Nikon COOLPIX P900 เป็นกล้องดิจิตอลคอมแพกต์กระแสแรงตั้งแต่งานเปิดตัวเมื่อปีก่อน (บ้านเรา นิคอนประเทศไทยเพิ่งนำเข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา) ด้วยวิดีโอแสดงการซูมภาพถ่ายดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ได้กลมโตและดวงใหญ่มาก เนื่องจากตัวกล้องมาพร้อมเลนส์ซูมถึง 83 เท่า หรือคิดเป็นระยะ 35 มิลลิเมตร จะครอบคลุมระยะตั้งแต่กว้างสุด 24 มิลลิเมตรจนไหลไปไกลถึง 2,000 มิลลิเมตรพร้อมเทคโนโลยีป้องกันภาพสั่นไหวตัวใหม่ เพื่อต่อกรกับระยะซูม 83 เท่าเป็นครั้งแรกของตลาดคอมแพกต์
การออกแบบ
ในส่วนการออกแบบตัวกล้อง ดูจากรูปลักษณ์ภายนอก Nikon COOLPIX P900 มีขนาดตัวที่ใหญ่ใกล้เคียงกับกล้อง DSLR ระดับกลางๆได้เลย โดยขนาดกว้างxยาวxสูงxลึก อยู่ที่ 139.5×103.2×137.4 มิลลิเมตร น้ำหนักอยู่ที่ 899 กรัม (ใกล้เคียง D7200) พร้อมกริปยางจับถือได้กระชับมือ ผิวสัมผัสนุ่ม (จับแล้วให้อารมณ์ไม่ต่างจาก DSLR) อีกทั้งด้านหน้านิคอนยังได้ติดตั้งช่องรับสัญญาณอินฟาเรด รองรับรีโมทลั่นชัตเตอร์กล้องด้วย
ด้านซ้าย – บริเวณกริปจับจะเป็นที่อยู่ของ NFC และพอร์ต Micro USB สำหรับชาร์จไฟ (รองรับการชาร์จไฟผ่านพอร์ต USB 5V 1A) พร้อมช่อง Micro HDMI
ด้านขวา – ด้านบนสุดเป็นปุ่มเปิดไฟแฟลช ถัดลงมาตรงกระบอกเลนส์จะเป็นที่อยู่ของปุ่ม Snap-Back Zoom (เวลาถ่ายภาพระยะใกล้แล้ววัตถุที่กำลังโฟกัสหลุดออกจากเฟรม ให้กดปุ่มนี้ค้างไว้เลนส์จะซูมออกให้กว้างขึ้นชั่วคราวเพื่อให้เราสามารถมองเห็นวัตถุที่หลุดจากเฟรมไปแล้วได้ จากนั้นเมื่อเราจัดองค์ประกอบภาพเสร็จ ปล่อยปุ่มนี้ เลนส์จะซูมไปที่ระยะเดิม)
ถัดไปด้านข้างจะเป็นสวิตซ์ T/W สามารถเลื่อนขึ้นลงเพื่อใช้ซูมภาพเข้าออกได้ (ใช้เวลาถ่ายวิดีโอ ระบบซูมจะนุ่มนวลมาก)
ด้านบน – ตรงกลางเป็นไมโครโฟนสเตอริโอพร้อมโลโก้ GPS ถัดไปด้านขวามือจะเป็นที่อยู่ของปุ่มหมุนปรับโหมดถ่ายภาพ (สไตล์ DLSR-Like) คือมีโหมดถ่ายภาพให้เลือกใช้หลากหลายตั้งแต่ Auto, Program, Manual, ซีนโหมด, ปรับความเร็วชัตเตอร์หรือรูรับแสงเอง เป็นต้น
นอกจากนั้นนิคอนยังให้ปุ่ม Fn (Function) และวงล้อ Dial ส่วนปุ่มชัตเตอร์และวงแหวนซูมภาพถูดติดตั้งอยู่ในตำแหน่งกริปจับเหมือน DSLR
ด้านหลัง – เป็นจอไลฟ์วิว TFT LCD ปรับหมุนได้ ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียดหน้าจอ 921,000 จุด (RGBW) ครอบคลุมการมองเห็นภาพ 100%
