Review : Samsung Galaxy Note10+ ทุกอย่างครบในเครื่องเดียว

7607

ซัมซุง ถือว่าไม่ทำให้แฟนๆสินค้าในกลุ่มสมาร์ทโฟน Galaxy Note ผิดหวัง หลังจากที่เริ่มทยอยวางจำหน่ายสินค้าในซีรีส์ Note10 ออกสู่ตลาด เพราะด้วยฟีเจอร์ และลูกเล่นที่เพิ่มขึ้น ต่างมาช่วยเสริมให้การใช้งาน S Pen ทำงานได้ดีขึ้น เช่นเดียวกันในส่วนภาพรวมของตัวเครื่องที่ยังยึดอยู่ในระดับไฮเอนด์เช่นเดิม

ความโดดเด่นของ Note10+ ยังคงอยู่ที่ฟีเจอร์ของ S Pen ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ใช้งาน Note 8 จะมีโอกาสตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้งาน Note10 ได้มากกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่เพิ่งซื้อ Note9 ใช้ในงานในปีที่ผ่านมา เพราะหลายๆ ฟีเจอร์ของ S Pen เชื่อว่าจะถูกอัปเดตให้เครื่องรุ่นเก่าใช้งานได้ในภายหลังแน่นอน

กล้องถือเป็นอีกเรื่องที่ Galaxy Note พัฒนาขึ้น ด้วยการเป็นรุ่นแรกของตระกูลที่มากับกล้องเลนส์มุมกว้าง ตามมาจากซีรีส์ S10 ที่เปิดตัวไปเมื่อช่วงต้นปี ด้วยการนำกล้องชุดเดียวกันมาให้ใช้งานบน Note10 แต่เสริมประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ด้วยการนำ AI มาใช้ และที่พิเศษสำหรับ Note10+ คือมีกล้อง DepthVision Camera ที่ใช้วัดระยะแบบ 3 มิติมาด้วย

ข้อดี

ฟีเจอร์ของ S Pen ที่มาตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น (แม้บางฟีเจอร์จะไม่ได้ใช้จริง)

กล้องพัฒนาขึ้นจากรุ่นก่อน โดยเฉพาะการถ่ายภาพในที่แสงน้อย และการเบลอฉากหลัง

ประสิทธิภาพรวมๆ ของเครื่องถูกพัฒนาขึ้นรอบด้าน

เริ่มเชื่อมอีโคซิสเตมส์กับอุปกรณ์อื่นๆมากขึ้น อย่าง Samsung DeX ใช้คู่กับแมค และวินโดวส์ได้

ข้อสังเกต

ตัดช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ออก และไม่มีอะเดปเตอร์แปลงมาให้

วัสดุที่ใช้เป็นกระจกทั้งหน้าและหลัง ทำให้เป็นรอยนิ้วมือ และมีโอกาสแตกสูง

การย้ายปุ่มเปิดเครื่องมาไว้ทางซ้าย แทนปุ่ม Bixby เดิมทำให้ใช้งานช่วงแรกๆ ยังไม่ชิน

เลือกรุ่นไหนดีระหว่าง Note10 และ Note10+

คำถามแรกที่เจอเข้ามาภายหลังงานเปิดตัว Samsung Galaxy Note 10 คือความแตกต่างของเครื่องทั้ง 2 รุ่น ว่ามีจุดต่างหลักๆ ที่ใดบ้าง และเลือกรุ่นไหนดี เริ่มกันที่จุดแตกต่างก่อน จะมีอยู่ด้วยกัน 3 จุดหลักๆ คือเรื่องของขนาดหน้าจอที่ Note10 อยู่ที่ 6.3 นิ้ว และ Note10+ อยู่ที่ 6.8 นิ้ว

เรื่องถัดมาคือเรื่องของแบตเตอรีที่ Note10 ให้มา 3,500 mAh ส่วน Note10+ จะอยู่ที่ 4,300 mAh โดยในรุ่น Note10+ จะพิเศษตรงที่ระบบชาร์จไฟที่รองรับการชาร์จเร็ว 45W (แต่ไม่ได้แถมอะเดปเตอร์มาให้) ส่วน Note10 จะรองรับชาร์จเร็วที่ 25W เท่านั้น

