กลายเป็นสมาร์ทโฟนที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดขึ้นมาทันทีหลังจาก Pokemon Go เปิดให้บริการในประเทศไทย เนื่องจากตัว Galaxy A9 Pro มีจุดเด่นอยู่ที่แบตเตอรีขนาด 5,000 mAh ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องกังวลแบตเตอรีหมดระหว่างวัน จนถึงกับที่ทางซัมซุงคิด “#อวสานพาวเวอร์แบงก์” ขึ้นมาให้ใช้กันเลยทีเดียว
ก่อนหน้านี้ ทีมงานเคยเขียนถึง “4 จุดห้ามพลาดใน Galaxy A9 Pro” ซึ่งสามารถย้อนกลับไปอ่านกันได้ มาถึงในการรีวิวครั้งนี้ จะเน้นไปที่การใช้งานจริง เพื่อลงลึกในรายละเอียดของ Samsung Galaxy A9 Pro ที่ซัมซุงทำราคาจำหน่ายออกมาได้น่าสนใจ ที่ 15,900 บาท เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนจอ 6 นิ้วในท้องตลาด
การออกแบบ
แม้ว่ารูปทรงการดีไซน์สมาร์ทโฟนของซัมซุง ในช่วงหลังๆจะเหมือนกันหมดแทบทุกซีรีส์ แต่ก็ยังมีจุดแตกต่างที่สัมผัสได้คือเรื่องของวัสดุ ที่ผลิตภัณฑ์ในตระกูล Galaxy A จะแข็งแรงกว่าในตระกูล Galaxy J เพราะขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับสินค้าในตระกูล Galaxy S และ Note พร้อมกับการใส่ฟังก์ชันพิเศษเข้ามาช่วยให้ใช้งานได้ง่าย
โดย Galaxy A9 Pro จะมีขนาดรอบตัวอยู่ที่ 80.9 x 161.7 x 7.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 210 กรัม มีวางจำหน่ายด้วยกัน 3 สี คือ ทอง เงิน และดำ ซึ่งแน่นอนว่าด้วยขนาดของหน้าจอที่ใหญ่ ทำให้เวลาจับถือไม่สามาถใช้งานได้ด้วยมือข้างเดียว จุดนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าชอบที่จะใช้งานสมาร์ทโฟนจอใหญ่เครื่องเดียวแทนทั้งแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนไปเลย หรือจะเลือกพก 2 เครื่องทั้งสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต แต่ถ้าเป็นผู้หญิงที่มือเล็กน้อยอาจจะมีปัญหาในการจับมือเป็นระยะเวลานานที่จะเมื่อยมือได้จากน้ำหนักของตัวเครื่อง
ด้านหน้า – ไล่จากส่วนบนจะเป็นช่องลำโพงสนทนา ที่ทำนูนเป็นตะแกรงออกมาจากตัวเครื่องเล็กน้อย โดยมีเซ็นเซอร์ตรวจจับใบหน้า และเซ็นเซอร์วัดแสง อีกฝั่งจะเป็นกล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ถัดลงมาเป็นโลโก้แบรนด์ “SAMSUNG” สีเงินพาดอยู่บนหน้าจอ
ส่วนหน้าจอจะเป็น HD SuperAMOLED ขนาด 6 นิ้ว ความละเอียด Full HD ที่ทำขอบจอมาบางเพื่อให้ขนาดคัวเครื่องไม่ใหญ่จนเกินไป ล่างหน้าจอจะมีปุ่มโฮม ที่ใช้เป็นจุดสแกนลายนิ้วมือเช่นเดิม (สามารถกด 2 ครั้งเพื่อเปิดกล้องได้เมื่อเปิดใช้งานเครื่องอยู่ และ กด 3 ครั้งถ้าล็อกหน้าจอเพื่อเข้าโหมดกล้อง) โดยมีปุ่มย้อนกลับอยู่ทางขวา และ เรียกดูแอปย้อนหลังทางซ้าย
