การออกแบบและสเปก
เริ่มจากดีไซน์ ไม่แตกต่างอย่างชัดเจนกับ D5500 บอดี้เป็นพลาสติก (Monocoque Body) แป้นเมาท์เลนส์เป็นอลูมิเนียม Nikon F mount น้ำหนักถูกปรับขึ้นเป็น 465 กรัม จับถือมือเดียวได้สะดวกสบาย โดยเฉพาะส่วนกริปยางที่ออกแบบมาให้จับได้กระชับมือยิ่งขึ้น
ด้านเซ็นเซอร์รับภาพเป็น DX Format (CMOS sensor) ความละเอียด 24 ล้านพิกเซล (6,000×4,000 พิกเซล) แบบไม่ติดตั้ง Low-pass Filter ประกบชิปประมวลผลภาพ EXPEED 4 และระบบออโต้โฟกัสตัวเดียวกับ D5500 คือ Nikon Multi-CAM 4800DX 39 จุดโฟกัส และ 9 จุดแบบ cross-type รองรับเลนส์ออโต้โฟกัส AF-S AF-P และ AF-I
ระบบออโต้โฟกัสรองรับ Single-servo AF, continuous-servo AF, AF-A พร้อมโฟกัสติดตามวัตถุและโฟกัสตรวจจับใบหน้า
ส่วนค่าความไวแสง ISO เริ่มต้น 100 สูงสุด 25,600 รองรับการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงสุด 5 เฟรมต่อวินาที ชัตเตอร์เร็วสูงสุด 1/4,000 วินาที ช้าสุด 30 วินาที มีชัตเตอร์ B และ T รวมถึงชัตเตอร์เงียบก็มีให้เลือกใช้
มาดูด้านหลังตัวกล้อง เริ่มจากจอภาพไลฟ์วิวขนาด 3.2 นิ้ว ความละเอียด 720×480 พิกเซล ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญของซีรีย์นี้ เนื่องจากตัวจอเป็น Vari-angle monitor สามารถพลิกเปลี่ยนมุมมองได้ 170 องศา ครอบคลุมเฟรมภาพ 100%
นอกจากนั้นหน้าจอยังเป็นระบบสัมผัสที่ถูกปรับปรุงให้ตอบสนองดีขึ้นจากรุ่นที่แล้ว ทำให้การปรับแต่งค่ากล้อง ล็อคจุดโฟกัสผ่าน Live VIew ทำได้ง่ายขึ้นมาก โดยเฉพาะผู้ใช้งานวิดีโอน่าจะถูกใจหน้าจอสัมผัสรุ่นใหม่จากนิคอน
ส่วนปุ่มคำสั่งยังคงเหมือนกับ D5500 มีปุ่ม i และปุ่มล็อคค่าแสง/ล็อคโฟกัส ติดตั้งมาให้
ช่องมองภาพแบบออปติคอล (Viewfinder) เป็นกระจกสะท้อนภาพปกติ ครอบคลุมเฟรมภาพ 95% ทั้งแนวตั้งและแนวนอน มาพร้อมปุ่มหมุนปรับระยะ Eyepoint
ด้านบนตัวกล้อง จากซ้ายเป็นช่องลำโพง ตรงกลางเป็น Hot Shoe ใส่ไฟแฟลชแยก รองรับ Nikon Creative Lighting System หรืออุปกรณ์เสริมพร้อมไมโครโฟนรับเสียงสเตอริโอ ถัดไปขวามือ จะเป็นวงล้อปรับโหมดถ่ายภาพแบบเดียวกับรุ่นน้องสุดท้อง D3400 มีให้เลือกตั้งแต่โหมด Auto, P, S, A, M, ซีนโหมด 16 ซีนเพื่อปรับโทนภาพให้เข้ากับบรรยากาศของสถานที่จริง (ซีนแนะนำ blossom, autumn colors กับ Food น่าจะถูกใจวัยรุ่น) และโหมดเอ็ฟเฟ็กต์ 10 รูปแบบช่วยให้ถ่ายภาพทำได้สนุกสนานมากขึ้น
ถัดจากวงล้อปรับโหมดถ่ายภาพ ข้างๆจะเป็นก้านสวิตซ์ไว้เกี่ยวเพื่อเปิดปิด Live View ถัดลงมาเป็นวงล้อปรับค่ากล้อง (ค่ามาตรฐานเป็นคำสั่งปรับความเร็วชัตเตอร์) ถัดขึ้นไปด้านบนเป็นปุ่มชดเชยแสง ซึ่งเมื่อกดปุ่มนี้ค้างไว้แล้วเลื่อนวงล้อสีดำจะเป็นการเปลี่ยนขนาดรูรับแสง ถัดมาเป็นปุ่มบันทึกวิดีโอ ปุ่มชัตเตอร์และสวิตซ์เปิดปิดกล้อง