สุดท้ายคือเรื่องของกล้องหลังที่นอกเหนือจาก 3 เลนส์ มุมกว้าง ปกติ และเทเลโฟโต้แล้ว ใน Note10+ จะเพิ่มเซ็นเซอร์ DepthVision Camera ขึ้นมา ช่วยในการสแกนภาพในรูปแบบ 3มิติ ช่วยให้สามารถวัดระยะวัตถุได้ละเอียดขึ้น และสามารถนำมาใช้กับแอปพลิเคชันเพิ่มเติมอย่างสแกนวัตถุ 3 มิติ และรองรับการนำไปใช้กับ AR ด้วย

เมื่อดูถึงข้อแตกต่างแล้ว ทำให้ต้องย้อนดูว่าในการใช้งานจำเป็นต้องใช้กล้องในการถ่ายภาพ 3มิติ มากแค่ไหน ถ้าไม่ได้จำเป็นจริงๆ และคิดว่าต้องการใช้สมาร์ทโฟนจอเล็ก Note10 ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ที่ชอบใช้สมาร์ทโฟนจอใหญ่อยู่แล้ว และให้ความสำคัญกับกล้องในการละลายฉากหลังก็จะแนะนำให้เลือก Note10+ แทน

เพราะในเรื่องของแบตเตอรี แม้ว่าจะมีขนาดแตกต่างกัน แต่ในการใช้งานจริงๆ ด้วยขนาดจอที่เล็กลงของ Note10 ทำให้แบตเตอรีก็ไม่ได้หมดเร็วไปกว่า Note10+ ที่มีขนาดจอใหญ่กว่า แต่แน่นอนว่าแบตเตอรีของทั้ง 2 รุ่น ก็ไม่ได้ดีที่สุดในตลาดเวลานี้ เพราะถ้าใช้งานต่อเนื่องก็ต้องพกแบตสำรอง หรือที่ชาร์จไว้ใช้ตอนเย็นๆ ค่ำๆ เช่นเดิม

จุดเด่นที่เพิ่มมาใน Note10

ความสามารถของปากกา S Pen ที่ถูกชูขึ้นมาคือการความคุมระยะไกล จากเดิมใน Note9 สามารถใช้ปุ่มบน S Pen เพื่อสั่งถ่ายภาพ หรือกดสลับกล้องได้ พอมาเป็นใน Note10 ซัมซุง ได้พัฒนาความสามารถของ S Pen ให้สามารถสั่งงานด้วยการเคลื่อนไหวได้เพิ่มเติม

ตัวปากกา S Pen จะเชื่อมต่อกับ Note10 ผ่านบลูทูธเช่นเดิม ทำให้เวลาเสียบกลับเข้าไปในเครื่องตัวปากกาก็จะทำการชาร์จไฟอัตโนมัติ โดย S Pen ของทั้ง Note10 และ Note10+ สามารถนำมาใช้งานร่วมกันได้ หรือในกรณีที่เขียนบนหน้าจอก็สามารถนำปากกาของ Note รุ่นเก่ามาใช้ได้ เพราะใช้เทคโนโลยีเดียวกัน

การสั่งงานของ S Pen ที่ซัมซุงให้ชื่อเรียกว่า Air Actions จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้วาดปากกา S Pen ในการอากาศวาดซ้ายขวาเพื่อสั่งเปลี่ยนรูป (ในอัลบั้ม) วาดขึ้นลง ในโหมดกล้องเพื่อสลับกล้องหน้าหลัง หมุนวนซ้ายวนขวา เพื่อซูมภาพ ซึ่งเมื่อใช้งานคู่กับ Air Command ก็ช่วยให้สามารถสั่งงานแอประยะไกลได้

ในจุดนี้ที่ซัมซุงต้องทำคือ การรอให้นักพัฒนานำ SDK ไปพัฒนาต่อ เพื่อผสมผสานฟีเจอร์นี้เข้าไปใช้งานกับแอปพลิเคชันอื่นๆ เพราะถ้าดูจากความเร็วในการที่นักพัฒนานำไปต่อยอดใช้งานยังถือว่าค่อนข้างช้า เพราะ Note9 ที่รองรับ Air Command ออกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่แอปที่รองรับยังคงเป็นแอปหลักๆอยู่เช่นเดิม

นอกจากนี้ ก็จะมีฟีเจอร์อย่างการบันทึกหน้าจอเป็นวิดีโอ ทำให้สามารถใช้ S Pen วาดลงไปบนหน้าจอ พร้อมไปกับการบันทึกวิดีโอได้ทันที ซึ่งฟีเจอร์นี้จะเหมาะกับผู้ที่ต้องการสอนใช้งาน หรือแม้แต่นำไปใช้กับการ Live ที่สามารถเขียนข้อมูลลงไปบนจอได้ทันที