ด้านหลัง – ด้วยการที่เป็นสินค้าในตระกูล Galaxy A ทำให้ฝาหลังจะใช้กระจกเช่นเดียวกับด้านหน้าเพื่อให้ความหรูหราแก่ตัวเครื่อง และแน่นอนว่าเป็นกระจกที่มีจอโค้ง 2.5d ทำให้ขอบกระจกโค้งรับไปกับตัวเครื่อง โดยมีกล้องความละเอียด 16 ล้านพิกเซล ที่นูนออกมาจากตัวเครื่องเล็กน้อย (เป็นรอยค่อนข้างง่าย) และไฟแฟลขอยู่ ลงมาตรงกลางเป็นโลโก้ซัมซุงเช่นเดิม
ด้านซ้าย – เป็นปุ่มปรับระดับเสียง ด้านขวา – มีปุ่มเปิด–ปิดเครื่อง และถาดใส่นาโนซิม แบบ 2 ซิม ที่สามารถสแตนบาย 3G ได้ทั้งคู่ ด้านบน – มีถาดใส่ไมโครเอสดีการ์ด (รุ่นก่อนหน้าจะใช้รวมกับช่องใส่ซิม 2) และรูไมโครโฟนตัดเสียง ด้านล่าง – เป็นพอร์ตไมโครยูเอสบี ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ลำโพง และรูไมโครโฟน โดยทั้งขอบบนและล่างจะมีแถบรับสัญญาณติดอยู่ด้วย
สเปก
สำหรับสเปกของ Galaxy A9Pro ถือว่าอยู่ในระดับกลางบนของกลุ่มสมาร์ทโฟน จากการแบ่งรุ่นของซีพียูที่ใช้เป็น Qualcomm Snapdragon 652 ที่เป็น Octa-Core 1.8 GHz Cortex-A72 กับ 1.4 GHz Cortex-A53 กราฟิกเป็น Adreno 510 RAM 4 GB พื้นที่เก็บข้อมูลในตัวเครื่อง 32 GB รองรับไมโครเอสดีการ์เพิ่มเติมสูงสุด 256 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 6.0.1
ด้านการเชื่อมต่อรองรับการใช้งาน 2 ซิม ที่สามารถเลือกซิมหลักเป็น 3G/4G และซิมสองเป็น 3G ได้ รองรับการใช้งานทุกคลื่นความถี่ในประเทศไทย ความเร็วในการดาวน์โหลดบน 3G 42.2/5.76 Mbps 4G LTE Cat7 350/50 Mbps นอกจากนี้ก็จะมี Wi-Fi มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac บลูทูะ 4.2 NFC GPS และวิทยุFM
ฟีเจอร์เด่น
ในแง่ของการใช้งานทั่วไป Galaxy A9Pro ยังคงมาพร้อมกับ TouchWiz UI ที่เป็นเอกลักษณ์ของสมาร์ทโฟนซัมซุงอยู่แล้ว ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งหน้าจอในการนำไอค่อนลัด หรือวิตเจ็ตต่างๆมาใส่ได้ตามปกติ โดยเมื่อเลื่อนไปทางซ้ายจะเจอกับหน้ารวมข้อมูลข่าวสารจาก Flipboard ให้ได้ใช้งานกัน หรือถ้าไม่ต้องการก็สามารถกดปิดการทำงานได้
การล็อกหน้าจอของ A9 Pro จะรองรับการสแกนลายนิ้วมือด้วย โดยผู้ใช้สามารถเข้าไปเพิ่มได้ในส่วนของการตั้งค่าหน้าจอล็อกและระบบป้องกัน โดยจะสามารถเลือกได้ว่าใช้งานคู่กับ Pattern หรือ การป้อนรหัส กรณีที่ไม่สามารถสแกนลายนิ้วมือได้จะได้ใช้ช่องทางอื่นแทน เพียงแต่ในส่วนของลายนิ้วมือนั้นสามารถเพิ่มได้เพียง 3 ลายนิ้วมือเท่านั้น
