Review: Nikon D5500 ปรับใหม่เล็กลง ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น

7289

558000002699402

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วนิคอนปรับปรุงไลน์สินค้ากลุ่มดีเอสแอลอาร์ FX Format ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ D750, D810 ที่มาพร้อมหน่วยประมวลผลภาพ EXPEED 4 โปรไฟล์ภาพแบบใหม่ ระบบวัดแสงใหม่ ไปถึงการปรับปรุง D-Movie โหมดถ่ายวิดีโอใหม่เพื่อให้เทียบเคียงกับคู่แข่งได้

การปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญนี้ทำให้กล้องนิคอนยุคใหม่มีเอกลักษณ์ด้านภาพปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น กลุ่มเป้าหมายใหม่เกิดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ชื่นชอบงานวิดีโอ DSLR ที่เริ่มหันมาสนใจนิคอนมากกว่าแต่ก่อน

มาวันนี้นิคอนก็ได้เริ่มปรับไลน์กล้องตระกูลเลขสี่หลักที่ถือเป็นตลาดใหญ่เพราะจับกลุ่มตั้งแต่ระดับเริ่มต้นถึงระดับกลาง (upper-entry-level ราคาอยู่ในช่วง 3 หมื่นบาทเฉพาะบอดี้) เน้นวัยรุ่น คนชอบเที่ยวที่ต้องการกล้อง DSLR ขนาดเล็ก ต้องการฟีเจอร์ถ่ายภาพสำเร็จรูปมากกว่าฟังก์ชันมืออาชีพ เน้นถ่ายสนุก ใช้งานไม่ยุ่งยาก มี WiFi ถ่ายวิดีโอดี กับ “Nikon D5500” ด้วยการปรับเปลี่ยนหลายส่วนจนแทบจะเป็นแฝดพี่น้องกับ D750 รุ่นใหญ่เลยทีเดียว

การออกแบบและสเปก


558000002699404558000002699403

เริ่มจากรูปทรงยังคงความเล็กกระทัดรัดเช่นเดิม การออกแบบตัวเครื่องเป็นแบบ monocoque พร้อมคาร์บอน ไฟเบอร์ ขนาดตัวเครื่องมีการปรับลดจากรุ่น D5300 เหลือความกว้างxสูงxลึก ที่ 124x97x70 มิลลิเมตร น้ำหนักปรับลดจากรุ่นเดิม 480 กรัมเฉพาะตัวกล้องเหลือเพียง 420 กรัม พร้อมปรับส่วนกริปยางจับถือให้กระชับมือขึ้น

ด้านสเปกหน่วยประมวลผลกล้องยังใช้เซ็นเซอร์ CMOS DX-Format (F-mount) ขนาดเซ็นเซอร์ 23.5×15.6 มิลลิเมตรแบบไม่มี low-pass filter (OLPF) รองรับความละเอียดภาพ 24.2 ล้านพิกเซล (6,000×4,000 พิกเซล) ประกบชิป EXPEED 4 เหมือนตัวที่แล้วแต่มีการปรับซอฟต์แวร์ภายในใหม่ให้ทำงานได้ฉลาดขึ้นพร้อมระบบ Active D-Lighting เลือกปรับได้ตั้งแต่อัตโนมัติ สูงพิเศษ สูง ปกติ ต่ำและปิด

558000002699405

ในส่วนระบบออโต้โฟกัสใช้เซ็นเซอร์ Nikon Multi-CAM 4800DX ตัวเดียวกับ D5300 รองรับ AF-Single, AF-Continuous, AF-Auto ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็ว 5fps ความเร็วชัตเตอร์เร็วสุด 1/4,000 วินาที ช้าสุด 30 วินาที จุดโฟกัสเลือกใช้งานได้ 39 จุดและ 11 จุด รองรับระบบตรวจจับโฟกัสอัตโนมัติแบบติดตามวัตถุ ค่าความไวแสง ISO ที่ให้มาเลือกใช้งานได้ตั้งแต่ 100-25,600 เลือกปรับขึ้นลงได้ขั้นละ 1/3EV หรือ 1/2EV

ด้านระบบวัดแสงหลายคนตั้งความหวังว่าจะมีโหมดวัดแสงใหม่อย่าง Highlight-Weighted Metering แบบเดียวกับใน Nikon D750 มาให้เลือกใช้ แต่ความเป็นจริงระบบวัดแสงของ Nikon D5500 ยังเป็นระบบเดิม รวมถึงวิดีโอรองรับความละเอียดสูงสุด 1,920×1,080 พิกเซล 60p พร้อม Manual Movie และระบบปรับชดเชยแสงด้วย ISO Auto

