จากผลประกอบการไตรมาสที่ผ่านมาของตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก กลายเป็นข้อมูลที่มาชี้ให้เห็นว่า ซัมซุง (Samsung) ไม่ได้เป็นเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนที่ใครก็ล้มไม่ได้อีกต่อไป เพราะในขณะที่แบรนด์จีนอย่าง หัวเว่ย (Huawei) และ เสียวหมี่ (Xiaomi) มีอัตราการเติบโตในระดับ 40% ในขณะที่ซัมซุงลดลงเกือบ 10%
การมาของ Note9 จึงกลายเป็นความหวังสำคัญของซัมซุง ที่จะกลับมาสร้างสีสันให้แก่ตลาดสมาร์ทโฟนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จากกลุ่มโน้ตแฟนที่มีความต้องการใช้งาน S-Pen มาใช้ในการจดบันทึก และทำได้มากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนเป็นรีโมทควบคุมแอปฯต่างๆ
เรียนรู้ S-Pen เวอร์ชัน Note9 ที่คนใช้ Note 8 ไม่ได้ใช้แน่นอน
ถ้าใครที่ไม่ได้ใช้งาน Samsung Galaxy Note มาก่อนหน้าคงมีความคิดว่า ทำไมหลายๆคนที่ตื่นเต้นกับการที่ปากกา S-Pen เชื่อมต่อบลูทูธกับตัวเครื่องมีความน่าสนใจมากขึ้น ก็เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้ Note ส่วนใหญ่ชอบหยิบมากกาออกมาถือไว้ในมือ และใช้สั่งงาน แทนการใช้นิ้วปัดๆ
จึงมีความเป็นไปได้ที่ซัมซุง เล็งเห็นถึงพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้มีการพัฒนาความสามารถของ S-Pen ให้มาใช้ในการควบคุมแอปพลิเคชันแบบไร้สาย ที่แม้ว่าบน S-Pen จะมีปุ่มมาให้เพียงปุ่มเดียวก็ตาม แต่ก็สามารถแปลงรูปแบบการสั่งงานได้ออกเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน
เริ่มจากการกดปุ่ม S-Pen ค้าง เพื่อเรียกใช้งานแอปพลิเคชัน การตั้งค่าเบื้องต้นจะถูกกำหนดมาให้เปิดใช้งานโหมดกล้อง แต่ผู้ใช้ก็สามารถเข้าไปปรับเลือกเป็นการเรียกแอปอื่นได้ อย่างถ้าเป็นผู้ที่ใช้อีเมลหนักๆ ก็เปลี่ยนเป็นแอปอีเมล ชอบขีดเขียนขณะถือปากกา ก็เปลี่ยนเป็นการเรียกโน้ตขึ้นมาจดบันทึก
ถัดมาคือการกดปุ่มครั้งเดียว และการกดปุ่มสองครั้ง ขณะที่ใช้งานแอปต่างๆ โดยค่าเริ่มต้นในโหมดกล้องเมื่อกด 1 ครั้งจะเป็นการลั่นชัตเตอร์ กด 2 ครั้งจะเป็นการสลับกล้องหน้าหลัง ในโหมดรูปภาพ กด 1 ครั้งใช้เลื่อนรูปไปข้างหน้า กด 2 ครั้งแทนการย้อนกลับ
แอปอัดเสียงก็สามารถกด 1 ครั้ง เพื่อสั่งอัด หรือหยุดได้ ในเครื่องเล่นเพลงกด 1 ครั้งเพื่อเล่น/หยุด และกด 2 ครั้งเพื่อข้ามเพลง เมื่อใช้งานพรีเซนเทชันกด 1 ครั้งเพื่อเปลี่ยน กด 2 ครั้งเพื่อย้อนกลับสไลด์ก่อนหน้า และแม้แต่ใน Chorme ก็สามารถเลือกได้ว่าจะใช้เพื่อย้อนกลับ ไปข้างหน้า เลื่อนขึ้น เลื่อนลง ตามที่ต้องการ
