Review : Moto Z บทพิสูจน์ใหม่ในตลาดสมาร์ทโฟน

19588

IMG_6486

หนึ่งในผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนที่มีแนวคิดน่าสนใจในปีนี้คงหนีไม่พ้น Moto Z ที่ถือเป็นการกลับมาลุยตลาดอีกครั้ง ภายใต้ซีรีส์ และแนวคิดใหม่ ภายใต้บริษัทแม้รายใหม่อย่างเลอโนโว ทำให้แนวทางในอนาคตของ Moto เริ่มชัดขึ้น กับการโฟกัสในตลาดกลางบน หรือพรีเมียมแมสมากขึ้น

จุดเด่นหลักของ Moto Z คือการเป็นสมาร์ทโฟนที่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่อพ่วงภายใต้ชื่อ Moto Mods ได้ และจะเป็นแนวคิดหลักในการผลิตสมาร์ทโฟนต่อจากนี้ของ Moto ที่จะมีการต่อยอดออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่รองรับการใช้งาน Mods ออกสู่ตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ตัวสมาร์ทโฟนก็มาพร้อมกับสเปกระดับสูงทั้งหน่วยประมวลผล Snapdragon 820 RAM 4 GB และความบางตัวเครื่อง 5.19 มม. แม้ว่าจะมีการตัดพอร์ตหูฟัง 3.5 มม. ออกไป ทำให้ต้องใช้ตัวแปลงหูฟังจากพอร์ต USB C แทน รองรับการใช้งานแบบ 2 ซิม 4G/3G และหน้าจอแสดงผลระดับ 2K

การออกแบบ

IMG_6451

สิ่งที่ Moto Z นำเสนอได้ดีคือความพรีเมียมของโทรศัพท์ จากงานประกอบที่ดูแน่นหนา ตัวเครื่องทำจากอะลูมิเนียมขัดเงา ผสมกับกระจกคลุมด้านหน้า โดยมีขนาดรอบตัว 75.3 x 155.3 x 5.19 มิลลิเมตร น้ำหนัก 136 กรัม มีให้เลือกสีเดียวคือ สีดำ และสีขาว

IMG_6458

ด้านหน้าพื้นที่หลักจะถูกแบ่งให้จอ AMOLED ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด Quad HD (2560 x 1440 พิกเซล) ความละเอียดเม็ดสี 526 ppi โดยมีช่องลำโพงสนทนาพาดอยู่กึ่งกลางบน พร้อมด้วยกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ไฟแฟลช และเซ็นเซอร์ตรวจจับใบหน้า และเซ็นเซอร์วัดแสง

IMG_6464

ส่วนล่างหน้าจอจะมีสัญลักษณ์ ‘Moto’ อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างจอ และปุ่มเซ็นเซอร์สำหรับสแกนลายนิ้วมือ ที่จะทำงานทันทีเมื่อสัมผัส ทำให้ไม่ต้องไปกดปุ่มเปิด-ปิดเครื่องบ่อยๆ ส่วนจุดใสๆ 2 ข้างก็จะเป็นเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหว และไมโครโฟน 2 จุด ที่มีระบบตัดเสียงภายในตัว

IMG_6450

ด้านหลังเมื่อไม่ได้มีการเชื่อมต่อ Moto Mods ใดๆ จะเห็นถึงตัวเครื่องที่แสดงถึงความเป็นโลหะครอบด้วยกระจก ทำให้จุดนี้เป็นรอยนิ้วมือได้ค่อนข้างง่าย ภายในมีแบตเตอรี 2,600 mAh โดยจะมีกล้องหลักความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อมด้วยไฟแฟลชแบบ Dual LED เพื่อช่วยเกลี่ยแสง ซึ่งถ้างสังเกตว่าบริเวณกล้องจะนูนออกมาจากตัวเครื่องเล็กน้อยทำให้ขีดช่วนค่อนข้างง่าย