อีกฟีเจอร์ที่ค่อนข้างว้าวในการเปิดตัว Note10 คือเรื่องของการแปลงลายมือ ให้กลายเป็นตัวอักษร (Translate and Convert) ที่สามารถอ่านลายมือภาษาไทย และแปลงออกมาเป็นข้อความได้ด้วย เท่าที่ลองดูถ้าเป็นลายมือที่อ่านพอได้ Note10 สามารถแปลงได้ค่อนข้างแม่นยำ แต่ถ้าอ่านยากก็จะแปลงผิดซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติ

S Pen ยังถูกนำไปใช้คู่กับฟีเจอร์ใหม่ในโหมดกล้องอย่าง AR Doole ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถวาดลายเส้นลงไปในบริเวณรอบๆ ศีรษะ โดยข้อความ หรือลายเส้นที่วาดไว้จะติดตามไปกับบุคคลที่วาดไว้ แม้ว่าจะมีการขยับหัว หรือเคลื่อนไหวหลุดออกจากเฟรม และกลับเข้ามาใหม่ก็ตาม

AR Doodle จึงถูกนำไปใช้เพื่อนำเสนอความฉลาดในการประมวลผล AR ของซัมซุงมากกว่า ดังนั้นฟีเจอร์นี้จึงเน้นนำไปใช้เพื่อให้ความสนุกสนาน เพราะในขณะที่วาดสามารถบันทึกวิดีโอไปได้ด้วย ดังนั้นถ้าเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์อาจจะได้นำลูกเล่นนี้ไปใช้ในการสร้างสรรคอนเทนต์ก็เป็นได้

สุดท้ายในฟีเจอร์พื้นฐานของ Samsung Notes ที่ใช้ในการจดบันทึกต่างๆ ในเวอร์ชันใหม่ที่รองรับการซูมเอกสารเข้าไปถึง 300% และรองรับการไฮไลท์ข้อความ แปลงตัวอักษร เลือกปรับสีพื้นหลัง (จากเดิมเวลาจดบันทึกใน Screen off Memo พื้นหลังจะเป็นสีดำ ใน Note10 สามารถเปลี่ยนได้แล้ว)

ส่วนของฟีเจอร์อื่นๆที่ ปรับปรุงขึ้นมาใน Note10 ก็จะมีอย่าง Screen off Memo หรือโหมดจดบันทึกด่วน ที่เมื่อผู้ใช้ดึง S Pen ออกมาจากตัวเครื่องจะเข้าโหมดนี้เพื่อให้จดข้อมูลโดยอัตโนมัติ ในรุ่นเดิมจะไม่สามารถเลือกสีที่ใช้ได้ เพราะเป็นสีตามปากกา แต่ใน Note10 สามารถเลือกเปลี่ยนสี และปรับขนาดเส้นได้แล้ว

จะเห็นได้ว่าหลายๆ ฟีเจอร์ที่เพิ่มมาใน Note10 กลายเป็นทำให้การใช้งาน S Pen สมบูรณ์แบบมากขึ้นจากใน Note9 แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจนทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนใช้งานในทันที แต่ถ้าเป็นผู้ที่ใช้งานรุ่นเก่ากว่า หรือใช้งานแบรนด์อื่นๆอยู่ Note10 พร้อม S Pen ฟีเจอร์เหล่านี้ดึงดูดใจผู้ใช้งานได้ไม่น้อย

รองรับการเชื่อมต่อกับวินโดวส์ และแมคมากขึ้น

ที่ผ่านมาซัมซุง พยามนำเสนอมาตลอดว่า Note จะเข้าช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำงานแทนพีซีได้ ด้วยการนำ Samsung DeX มาต่อกับหน้าจอ เมาส์ และคีย์บอร์ดใช้งานแทน แต่ใน Note10 กลายเป็นว่าซัมซุงเลือกนำเสนอในมุมของการนำ Note10 ไปใช้งานคู่กับอีโคซิสเตมส์ของทั้งวินโดวส์ และแมคได้ด้วย

เริ่มจากทางฝั่งของไมโครซอฟท์ก่อน ที่ในคราวนี้นำฟีเจอร์อย่าง Your Phone มาแสดงให้เห็นถึงการใช้งานร่วมกับ Note10 อย่างจริงจัง โดยเปิดให้ผู้ใช้งานวินโดวส์ 10 สามารถควบคุมเครื่อง Note10 จากในพีซีได้ ทั้งการส่งข้อความต่างๆ การเข้าถึงไฟล์รูปภาพ การแจ้งเตือน โดยไม่จำเป็นต้องหยิบ Note10 ขึ้นมาดู