คำถามถัดมาคือเมื่อมีแบตเตอรีอยู่ใน S-Pen แล้วระยะเวลาในการใช้งานได้นานแค่ไหน คร่าวๆทางซัมซุงระบุมาว่าสามารถใช้สแตนบายได้ราว 30 นาที หรือกดสั่งงานได้ 200 ครั้ง ก่อนที่แบตจะหมด และใช้เวลาชาร์จโดยการเสียบกลับเข้าไปในเครื่องไม่เกิน 40 วินาที แบตก็จะเต็มเหมือนเดิม
ส่วนระยะการเชื่อมต่อใช้งานก็อยู่ที่ 10 เมตร ตามระยะการเชื่อมต่อบลูทูธ โดย S-Pen ใช้เทคโนโลยี Bluetooth Low Energy ในการเชื่อมต่อ ที่เป็นมาตรฐานใหม่ และใช้ไฟน้อยกว่าการเชื่อมต่อแบบปกติ ซึ่งเริ่มถูกนำไปใช้ในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆที่เชื่อมกับสมาร์ทโฟนก่อนหน้านี้
จะสังเกตได้ว่าฟีเจอร์ต่างๆเหล่านี้ ผูกติดกับการที่ S-Pen สามารถเชื่อมต่อบลูทูธกับตัวเครื่องได้ ดังนั้นผู้ที่ไม่ได้ใช้ Note9 จึงหมดสิทธิที่จะใช้ฟีเจอร์ดังกล่าวไปโดยปริยาย ไม่เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่เวลามีพัฒนาการอย่าง Live Message บน Note 8 บน Note FE ก็ยังสามารถใช้งานได้เพราะเป็นที่ซอฟต์แวร์
สำหรับฟังก์ชันที่เหลือของ S-Pen ไม่ว่าจะเป็นการจดบันทึก ใช้จ่อบนหน้าจอเพื่อดูรูปใหญ่ขึ้น (Air View) เข้าโหมดสั่งงานเมื่อกดปุ่มขณะที่นำปากกาจ่อไว้ (Air Command) แคปหน้าจอพร้อมจดบันทึก (Screen Write) ตัดแปะรูปภาพ (Smart Select) แปลภาษา (Translate)
จดบันทึกทันทีเมื่อถอดปากกา (Screen-off memo) การจดบันทึกได้แม้เครื่องเปียกอยู่ มาจนถึง การเขียนข้อความเคลื่อนไหวบนภาพ (Live message) ก็ถูกนำมาใส่ให้ใช้งานบน Note9 เรียกได้ว่าเป็นการรวมวิวัฒนาการของ Galaxy Note ตั้งแต่รุ่นแรกมาจนถึงรุ่นปัจจุบันให้ใช้งานกัน
ยกกล้อง Galaxy S9+ มาใส่ AI ให้ฉลาดขึ้น
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา Samsung Galaxy S9+ ได้กลายเป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟนตัวเต็งเรื่องของเทคโนโลยีกล้องบนสมาร์ทโฟน เนื่องจากเป็นเครื่องรุ่นแรกที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกปรับรูรับแสงได้เอง (Dual Aperture) มาใช้งาน พร้อมกับรูรับแสงที่กว้างถึง f/1.5 และเทคโนโลยีอื่นๆทั้ง Dual OIS ระบบกันสั่นทั้ง 2 เลนส์ Live Focus ในการสร้างโบเก้รูปต่างๆ
พอมาในรุ่น Note9 ซัมซุง ก็นำเทคโนโลยีเหล่านั้น มาใช้ AI ในการช่วยประมวลผลเพิ่มเติมในชื่อเรียกกว่า Intelligent Camera ที่จะคอยปรับเลือกโหมดถ่ายภาพกว่า 20 โหมดให้โดยอัตโนมัติ โดยเมื่อยกกล้องขึ้นมาส่องวัตถุที่ต้องการถ่าย ก็จะขึ้นมาแสดงผลว่าอยู่ในโหมดอะไร
โดยโหมดถ่ายภาพที่ตั้งค่ามาจะมีทั้ง อาหาร ถ่ายภาพบุคคล ดอกไม้ ในอาคาร สัตว์ ทิวทัศน์ หญ้า ต้นไม้ ท้องฟ้า ภูเขา ทะเล พระอาทิตย์ขึ้น–ตกริมแม่น้ำน้ำตกสตรีทช่วงพลบค่ำหิมะนกภาพย้อนแสงหรือตัวอักษร