IMG_6453

ถัดลงมาส่วนล่างจะเป็นแถบขั้วสำหรับใช้ในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Moto Mods ทั้งหลาย โดยตรงส่วนนี้จะเป็นจุดส่งต่อข้อมูลระหว่าง Mods ที่ปัจจุบันมีทั้ง Mods ที่เป็นแบตเตอรีเสริม ลำโพง โปรเจกเตอร์ กล้อง Hasselblad และฝาหลังให้เลือกใช้งาน โดยเมื่อติดใช้งานตัวเครื่องจะใช้แม่เหล็กในการยึดยิดทำให้ไม่หลุดง่ายๆชณะใช้งาน

IMG_6455

ทั้งนี้ เมื่อสวมฝาหลังที่แถมมาให้ภายในกล่องเข้าไป บริเวณหลังเครื่องก็จะกลายเป็นลายไม้ หรือลายต่างๆตามสีของฝาหลัง และขอบกล้องก็จะไม่นูนขึ้นมาอีกต่อไป ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานว่าจะต้องการเชื่อมต่อกับ Mods อื่นๆ หรือใช้ร่วมกับฝาหลังที่เป็นลายปกติก็ได้

IMG_6461IMG_6460ด้านบนจะมีช่องใส่ใช้เข็มจิ้มซิมนำ ถาดซิมการ์ดออกมา โดยถาดซิมการ์ดจะเป็นแบบไฮบริดจ์คือผู้ใช้สามารถเลือกใส่ใช้งาน 2 นาโนซิมการ์ด หรือผสมระหว่างนาโนซิมการ์ด และไมโครเอสดีการ์ดได้ ด้านล่างจะมีเพียงพอร์ต USB-C เพียงพอร์ตเดียวเท่านั้น

IMG_6463IMG_6462

ด้านซ้ายจะถูกปล่อยโล่งไว้ ด้านขวาเป็นปุ่มเปิด=ปิดเครื่อง และปุ่มปรับระดับเสียง

IMG_6447

เมื่อต้องการเชื่อมต่อกับหูฟังขนาด 3.5 จำเป็นต้องใช้ตัวแปลง USB-C เป็นพอร์ต 3.5 มม. ซึ่งทางโมโต แถมมาให้ภายในกล่อง สามารถนำไปใช้กับหูฟัง 3.5 มม. เดิมที่มี หรือใช้กับหูฟังที่แถมมาได้ทันที

IMG_6445

สำหรับอุปกรณ์ที่แถมมาให้ภายในกล่องประกอบไปด้วย ตัวเครื่อง สายเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (USB-A to USB-C) อะเดปเตอร์พร้อมสายชาร์จ USb-C หูฟัง เข็มจิ้มซิม ฝาหลัง กรอบใส และคู่มือการใช้งาน

สเปก

s18

Moto Z มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 820 ที่เป็นควอดคอร์ 1.8 GHz พร้อมหน่วยกราฟิก Adreno 530 RAM 4 GB พื้นที่เก็บข้อมูล 64 GB รองรับไมโครเอสดีการ์ดสูงสุด 2 TB ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 6.0.1 (Marshmallow)

ด้านการเชื่อมต่อรองรับ 4G LTE บนคลื่น 2100/1800/850 3G ทุกคลื่นความถี่ที่ให้บริการในประเทศไทย ส่วนการเชื่อมต่อ WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac + 5 GHz with MIMO บลูทูธ 4.1 พร้อม NFC GPS GLONASS และอุปกรณ์เสริม Moto Mods ทั้งหลาย

ฟีเจอร์เด่น

s01

การใช้งานของ Moto Z ยังคงความเป็น Pure Android มาเหมือนสมัยที่ Moto ยังอยู่ภายใต้กูเกิลก่อนหน้านี้ โดยถือว่าเป็นข้อดีของสมาร์ทโฟนตระกูล Moto เลยก็ว่าได้ที่มากับความเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะบนแอนดรอยด์ 6.0.1 Marshmallow ที่กูเกิลพัฒนาออกมาได้ลื่นและน่าใช้กว่าเดิม และไม่จำเป็นต้องครอบอินเตอร์เฟสใดๆเพิ่มเติม