558000002699406558000002699407

มาดูด้านจอแสดงผลภาพของตัวกล้องกันบ้าง เริ่มจากหน้าจอไลฟ์วิวขนาด 3.2 นิ้ว ความละเอียด 1,037K เป็นหน้าจอสัมผัส พร้อมความสามารถในการปรับมุมมองการมองเห็นได้ 170 องศา ครอบคลุมการมองเห็นภาพ 100% (ส่วนวิวไฟเดอร์รองรับการครอบคลุมการมองเห็นภาพประมาณ 95%)

นอกจากนั้นหน้าจอยังรองรับระบบสัมผัสเพื่อจับจุดโฟกัสได้ตามใจต้องด้วย Contrast-AF ปรับปรุงใหม่ อีกทั้งหน้าจอไลฟ์วิวด้านหลังยังใช้สำหรับตั้งค่ากล้องทั้งหมด ดูจำนวนรูปที่ถ่ายภาพ โชว์ภาพพรีวิวด้วยระบบสัมผัสได้ด้วย

558000002699408

ด้านปุ่มและวงล้อเลือกโหมดถ่ายภาพจะมีการปรับการออกแบบใหม่เล็กน้อยโดยยกส่วนวงล้อปรับค่ากล้องขึ้นมาด้านบนพร้อมเปลี่ยนวัสดุเป็นอลูมิเนียม สัมผัสแล้วลื่นไหลและจัดวางตำแหน่งใช้งานได้ถนัดกว่าเดิม ส่วนปุ่มคำสั่งอื่นๆจะมีการเปลี่ยนตำแหน่งใหม่เล็กน้อยไม่ต่างจาก D5300 มากนัก

558000002699409

และอีกจุดเด่นหนึ่งของ Nikon D5500 ก็คือการออกแบบส่วนรับเสียงไมโครโฟนสเตอริโอใหม่ที่นอกจากเล็กลงยังรับเสียงได้ดีขึ้นโดยเฉพาะเสียงเบสที่ทำได้ดีกว่าเดิม

558000002699410558000002699411

มาดูด้านข้างของตัวเครื่อง ด้านซ้ายประกอบด้วยช่องเชื่อมต่อสายลั่นชัตเตอร์ ช่องไมโครโฟนขนาด 3.5 มิลลิเมตร (รองรับไมโครโฟนภายนอกแบบสเตอริโอ) และช่อง USB/AV OUT ส่วนด้านขวาจะเป็นช่อง HDMI และช่องใส่การ์ดความจำรองรับ SD/SDHC/SDXC มาตรฐานความเร็วอ่านเขียนสูงสุดที่รองรับ UHS-I

558000002699412

ในส่วนแบตเตอรีเป็นแบตฯลิเธียมไอออน EN-EL14a แบบเดียวกับ D5300 แต่ถ่ายภาพได้มากขึ้นจากเดิมประมาณ 600 ภาพเพิ่มเป็น 820 ภาพ แต่ทั้งนี้ถ้าเปิดใช้งาน WiFi ตลอดเวลา จำนวนภาพที่ถ่ายได้จะน้อยลงเกือบครึ่ง

และที่สำคัญ Nikon D5500 ตัด GPS ออกไป

ฟีเจอร์เด่น


558000002699413558000002699414

WiFi Built-in ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของกล้องนิคอนยุคใหม่จะมาพร้อมความสามารถในการเชื่อมต่อ Wireless LAN ภายใน โดย Nikon D5500 รองรับ WiFi ตามมาตรฐาน IEEE802.11 b/g สามารถใช้งานร่วมกับสมาร์ทดีไวซ์ผ่านแอปพลิเคชัน “Wireless Mobile Utility” เพื่อใช้ดึงภาพจากตัวกล้องและใช้เป็นรีโมทชัตเตอร์พร้อมไลฟ์วิวจากหน้าจอสมาร์ทดีไวซ์ได้โดยตรง

