ถือว่าเป็นต้นแบบที่ทำตลาดต่อเนื่องมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้วสำหรับผลิตภัณฑ์ในตระกูล Surface ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการที่เป็นอุปกรณ์ที่นำเสนอการใช้งานแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ อย่างระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ให้ใช้งานได้สมบูรณ์แบบมากที่สุด เพียงแค่ว่าก็มากับราคาที่สูงพอสมควรเช่นเดียวกัน
Surface Pro 4 มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นมาจาก Surface 3 หลักๆเลยคือในส่วนของซีพียูที่ใช้งานภายในเป็น Intel 6th Gen และมีให้เลือกหลากหลายรุ่นมากขึ้นตั้งแต่ Core M3 จนถึง Core i7 ถัดมาคือส่วนของหน้าจอที่เพิ่มความละเอียดมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับกล้อง ส่วนที่เหลือก็จะใกล้เคียงกับรุ่นก่อนหน้า
การออกแบบ
ในส่วนของการออกแบบ ยังคงเป็นรูปลักษณ์เดิมคือเป็นแท็บเล็ตขนาดหน้าจอ 12 นิ้ว ที่ผู้ใช้สามารถกาง Kick Stand ออกมาเพื่อวางตั้งไว้บนพื้นเรียบได้ โดยขนาดรอบตัวของ Surface Pro 4 จะอยู่ที่ 292.1 x 201.42 x 8.45 มิลลิเมตร น้ำหนัก 786 กรัม เมื่อรวมกับคีย์บอร์ดแล้วจะอยู่ที่เกือบๆ 1.1 กิโลกรัม
สำหรับหน้าจอที่ให้มามีขนาด 12 นิ้ว ความละเอียด 2736 x 1824 พิกเซล เป็นอัตราส่วน 3:2 รองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน โดยมีกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล อยู่ส่วนบน ใกล้ๆกันก็จะมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสง ระบบสแกนใบหน้า และมีแถบลำโพงซ่อนอยู่ตรงขอบฝั่งซ้าย และขวา
ขณะเดียวกันได้มีการปรับการวางปุ่มให้สะดวกกับการใช้งานมากยิ่งขึ้นด้วยการนำปุ่มเปิดเครื่อง และปรับระดับเสียงไปอยู่ไว้ด้านบน เพื่อให้ด้านซ้ายโล่ง กลายเป็นที่เก็บปากกา ด้วยแม่เหล็กแทน ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าในการใช้งาน Surface Pen แล้วจะไม่มีที่เก็บปากกา เพราะ Surface Pro 4 ถูกออกแบบมาเฉพาะ
ถัดมาคือในส่วนของพอรตการใช้งานที่ยังคงเก็บพอร์ตหลักๆอย่าง USB 3.0 และพอร์ต Thunderbolt ไว้ให้ใช้งาน พร้อมกับช่องเสียบสายชาร์จที่เป็นแบบแม่เหล็ก ในฝั่งขวา ส่วนฝั่งซ้าย จะมีเพียงช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ล่างเครื่องจะมีพอร์ต และแม่เหล็กเฉพาะสำหรับคีย์บอร์ดแบบ Type Cover ที่มีการยึดแน่นหนาขึ้น ไม่หลุดง่ายเหมือนรุ่นก่อนๆ
หลังเครื่องจะมีสัญลักษณ์วินโดวส์สีเงิน ติดอยู่บริเวณ Kick Stand โดยมีกล้องหลักความละเอียด 8 ล้านพิกเซลอยู่ ส่วนตัว Kick Stand จะสามารถกางได้ 150 องศา เพื่อรับกับมุมในการใช้งานที่แตกต่างกันอยู่ผู้ใช้ ซึ่งจะมีตัวยึดเป็นข้อต่ออยู่ทั้งฝั่งซ้าย และขวา นอกจากนี้ ยังซ่อนช่องไมโครเอสดีการ์ดไว้เพื่อใส่เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มด้วย