การใช้งานหลักๆ ยังคงอยู่ที่การนำวิตเจ็ต หรือ ไอค่อนหลักๆที่ใช้งานมาไว้บนหน้าจอหลัก ที่ขึ้นอยู่กับสไตล์ในการใช้งานของผู้ใช้แต่ละราย ในส่วนของแถบการแจ้งเตือน ที่มาพร้อมกับปุ่มลัดในการตั้งค่าต่างๆก็มาในดีไซน์ที่เป็นมาตรฐาน และคุ้นเคยกันดีกับผู้ที่ใช้งานแอนดรอยด์มาก่อน

ในส่วนของหน้าจอล็อกเครื่อง จะมีความพิเศษขึ้นมาเล็กน้อยจากการที่ตัวเครื่องรองรับการปลดล็อกด้วยลายนิ้วมือ ทำให้เมื่อมีการแตะที่เซ็นเซอร์หน้าจอก็จะขึ้นแสดงผลวัน เวลา และการแจ้งเตือนที่มีอยู่ พร้อมให้ผู้ใช้กดสแกนลายนิ้วมือ หรือจะเลือกเปิดกล้อง และใช้คำสั่งเสียงจากหน้านี้ก็ได้เช่นเดียวกัน

IMG_6476

อีกความสะดวกในการใช้งาน Moto Z คือการที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวมาให้ ส่งผลให้เวลาวางเครื่องไว้ เมื่อนำมือปาดผ่าน ตัวเซ็นเซอร์ก็จะทำงาน หน้าจอก็จะมีการแสดงผลภาพพักหน้าจอ หรือเวลา ขึ้นมาให้ดูในทันที ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ไม่ต้องไปกดปุ่มหรือสัมผัสหน้าจอเพื่อเปิดดูเวลา

s02

และด้วยการที่มากับ Pure Android การที่มี Google Assistant มาช่วยในการแจ้งเตือนข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตารางนัดหมาย การแจ้งเตือนสภาพการจราจร เตือนเมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลของทีมโปรด ช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกมากขึ้น ขณะที่ในหน้าจอ Recent App ผู้ใช้สามารถลากปิดแอปที่ไม่ใช้งาน หรือกดเคลียแอปทั้งหมดทิ้งได้ด้วย

s03

ในการเริ่มต้นการใช้งาน Moto Z จะมีขั้นตอนเริ่มต้นง่ายๆอยู่ 3 ชั้นตอน คือการเรียนรู้การใช้คำสั่งลัด ที่จะมีการลากนิ้วมือจากขอบล่างเพื่อย่อหน้าจอให้เหมาะกับการใช้งานมือเดียว เขย่าเครื่อง 2 ครั้งเพื่อเปิดใช้ไฟฉาย รวมถึง Moto Display หรือการวาดมือผ่านเครื่องที่กล่าวไป

ยังมีระบบการเปิดหน้าจอค้างไว้เมื่อมีการดูหน้าจออยู่ (ใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับดวงตา) การหมุนเครื่อง 2 ครั้ง เพื่อเข้าสู่โหมดกล้องถ่ายรูป การพลิกเครื่องเมื่อมีสายเรียกเข้า ในการเข้าสู่โหมดห้ามรบกวน หรือการยกเครื่องขึ้นเพื่อให้สายเรียกเข้าหยุด

