Review : Nikon D7500 จงเรียกเขาว่า D500 รุ่นเล็ก

30772

หลังจากนิคอนเปิดตัว DSLR ตัวคูณ (DX Format) ระดับไฮเอนด์อย่าง D500 ไปพร้อมกับน้องคนเล็กอย่าง D3400 และ D5600 ที่เปิดตัวตามมาติดๆจนถึงปีนี้ วันนี้ก็ถึงคิวของพี่รอง (Semi-Pro) อย่าง D7xxx ที่ในคราวนี้นิคอนขอข้ามรุ่นจาก D7200 กระโดดมา D7500 พร้อมการปรับเปลี่ยนตั้งแต่เรื่องการออกแบบไปจนถึงฮาร์ดแวร์ภายในที่นิคอนไม่ได้เลือกพัฒนาสเปกต่อจาก D7200 แต่ตั้งใจพัฒนาจากดีเอ็นเอของพี่ใหญ่ D500 พร้อมตั้งให้ D7500 ให้เป็นกล้องสำหรับมือสมัครเล่นไปถึงกึ่งมืออาชีพ โดยเน้นความอเนกประสงค์ น้ำหนักเบา สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ถ่ายภาพทั่วไป ถ่ายภาพเน้นความเร็วไปถึงงานวิดีโอระดับ 4K

การออกแบบ

ครั้งแรกที่ได้สัมผัส Nikon D7500 เฉพาะบอดี้อย่างเดียว ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นคือ “เบามาก” และงานประกอบจะดูพลาสติกกว่า D7200 ซึ่งเมื่อทีมงานลองได้ไปกางสเปกชีทจากเว็บไซต์นิคอนก็พบว่า D7500 จะมีการปรับเปลี่ยนวัสดุโครงสร้างจาก “แมกนีเซียมอัลลอย” ไปใช้เป็น “คาร์บอนไฟเบอร์” ขึ้นรูปแบบไร้รอยต่อ ทำให้น้ำหนัก D7500 จะอยู่ที่ 600-700 กรัม ในขณะที่ D7200 อยู่ที่ 765 กรัม

แต่สำหรับผู้อ่านที่กำลังกังวลเรื่องความแข็งแรงและความทนทาน ทางนิคอนได้ระบุว่า ถึงแม้ตัวกล้อง D7500 จะผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์แต่ก็ยังคงคุณสมบัติป้องกันหยดน้ำ ฝุ่นและกันกระแทกได้เล็กน้อย สามารถลุยได้ทุกสภาพแวดล้อมเช่นเดิม

สำหรับการรองรับเลนส์ยังคงเป็น “Nikon F-mount” และมาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหวภายใน 3 แกนพร้อม e-VR (Electronic Vibration Reduction) เมื่อถ่ายวิดีโอ (สามารถใช้ร่วมกับเลนส์ที่มี VR จะได้ประสิทธิภาพระบบป้องกันภาพสั่นไหวเพิ่มขึ้น)

ด้านหลัง จะมาพร้อมจอ LCD ระบบสัมผัสขนาด 3.2 นิ้ว ความละเอียด 922,000 จุด (VGA) ครอบคลุมการมองเห็นภาพเต็ม 100% อีกทั้งจอ LCD ยังสามารถปรับก้มเงย (Tilting monitor) ได้ด้วย

ส่วนช่องมองภาพ (Optical Viewfinder) ครอบคลุมการมองเห็นภาพ 100% เช่นเดียวกัน มาพร้อมตัวปรับแก้สายตา 2 ถึง +1 ม.

มาดูปุ่มคำสั่ง ด้านหลังยังคงจัดวางตามรูปแบบของนิคอน โดยปุ่มเปิดจอ Live View (Lv) จะอยู่ข้างจอด้านล่างพร้อมสวิตซ์สลับระหว่างโหมดวิดีโอและภาพนิ่ง ส่วนด้านบนสุด AE-L/AF-L จะเป็นปุ่มล็อคค่าแสง/ล็อคโฟกัส ด้านปุ่มสั่งงานปรับตั้งค่ากล้อง ด้วยความที่หน้าจอเป็นแบบสัมผัส ผู้ใช้สามารถกดปุ่ม i แล้วใช้นิ้วจิ้มปรับค่ากล้องที่หน้าจอได้เช่นกัน