ช่องมองภาพ – เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ขนาด 0.2 นิ้วความละเอียด 921,000 จุด โดยมีฟังก์ชั่นการปรับแก้สายตา (–3 ถึง +1 m) และเซ็นเซอร์สลับจอใช้งานอัตโนมัติเมื่อมองช่องมองภาพ
ถัดไปด้านขวามือ จะเป็นที่อยู่ของปุ่มควบคุม ปุ่มบันทึกวิดีโอ เปิด WiFi ปุ่มพรีวิวภาพ และส่วนสำคัญคือวงล้อปรับตั้งค่ากล้องต่างๆ
ด้านใต้กล้อง – จะเป็นที่อยู่ของรูเชื่อมต่อขาตั้งกล้องและช่องใส่แบตเตอรี EN-EL23 1,850mAh (ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ประมาณ 360 ภาพ วิดีโอ 1 ชั่วโมง 20 นาที) พร้อมช่องใส่การ์ดความจำ SD, SDHC, SDXC
มาถึงเรื่องเลนส์กล้องและสเปกภายใน เริ่มจากเลนส์ นิคอนเลือกใช้ Nikkor 83x 4.3-457 มิลลิเมตร (24-2,000 มิลลิเมตร) Wide Optical Zoom ED VR (หน้าเลนส์ขนาด 67 มิลลิเมตร) พร้อมรองรับ Dynamic Fine Zoom 166 เท่า (4,000 มิลลิเมตร) ดิจิตอลซูมสูงสุด 8,0000 มิลลิเมตร
จากบน – ภาพถ่ายที่ระยะกว้างสุด 24 มิลลิเมตร > ซูม 83x 2,000 มิลลิเมตร และจบด้วยภาพซูม Dynamic Fine Zoom 166 เท่า (4,000 มิลลิเมตร)
ช่วงโฟกัส – ระยะกว้างสุดประมาณ 50 เซนติเมตร เทเลประมาณ 5 เมตร
Shutter lag – มุมกว้าง อยู่ที่ 0.12 วินาที, เทเล ประมาณ 0.75 วินาที
ส่วนประกอบชิ้นเลนส์ – 16 ชิ้น 12 กลุ่ม พร้อมเลนส์ ED 5 ชิ้น และ Super ED 1 ชิ้น เพื่อลดความคลาดเคลื่อนสี Chromatic Aberration (CA) โดยเฉพาะเมื่อยู่ในระยะซูม
รูรับแสงและม่านชัตเตอร์ – ควบคุมด้วยแผ่นไดอะแฟรมม่านรูรับแสงหกกลีบควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มต้นที่ f2.8 และเมื่อซูมภาพ รูรับแสงกว้างสุดจะไหลไปได้ถึง f6.5 ส่วนรูรับแสงแคบสุดที่สามารถตั้งค่าได้คือ f8.0
ด้านเซ็นเซอร์รับภาพเป็นชนิด CMOS ขนาด 1/2.3 นิ้ว (เท่าคอมแพกต์และสมาร์ทโฟนทั่วไป) พร้อมหน่วยประมวลผลภาพ EXPEED C2 ความละเอียดภาพสูงสุด 16 ล้านพิกเซล ที่อัตราส่วนภาพ 4:3 คุณภาพไฟล์ JPEG เลือกได้ระหว่าง Normal/Fine ไม่รองรับการบันทึกในรูปแบบไฟล์ RAW
มาดูระบบออโต้โฟกัส นิคอนเลือกใช้ระบบ Contrast Detection AF แต่เพิ่มความฉลาดให้หน่วยประมวลผลภาพทำให้จับโฟกัสได้เร็ว โดยโหมดออโต้โฟกัสที่น่าสนใจได้แก่ Target finding AF ที่ระบบสามารถจะตรวจหาและคาดเดาวัตถุที่เราต้องการโฟกัสให้อัตโนมัติ โดยใน P900 ระบบดังกล่าวถูกปรับแต่งมาให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้า