ถัดมาคือการตั้งค่าคำสั่งเสียง ในการเรียกใช้งาน ซึ่งจำเป็นต้องตั้งในห้องที่ไม่มีเสียงรบกวน ทำให้เราใช้คำสั่งอย่าง OK Google เพื่อเรียกใช้งานระบบคำสั่งเสียงได้ทันที สุดท้ายคือการจัดการการแจ้งเตือนบนหน้าจอล็อก ที่สามารถเลือกได้ว่าจะให้แสดงผลแอปพลิเคชันใดบ้าง และแอปใดที่ไม่ควรแสดงผลในหน้าจอนี้เป็นต้น

s04

ในส่วนของแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องจะเป็นแอปพลิเคชันพื้นฐานในการใช้งานสมาร์ทโฟนไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ ข้อความ ปฏิทิน กล้อง อัลบั้มภาพ ตัวจัดการไฟล์ เครื่องเล่นเพลง เครื่องเล่นวิดีโอ รวมถึงกูเกิล เซอร์วิสอื่นๆที่มีมาให้ครบถ้วน จะมีแอปที่เพิ่มมาอย่าง Moto และ Moto Mods ในการเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมเท่านั้น

s05

สำหรับตัวจัดการไฟล์ (File Manager) ที่ให้มา ถือว่าใช้งานได้ค่อนข้างง่าย ผู้ใช้สามารถเลือกดูไฟล์ได้จากประเภทของไฟล์ ดูไฟล์ล่าสุด หรือเลือกดูตามโฟลเดอร์ และยังสามารถเข้าไปดูพื้นที่ใช้งานที่เหลืออยู่ได้อีกด้วย และจากการที่ใช้เป็นพอร์ตแบบ USB-C ผู้ใช้สามารถใช้ตัวแปลงเพื่อเชื่อมต่อแฟลชไดร์ฟ การ์ดรีดเดอร์ รวมถึง External HD ในการเข้าถึงไฟล์ได้ด้วย

s08

โหมดการใช้งานโทรศัพท์จะเน้นความง่ายในการใช้งาน จากอินเตอร์เฟสมาตรฐานของแอนดรอยด์ รองรับระบบการคาดเดารายชื่อจากที่บันทึกไว้ในโทรศัพท์ กรณีที่สายเข้าใช้การลากปุ่มจากกึ่งกลางเพื่อรับสาย ตัดสาย หรือส่งข้อความกลับได้ ส่วนกรณีใช้สายสนทนาจะมีปุ่มลัดอย่างเปิดลำโพง ปิดไมค์ เรียกปุ่มตัวเลข พักสาย เพิ่มสาย และปุ่มวางสายตามปกติ

s06

การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ที่ให้มาจะเป็น Chrome ที่มีกาพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว การแสดงผลบนหน้าจอขนาด 5.5 นิ้ว ถือว่าทำได้ตามมาตรฐาน การที่รองรับการซิงค์ข้อมูลจากบนพีซีมาใช้งานบนสมาร์ทโฟนยิ่งทำให้การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์สะดวก และฉลาดมากขึ้น

s07

คีย์บอร์ดเสมือนที่ให้มาใช้งานเป็นคีย์บอร์ดมาตรฐานของแอนดรอยด์อยู่แล้ว ผู้ใช้สามารถเข้าไปปรับแต่งสีของคีย์บอร์ดได้ การสลับภาษาใช้การกดที่ปุ่มลูกโลกเพื่อสลับไปมาระหว่างภาษาไทยอังกฤษ หรือถ้าต้องการใช้งานอักขระพิเศษ และอีโมติคอน ก็มีให้กดเลือกใช้งานได้ทันที

s13

ในส่วนกล้องของ Moto Z จะมาพร้อมกับความละเอียด 13 ล้านพิกเซล f/1.8 ที่มีเซ็นเซอร์ขนาด 1.12um มาพร้อมระบบกันสั่น OIS อินเตอร์เฟสในการใช้งานจะเน้นความง่าย โดยจะมีปุ่มหลักๆให้เลือกกดเพียงแค่ ตั้งเวลาถ่ายภาพ เปิดปิดแฟลช เปิดปิด โหมด HDR กับปุ่มสลับกล้องหน้าหลัง ปุ่มชัตเตอร์ และเข้าไปดูรูปภาพ