ในจุดนี้ Your Phone ทำให้ผู้ใช้งานวินโดวส์ คู่กับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์สะดวกมากขึ้น เพราะจะมีบางกรณีที่มีข้อความเข้ามาในสมาร์ทโฟน แล้วเราวางเครื่องทิ้งไว้ หรือเสียบชาร์จอยู่ ก็สามารถตอบข้อความผ่านทางคอมพิวเตอร์ได้ทันที

ถัดมาคือการพัฒนา Samsung DeX ให้สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในงานได้ ในที่นี้สามารถเชื่อมต่อได้ทั้งกับ Windows 10 และ macOS (ต้องลงโปรแกรมเพิ่ม) เพื่อใช้คอมพิวเตอร์ควบคุม DeX ได้ทันที จากเดิมที่ต้องนำ DeX ไปเชื่อมต่อกับจอ คีย์บอร์ด และเมาส์แยกกัน

การที่ DeX รองรับการทำงานร่วมกับ Windows 10 และ macOS จึงช่วยให้สามารถทำงานต่อเนื่องได้สะดวกขึ้น เพราะในความเป็นจริงเวลาทำงานอยู่ที่โต๊ะทำงาน หรือบ้าน อุปกรณ์หลักที่ทุกคนใช้งานคงหนีไม่พ้นพีซีอยู่แล้ว การที่สามารถโยนงานเข้าไปเพื่อทำระหว่างเดินทางผ่าน Samsung DeX จึงช่วยให้อีโคซิสเตมส์ในการใช้งานสมบูรณ์แบบมากขึ้น

กล้องที่ฉลาดรอบด้าน

จุดที่ซัมซุง พัฒนาเพิ่มขึ้นมาและเห็นได้ชัดอีกจุดใน Note10 คือเรื่องของกล้องถ่ายภาพ ด้วยการนำชุดเลนส์เดียวกับใน Samsung Galaxy S10+ มาใช้งาน ทำให้มีทั้งกล้อง Ultra Wide ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล Wide 12 ล้านพิกเซล และ Telephoto 12 ล้านพิกเซล โดยในรุ่น Note10+ จะเพิ่มกล้อง DepthVision Camera เข้ามาช่วย

ส่วนกล้องหน้าที่เป็นกล้องเซลฟี่ความละเอียด 10 ล้านพิกเซล ถือว่าทำออกมาได้ตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบการเซลฟี่เป็นอย่างมาก เพราะมีการปรับซอฟต์แวร์ช่วยให้หน้าใสขึ้น แม้ว่าจะลด Beauty Mode เป็น 0 แล้วก็ตาม โดยที่ยังมีลูกเล่นอย่างหน้าชัดหลังเบลอ เลือกเซลฟี่มุมกว้าง ไปจนถึงถ่าย Hyperslaps ด้วยกล้องหน้าได้ด้วย

ในเรื่องของการถ่ายภาพนิ่ง สิ่งที่พัฒนาขึ้นมาคือโหมดถ่ายภาพ Live Focus ที่สามารถเลือกได้แล้วว่าจะใช้เลนส์ Tele หรือเลนส์ Wide โดยที่ยังสามารถละลายฉากหลังได้เหมือนเดิม และการละลายพื้นหลังก็มีการนำ AI เข้ามาช่วย ทำให้เนียน และปรับแต่งได้มากขึ้น

นอกจากนี้ระบบ Live Focus ยังถูกพัฒนาไปให้ใช้งานร่วมกับการถ่ายภาพวิดีโอด้วย ทำให้บรรดาครีเอเตอร์จะมีเครื่องมือ และลูกเล่นให้ใช้งานมากขึ้น ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มในเรื่องของระบบกันสั่น Super Steady มาช่วยให้การบันทึกวิดีโอทำได้นิ่งขึ้น และยังมี Zoom-in Mic มาช่วยโฟกัสเสียงในวิดีโอ เฉพาะในจุดที่ซูมภาพเข้าไป ช่วยลดเสียงบรรยากาศภายนอกได้