นอกจากตัวเครื่องแล้ว ภายในกล่องก็จะมาพร้อมกับปากกา Surface Pen มาให้ด้วย 1 แท่ง สีเงิน มีปุ่มกดที่บริเวณกลางปากกา และปลายปากกา แต่ความสามารถของ Surface Pen รุ่นใหม่นี้ นอกจากรองรับแรงกดเพิ่มขึ้นเป็น 1024 ระดับแล้ว ตรงหัวปากกายังสามารถเปลี่ยนขนาดได้ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน มีให้เลือกทั้ง 2B H HB และ B ในราคา 690 บาท
ขณะที่ Surface Pro 4 Type Cover นั้นไม่ได้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะยังคงเป็นคีย์บอร์ดลักษณะเดิม ที่ผู้ใช้สามารถพิมพ์งานได้เสมือนคีย์บอร์ดจริง มีไฟแอลอีดีภายในเพื่อส่องสว่างกรณีที่ใช้งานในเวลากลางคืน รวมถึงทัชแพดที่รองรับการสั่งงานแบบมัลติทัชมากยิ่งขึ้น ขนาดของ Type Cover จะอยู่ที่ 295 x 217 x 4.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 310 กรัม
สเปก
สำหรับสเปกภายในของ Surface Pro 4 จะมากับหน่วยประมวลผล Intel 6th Gen Core m3 – Core i7 RAM 4 – 16 GB โดยรุ่นที่ได้มาทดสอบคือรุ่น Core i5 RAM 4 GB พื้นที่เก็บข้อมูล SSD 256 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10
ด้านการเชื่อมต่อจะรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac บลูทูธ 4.0 โดยจะไม่มีรุ่นที่รองรับการใส่ซิมการ์ดเข้ามา เนื่องจากไมโครซอฟท์มองว่าปัจจุบันการให้บริการไวไฟสาธารณะมีมากขึ้น ประกอบกับสมาร์ทโฟนก็สามารถปล่อยสัญญาณมาให้ใช้งานได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ คำแนะนำของไมโครซอฟท์ในการเลือกใช้งาน Surface Pro 4 ระหว่างรุ่น Core m3 Core i5 และ Core i7 คือ Core m3 จะเหมาะกับการใช้งานซอฟต์แวร์บนโน้ตบุ๊กทั่วไป เน้นการสตรีมเพลง วิดีโอต่างๆเป็นหลัก Core i5 จะเหมาะกับกาใช้งาน Microsoft Office เล่นเกม รวมถึงการแต่งภาพบนโปรแกรมอย่าง Photoshop
ขณะที่รุ่น Core i7 จะเหมาะกับผู้ที่ใช้ในการตัดต่อวิดีโอระดับ HD ทำงานแต่งรูปบน Photoshop ใช้งานแอประดับมืออาชีพอย่าง Visual Studio หรือ AutoCAD ในการสร้างโมเดล 3มิติ ดังนั้น ในการเลือกซื้อก็ควรจะเลือกให้เหมาะกับรูปแบบการใช้งานด้วย
ฟีเจอร์เด่น
จุดเด่นหลักที่ไมโครซอฟท์ พยายามชูขึ้นมานอกเหนือจากเรื่องของสเปกที่มีการพัฒนา และให้เลือกหลากหลายมากขึ้นแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของการใช้งานตัวเครื่องที่ออกแบบมาใหม่ให้สามารถติดปากกาไว้ที่ข้างเครื่องเพื่อป้องกันการที่ไม่มีที่เก็บปากกา
ขณะที่ความสามารถของ Surface Pen กดปุ่มบนสุดปากกาค้างไว้เพื่อเรียกใช้งาน Cortana หรือระบบผู้ช่วยอัจฉริยะในการค้นหาข้อมูล หรือสั่งงานอย่างง่าย กดปุ่ม 1 ครั้ง สำหรับเรียกใช้งานโปรแกรม OneNote ในการจดข้อมูลแบบเร่งด่วน และกด 2 ครั้ง เพื่อจับภาพหน้าจอ และเขียนลงไปได้ทันที