ขณะเดียวกัน ยังมีการนำ Flaw Detection มาใช้เพื่อตรวจจับภาพกรณีที่ถ่ายภาพคนว่า กำลังหลับตาอยู่ ภาพสั่นไหว เลนส์สกปรก หรือย้อนแสง เพื่อแนะนำให้ถ่ายภาพใหม่ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนโหมดอื่นๆที่น่าสนใจอย่างโหมดถ่ายภาพมืออาชีพ (เลือกปรับความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง ระยะโฟกัส) โหมดถ่ายภาพชดเชยแสง (HDR) ถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ (Live Focus) และการถ่ายวิดีโอ Super Slow-mo ที่ 960 เฟรมต่อวินาที ก็ยังทำได้เหมือนเดิม
Samsung DeX ที่ใช้ได้กับอุปกรณ์ต่อจอ USB-C ทั่วไป
ที่ผ่านมา Samsung DeX หรือโหมดในการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนให้กลายเป็นพีซีใช้งานของซัมซุง จะมีข้อจำกัดหลักๆคือ ต้องใช้คู่กับอุปกรณ์ DeX Station เท่านั้น จึงจะสามารถแสดงผลขึ้นไปที่จอภาพได้ ผิดกับในหัวเว่ย ที่มี PC Mode ซึ่งสามารถใช้อุปกรณ์ USB-C มาตรฐานที่เชื่อมต่อกับ HDMI ได้เลย
พอมาเป็นใน Note9 ซัมซุง จึงได้ปรับวิธีการเชื่อมต่อกับ DeX ด้วยการเปิดให้ใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการเชื่อมต่อ USB-C to HDMI ได้ทันที ในจุดนี้ทีมงานทดสอบกับตัวแปลง USB-C to HDMI ของแอปเปิล มาใช้งานก็สามารถต่อออกจอได้ทันที
ทีนี้ พอต่อจอแล้วยังไงต่อ? ซัมซุง จะมี 2 ทางให้เลือกคือเชื่อมต่อกับเมาส์ และคีบอร์ดแยกเพื่อควบคุม DeX พร้อมไปกับการใช้งาน Note9 ได้ต่อ หรืออีกทางคือเปลี่ยน Note9 ให้กลายเป็นทัชแพด โดยใช้นิ้วลากจิ้มบนหน้าจอแทนเมาส์ไปเลย
ที่พิเศษก็คือสามารถใช้ S-Pen มาควบคุมแทนนิ้วได้ ทำให้สามารถวาดภาพบน Note9 ด้วยการแสดงผลบนจอภาพได้ทันที ทำให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น และเพิ่มพื้นที่ในการทำงานมากขึ้น ไม่จำกัดขนาดอยู่บนหน้าจอ 6.4 นิ้วอีกต่อไป
ดีไซน์ที่ปรับให้ดีขึ้น
ถ้ามองผ่านๆ Samsung Galaxy Note9 จะมีจุดให้สังเกตว่าต่างกับ Note 8 ได้น้อยที่มาก แต่เมื่อลงรายละเอียดดูดีๆ ก็จะพบว่ามีจุดที่น่าสนใจอยู่ อย่างเรื่องของหน้าจอที่เป็น Infinity Display ขนาด 6.4 นิ้ว ความละเอียด Quad HD+ สัดส่วน 18.5:9 ที่แม้ว่าจะเป็นจอโค้ง แต่ก็มีการปรับขอบให้โค้งน้อยลง เพื่อให้มีพื้นที่เขียนได้มากขึ้น
กับอีกจุดที่เปลี่ยนแปลงอย่างขัดเจนเลยคือการวางเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือหลังเครื่อง ที่ปรับลงมาให้อยู่ใต้กล้องเช่นเดียวกับใน S9+ แล้ว เรียกได้ว่าเป็นการปรับจาก Note 8 มาเป็น Note9 ที่ให้ความสมบูรณ์มากขึ้น