เมื่อถ่ายภาพ หรือวิดีโอเสร็จ ซัมซุง ก็มีการปรับปรุงระบบแต่งภาพ (Photo Editor) เพิ่มเติมให้สามารถแก้ไขภาพได้มากขึ้น และเพิ่มโหมดการแก้ไขวิดีโอ (Video Editor) ให้สามารถหมุนวิดีโอได้ด้วย จากเดิมที่ใช้ตัดต่อ ใส่เสียงเพลงได้ รวมถึงการใส่คำบรรยายก็สามารถทำได้บน Note10 ทันที

ดังนั้น ในส่วนของกล้องถ่ายภาพ ถือว่าซัมซุง ทำการบ้านมาได้ค่อนข้างครบ ทั้งคุณภาพของการถ่ายภาพที่นำ AI มาใช้งานมากขึ้น ระบบฮาร์ดแวร์ที่เข้ามาเสริมให้การถ่ายวิดีโอนิ่งขึ้น และแอปพลิเคชันที่สามารถทำงานให้จบได้ภายในตัวเครื่อง

Gallery

ฟีเจอร์จำเป็นอื่นๆ มีมาครบ

ในตอนที่ซัมซุง เปิดตัว Galaxy S10 ได้มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่อย่าง Wireless PowerShare เข้ามา ที่ทำให้ S10 สามารถเป็นแท่นชาร์จไร้สายให้กับหูฟัง Galaxy Buds ได้นั้น ใน Galaxy Note10 ก็ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ดังกล่าวเช่นกัน

ยังมีเรื่องของการเชื่อมต่อ ที่ตัวเครื่อง Note10 รองรับการใช้งานร่วมกับ Wi-Fi 6 และ LTE ที่ปัจจุบันพัฒนาขึ้นมาเป็น LTE Cat20 ให้ความเร็วในการดาวน์โหลดสูงถึง 2 Gbps ถ้าใช้งานบนเครือข่ายที่รองรับ ทำให้เห็นได้ว่าซัมซุง ใส่ทุกอย่างมาให้ครบ สมเป็นเครื่องไฮเอนท์ของค่ายในเวลานี้

ส่วนฟีเจอร์ในการชาร์จเร็วที่ Note10+ รองรับ Super Fast Charge 45W เมื่อเทียบกับอะเดปเตอร์ 25W ที่ให้มาในกล่อง จะแตกต่างกันในเรื่องความเร็วในการชาร์จช่วงแรกๆ เท่านั้น ที่ตัวเครื่องจะรับไฟแรงขึ้น แต่ถ้าดูในภาพรวมชาร์จจนเต็มก็จะใช้เวลาชั่วโมงนิดๆ ใกล้เคียงกัน

ดังนั้น ถ้าไม่ได้มีพฤติกรรมที่ชาร์จแบตในช่วงใกล้หมด และมีเวลาเปปเดียวก่อนถอดสายออก ในความเป็นจริงอะเดปเตอร์ชาร์จ 25W ที่ให้มาก็ถือว่าเพียงพอกับการใช้งานแล้ว เพราะอะเดปเตอร์ 45W จะเห็นความต่างในช่วงชาร์จประมาณ 5-10 นาทีแรกเท่านั้น ที่อัดแรงดันไฟเข้าเครื่องเร็วมากๆ

ดีไซน์ตัวเครื่องสมบูรณ์แบบ

กลับมาที่เรื่องพื้นฐานของ Samsung Galaxy Note10+ ตัวเครื่องจะมากับขนาดหน้าจอ 6.8 นิ้ว ความละเอียดหน้าจอ Quad HD+ (3040 x 1440 พิกเซล) แต่ค่ามาตรฐานที่ตั้งมาจะเป็น FHD+ 2280 x 1080 พิกเซล ผู้ใช้ต้องเข้าไปปรับตั้ง Screen Resolution เพิ่มเอง โดยความละเอียดเม็ดสีอยู่ที่ 498 ppi

ขนาดตัวเครื่องจะอยู่ที่ 162.3 x 77.2 x 7.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 196 กรัม โดยรวมๆ เวลาจับถือ Note10+ รู้สึกได้ว่าจับใช้งานถนัดมือขึ้น ด้วยการออกแบบในแนวสมมาตรทั้งด้านหน้า และหลัง มีให้เลือกด้วยกัน 3 สี คือ Aura Black Aura Glow และ Aura White

ภายในตัวหน้าจอ 6.8 นิ้ว ซัมซุงมีการเจาะรูกล้องหน้าเข้าไปไว้ตรงกึ่งกลาง เปลี่ยนแปลงจากใน S10 ที่เจาะไว้มุมขวาบน นอกจากนี้ ยังมีการปรับระยะเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ (Ultrasonic Fingerprint) ให้สูงขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อให้ตรงกับระยะนิ้วโป้งเวลาจับถือเครื่อง