ที่สำคัญคือ กรณีที่ต้องการหัวปากกาที่ให้ลายเส้นหลายขนาด ทางไมโครซอฟท์ ก็ได้มีการขายเป็นชุดหัวปากกาเสริม มีให้เลือกตั้งแต่หัว 2H H HB และ B ให้เปลี่ยนกัน ทั้งนี้หัวปากกาที่แถมมาให้กับ Surface Pen จะเป็นหัวแบบ HB อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับแอปพลิเคชันที่ใช้งานด้วยว่ารองรับการทำงานร่วมกับแรงกดของปากกาถึง 1024 ระดับหรือไม่
นอกจากนี้ ก็จะมีระบบปลดล็อกหน้าจอด้วยใบหน้า Face Recognize ถือเป็นอีกระบบรักษาความปลอดภัยที่ไมโครซอฟท์คิดค้นขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีร่วมกับทางอินเทล และติดตั้งมาบนวินโดวส์ 10 เมื่อนำมาใช้งานร่วมกับ Surface Pro 4 ก็จะได้ความสามารถในการปลดล็อกเครื่องด้วยใบหน้า รวมถึงการใช้ใบหน้าแทนการป้อนรหัสผู้ใช้ (Admin) ในขั้นตอนการลงโปรแกรมเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียหลักของระบบปลดล็อกด้วยใบหน้าคือ กรณีที่ปิดเครื่องด้วยโหมด Sleep ไว้ และปรากฏเครื่องเปิดขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ ตัวระบบปลดล็อกด้วยใบหน้าก็จะพยายามค้นหาใบหน้าเพื่อมาปลดล็อกเครื่องไปเรื่อยๆ อาการเหมือนตัวเครื่องกลับมาทำงานแต่ไม่สามารถปลดล็อกเครื่องได้ ความร้อนจากการประมวลผลก็จะสะสมไปเรื่อยๆ ทำให้พัดลมเครื่องทำงานจนท้ายที่สุดคือแบตเตอรีหมด แม้ว่าจะตั้งเวลา Sleep เครื่องไว้ก็ตาม
ในจุดนี้ ทางไมโครซอฟท์ ออกมายอมรับถึงข้อผิลพลาดดังกล่าวแล้วว่า ระบบ Sleep ของเครื่องวินโดวส์ 10 ไม่หลับลึกเท่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงได้เตรียมการจะอัปเดตวินโดวส์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้ต้องรอดูว่าหลังจากมีการอัปเดตแล้วปัญหาดังกล่าวจะหายไปหรือไม่
ที่เหลือความสามารถของ Sufface Pro 4 ก็คล้ายคลึงกับการใช้งานของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ที่มีการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก ในแง่ของการใช้งานระหว่างเป็นแท็บเล็ต และเป็นพีซี หน้าจอแสดงผลก็จะแตกต่างกัน โดยผู้ใช้สามารถเข้าไปกดสลับการทำงานได้
ส่วนของ Type Cover ที่ขายแยกในราคา 5,190 บาท ก็จะมีความในแง่ของการวางระดับในการใช้งาน ว่าจะให้ตัวคีย์บอร์ดราบไปกับพื้น หรือติดขึ้นมาบนหน้าจอเล็กน้อย เพื่อให้แป้นเอียงรับองศากับการพิมพ์ นอกจากนี้ กรณีที่ใช้งานเป็นแท็บเล็ตยังสามารถสลับด้านในการติดกับจอเพื่อให้ปุ่มแนบเข้าไปกับหลังเครื่องได้ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ที่สำคัญยังมาพร้อมกับไฟส่องสว่างให้สามารถใช้งานได้ในเวลากลางคืน