ส่วนที่เหลือทั้งการวางปุ่มต่างๆรอบตัวเครื่องทางฝั่งซ้ายที่เป็นปุ่มปรับระดับเสียง และเรียกใช้งาน Bixby ฝั่งขวาที่เป็นปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ไปจนถึงช่องใส่ถาดซิมด้านบน (ใส่ได้ 2 นาโนซิมการ์ด หรือเลือกใส่นาโนซิม + ไมโครเอสดีการ์ด) ล่างเครื่องก็จะเป็นช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. พอร์ต USB-C ช่องลำโพง และช่องใส่ปากกา S-Pen
ทั้งนี้ ขนาดตัวเครื่อง Samsung Galaxy Note9 จะอยู่ที่ 161.9 x 76.4 x 8.8 มิลลิเมตร น้ำหนัก 201 กรัม ที่ดูจะใหญ่ไปหน่อยสำหรับการถือใช้งานด้วยมือข้างเดียว ตัวเครื่องป้องกันน้ำกันฝุ่นบนมาตรฐาน IP68 ที่น้ำลึก 1.5 เมตร ไม่เกิน 30 นาที มีวางจำหน่ายในช่วงแรก 3 สีคือ น้ำเงิน ดำ และทองแดง
นอกจากนี้ ยังมีการเล่นสีของปากกาให้ดูสวยงาม อย่างเช่นถ้าเป็นเครื่องสีน้ำเงิน (Ocean Blue) ก็จะมากับ S-Pen สีเหลือง ถ้าเครื่องสี ทองแดง (Metallic Copper) และ ดำ (Midnight Black) ก็จะมากับ S-Pen สีเดียวกับตัวเครื่อง
ที่น่าสนใจคือสีที่ไม่เข้ามาทำตลาดในไทยช่วงแรกอย่าง (Lavender Purple) ทางซัมซุง ก็มีแผนที่จะนำเฉพาะ S-Pen สีดังกล่าวเข้ามาให้ซื้อใช้งานกันเพิ่มได้ สำหรับผู้ที่อยากได้ S-Pen ที่มีสีสันหลากหลาย
Gallery
สเปกเน้นเพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูล
สำหรับในส่วนของสเปกเครื่อง Note9 จะมากับหน่วยประมวลผล Exynos 9810 ที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบ 10 นาโนเมตร 64 บิต ทำงานแบบ 8 แกน (Octa-Core) ความเร็ว 2.7 + 1.7 GHz โดยเน้นการเพิ่ม RAM เป็น 6/8 GB และ พื้นที่เก็บข้อมูลเป็น 128/512 GB ที่ใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มได้อีก 512 GB
เช่นเดียวกับแบตเตอรีที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 4,000 mAh โดยลองใช้งานในเบื้องต้นก็พบว่าจากแบตเตอรีเต็มๆใช้งานตลอดวันถึงดึกๆ แบตเตอรี่ก็เหลืออยู่ราว 30-40% ขึ้นกับการใช้งานว่าหนักมากแค่ไหน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าแบตเตอรีอึดขึ้นอย่างชัดเจน
ส่วนการทดสอบผ่านทาง PCMark ด้วยความละเอียดหน้าจอ FullHD+ จะสามารถใช้งานจนแบตเตอรีเหลือ 20% ได้ราว 10 ชั่วโมง ส่วนถ้าปรับความละเอียดหน้าจอเป็น QHD+ ระยะเวลาการใช้งานจะลดลงเหลือราว 7 ชั่วโมง
นอกจากในแง่ของการประมวลผลแล้วซัมซุงยังนำเสนอเรื่องของการเชื่อมต่อ 4G LTE ที่การันตีว่ารองรับทุกเทคโนโลยีที่ใช้ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น 3CA 4×4 MIMO 256QAM LAA ของทั้งเอไอเอส และทรูมูฟ เอช รวมถึงดีแทค เทอร์โบ บนเทคโนโลยี TDD LTE ก็ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ
ส่วนการเชื่อมต่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi 802.11 ac บลูทูธ 5.0 USB-C NFC (ใช้งานร่วมกับ Samsung Pay) GPS รวมไปถึงการชาร์จไร้สาย ก็มีมาให้ตามสไตล์เครื่องระดับไฮเอนด์ที่ให้มาครบถ้วน
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพด้วยโปรแกรมอย่าง Antutu GeekBench 3DMark และ PCMark ก็แสดงให้เห็นว่า Note9 อยู่ในระดับบนๆของสมาร์ทโฟนในปีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
ตกรุ่นแอนดรอยด์ตั้งแต่แกะกล่อง
Samsung Galaxy Note9 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 8.1 (Android Oreo) ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นที่สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน แต่กลายเป็นจุดที่น่าเสียดายของ Note9 ที่ไม่สามารถมาพร้อมกับแอนดรอยด์ 9.0 เวอร์ชันล่าสุด (Android Pie) ได้
เนื่องจากทางกูเกิล เพิ่งปล่อยให้ผู้ใช้งานเครื่องตระกูล Google Pixel โหลดไปใช้งานกันเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ทางซัมซุง ต้องใช้ระยะเวลาในการครอบอินเตอร์เฟสลงไป ดังนั้นคงต้องใช้ระยะเวลาอีกช่วงใหญ่ๆ ถึงจะได้รับการอัปเดตเป็น Android Pie ได้
ยังต้องรุ่นว่ารุ่น 512 GB จะมีขายหลังจากพรีออเดอร์หรือไม่
ในช่วงที่ซัมซุงเปิดให้สั่งจอง Note9 ในช่องทางปกติทั้งจองผ่านหน้าร้านซัมซุงแบรนด์ช้อป หรือจองผ่านเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ จะมีเฉพาะรุ่น 6GB/128 GB ในราคา 33,900 บาทเท่านั้น โดยผู้ที่จองผ่านแบรนด์ช้อป และร้านค้าที่ร่วมรายการ จะได้รับของพรีเมียมมูลค่า 6,000 บาท
ในจุดนี้ ซัมซุง เปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกรับของพรีเมียมที่เป็นอุปกรณ์เสริมได้ด้วยตนเอง เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อมีการให้ของแถมบางอย่างแล้วลูกค้าไม่ได้ใช้งาน และแต่ละรายมีความต้องการแตกต่างกัน จึงทำให้ใช้วิธีให้ลูกค้าเลือกของแถมที่ต้องการเอง
ส่วนการจองผ่านทางโอเปอเรเตอร์ ก็จะนำส่วนลด 6,000 บาท มาลดเพิ่มเติมให้แก่ลูกค้าที่สมัครแพกเกจรายเดือน ทำให้สามารถทำส่วนลดได้สูงถึง 15,500 บาท ของดีแทค หรือกว่า 13,000 บาทสำหรับเอไอเอส และทรูมูฟ เอช
สุดท้ายคือการจองผ่านช่องทางออนไลน์ทั้ง Samsung Online Shop, Lazada และ Shopee ที่ให้ลูกค้าได้เครื่อง 8GB/512GB ในราคา 33,900 บาท จากราคาปกติ 39,900 บาท ที่นำส่วนลด 6,000 บาทมาลดราคานั่นเอง ขณะเดียวกันก็ถือเป็นช่วงที่ทางซัมซุง ใช้ดูกระแสตอบรับจากตลาดด้วยว่า มีผู้บริโภคสนใจเครื่องรุ่น 512 GB มากแค่ไหน ก่อนตัดสินใจนำเข้ามาทำตลาดต่อไป