ปุ่มรอบๆเครื่อง จะลดลงมาเหลือแค่ปุ่มควบคุมทางซ้ายเครื่อง โดยมีปุ่มเพิ่มลดเสียง และปุ่มเปิดเครื่อง (สามารถตั้งได้ว่าเมื่อกดค้าง ให้เรียกใช้งาน Bixby หรือเป็นปุ่มปิดเครื่อง รวมถึงตั้งให้กด 2 ครั้งเรียกใช้งานกล้อง หรือเปิดแอปได้)

ด้านบนจะมีช่องใส่ถาดซิมการ์ด โดยใน Note10+ จะรองรับการใช้งานแบบไฮบริดจ์ คือนาโนซิมการ์ด + ไมโครเอสดีการ์ด หรือจะใส่นาโนซิมการ์ด 2 ซิมก็ได้เช่นกัน ส่วนใน Note10 จะไม่สามารถใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติมได้

ด้านล่างมีพอร์ต USB-C ไว้ใช้เสียบชาร์จ เชื่อมต่อ Samsung DeX รวมถึงเป็นพอร์ตหูฟังด้วย และมีช่องใส่ S Pen อยู่ที่มุมขวาล่าง ช่องลำโพง และไมโครโฟนสนทนา

สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องของ Samsung Galaxy Note10+ จะมาพร้อมกับหูฟัง USB-C เคสใส สายชาร์จ อะเดปเตอร์ 25W อะเดปเตอร์แปลง USB to USB C MicroUSB to USB C เข็มจิ้มถาดซิม และที่หนีบสำหรับเปลี่ยนหัวปากกา S Pen

ในส่วนของประสิทธิภาพตัวเครื่อง Samsung Galaxy Note10+ มากับหน่วยประมวลผล Samsung Exynos 9825 RAM 12 GB ROM เป็นแบบ UFS 3.1 ที่มีให้เลือกระหว่าง 256 GB และ 512 GB รองรับการใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มสูงสุด 1 TB ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 9 Pie

ทดสอบประสิทธิภาพ

ประสิทธิภาพของ Note10+ ในเวลานี้ ถือว่าอยู่ในระดับท็อปของแอนดรอยด์โฟนอยู่แล้ว จากการที่หันมาใช้หน่วยประมวลผลบนสถาปัตยกรรม 7 นาโนเมตร เท่ากันทั้งหมด ดังนั้นในแง่ของการใช้งานโดยรวม Note10+ รองรับการเล่นเกมหนักๆ หรือประมวลผลโหดๆ ได้อย่างสบายๆ

ผลการทดสอบจากโปรแกรมทดสอบต่างๆ ถือว่า Note10+ อยู่ในระดับท็อปๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะการที่เลือกใช้พื้นที่เก็บข้อมูลแบบ UFS 3.1 ที่ช่วยให้การเขียน และอ่านข้อมูลทำได้รวดเร็วขึ้น เช่นเดียวกับ One UI ที่พัฒนามาให้ใช้งานได้ลื่นไหล และสะดวกมากขึ้น

สรุป

Samsung Galaxy Note10+ น่าจะกลายเป็นสมาร์ทโฟนที่ครบเครื่อง สำหรับผู้ที่ต้องการแอนดรอยด์โฟนสเปกสูง รองรับการใช้งานคู่กับปากกา S Pen ที่เป็นจุดเด่นเดียวที่คู่แข่งยังไม่สามารถตามได้ทันในเวลานี้ เพียงแต่ว่าด้วยระดับราคาเริ่มต้นของ Note10 ที่ 32,900 บาท และ Note10+ ที่ 37,900 บาท อาจจะทำให้ตัดสินใจได้ยากนิดนึง

ในจุดนี้แนะนำให้ลองมองหาแพกเกจที่จำหน่ายร่วมกับทางโอเปอเรเตอร์ เพราะถ้าใช้งานคู่กับแพกเกจต่างๆ มีโอกาสลดค่าเครื่องไปได้เกือบ 20,000 บาท แต่ก็แลกกับสัญญาการใช้งาน และแพกเกจรายเดือนที่จ่ายแพงขึ้น ซึ่งถ้าใช้งานระดับพันกว่าบาทต่อเดือนอยู่แล้วจะคุ้มค่ามากที่สุด

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น