ที่ไมโครซอฟท์ใส่ใจอีกจุดในการผลิตสินค้าออกมาคือ อะเดปเตอร์ ที่นอกจากจะมีขนาดเล็ก และใช้สายชาร์จปกติแล้ว ยังมีพอร์ตยูเอสบีให้ 1 ช่องสำหรับใช้ในการชาร์จอุปกรณ์เสริมอื่นๆเพิ่มไป ทำให้ไม่ต้องกังวลในกรณีที่มีปลั้กไม่เพียงพอในการใช้งาน
ทดสอบประสิทธิภาพ
เมื่อทดสอบประสิทธิภาพของ Surface Pro 4 ผ่านโปรแกรมทดสอบยอดนิยมอย่าง PC Mark 8 ผลที่ได้ในส่วนของ Cretive Conventional จะอยู่ที่ 2,448 คะแนน ส่วนแบบทดสอบอื่นๆ ต้องรอการอัปเดตเพิ่มเติมให้รองรับการทำงานบนวินโดวส์ 10 ของทาง FutureMark ก่อน
ถัดมาในส่วนของ 3D Mark ทดสอบผ่านทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น Fire Strike Ultra ได้ 191 คะแนน Fire Strike Extreme 361 คะแนน Fire Strike 770 คะแนน Sky Diver 3,437 คะแนน Cloud Gate 5,654 คะแนน Ice Storm Unlimited 56,017 คะแนน Ice Storm Extreme 35,585 คะแนน และ Ice Storm 48,067 คะแนน
ขณะที่ Geek Bench บนการทดสอบแบบ 32 บิต ได้คะแนน Single Core 2,907 คะแนน และ Multi Core 6,102 คะแนน ส่วน 64 บิต ได้คะแนน Single Core 3,051 คะแนน และ Multi Core 6,102 คะแนน
สรุป
ถ้าถามว่า Surface Pro 4 น่าใช้หรือไม่ ต้องยอมรับว่าเป็นหนึ่งในแท็บเล็ต และพีซี (2in1) รุ่นที่น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆในฝั่งของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ จากการที่ไมโครซอฟท์ทำออกมาให้ผสานการทำงานของวินโดวส์ 10 ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด เพียงแต่ด้วยระดับราคาของ Surface Pro 4 ทำให้ผู้บริโภคหลายรายอาจถอยหนี เพราะกับราคาเริ่มต้นที่ 33,900 บาท ในรุ่น Intel Core M3 ก็ถือว่าแรงเอาเรื่อง
กลับกันด้วยขนาดของตัวเครื่องที่มีขนาดใหญ่ ทำให้เวลาใช้งานจริง Surface Pro 4 จะถูกใช้งานในรูปแบบของโน้ตบุ๊ก อาจจะมีการสัมผัสหน้าจอ หรือใช้ปากกาจดลงบนหน้าจอบ้างเป็นบางเวลา แต่โดยรวมก็ถือว่ามีไว้ดีกว่าไม่มี ดังนั้นถ้าเป็นผู้ที่ต้องการคอมพิวเตอร์แบบเครื่องเดียวจบ ไม่งอกเครื่องที่ 2-3 ต่อไปก็ควรจะหา Surface Pro 4 มาใช้
อย่างไรก็ตาม Surface Pro 4 ยังมีจุดที่ต้องทำการบ้านอีกเล็กน้อยอย่างในเรื่องของแบตเตอรี ที่แม้จะเคลมว่าสามารถใช้งานเล่นวิดีโอได้ต่อเนื่อง 9 ชั่วโมง แต่ในการใช้งานจริง 4-5 ชั่วโมงก็ถือว่าสูงแล้ว รวมถึงปัญหาการ Sleep ที่หลับไม่ลึกพอ ทำให้เครื่องยังมีการทำงานบางช่วงก็ส่งผลกระทบต่อแบตเตอรีเช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกันในเรื่องของการระบายความร้อนถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ เพราะเวลาใช้งานเครื่องหนักๆ ตัวเครื่องมีความร้อนสะสมก็จะทำให้ไม่สามารถใช้นิ้วสัมผัสหน้าจอได้ (ทดสอบจากรุ่น Core i5) และเมื่อมีความร้อนก็ทำให้พัดลมต้องทำงานหนัก ทำให้มีเสียงออกมารบกวนในเวลาใช้งานในที่เงียบๆด้วย