ด้านหน้าจะเป็นที่อยู่ของไฟช่วยโฟกัส และถ้าสังเกตให้ดี กล้องรุ่นเล็กของนิคอนจะไม่มีปุ่มเช็คระยะชัดมาให้เหมือนรุ่นใหญ่
ด้านข้าง เริ่มจากด้านซ้ายบริเวณบอดี้กล้องจะเป็นที่อยู่ของปุ่ม เปิดปิดไฟแฟลชหัวกล้องพร้อมปุ่มชดเชยแสงแฟลช ปุ่ม Fn (Function) ปรับตั้งค่าได้อิสระ ปุ่มปลดล็อกเลนส์และปุ่มตั้งเวลาถ่ายหรือปรับรูปแบบการถ่ายภาพ
ถัดมาที่สันด้านซ้ายของตัวกล้อง เริ่มจากด้านบนเป็นโลโก้ Bluetooth/WiFi เนื่องจาก D5600 รองรับ SnapBridge เต็มรูปแบบ ด้านล่างเป็นที่อยู่ของช่องเชื่อมต่อรีโมทชัตเตอร์ ช่องไมโครโฟน 3.5 มิลลิเมตร และ USB
ด้านขวา เป็นช่องเชื่อมต่อ HDMI, เซ็นเซอร์ NFC และช่องใส่การ์ดความจำ SD Card รองรับมาตรฐาน UHS-I
ด้านล่างเป็นส่วนของช่องเชื่อมต่อกับขาตั้งกล้องและช่องใส่แบตเตอรี EN-EL14a 1,230mAh (ถ่ายได้ประมาณ 400-600 รูป)
ฟีเจอร์เด่น
Nikon SnapBridge เป็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามาใหม่ใน D5600 โดยการเชื่อมต่อจะทำได้เต็มฟังก์ชันกว่า D3400 เนื่องจากตัวกล้องมาพร้อม WiFi/Bluetooth ทำให้นอกจากผู้ใช้จะซิงค์รูประหว่างกล้องไปเก็บไว้ในสมาร์ทโฟนได้แล้ว ตัวกล้องยังรองรับรีโมทชัตเตอร์ผ่าน WiFi ได้ด้วย
NEF 14-bit ในส่วนไฟล์ RAW ใน D5600 สามารถเลือกรูปแบบการบันทึกได้ทั้ง 12-bit และ 14-bit รวมถึง Retouch Menu ที่สามารถโปรเซสแก้ไข RAW ได้ทันทีพร้อมแปลงไฟล์ภาพเป็น JPEG จากหลังกล้องได้อย่างรวดเร็ว โดยเมื่อแก้ไขภาพเสร็จแล้วก็สามารถใช้ WiFi หรือ Bluetooth ส่งภาพผ่าน SnapBridge ไปยังสมาร์ทโฟนได้ทันที
วิดีโอ Nikon D5600 รองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุด 1,920×1,080 พิกเซล ที่ความเร็ว 60 เฟรมต่อวินาที รองรับ Manual Movie ปรับตั้งค่ากล้องได้เอง
Timelapse เพิ่มฟังก์ชัน Exposure smoothing แบบเดียวกับกล้องรุ่นใหญ่ ทำให้การถ่ายภาพในช่วงเวลาแสงแตกต่างกันทำได้เนียนตาและเป็นมืออาชีพมากขึ้น
ในส่วนการแสดงผลค่ากล้องต่างๆจะทำผ่านหน้าจอ Live View เหมือน D3400 พร้อมระบบแนะนำการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่ด้วย
ทดสอบประสิทธิภาพและสรุป
เริ่มจากการทดสอบความไวแสงช่วงต่างๆ เริ่มจากค่า ISO ที่ให้ไฟล์ภาพดีสุดจะอยู่ในช่วง 100-3,200 ไม่แตกต่างจาก D5500 หรือ D3400 ที่ทดสอบไปก่อนหน้า เนื่องจากใช้ชิปประมวลผลตัวเดียวกัน ส่วนช่วงความไวแสง ISO 6,400 จะเริ่มมีนอยซ์เพิ่มขึ้นบ้างแต่อยู่ในระดับยอมรับได้ จนถึง ISO 12,800-25,600 จะให้นอยซ์ค่อนข้างเยอะ
มาถึงการทดสอบถ่ายภาพนิ่ง ทีมงานเลือกใช้เลนส์ AF-S 20mm. f/1.8 G ED เมื่อคูณ 1.5 จะเท่ากับระยะประมาณ 30 มิลลิเมตร
ชัตเตอร์สปีด 1/8 วินาที : รูรับแสง f16 : ISO400
ชัตเตอร์สปีด 1/200 วินาที : รูรับแสง f11 : ISO500