สำหรับการปรับตั้งค่าโฟกัส P900 จะมีให้เลือกเฉพาะออโต้โฟกัส, มาโคร (ใกล้สุด 1 เซนติเมตร) และอินฟินิตี้สำหรับถ่าย Landscape เท่านั้น ไม่มี Manual Focus ให้เลือกใช้งาน
นอกจากนั้นยังรองรับระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบ Active ที่สามารถเลือกใช้ขณะกำลังนั่งถ่ายภาพอยู่บนรถ เดิน หรือถือถ่ายวิดีโอ (ใช้ร่วมกับระบบลดภาพสั่นไหวแบบอิเล็กทรอนิกส์) โดยระบบดังกล่าวจะช่วยลดอาการภาพพร่ามัวลงได้ระดับหนึ่ง
มาถึงระบบป้องกันภาพสั่นไหว VR (Vibration Reduction) เป็นแบบ Dual Detect Optical 5 สตอป โดยเทคโนโลยีป้องกันภาพสั่นไหวใหม่นี้จะใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับ (Angular velocity) ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์รับภาพที่จะช่วยอ่านค่าการสั่นไหวของกล้องได้ละเอียดขึ้น ทำให้การถือ P900 ถ่ายในที่แสงน้อยทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในส่วนสเปกปลีกย่อยอื่นๆ
– ค่าความไวแสง ISO เริ่มต้น 100 สูงสุด 6,400 และ Hi1 ISO 12,800 เมื่ออยู่ในโหมดเอ็ฟเฟกต์พิเศษ
– ความเร็วชัตเตอร์ : ช้าสุด 15 วินาที เร็วสุด 1/4,000 วินาที
– ถ่ายภาพต่อเนื่อง : 7.1 เฟรมต่อวินาที (ความเร็วสูงสุด 60 และ 120fps ที่ความละเอียด 2 ล้านพิกเซล อัตราส่วน 16:9) พร้อมโหมด BSS (Best Shot Selector)
– ระบบวัดแสง : เฉลี่ยทั้งภาพ, เน้นตรงกลาง, เฉพาะจุด
– รองรับการเชื่อมต่อพิเศษ : NFC, WiFi 802.11b/g/n, GPS GLONASS พร้อม POI ทำงานร่วมกับ Here Maps
– วิดีโอ : ความละเอียดสูงสุด 1080p 30/60fps, Slowmotion 120 fps ที่ความละเอียด 640×480 พิกเซล
– สามารถถ่ายวิดีโอ Time-lapse, Interval Timer Shooting ได้
วิดีโอสโลโมชัน 120 เฟรมต่อวินาที ที่ความละเอียด 480p
ฟังก์ชันที่น่าสนใจ
ด้วยการที่ Nikon COOLPIX P900 เป็นกล้องคอมแพกต์เน้นโหมดอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นนิคอนจึงพัฒนาซีนโหมดมาให้ใช้งานได้หลากหลายมาก ตั้งแต่ถ่ายภาพบุคคล HDR พาโนรามา สัตว์เลี้ยง และที่สำคัญซีนโหมดพิเศษเฉพาะกล้องซุปเปอร์ซูมตัวนี้ ได้แก่ โหมดพระจันทร์และชมนก โดยกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ โทนสีและระยะโฟกัสให้ คุณมีหน้าที่แค่เล็งและกดถ่ายเท่านั้น หรือถ้าต้องการความคล่องตัวมากขึ้น สามารถตั้งซีนโหมดให้เลือกอัตโนมัติได้ด้วย