558000002699415

ระบบแนะนำการตั้งค่าถ่ายภาพ สำหรับมือใหม่ นิคอนได้ใส่ระบบแนะนำการตั้งค่าไว้ให้ที่ปุ่ม ? ด้านล่างของจอไลฟ์วิว โดยตัวระบบจะคอยบอกสภาพแสงว่าควรเปิดหรือปิดแฟลชรวมถึงควรใช้โหมดถ่ายภาพไหนเพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่ดีที่สุด และนอกจากนั้นด้วยระบบหน้าจอสัมผัสจึงทำให้การใช้งานกดคำสั่งตั้งค่าต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้นมาก

558000002699416

Falt Picture Control เป็นโปรไฟล์ภาพที่โด่งดังมาจาก D750 และมีให้เลือกใช้ใน Nikon D5500 ด้วยเช่นกัน

558000002699417

ในส่วนคุณภาพไฟล์ภาพ Nikon D5500 รองรับ RAW File (NEF) 12 และ 14 บิต สามารถถ่ายภาพด้วยรูปแบบไฟล์ JPEG และ RAW+JPEG โดยขนาดไฟล์ RAW อยู่ที่ประมาณ 27-28MB ต่อหนึ่งไฟล์ ไฟล์ JPEG อยู่ที่ 12-13MB เพราะฉะนั้นผู้ใช้ท่านใดต้องการถ่ายไฟล์ RAW+JPEG หรือ RAW อย่างเดียวแนะนำให้ใช้การ์ดความจำ Class 10 หรือ UHS-I จะดีที่สุดครับ

ทดสอบประสิทธิภาพ


558000002699418

สำหรับชุดทดสอบที่ทีมงานได้รับมาได้แก่ Nikon D5500 ประกบเลนส์ระยะ 16-85 มิลลิเมตร f3.5-5.6 VR

ISOTEST-D5500

ยอมรับว่าครั้งแรกที่ได้จับสัมผัส Nikon D5500 รู้สึกว่ากล้องจับถนัดมือ น้ำหนักเบาแต่พอใส่เลนส์ 16-85 เข้าไป โอ่..เลนส์ใหญ่กว่ากล้องจนดึงให้ตัวกล้องหน้าทิ่มตลอดเวลา

จนถึงเวลาเริ่มใช้งานจริง ในครั้งนี้เวลาทดสอบมีไม่มากแค่ 2-3 วันเพราะผม @dorapenguin ติดภารกิจชีวิตส่วนตัวมากมาย อีกทั้งทางนิคอนก็มีคิวส่งมอบกล้องตัวนี้ให้กับสื่ออื่นอีกหลายคิว เวลาจึงค่อนข้างรัดตัวมากจนทำให้ผมต้องรีบไปค้นดูสเปกกล้องจากหลายสื่อรวมถึงรีบเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนหน้าอย่าง D5300 เพื่อหวังจะได้ช่วยรวบรัดการรีวิวให้เร็วยิ่งขึ้น

แต่ยิ่งอ่านสเปกก็ยิ่งเกิดอาการประหลาดใจ และยิ่งประหลาดใจมากขึ้นเมื่อนำสเปก D5500 มาเทียบกับ D5300 เพราะทั้งสองมีสเปกไม่ต่างกันนัก ยกเว้น Picture Control Flat ที่เพิ่มมาให้และรูปทรงที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่แค่แผ่นกระดาษบอกสเปกจะสู้การทดสอบภาคสนามจริงที่ไขข้อสงสัยของผมได้ทันที

เริ่มการทดสอบจากสัญญาณรบกวนในช่วงค่าความไวแสงต่างๆ ดูเผินๆ ไม่แตกต่างจาก D5300 ค่า ISO 100-6,400 ให้ความคมชัดสดใส สัญญาณรบกวนต่ำตามแบบฉบับนิคอนยุคใหม่ แต่พอดัน ISO แตะระดับตั้งแต่ 8,000 จนถึง 51,200 สัญญาณรบกวนที่ได้จะน้อยกว่า D5300 เล็กน้อยเท่านั้น

DSC_0044
DSC_0094

มาลองทดสอบถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยกับการพกพาติดตัวใช้งานจริงแบบไม่ใช้ร่วมกับขาตั้งกล้อง เน้นถือถ่ายแบบไม่ต้องตั้งค่ากล้องมากนัก ผมเลือกใช้โหมด A ปรับ ISO ด้วยตัวเอง ตัวอย่างภาพทั้งสองด้านบนตั้ง ISO 640 และ ISO 8,000 สำหรับภาพสนามบิน ISO 640 ไม่มีสิ่งใดน่าสนใจ กล้องรุ่นใหม่ทุกตัวที่วางขายตอนนี้ก็ให้ภาพที่ไม่ต่างกัน แต่สำหรับภาพแม่ค้าผัดไทด้วย ISO 8,000 กับ D5500 ถือว่าทำได้น่าประทับใจในภาพรวม โทนและสีเหมือนจะอิ่มตัวกว่า D5300 เล็กน้อย ส่วนเรื่องสัญญาณรบกวนก็มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติของกล้องระดับนี้ที่ค่า ISO สูงๆ แต่ก็ไม่น่าเกลียดแต่อย่างใด ไฟล์ภาพ RAW ยังนำไปปรับแต่งต่อยอดได้อีกพอสมควร

