ที่ผ่านมา Microsoft Surface ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของ Windows 10 ที่ทำงานร่วมกับโน้ตบุ๊กทั้งแบบางเบา และ 2-1 ได้เป็นอย่างดี จนทำให้ผู้ที่ชื่นชอบการใช้งาน Windows มีทางเลือกใช้งานคอมพิวเตอร์พกพามากขึ้น
โดยล่าสุด ไมโครซอฟท์ ได้อัปเกรดไลน์ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Surface ทั้งในส่วนของ Surface Pro และ Surface Laptop ด้วยการนำซีพียูรุ่นใหม่ของ Intel และ AMD มาใช้งานทำให้เครื่องมีประสิทธิภาพสูงขึ้น พร้อมกับปรับปรุงตัวเครื่องให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ในส่วนของ Surface Laptop 3 ซึ่งมาในรูปลักษณ์ของโน้ตบุ๊กแบบฝาพับก็มีตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นระหว่างจอ 13.5 นิ้ว และ 15 นิ้ว มาให้ตัดสินใจเลือกใช้งานกัน โดยที่พิเศษก็คือในรุ่น 15 นิ้ว จะใช้หน่วยประมวลผลของ AMD Ryzen ด้วย ส่วนรุ่นจอ 13 จะเลือกได้ระหว่าง Core i5 – Core i7
จุดเด่นหลักของ Surface Laptop 3 คือเรื่องของดีไซน์ที่มีความหรูหรา พกพาง่าย และแบตเตอรีใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น หน้าจอรองรับระบบสัมผัส ทำให้สามารถใช้งานคู่กับ Surface Pen ในการทำงานได้ และที่สำคัญคือเพิ่มพอร์ต USB-C มาให้จากที่รุ่นก่อนไม่มี
พัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้น
รูปลักษณ์ของ Surface Laptop 3 จริงๆ แล้วแทบไม่ได้แตกต่างจาก Laptop 2 มากนัก จะเรียกว่าเป็นไมเนอร์เชนจ์ก็ไม่แปลก เพราะสิ่งที่เพิ่มเข้ามาจากรุ่นเดิมหลักๆ แล้วมีแค่พอร์ต USB-C ที่เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เพราะปัจจุบันสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์พกพาส่วนใหญ่หันมาใช้พอร์ต USB-C ในการเชื่อมต่อกันหมดแล้ว
การเพิ่มพอร์ต USB-C เข้ามาจึงช่วยให้ Surface Laptop 2 เดิมที่ทำงานได้ดีอยู่แล้ว สมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าถ้าใครที่ใช้งาน Laptop 2 อยู่ก็แทบไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนมาเป็น Laptop 3 นอกจากจะเปลี่ยนขนาดไปใช้รุ่น 15 นิ้ว แทน
ดีไซน์ของ Surface Laptop 3 ยังคงเน้นความเรียบง่ายมีให้เลือกด้วยกัน 2 สี คือเงิน และดำ โดยจะมีสัญลักษณ์ของ Surface อยู่ตรงกึ่งกลางเท่านั้น เมื่อเปิดฝาขึ้นมาก็จะเจอกับหน้าจอขนาด 13.5 นิ้ว ความละเอียด 2256 x 1504 พิกเซล มีกล้องหน้าความละเอียด HD อยู่ด้านบน ซึ่งทำงานร่วมกับ Windows Hello ที่ใช้ใบหน้าในการปลดล็อกตัวเครื่อง
อย่างไรก็ตามขอบจอ (Bezel) ของ Laptop 3 ยังถือว่าค่อนข้างหนาอยู่ เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กหลายๆ รุ่นในระดับราคาใกล้เคียงกัน โดยขนาดตัวเครื่องของ Laptop 3 จะอยู่ที่ 308 x 223 x 14.5 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1.2 กิโลกรัม