ถัดมาในส่วนของการแจ้งเตือนนอกจากมีแสดงวัน เวลา และการแจ้งเตือนต่างๆแล้ว จะมีส่วนสำหรับตั้งค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อไวไฟ บลูทูธ ดาต้า ปรับเสียง การหมุนหน้าจอ โหมดห้ามรบกวน การเปิดไฟลท์โหมด ระบบประหยัดพลังงานสูงสุด การเปิดไวไฟฮ็อตสป็อต NFC การซิงค์ข้อมูล รวมถึงโหมด S-Bike การจัดการแอปพลิเคชัน (Recent Apps) สามารถเคลียแอปทั้งหมด และสลับการใช้งานไปมาได้อยู่เช่นเดิม
โหมด S-Bike คือโหมดล่าสุดที่ซัมซุงคิดค้นขึ้นมา และนำมาใส่ไว้ในสมาร์ทโฟนให้ผู้ที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้ใช้งาน ซึ่งจะทำได้เพียงการโทรเร่งด่วนเท่านั้น โดยจะทำงานร่วมกับ NFC ที่สามารถนำสติกเกอร์ที่มี NFC ไปติดไว้บนมอเตอร์ไซค์ นำโทรศัพท์ไปสแกนก็จะเข้าสู่โหมด S-Bike ทันที ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานแล้ว จะสามารถดูได้เพียงการแจ้งเตือน ตอบข้อความอัตโนมัติ และดูระยะการเดินทางเท่านั้น ส่วนวิธีการออกจากโหมด S-Bike จะใช้วิธีกดที่สัญลักษณ์กลางหน้าจอค้างไว้
การใช้งานโทรศัพท์ ยังเป็นอินเตอร์เฟสเดิมที่ผู้ใช้ซัมซุงคุ้นเคย โดยผู้ใช้สามารถกดเลขหมายเพื่อคาดเดารายชื่อจากในระบบได้ทันที หน้าจอขณะสนทนาสามารถเพิ่มสาย พักสาย ปิดไมค์ เปิดลำโพง เรียกปุ่มกด สมุดจดขึ้นมาใช้งานได้ตามปกติ หน้าจอรับสายก็จะมีแสดงรูปผู้ติดต่อ ชื่อ เลขหมาย โดยให้เลื่อนปุ่มเพื่อรับสายเหมือนเดิม แต่ในกรณีที่ใช้งานโทรศัพท์อยู่ จะมีการแสดงสายเรียกเข้าที่แถบบนแทน เพื่อให้สามารถกดรับได้ทันที
แป้นคีย์บอร์ดที่ให้มากับเครื่อง ผู้ใช้สามารถเลื่อนซ้าย-ขวา ที่ปุ่มสเปซบาร์เพื่อสลับภาษาได้ทันที ซึ่งถ้าไม่เคยใช้งานมาก่อนอาจจะไม่ชิน แต่เมื่อใช้ไปสักพักจะเริ่มใช้งานได้คล่องขึ้น สามารถกดเปลี่ยนภาษา เรียกใช้งานสัญลักษณ์พิเศษต่างๆได้ตามปกติ รองรับการทำงานทั้งแนวตั้ง และแนวนอน
ส่วนของกล้องถ่ายภาพก็ใช้ยังอินเตอร์เฟสแบบเดิมที่คุ้นชินกันแล้ว โดยแถบซ้ายจะเป็นปุ่มลัดไว้ตั้งค่าการถ่ายภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใส่เอฟเฟกต์สี ตั้งเวลาถ่ายภาพ แฟลช ความละเอียดภาพ และเข้าไปดูการตั้งค่าทั้งหมด ส่วนฝั่งขวาก็จะส่วนไว้ดูรูปที่ถ่าย ปุ่มอัดวิดีโอ ปุ่มถ่ายภาพนิ้ง สลับกล้องหน้าหลัง และเลือกโหมดถ่ายภาพ
สำหรับโหมดการถ่ายภาพที่มีมาให้เบื้องต้นประกอบไปด้วยอัตโนมัติ โหมดโปร (สามารถปรับการชดเชยแสง ISO และ WB ได้เท่านั้น) โหมดพาโนราม่า โหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง โหมดชดเชยแสง โหมดถ่ายภาพกลางคืน ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปดาวน์โหลดโหมดกีฬา บิวตี้ เซลฟี่กล้องหลัง และทำภาพเคลื่อนไหว (Gif) เพิ่มเติมได้