ด้านบน จากซ้ายจะเป็นวงล้อปรับโหมดถ่ายภาพ (M/A/S/P, Auto, SCENE, User 1, User 2 เป็นต้น) ซ้อนทับกับวงล้อปรับระบบถ่ายภาพ (ถ่ายภาพเดียว ถ่ายต่อเนื่อง โหมดชัตเตอร์เงียบ เป็นต้น)

ถัดมาเป็นส่วนกะโหลกกล้อง โดย D7500 จะมาพร้อมไฟแฟลชเหมือน D5600 ส่วนบนกะโหลกจะเป็นที่อยู่ของ Hot Shoe ใส่แฟลชแยกและอุปกรณ์เสริม ด้านขวา จะเป็นที่อยู่ของจอแสดงค่ากล้อง ด้านบนเป็นปุ่มปรับ ISO ปุ่มบันทึกวิดีโอ ชดเชยแสงและชัตเตอร์ทับด้วยสวิตซ์ปิด-เปิดกล้อง

ด้านหน้า สังเกตที่กริปจับถือจะได้รับการออกแบบใหม่ให้มีความลึก จับกระชับมือมากขึ้น ตรงกลางด้านบนจะเป็นไฟช่วยโฟกัสในที่แสงน้อยแบบ LED ถัดลงมาจะเป็นปุ่มฟังก์ชัน 1 และ 2 (สามารถตั้งค่าใช้งานได้เองที่เมนูกล้อง)

ด้านซ้าย เริ่มจากปุ่มเปิดไฟแฟลชและชดเชยแสงแฟลช ถัดลงมาเป็นปุ่ม BKT (ถ่ายคร่อมแสง) และปุ่มปรับระบบออโต้โฟกัส (Manual/AF-S/AF-F)

ด้านสันกล้องจะเป็นที่อยู่ของพอร์ตเชื่อมต่อ (มีฝายางปิดไว้เพื่อกันน้ำและฝุ่น) ตั้งแต่ ไมโครโฟนแบบ 3.5 มิลลิเมตร USB, HDMI, หูฟังเพื่อมอนิเตอร์เสียงเวลาบันทึกวิดีโอและสุดท้ายช่องเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริม เช่น รีโมทชัตเตอร์ เป็นต้น

มาดูด้านขวา จะเป็นที่อยู่ของช่องใส่การ์ดความจำ (SD Card) รองรับแค่ SD, SDHC (UHS-I), SDXC (UHS-I) ไม่รองรับ XQD เหมือน D500 โดย D7500 จะลดช่องใส่การ์ดมาเหลือ 1 ช่องเท่านั้น

สุดท้ายสำหรับแบตเตอรี จะใช้รหัส EN-EL15a (ใช้ร่วมกับ D500) ความจุ 1,500mAh (ถ่ายภาพนิ่งได้ประมาณ 900-950 ภาพ) พร้อมแท่นชาร์จไฟแบบแยก

สเปกและฟีเจอร์เด่น


Nikon D7500 จะใช้เช็นเซอร์รับภาพ CMOS APS-C (นิคอนเรียกว่า DX Format) แบบปราศจาก low-pass filter ความละเอียดภาพสูงสุด 20.9 ล้านพิกเซล ประกบหน่วยประมวลผล EXPEED 5 ที่มีความโดดเด่นในเรื่องการจัดการนอยซ์ที่ดีมาก ทำให้ D7500 จะมาพร้อมค่าความไวแสง ISO มาตรฐานที่ 100-51,200 และขยายได้สูงสุดถึง Hi5 หรือเทียบเท่า ISO 1,640,000 ต่ำสุด Lo1 หรือเทียบเท่า ISO 50

นอกจากนั้นนิคอนยังได้ปรับส่วนเซ็นเซอร์วัดแสงไปใช้แบบเดียวกับ D500 คือ “เซ็นเซอร์วัดแสง RGB ขนาด 180K” แต่เสียดายในส่วนระบบตรวจจับโฟกัสอัตโนมัติยังใช้เป็น Nikon Advanced Multi-CAM 3500 II จำนวน 51 จุด (แบบเดียวกับที่อยู่ใน D7200 และ D750) สามารถจับโฟกัสในสภาพแสง -3EV