DSC_0053
DSC_0055

คราวนี้มาทดสอบ Picture Control ใหม่ในนาม Flat ที่มีให้เห็นตั้งแต่ Nikon D750 ใน D5500 นิคอนใส่มาให้ใช้งานเป็นครั้งแรกอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงความสามารถในการปรับจูน Picture Control ได้ละเอียดขึ้น สองภาพนี้ผมจบหลังกล้องด้วยการประมวลผลไฟล์ RAW ผ่านระบบกล้องทั้งหมด

ผลลัพท์ที่ได้ต้องบอกว่า “นี่คือภาพถ่ายย้อนแสงที่ผมชื่นชอบมากที่สุดตั้งแต่จับกล้องถ่ายภาพมา” ปกติภาพลักษณะนี้ผมต้องจับ RAW เข้าคอมพิวเตอร์แล้วตกแต่งผ่านซอฟต์แวร์ แต่ Flat สามารถทำให้ผมสร้างภาพผ่านกล้องเพียวๆ จนได้ดั่งใจผมมาก การเก็บไดนามิกภาพทำได้น่าประทับใจ ไฟล์ RAW ทรงพลังแบบเดียวกับที่เคยเกิดกับฟูลเฟรมนิคอนยุคใหม่จนแทบจะทลายเส้นแบ่งเรื่องขนาดเซ็นเซอร์ทิ้งได้เลย

DSC_0068

ส่วนภาพนี้ก็ยังลอง Picture Control Flat เหมือนเดิมแต่เปลี่ยนจาก RAW เป็น JPEG และภาพนี้เป็นไฟล์ดิบจากกล้องก็ถือว่ายังให้ผลลัพท์ที่ดี น่าประทับใจอย่างมากถ้าต้องการภาพถ่ายย้อนแสงแบบแปลกใหม่เป็นเอกลักษณ์ที่นิคอนสร้างได้ดีเลยทีเดียว

DSC_0026

ระยะ 85 มิลลิเมตร – f5.6 – 1/250 วินาที – ISO 3,200

DSC_0093

ระยะ 85 มิลลิเมตร – f5.6 – 1/800 วินาที – ISO 640

DSC_0050

ระยะ 85 มิลลิเมตร – f5.6 – 1/320 วินาที – ISO 125

DSC_0061

ระยะ 85 มิลลิเมตร – f5.6 – 1/320 วินาที – ISO 125

DSC_0078

ระยะ 85 มิลลิเมตร – f36 – 1/320 วินาที – ISO 100 leo.

DSC_0074

ระยะ 52 มิลลิเมตร – f6.3 – 1/80 วินาที – ISO 110

DSC_0071

Auto Mode – Picture Control: Vivid

DSC_0067

Auto HDR Mode

DSC_0051

ระยะ 85 มิลลิเมตร – f8 – 1/500 วินาที – ISO 125

DSC_0046

ระยะ 72 มิลลิเมตร – f8 – 1/250 วินาที – ISO 125

DSC_0031

ระยะ 78 มิลลิเมตร – f9 – 1/160 วินาที – ISO 200

จากภาพถ่ายทั้งหมดผมเริ่มคลายข้อสงสัยหาความแตกต่างระหว่าง Nikon D5300 กับ D5500 และได้ข้อสรุปว่า “ไม่แตกต่างชัดเจนนัก” โดยการถ่ายภาพทั่วไปทั้ง D5300 กับ D5500 ให้คุณภาพไฟล์คล้ายกันมาก จะแตกต่างก็คงต้องมาพิสูจน์แบบจุดต่อจุดถึงจะเห็นว่า D5500 คุณภาพไฟล์ดีและเนียนกว่าเล็กน้อย