โดยกล้องหลังของ A9Pro ที่ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล มาพร้อมกับ F1.9 ทำให้สามารถถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ค่อนข้างดี (แต่ยังไม่เทียบเท่ากับรุ่นพี่อย่าง Galaxy S6 หรือ S7) ส่วนกล้องหน้าที่ให้มา 8 ล้านพิกเซล ก็ถือว่าเพียงพอกับการถ่ายภาพแบบเซลฟี่อยู่แล้ว และถือเป็นกล้องหน้าที่ชัดสุดในตอนนี้ของทางซัมซุงด้วย
ขณะที่แอปพลิเคชันที่พรีโหลดมาให้ก็จะเป็นแอปทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ ข้อความ กล้อง แกลอรี่ นาฬิกา รายชื่อ การตั้งค่า ปฏิทิน เครื่องคิดเลข เครื่องเล่นเพลง สมุดบันทึก บริการต่างๆจากูเกิล ไมโครซอฟท์ และแอปของทางซัมซุงเองอย่างพวก S-Health แหล่งดาวน์โหลดแอป Galaxy Apps แหล่งรวมสิทธิพิเศษอย่าง Galaxy Gift และ Galaxy Rewards ก็ยังมีมาให้ใช้กันปกติ
ส่วนของการตั้งค่าก็มีการแบ่งออกเป็นสัดส่วนอย่างเรื่องของการเชื่อมต่อ การจัดการแอปพลิเคชัน การตั้งค่าต่างๆของตัวเครื่อง ระบบความปลอดภัย และข้อมูลทั่วไป ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกการตั้งค่าที่ใช้งานบ่อยๆ ขึ้นมารวมไว้ที่บริเวณบนสุดได้ 9 ประเภท เพื่อลดความยุ่งยากในการตั้งค่า
นอกเหนือจากนี้ เมื่อทดลองใช้งาน 2 ซิม การที่ตัวเครื่องรองรับการสแตนบาย 3G ทั้ง 2 ซิม ช่วยให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องอย่างไม่มีปัญหา ไม่ต้องกังวลเมื่อเข้าไปในพื้นที่ที่มีเฉพาะ 2G เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งถือเป็นจุดดีเพราะโทรศัพท์ 2 ซิมส่วนใหญ่ในปัจจุบันซิมที่สแตนบายจะรองรับเพียง 2G เท่านั้น
ในส่วนของแบตเตอรี เท่าที่ลองใช้งานทั่วๆไป ถ้าไม่ได้มีการใช้งานแบบต่อเนื่องมากนัก ใช้แบบทั่วๆไปเปิดใช้งานซิงค์อีเมล โซเชียลมีเดียต่างๆ แบตเตอรี 5,000 mAh สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 2 วันสบายๆ และแน่ใจได้ว่าจะไม่หมดระหว่างวันแม้ใช้งานหนักๆ
โหมดอย่าง Ultra Power Saving ยังมีมาให้ใช้งานเช่นเดียวกัน ซึ่งระบบจะตัดการทำงานเบื้องหลังที่ไม่จำเป็นออกทั้งหมด ทำให้ตัวเครื่องสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องแม้แบตเตอรีเหลือน้อย โดยยังคงฟังก์ชันใช้งานหลักๆไว้ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ ข้อความ เบราว์เซอร์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่การแสดงผลจะเป็นจอสีขาวดำแทน