Picture Control – P900 ให้โปรไฟล์ภาพมาให้เลือกใช้ถึง 4 รูปแบบได้แก่ Standard, Neutral, Vivid และ Monochrome นอกจากนั้นในแต่ละโปรไฟล์ ผู้ใช้ยังสามารถเข้าไปปรับแต่งรายละเอียดภายในได้ด้วย
Effects – เป็นโหมดถ่ายภาพพร้อมเอฟเฟ็กต์พิเศษให้เลือกมากมาย
WiFi and NFC – รองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ผ่านแอปฯ Nikon Wireless Mobile Utility สามารถส่งรูปจากกล้องไปสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตได้หรือจะใช้สมาร์ทโฟนควบคุมกล้องผ่าน WiFi ก็ได้
ทดสอบประสิทธิภาพ
*JPEG Fine 1 ภาพ ใช้เนื้อที่ประมาณ 6-7MB
เริ่มจากทดสอบนอยซ์กับช่วงค่าความไวแสงตั้งแต่ ISO 100-6,400 ยอมรับว่านิคอนยุคใหม่เกือบทุกรุ่นรวมถึง P900 ที่มาพร้อมเซ็นเซอร์รับภาพ 1/2.3 นิ้ว ทำผลทดสอบตรงนี้ได้ดี ISO 100-800 ให้ภาพคมชัดดี ในขณะที่ ISO 1600-3,200 จะเริ่มเห็นการเกลี่ยนอยซ์เกิดขึ้น ภาพเริ่มสูญเสียรายละเอียดความคมชัดไปบ้างแต่ไม่ถึงกับน่าเกลียด EXPEED ยังจัดการได้ดี และสุดท้ายที่ค่า ISO 6,400 เกิดนอยซ์ค่อนข้างมาก ระบบจัดการนอยซ์จนสูญเสียเรื่องความคมชัดไปพอสมควร (ต้องเข้าใจ เพราะเป็นคอมแพกต์ที่มีเซ็นเซอร์รับภาพเล็ก แถมพิกเซลยังมีขนาดแค่ 1.34 ไมครอน ประมาณ Samsung Galaxy S4 Zoom เท่านั้น)
แน่นอนด้วยเซ็นเซอร์รับภาพขนาดไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนทั่วไป สิ่งหนึ่งที่ทีมงานสัมผัสได้ทันทีหลังจากทดลองถ่ายภาพกลางคืนก็คือ สีสันและโทนภาพโดยรวมที่ไม่ถูกใจทีมงานนัก โดยเฉพาะการเปิดหน้ากล้องนานเกิน 1 วินาทีในโหมด M ที่ค่า ISO 100 ภาพที่ได้กลายเป็นนอยซ์เกิดขึ้นเยอะมาก และภาพชอบติดโอเวอร์ แถมการไล่โทนสีก็ดูแปลกๆ สีสันที่ได้ก็ติดตุ่นๆเพี้ยนๆ ต้องแก้ด้วยการเข้าไปปรับ Picture Control กันตลอดเวลา กว่าจะลงตัวเข้ากับความต้องการผู้ทดสอบได้ ต้องใช้เวลาเรียนรู้นิสัยอยู่หลายชั่วโมง
คราวนี้พอเริ่มชินมือแล้ว ก็ลองทดสอบกันสั่น VR แบบใหม่ด้วยการถือถ่ายในที่แสงน้อยพร้อมซูมระดับ 125-170 มิลลิเมตร ด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้าๆตั้งแต่ 1/5-1/15 วินาที ผลปรากฏคือ “ระบบกันสั่นทำผลลัพท์ได้ดีสมราคาคุยมาก” ภาพส่วนใหญ่ถ่ายได้เพียงแค่กลั้นหายใจอึกเดียวแล้วกดชัตเตอร์เท่านั้น ภาพคมชัดทันที
มาลองถ่ายชัตเตอร์ 1/500 วินาที ISO 6,400 ที่ระยะ 135 มิลลิเมตรกันบ้าง ก็เป็นไปตามคาด ISO สูงภาพที่ได้จะแตกและสูญเสียความคมชัดไปพอสมควร (ดูภาพนี้แล้วนึกถึงกล้องดิจิตอลเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว)