ส่วนเรื่องฟีเจอร์และการออกแบบ ส่วนนี้แหละครับคือข้อแตกต่างที่จะสามารถดึงดูดผู้คนให้หันมาสนใจ D5500 เริ่มจากส่วนแรกการออกแบบที่มีการปรับลดน้ำหนักลงเล็กน้อยพร้อมออกแบบให้ตัวเครื่องจับกระชับมือขึ้น พกพาท่องเที่ยวสะดวกสบายขึ้น ส่วนที่สองระบบหน้าจอสัมผัสครั้งแรกในตระกูล ใช้งานได้ลื่นไหลมาก การจับโฟกัสผ่านไลฟ์วิวด้วยการสัมผัสทำได้นุ่มนวล รวดเร็ว การโฟกัสแบบตรวจจับวัตถุด้วยการจิ้มลงไปที่หน้าจอทำให้ชีวิตนักถ่ายภาพสะดวกสบายมากขึ้น

DSC_0086

ส่วนที่สาม Killer Feature คือ Picture Control Flat ที่ให้ผลลัพท์ที่ดีและช่วยรีดพลังของกล้องออกมาได้ยอดเยี่ยมมากทั้งการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ รวมถึงการปรับแต่ง Picture Control ที่ทำได้ค่อนข้างละเอียดคล้ายการปรับแต่งใน Nikon D750

และสุดท้ายสำหรับงานถ่ายวิดีโอกับความรวดเร็วในการปรับสภาพแสง ผมรู้สึกว่าการปรับเพิ่มลด ISO และ Manual Movie ทำได้ดีและนุ่มนวลขึ้นมาก ไฟล์วิดีโอคมและสีสันเนียนตาขึ้น เสียอย่างเดียวระบบออโต้โฟกัสในโหมดวิดีโอยังไม่ฉลาดเท่าคู่แข่ง

สำหรับราคาค่าตัวเฉพาะบอดี้ Nikon D5500 อยู่ที่ 27,900 บาท ถ้าเป็นชุดมาพร้อมคิทเลนส์ AF-S DX NIKKOR 18-55mm f/3.5-5.6G VR II อยู่ที่ 30,900 บาทหรืออีกชุดมาพร้อมคิทเลนส์ AF-S DX NIKKOR 18-140mm f/3.5-5.6G ED VR จะอยู่ที่ 35,900 บาท ก็ขอสรุปทิ้งท้ายตรงนี้แบบตรงไปตรงมาคือ Nikon D5500 ก็เปรียบเหมือนรถยนต์รุ่นไมเนอร์เชนจ์ที่ปรับฟีเจอร์หน้าตาบางส่วนใหม่แต่ขุมพลังยังคงเดิม ลูกค้า Nikon D5300 เดิมถ้ายังพอใจในคุณภาพกล้องตัวนี้อยู่ ผมมองว่าการปรับเปลี่ยนไปใช้ D5500 ดูจะไม่คุ้มค่าเท่าใด เพราะสิ่งที่คุณจะได้แบบสัมผัสได้จริงๆก็มีเพียงโปรไฟล์ภาพ Flat ใหม่กับหน้าจอสัมผัสแบบลื่นไหลเหมือนสมาร์ทโฟน นอกนั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆที่ต้องใช้การสังเกตถึงจะมองเห็น ยกเว้น GPS ในตัวเครื่อง ส่วนนี้ D5500 ถูกตัดออก ใครที่ชื่นชอบการติดแท็กสถานที่อาจไม่ชอบการปรับเปลี่ยนนี้

แต่ทั้งนี้ถ้าคุณมีเงินและคิดอยากใช้ของใหม่ซึ่งแน่นอนว่าต้องดีกว่ารุ่นเก่าและคุณไม่สนใจ GPS ที่ไม่มีมาให้ ส่วนนี้ผมก็ไม่ขัดข้องแต่ประการใด เพราะ D5500 ก็เป็นกล้องที่เข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของ D5300 ได้ดีตัวหนึ่งและผมมองว่า D5500 ก็เหมือนเป็นการชุปชีวิตซีรีย์ยอดฮิตของนิคอนให้กลับมาต่อสู้กับคู่แข่งในปีนี้ได้สมน้ำสมเนื้อมากขึ้น

[usrlist “การออกแบบ:8” “สเปก/ฟีเจอร์เด่น:9” “ความสามารถโดยรวม:8.5” “ความคุ้มค่า:9″ avg=”true”]

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
8
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
9
ความสามารถโดยรวม
8.5
ความคุ้มค่า
9
SHARE