ในส่วนของคีย์บอร์ด ถือว่าเป็นหนึ่งในจุดเด่นของ Surface Laptop 3 เลยก็ว่าได้ เพราะให้สัมผัสในการพิมพ์ที่ลื่นไหล เหมาะกับการพิมพ์มากๆ เช่นเดียวกับแทร็กแพด ที่ทำให้ลืมภาพแทร็กแพดช้าๆ ในโน้ตบุ๊ก Windows หลายๆ รุ่นไปได้เลย
ด้านหลังเครื่องก็ยังคงความเรียบง่ายอยู่เช่นเดิม โดยจะมีการสกรีน Microsoft และเครื่องหมายรับรองต่างๆ ประกอบกับช่องระบายอากาศหลังเครื่อง ที่เวลาเปิดหน้าจอขึ้นมาจะเป็นการเปิดช่องระบายอากาศไปในตัว
สำหรับพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ จะอยู่ทางซ้ายของเครื่อง คือพอร์ต USB 3.0 USB-C และพอร์ตหูฟัง 3.5 มม. ส่วนทางขวาเป็น Surface Connect ที่เป็นช่องสำหรับเสียบสายชาร์จสำหรับ Surface โดยเฉพาะ ที่ตัวอะเดปเตอร์ยังสามารถเชื่อมต่อสาย USB-A ได้เช่นเดิม
อุปกรณ์เสริมของ Surface Laptop 3 ที่น่าสนใจก็คือ Surface Pen (3,900 บาท) ที่สามาารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบของ Windows 10 ได้อย่างสมบูรณ์ กรณีที่ต้องใช้ปากกาในการวาด หรือคอมเมนต์งานก็จะช่วยให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น
หรือถ้าไม่ได้ใช้ปากกา Surface Arc Mouse (2,600 บาท) หรือเมาส์บลูทูธ ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใช้ กรณีที่ต้องการควบคุมเมาส์ใช้งานนานๆ ซึ่งสะดวกกว่าการใช้งานแทร็กแพดควบคุมแน่ๆ และยังมีขนาดเล็กพับให้แบนเพื่อเก็บได้ด้วย
สเปกของ Surface Laptop 3
ในการวางจำหน่าย Surface Laptop 3 ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยได้นำเข้ามาทำตลาดด้วยกันทั้งหมด 2 รุ่นหลัก คือรุ่นจอ 13.5 นิ้ว ที่มากับซีพียู Intel Core i5 RAM 8 GB SSD 128 GB ในราคา 34,990 บาท ตามด้วย รุ่น SSD 256 GB ราคา 44,990 บาท และ รุ่น Core i7 RAM 16 GB SSD 256 GB ที่ราคา 52,990 บาท ส่วนรุ่นจอ 15 นิ้ว จะมากับซีพียู AMD Ryzen 5 RAM 8 GB ราคา 256 GB ในราคา 49,990 บาท
ทั้งนี้ รุ่นที่ได้มาทดสอบเป็นรุ่น Surface Laptop 3 ที่มากับ Intel Core i7-1065G7 ซึ่งมากับการ์ดจอ Intel Iris Plus และมีจุดเด่นที่เหนือกว่ารุ่น 15 นิ้ว AMD คือรองรับ Wi-Fi 6 ที่เป็นมาตรฐาน 802.11ax ใหม่ด้วย ส่วนบลูทูธที่ให้มาก็เป็น 5.0
ฟีเจอร์ที่มากับ Surface
ด้วยการที่ Surface Laptop มาในลักษณะของการเป็นโน้ตบุ๊ก พร้อมจอสัมผัส ที่รองรับ Surface Pen ทำให้เมื่อเชื่อมต่อกับปากกา ก็สามารถแปลงตัวเครื่องให้กลายเป็นหน้าจอสำหรับวาดเขียนได้ทันที ในจุดนี้จะเหมาะกับผู้ที่นิยมใช้ปากกาในการคอมเมนต์งาน หรือช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น
แน่นอนว่า ตัว Surface มาพร้อมกับ Windows 10 ลิขสิทธิ์ของทางไมโครซอฟท์อยู่แล้ว ดังนั้นฟีเจอร์การใช้งานต่างๆ ที่มากับ Windows 10 จึงสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องทั้งหมด และรองรับการอัปเดตเวอร์ชันใหม่ๆ ในอนาคตด้วย
