองใช้งานทั่วๆไป มีการซิงค์อีเมล ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กตามปกติ แต่ไม่ได้ใช้งานเล่นเกม หรือฟังเพลงหนักๆ สามารถใช้ต่อเนื่องได้สบายๆใน 1 วัน ไม่มีปัญหาแบตหมดระหว่างวันแต่อย่างใด
สรุป
ด้วยราคาเปิดตัวที่ 7,190 บาท ของ Lumia 650 ทำให้กลายเป็นวินโดวส์โฟนระดับราคาเอื้อมถึงได้สำหรับคนทั่วไปที่รองรับการใช้งาน 4G พร้อมกับฟังก์ชันหลักของแพลตฟอร์มวินโดวส์อย่างไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ดังนั้น ถ้าเป็นผู้ใช้งานที่เน้นนำมาใช้งานเป็นหลักกับไฟล์เอกสาร ก็ถือเป็นรุ่นที่น่าสนใจ แต่ถ้าจะเน้นมาใช้งานโซเชียลมีเดีย หรือเพื่อความบันเทิงอย่างเล่นเกม ในวินโดวส์อาจจะยังไม่รองรับอย่างเต็มที่