ผู้ใช้สามารถใช้นิ้วลากจากบริเวณขอบเพื่อเลือกโหมดในการถ่ายภาพได้ โดยจะมีให้เลือกตั้งแต่ โหมดถ่ายภาพแบบมืออาชีพ โหมดถ่ายภาพสโลว์โมชัน พาโนราม่า วิดีโอ และโหมดถ่ายภาพปกติ ส่วนของการตั้งค่าก็จะมีง่ายๆแค่เปิดปิดเสียงชัตเตอร์ เปิดระบบใช้งานกล่องด่วน บันทึกพิกัดภาพ เลือกขนาดภาพนิ่ง และวิดีโอ กับตั้งปุ่มชัตเตอร์

s14

สำหรับการใช้งานในโหมดถ่ายภาพแบบมืออาชีพ ผู้ใช้สามารถเลือกตั้งได้ตั้งแต่ระยะโฟกัส ปรับ White Balance ตั้งความเร็วชัตเตอร์ ปรับความไวแสง (ISO) และตั้งค่าชดเชยแสง ซึ่งก็จะเหมาะกับผู้ใช้ที่ต้องการถ่ายภาพตามสภาพแสงจริง ช่วยให้การถ่ายภาพสนุกมากยิ่งขึ้น

ขณะที่กล้องกล้องหน้า จะมากับความละเอียด 5 ล้านพิกเซล f/2.2 โดยมากับเลนส์มุมกว้าง แฟลช ขนาดเม็ดพิกเซล 1.4um ช่วยให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดีขึ้น ขณะที่โหมดถ่ายภาพวิดีโอสามารถบันทึกได้ที่ความละเอียด 4K 30 fps และ FullHD 1080p 60fps

s09

ส่วนของการตั้งค่าต่างๆ จะมากับมาตรฐานของแอนดรอยด์อีกเช่นกัน ด้วยการแบ่งประเภทการตั้งค่าออกเป็น ระบบไร้สายและเครือข่าย อุปกรณ์ ส่วนตัว และตัวเครื่อง ซึ่งจะมีที่แตกต่างจากทั่วไปอย่างตรงส่วนของ ซิมการ์ด เนื่องจากตัวเครื่องรองรับระบบ 2 ซิม และเพิ่มในส่วนของ Moto Mods ในการบริการจัดการอุปกรณ์เชื่อมต่อ Mods ทั้งหลาย

s10

สำหรับในส่วนของหน้าจอที่ Moto เลือกกลับมาใช้จอ AMOLED ก็เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเลือกโหมดสีที่จะแสดงผลได้ว่าจะให้แสดงผลแบบมาตรฐาน หรือแบบเร่งสี เพื่อให้จอดูสวยงามมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการที่ตัวเครื่องมาพร้อมกับ NFC ดังนั้นในการเชื่อมต่อก็สามารถใช้งาน Android Beam ในการส่งข้อมูล หรือใช้สำหรับชำระเงินในอนาคตได้

s11

การใช้งาน 2 ซิม ของ Moto Z เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกซิมการ์ดที่จะใส่สแตนบายสามารถจับเครือข่าย 3G ได้ ดังนั้นจึงไม่เกิดปัญหาเหมือนสมาร์ทโฟน 2 ซิมรุ่นก่อนๆ ที่จะจับสแตนบายบน 2G โดยผู้ใช้สามารถเลือกสลับซิมหลักในการใช้งานได้ตามความต้องการ

s12

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงผลในส่วนของพื้นที่ใช้งานในตัวเครื่อง จะเห็นได้ว่าจะพื้นที่ 64 GB ที่ให้มาจะเป็นพื้นที่ของระบบปฏิบัติการไปประมาณ 10.58 GB อยู่แล้ว เช่นเดียวกับในส่วนของหน่วยความจำ RAM ที่จะมีแสดงว่าใช้งานไปเท่าไหร่เช่นเดียวกัน

Photos Gallery

ทดสอบประสิทธิภาพ

s15

AnTuTu Benchmark = 119,934 คะแนน
Quadrant Standard Edition = 40,088 คะแนน
Multi-Touch = 10 จุด

s16

Vellamo
Multicore = 3,546 คะแนน
Metal = 3,567 คะแนน
Chrome Browser = 5,031 คะแนน
Android WebView = 5,749 คะแนน