แต่ถ้าใช้งานในแบบที่จริงจัง อย่างเช่นการเปิดหน้าจอใช้งานต่อเนื่อง นำมาจับโปเกม่อนตลอดเวลาก็อาจจะอยู่ไม่ถึงวัน แต่อย่างน้อยๆ ได้ต่อเนื่องเกิน 6 ชั่วโมงแน่ๆ ขณะที่ในการชาร์จแบตเตอรีขนาด 5,000 mAh ถ้าใช้ที่ชาร์จที่มากับเครื่องจะเป็นระบบ Fast Charge ทำให้สามารถชาร์จได้ 90% ในะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และชาร์จจนเต็มในเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
ทดสอบประสิทธิภาพ
เมื่อทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 35,492 คะแนน และ 68,429 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน
ทดสอบการใช้งาน HTML 5 ผ่าน Vellamo จากอินเทอร์เน็ตเบราว์เซอร์ ได้ 3,905 คะแนน แอนดรอยด์เว็บวิวได้ 3,274 คะแนน โครมเบราว์เซอร์ 3,433 คะแนน ส่วนประสิทธิภาพตัวเครื่องได้ (Metal) 1,878 คะแนน Multicore 2,586 คะแนน คะแนน Geek Bench 3 Single-Core 1259 คะแนน Multi-Core 4,334 คะแนน
ระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรีต่อเนื่องอยู่ที่ 11 ชั่วโมง 45 นาที คิดเป็นคะแนนของ Geekbench 3 ได้ 7,050 คะแนน จากแบตเตอรีที่ใหญ่ถึง 5,000 mAh
ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม PCMark ในส่วนของ Work Performance ได้ 4,918 คะแนน 3D Mark ตัว Sling Shot ES3.1 ได้ 886 คะแนน Sling Shot ES3.0 ได้ 1,334 คะแนน Ice Storm Unlimited ได้ 16,766 คะแนน ส่วน Ice Storm Extreme 10,069 คะแนน และ Ice Storm ที่ทำคะแนนทะลุไป
ส่วน Passmark Performance Test Mobile ได้คะแนน System 7,763 คะแนน CPU 171,035 คะแนน Disk 64,856 คะแนน Memory 7,509 คะแนน 2D Graphics 5,927 คะแนน และ 3D Graphics 1,901 คะแนน
สรุป
จากการทำราคาที่ 15,900 บาท ทำให้ Galaxy A9 Pro ถือเป็นสมาร์ทโฟนในระดับราคาหมื่นกลางๆที่น่าสนใจ จากทั้งการที่เครื่องมีแบตเตอรีขนาด 5,000 mAh รองรับการใช้งาน 3G สแตนบายทั้ง 2 ซิม ที่ทำมาตอบโจทย์การใช้งานสมาร์ทโฟนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ด้วยเครื่องที่มีขนาดหน้าจอใหญ่ ส่งผลให้ในช่วงแรก A9 Pro ไม่พอจำหน่ายกันเลยทีเดียว
แน่นอนว่าถ้าเป็นผู้บริโภคที่ไม่ได้ใช้งานสมาร์ทโฟที่มีลูกเล่นพิเศษต่างๆในระดับไฮเอนด์ A9 Pro ถือเป็นรุ่นรองลงมาที่น่าสนใจ เพราะถ้ามองในแง่ของสเปกก็อยู่ในระดับที่มีประสิทธิภาพเพียงพอกับการใช้งานหนักๆในปัจจุบันได้อย่างสบายๆ และกลายเป็นรุ่นที่โดดเด่นที่สุดจากระดับราคาในช่วงเวลานี้