ถ่ายช่วงเย็น ISO ประมาณ 3,200 ตั้งออโต้โฟกัสแบบ AF-F

นอกจากนั้นเพื่อให้กล้อง D7500 สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์มากยิ่งขึ้น ทางนิคอนยังได้ยกฟังก์ชันถ่ายภาพต่อเนื่องจาก D500 มาลดสเปกจากเดิมที่สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง 10 เฟรมต่อวินาที บัฟเฟอร์สูงสุด 200 ภาพ (JPEG) ลดเหลือ 8 เฟรมต่อวินาที บัฟเฟอร์ 100 ภาพ (JPEG) และ 50 ภาพ (RAW)

ส่วนไฟล์ภาพ RAW รองรับ 14 บิต (มาพร้อมซอฟต์แวร์จัดการ ตกแต่งและแปลงไฟล์ RAW เป็น JPEG ในตัวกล้อง) สามารถตั้งไซต์ภาพได้ 3 ขนาด ได้แก่ L20MP 5,568×3,712 พิกเซล M11.6MP 4,176×2,784 พิกเซล S5.2MP 2,784×1,56 พิกเซล อีกทั้งยังสามารถเลือกให้กล้องครอปเซ็นเซอร์ได้ 2 รูปแบบคือ เต็มเซ็นเซอร์ DX กับครอปลงมา 1.3 เท่าซึ่งจะช่วยในเรื่องระยะซูมเลนส์จะทำได้เพิ่มขึ้น เหมาะแก่การใช้งานฟังก์ชันวิดีโอ

ด้านวิดีโอรองรับความละเอียดสูงสุด 4K 30 เฟรมต่อวินาที สามารถถ่ายวิดีโอต่อเนื่องได้ยาวนาน 29 นาที และที่สำคัญโหมดวิดีโอจะรองรับระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัวกล้องแบบ 3 แกนและ Electronic Vibration Reduction (e-VR) ช่วยให้การถือกล้องถ่ายวิดีโอทำได้นิ่งมากขึ้น

ส่วนความละเอียดอื่นๆ D7500 สามารถถ่ายวิดีโอ 1080p ที่ความเร็วเฟรมสูงสุด 60 เฟรมต่อวินาทีหรือ 30 เฟรมต่อวินาทีได้ โดยในส่วนรูปแบบไฟล์สามารถเลือกได้ทั้ง MOV หรือ MP4 (เข้ารหัส H.264/MPEG4)

นอกจากนั้น Nikon D7500 จะรองรับ “ไฟแฟลชไร้สาย (Wireless Flash)” ผ่าน Nikon Creative Lighting System (CLS) โดยสามารถสั่งให้ไฟแฟลชหัวกล้องเป็นตัวสั่งงานให้แฟลชภายนอกทำงานได้ผ่านระบบ Optical รวมถึงรองรับระบบแฟลชแบบ High-Speed Sync ด้วย

สุดท้าย D7500 ยังรองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth และ WiFi เพื่อใช้งาน Nikon SnapBridge ได้

รายละเอียดด้านสเปกเพิ่มเติม >คลิกที่นี่<

ทดสอบประสิทธิภาพและสรุป

เริ่มจากการทดสอบนอยซ์ที่ค่า ISO ช่วงต่างๆ (JPEG ไฟล์ดิบจากกล้อง ไม่ผ่านการตกแต่งใดๆ) จะเห็นว่า D7500 ให้ประสิทธิภาพเดียวกับ D500 สมกับเป็นหนึ่งในกลุ่มพี่ใหญ่ของตระกูล DX Format เลยเพราะรุ่นน้องอย่าง D5600 หรือ D3400 ซึ่งใช้ EXPEED 4 จะให้ประสิทธิภาพด้านนอยซ์ดีสุดที่ค่า ISO ช่วงประมาณ 3,200 เท่านั้น แต่กับ D7500 ซึ่งใช้ EXPEED 5 จากภาพด้านบนจะเห็นว่าช่วงค่า ISO ที่ให้นอยซ์ดีสุดสามารถแตะระดับหมื่นสบายๆ ส่วนถ้าจำเป็นต้องถ่ายในที่แสงน้อยมากก็สามารถดันได้ถึงระดับหมื่นปลายๆถึงหนึ่งแสนก็ยังให้คุณภาพพอใช้งานได้อยู่ เรียกได้ว่าใกล้เคียงกล้องระดับไฮเอนด์อย่าง D500 หรือ D5 ได้เลย