Geekbench 3
Single-Core = 2,024 คะแนน
Multi-Core = 5,075 คะแนน

ทดสอบการใช้งานแบตเตอรี จะอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 39 นาที หรือคิดเป็นคะแนนที่ 3,990 คะแนน ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเครื่องในระดับเดียวกัน แต่ในการใช้งานทั่วๆไป แบตเตอรีที่ให้มา 2,600 mAh ก็ถือว่าเพียงพอกับการใช้งานทั่วๆไปในแต่ละวัน นอกจากนี้ตัวเครื่องยังมากับระบบชาร์จเร็วให้ใช้งานด้วย

s17

PCMark
Work 2.0 = 5,370 คะแนน
Computer Vision = 2,976 คะแนน
Storage = 7,479 คะแนน

3DMark
Sling Shot using ES 3.1 = 2,163 คะแนน
Sling Shot using ES 3.0 = 2,811 คะแนน
Ice Storm Unlimited = 24,976 คะแนน
Ice Storm Extreme / Ice Storm = Maxed Out!

PassMark PerformanceTest Mobile
System = 8,216 คะแนน
CPU Tests = 155,636 คะแนน
Disk Tests = 36,662 คะแนน
Memory Tests = 7,347 คะแนน
2D Graphics Test = 4,479 คะแนน
3D Graphics Tests = 2,453 คะแนน

โดยรวมแล้วในแง่ของประสิทธิภาพถือว่า Moto Z สอบผ่านในการใช้งานทั้งการใช้งานทั่วไป และการใช้งานหนักๆอย่างการเล่นเกม ทำได้ลื่นไหล เสียตรงการที่ให้แบตเตอรีมาเพียง 2,600 mAh เมื่อใช้งานหนักๆต่อเนื่องจะอยู่ได้ไม่ถึงวัน แต่ถ้าใช้งานทั่วๆไปต้องยอมรับการการจัดการแบตเตอรีทำได้ค่อนข้างดี

สรุป

สิ่งที่ทำให้ Moto Z น่าสนใจคือเรื่องของการที่ไม่กักสเปกทั้งหน้าจอระดับ 2K หน่วยประมวลผล Snapdragon 820 รองรับ 4G ระบบเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ มีการเคลือบ Nano Coating เพื่อป้องกันละอองน้ำ พร้อมกับพอร์ตการเชื่อมต่ออย่าง USB-C ที่เริ่มมีอุปกรณ์เสริมให้เลือกใช้มากขึ้น

แม้ว่าราคาค่าตัวจะสูงในระดับ 23,900 บาท แต่เมื่อเทียบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำมาใช้งานควบคู่ไปกับ Moto Mods ทั้งกล้องจาก Hasselblad โปรเจกเตอร์ ลำโพงจาก JBL รวมถึงแบตเตอรีเสริม และฝาหลังลวดลายต่างๆ ไม่นับกับที่จะทยอยมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ก็ถือเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ

ข้อดี

– แอนดรอยด์โฟนประสิทธิภาพสูง จอ AMOLED 5.5” ความละเอียด 2K

– รองรับการเชื่อมต่อ 4G LTE / 2 ซิมการ์ด (เลือกใส่ซิมหรือไมโครเอสดีการ์ด)

– ตัวเครื่องแข็งแรง และบาง (กรณีที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับ Mods)

– Moto Mods ที่ทำให้สมาร์ทโฟนมีลูกเล่นมากขึ้น

ข้อสังเกต

– ฝาหลังเป็นรอยนิ้วมือค่อนข้างง่าย

– ตัวเครื่องร้อนง่าย เมื่อใช้งานหนักๆ

– ไม่มีช่องหูฟัง 3.5 มม. ต้องใช้ตัวแปลงจากพอร์ต USB-C (มีมาให้ในกล่อง)

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
9
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
9
ความสามารถโดยรวม
9
ความคุ้มค่า
8.5
SHARE