ส่วนเรื่องสีสันเมื่อกลับมาลองในที่แสงปกติ อาการสีตุ่นและเพี้ยนหายไปแล้ว
คราวนี้ขอทดลองเรื่องซุปเปอร์ซูมกันบ้าง ทีมงานขอลองซูมระยะตั้งแต่ 800 มิลลิเมตรจนไปถึงระดับ 1,000 ปลายๆ ยอมรับว่านิคอนผลิตกระบอกเลนส์ชุดนี้มาได้ยอดเยี่ยมมาก ภาพที่ได้ทุกระยะค่อนข้างคมชัดมาก อีกทั้งกันสั่นถ้าปรับเป็น Active แล้วผลลัพท์ที่ได้ถือว่ายอดเยี่ยมเช่นกัน
วิดีโอแสดงการทำงานของระบบป้องกันภาพสั่นไหวในโหมดวิดีโอ (ถือถ่ายด้วยมือ) (VR : Active + Electronic VR)
ส่วนอาการชัตเตอร์หน่วง (Shutter lag) ส่วนนี้มีให้เห็นแน่นอน โดยเฉพาะเวลาซูมมากๆอาการหน่วงจะชัดเจนมากขึ้น
วิดีโอแสดงการซูมออปติคอลตั้งแต่ระยะ 24 มิลลิเมตร ถึง 2,000 มิลลิเมตร
ไฟล์ดิบส่งตรงจากกล้องทดสอบการบันทึกเสียงแบบสเตอริโอ
สรุปด้านทดสอบประสิทธิภาพ ในภาพรวม – Nikon COOLPIX P900 โดดเด่นในเรื่องเลนส์ซูมคุณภาพสูง ระบบกันสั่นยอดเยี่ยม มี GPS WiFi และ NFC ส่วนคุณภาพไฟล์ภาพถ้าเป็นการถ่ายในที่แสงน้อยและกลางคืน ถึงแม้ระบบกล้องจะมีตัวช่วยมากมาย แต่ไฟล์ที่ได้ยังไม่น่าพอใจนัก โดยเฉพาะโทนสี มิติความกว้างของภาพที่ทำได้ไม่ค่อยดีนัก
ส่วนถ่ายกลางวันคุณภาพหน้ามือเป็นหลังมือจากกลางคืน ไฟล์ที่ได้โอเค สีสวย คอนทราสต์จัด และที่สำคัญ Dynamic Fine Zoom 166 เท่า (4,000 มิลลิเมตร) หลังพ้นออปติคอลซูมไปแล้วให้ผลลัพท์ภาพที่ดีมาก
ในส่วนงานวิดีโอ นิคอนทำได้ดีมาก โดยเฉพาะระบบป้องกันภาพสั่นไหว ถือว่าเป็นมาตรฐานใหม่ของพวกกล้องคอมแพกต์ซุปเปอร์ซูมได้เลย ส่วนเรื่องโฟกัสที่ถึงแม้จะทำงานเร็วจริง แต่ชอบโฟกัสพลาดเป้าและมักมีอาการเอ๋อ โฟกัสวืดวาดไปมาบ่อยครั้งตามสไตล์ CDAF (แถมไม่มีแมนวลโฟกัสมาให้ด้วย)
สรุป
ราคาค่าตัว Nikon COOLPIX P900 อยู่ที่ 19,900 บาท ถือว่าเป็นกล้องคอมแพกต์ราคาไม่ถึงสองหมื่นบาท ที่มาพร้อมเลนส์ซูมครอบคลุมระยะมากสุดในตลาดตอนนี้ แม้สเปกจะเก่าไปนิด แต่คุณภาพโดยรวมสำหรับการใช้งานทั่วไปก็อยู่ในเกณฑ์พอใช้สอดคล้องกับราคาไม่ถึงสองหมื่นบาท
ส่วนพวกช่างภาพมืออาชีพหรือคนเน้นถ่ายภาพจริงจัง อยากนำไฟล์ไปต่อยอด อาจจะต้องยอมเพิ่มเงินอีก 1-2 หมื่นบาทวิ่งไปหากล้องชุปเปอร์ซูมในตระกูลคอมแพกต์พรีเมียม DL24-500 f2.8-5.6 ที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆของปีนี้รวมถึงเซ็นเซอร์รับภาพขนาดใหญ่กว่า P900 อยู่มากโข (แต่ต้องแลกกับระยะซูมที่น้อยกว่า P900)