หนึ่งในฟีเจอร์ที่ชอบแล้วได้ใช้งานจริงๆ คือ Mobile Hotspot ที่จากเดิมคอมพิวเตอร์ทั่วไปจะสามารถรับสัญญาณจาก LAN มาปล่อยเป็น Wi-Fi ให้เครื่องอื่นใช้งานได้ แต่ด้วยความสามารถของ Surface Laptop 3 ที่รองรับ Wi-Fi 6 ทำให้ตัวเครื่องสามารถรับสัญญาณ Wi-Fi มาแล้วปล่อย Wi-Fi ให้อุปกรณ์อื่นใช้งานได้ด้วย
แต่แน่นอนว่าก็มีข้อจำกัด เพราะต้องเลือกว่าจะแชร์ Wi-Fi ผ่านคลื่น 2.4 GHz หรือ 5 GHz ทำให้ ความเร็วที่ได้ก็จะตามสัญญาณที่แชร์ ซึ่งลักษณะในการใช้งานที่แนะนำคือ กรณีที่เดินทางไปพักในโรงแรม หรือทำงานในสถานที่ใด ที่สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi ได้เพียงบัญชีเดียว ก็สามารถใช้ Surface จับสัญญาณแล้วปล่อยให้สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์อื่นใช้เน็ตได้ด้วย
รุ่นไหนที่ควรเลือก
ด้วยการที่กลุ่มเป้าหมายของ Surface นั้นไม่ได้อยู่ในกลุ่มคอนซูเมอร์ทั่วไป แต่เป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางบนที่มีกำลังซื้อ และต้องการเลือกซื้อสินค้าที่ดีที่สุดมาใช้งาน ดังนั้นผลิตภัณฑ์ของ Surface จึงถือว่าออกมาจับกลุ่มลูกค้าในระดับพรีเมียมเป็นหลัก
เพราะด้วยระดับราคาเริ่มต้นของ Surface Laptop ซึ่งอยู่ที่ 34,990 บาท แต่ได้พื้นที่เก็บข้อมูลแค่ 128 GB ซึ่งไม่เพียงพอกับการใช้งานในระยะยาวแน่ๆ ดังนั้นรุ่นที่ควรเลือกซื้อจึงกลายเป็นรุ่นกลางที่เป็น Core i5 + SSD 256 GB ในราคา 44,990 บาท ที่จะเพียงพอกับการใช้งานทั่วไป
ส่วนถ้าเป็นผู้ใช้ในกลุ่มมืออาชีพ ที่ต้องการหน่วยประมวลผลแรงๆ ซึ่ง Core i5 ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ราคาก็จะพุ่งขึ้นไปเป็น 52,990 บาท สำหรับรุ่น Core i7 + SSD 256 GB จะเห็นได้ว่าราคาอยู่ในระดับบนของโน้ตบุ๊กในตลาดก็ว่าได้
แน่นอนว่าคำถามที่ตามมาคือราคาขนาดนี้หันไปเลือกใช้ MacBook Pro เลยดีกว่ามั้ย ถ้าไม่ได้ติดกับการทำงานบน Windows 10 การเลือกใช้ MacBook ที่มี macOS ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ถ้าต้องใช้งาน Windows 10 สุดท้ายก็ต้องจบที่ Surface อยู่ดี
สรุป
Microsoft Surface Laptop 3 จะเหมาะกับผู้ที่ต้องการเครื่องประสิทธิภาพปานกลาง ดีไซน์เรียบหรู ซึ่งด้วยการที่ออกแบบมาได้ดีทำให้กลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ด้วยระดับราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสเปกใกล้เคียงกัน ก็อาจจะทำให้ตัดสินใจได้ยากขึ้นเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม Surface Laptop 3 ไม่เหมาะกับการนำไปใช้ทำงานหนักๆ เพราะตัวเครื่องไม่ได้มีกราฟิกการ์ดแยกมาให้ จึงเหมาะกับใช้งานทั่วๆ ไปมากกว่า ไม่ถึงขั้นเป็นเวิร์กสเตชันเคลื่อนที่ ประกอบกับพอร์ตเชื่อมต่อที่ให้มาแค่ USB 3.0 และ USB-C เท่านั้น ถือว่าค่อนข้างจำกัด