ชัตเตอร์สปีด 1/640 วินาที : รูรับแสง f14 : ISO560
ชัตเตอร์สปีด 1/640 วินาที : รูรับแสง f13 : ISO320
ชัตเตอร์สปีด 1/640 วินาที : รูรับแสง f13 : ISO800
ชัตเตอร์สปีด 1/400 วินาที : รูรับแสง f11 : ISO2800
ชัตเตอร์สปีด 1/800 วินาที : รูรับแสง f16 : ISO3600
จากภาพทดสอบทั้งหมด ลองสังเกตที่การตั้งค่ากล้อง ผมพยายามดัน ISO ให้สูงเพื่อทดสอบคุณภาพไฟล์และนอยซ์ที่เกิดขึ้น พบว่า ด้วยความเป็นกล้องนิคอนยุคใหม่ (ซีรีย์ที่มาพร้อม EXPEED 4) ผมถือว่าสอบผ่านเรื่องคุณภาพไฟล์อย่างมาก เนื้อไฟล์ดีมาก โดยเฉพาะ RAW 14-bit ที่เก็บรายละเอียดได้ดี อย่างบางภาพผมดึงแสงขึ้น 2-3 สตอปก็ยังให้รายละเอียดที่ครบถ้วนไม่ต่างจากพี่ใหญ่ D500 แต่อย่างใด ยกเว้นเรื่องนอยซ์จากไฟล์ RAW ที่อาจมากกว่ารุ่นใหญ่เล็กน้อย
ส่วน JPEG ก็ให้คุณภาพที่ดีเช่นกัน ไฟล์เนียนสวยแม้จะใช้ ISO สูงระดับ 6,400 ก็ตาม
สำหรับการจับถือ ด้วยน้ำหนักที่ไม่มาก ตัวกล้องขนาดเล็กและมีกริปยางที่จับกระชับมือมาก ทีมงานขอให้คะแนนส่วนการจับถือและพกพาติดตัวเต็ม 10 เลย เพราะลองใช้งานทั้งวันแล้ว ความรู้สึกไม่ต่างจากการพกพามิร์เรอร์เลส แถมการจับถือก็ถนัดมากกว่า ยิ่งจับคู่กับเลนส์ฟิกซ์น้ำหนักเบาคุณภาพสูงอย่าง 20mm f1.8G ED ดูแล้วเข้ากันอย่างมาก ยกเว้นราคาเลนส์ที่เหมือนจะแพงกว่าตัวกล้อง
ส่วนการควบคุม เริ่มจากการวางตำแหน่งปุ่มกดต่างๆทำได้ดีแล้ว แต่ด้วยเป็นกล้องรุ่นเล็กทำให้นิคอนออกแบบปุ่มคำสั่ง 1 ปุ่มให้ใช้งานได้หลายฟังก์ชัน จนบางครั้งกลายเป็นสร้างความสับสนให้ผู้ใช้งานได้ แต่ก็ยังดีที่รุ่นนี้เป็นหน้าจอสัมผัส บางคำสั่งสามารถกดปุ่ม i แล้วเลือกปรับเปลี่ยนโดยจิ้มจากหน้าจอโดยตรงได้
ด้านวิดีโอ คล้ายกับ D5500 ไฟล์คุณภาพดี โดยเฉพาะนอยซ์และความคมชัดถือว่าสอบผ่าน ยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับเลนส์ AF-P โฟกัสทำได้ลื่นไหลมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อสังเกตในเรื่องระบบออโต้โฟกัส เมื่อทำงานผ่าน Live View ระบบโฟกัสภาพจะทำงานช้าและไม่แม่นยำตามสไตล์นิคอนเนื่องจากใช้วิธีคิดแบบเก่า ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย ไม่เช่นนั้น D5600 จะเป็น DSLR ที่มีฟังก์ชันครบครันคุ้มค่าคุ้มราคามากกว่านี้
สุดท้ายกับราคาเปิดตัว 27,500 บาท (ชุดแถมคิทเลนส์ AF-P 18-55VR) ก็ถือเป็นช่วงราคาเดิมที่นิคอนตั้งไว้กับตระกูล D5000 แน่นอนว่ากล้องซีรีย์นี้น่าจะเหมาะแก่คนที่ใช้งานระดับเริ่มต้นที่กำลังมองหากล้อง DSLR ตัวเล็กเน้นฟังก์ชันใช้งานครบครันตั้งแต่ภาพนิ่ง วิดีโอ มีจอพลิกได้และเป็นจอสัมผัส โดย D5600 มีการเพิ่ม SnapBridge เข้ามาทำให้การถ่ายภาพแล้วแชร์ผ่านสมาร์ทโฟนทำได้รวดเร็วมากขึ้นรวมถึงหน้าจอสัมผัสที่ทำได้ลื่นไหลขึ้น ในขณะที่คุณภาพและการใช้งานโดยรวมไม่ต่างจาก D5500 อย่างชัดเจนนัก