Nikon D7500 with 18-140mm Kit Lens – 1/125s – f7.1 – ISO 4,500

Nikon D7500 with 18-140mm Kit Lens – 1/100s – f7.1 – ISO 6,400

Nikon D7500 with 18-140mm Kit Lens – 1/250s – f5.6 – ISO 6,400 >ภาพต้นฉบับ<

Nikon D7500 with 18-140mm Kit Lens – 1/30s – f8 – ISO 640

Nikon D7500 with 18-140mm Kit Lens – 1/200s – f11 – ISO 100 >ภาพต้นฉบับ<

Nikon D7500 with 18-140mm Kit Lens – 1/160s – f8 – ISO 100

Nikon D7500 with 18-140mm Kit Lens – 1/400s – f11 – ISO 100

มาถึงช่วงลงสนามทดสอบใช้งานจริง ทีมงานเลือกเน้นไปที่การถ่ายในที่แสงน้อยมาก โดยรูปส่วนใหญ่จะตั้ง ISO ระดับ 4,000 ขึ้นไปและเป็นไฟล์ JPEG ดิบจากกล้อง ไม่ผ่านการตกแต่งเพิ่มเติม แต่เสียดายทีมงานไม่มีโอกาสได้ใช้ ISO ถึงระดับหมื่นเลย เพราะสถานที่ที่ไปส่วนใหญ่ ISO ระดับ 6,400 ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แน่นอนว่าภาพที่ได้ค่อนข้างใสและเคลียร์

ถือว่า D7500 เป็นกล้องที่ให้คุณภาพไฟล์สูงมาก จนทีมงานขอยกให้เป็น D500 ไซต์มินิที่ออกแบบมาให้ใช้ได้ทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ (เมนู ฟังก์ชันกล้องเฟรนลี่กับคนทุกระดับ) โดยเฉพาะภาพนิ่ง เรียกได้ว่าเหมือนโคลนนิ่ง D500 กันมาเลย แต่เรื่องน้ำหนักเมื่อนำบอดี้มารวมเลนส์แล้วอย่างไร D7500 ก็เบาและคล่องตัวกว่า D500 มาก

ส่วนคำถามยอดฮิตสำหรับคนสนใจกล้องนิคอนก็คือ เรื่องโหมดวิดีโอถามว่า D7500 ปรับปรุงไปมากไหม? คำตอบก็คือปรับปรุงไปพอสมควร ทั้งเรื่องระบบออโต้โฟกัสและระบบป้องกันภาพสั่นไหว จุดเด่นในโหมดวิดีโอของกล้องรุ่นนี้คือให้ภาพที่ใสและเคลียร์มากแม้จะถ่ายวิดีโอในที่แสงน้อยรวมถึงมีตัวช่วยสำหรับมืออาชีพ แต่ความแม่นยำในเรื่องออโต้โฟกัสผ่านไลฟ์วิวยังถือเป็นสิ่งที่นิคอนต้องแก้ไขต่อไป โดยเฉพาะการโฟกัสตามวัตถุที่เคลื่อนไหวไปมายังทำงานได้ไม่แม่นยำ ยกเว้นคุณจะเป็นคนถ่ายวิดีโอและหมุนโฟกัสด้วยมือเก่ง แต่เรื่องภาพนิ่ง D7500 ทำได้น่าประทับใจมาก

สำหรับราคาขาย Nikon D7500 พร้อมคิทเลนส์ 18-140 VR F3.5-5.6 อยู่ที่ 59,900 บาท ส่วนราคาบอดี้อย่างเดียวอยู่ที่ 49,900 บาท

ข้อดี

– กล้องระดับกึ่งมืออาชีพที่มีน้ำหนักเบา ออกแบบดี
– ภาพนิ่งคุณภาพดีมากระดับเดียวกับ D500
– ตัวกล้องป้องกันละอองน้ำและฝุ่นระดับหนึ่ง
– ฟังก์ชันการใช้งานหลากหลาย รองรับผู้ใช้ทุกระดับ
– หน้าจอปรับก้มเงยพร้อมทัชสกรีน

ข้อสังเกต

– วิดีโอให้คุณภาพดีมากแต่เรื่องออโต้โฟกัสยังต้องปรับปรุง

Gallery

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
9
สเปก/ฟีเจอร์เด่น
9.5
ความสามารถโดยรวม
9
ความคุ้มค่า
8.8
SHARE